ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

คำว่า “ มนุษย์ ” มาจากคำว่า


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 8 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 ตาล

ตาล
  • Members
  • 69 โพสต์
  • Location:ดุสิตบุรีวงบุญพิเศษ เขตของบรมโพธิสัตว์

โพสต์เมื่อ 23 April 2006 - 11:12 PM

คำว่า “ มนุษย์ ” มาจากคำว่า
มนะ หรือ มโน ซึ่งแปลว่า ใจ นำไปสนธิกับคำว่า อุษย์ ซึ่งแปลว่า สูง
มนะ + อุษย์ = มนุษย์
มนุษย์ จึงแปลว่า ผู้มีใจสูง
ดังที่ ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า
เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง
เหมือนดั่งยูงมีดีที่แววขน
ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน
หากต่ำล้นแม้คนมิอาจเป็น …/

“ มนุษย์ ” มีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท คือ
1. มนุษย์เทโว ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นเทวดา ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ ให้รักษา
ธรรมะ 2 ข้อ คือทำใจให้มี หิริ ( ความละอายต่อบาป) และโอตตัปปะ(เกรงกลัวผลของบาป)
2. มนุษย์มนุษโส ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นมนุษย์ ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้รักษาศีล 5 ให้บริบูรณ์ ( บางที่เรียกมนุษย์ภูโต)
3. มนุษย์เปโต ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นเปรต ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้รักษาความโลภ ไว้เสมอๆ อย่าให้ขาดหายไปจากจิตใจ
4. มนุษย์เดรัจฉาโน ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้
ปฏิบัติตัวเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน ลูกเขาเมียใคร ลูก หลาน ญาติพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกับเราหรือไม่ ไม่ต้องละเว้น ไม่ต้องรู้ผิดชอบชั่วดี อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคิดว่าใครจะเดือดร้อนเพราะเรา
5. มนุษย์เนรยิโก ตัวเป็นมนุษย์ใจเป็นสัตว์นรก ถ้าต้องการเป็นมนุษย์ประเภทนี้ให้ปฏิบัติ
ตัวเยี่ยงสัตว์นรก ทำจิตใจให้เร่าร้อน หิวโหย ทุกข์ ทรมาน ตลอดเวลา

จิตใจของมนุษย์มี 5 สภาพ คือ
1. จิตใจพร่องมาก จะแสวงหามาก
2. จิตใจพร่องน้อย จะแสวงหาน้อย
3. จิตใจเต็ม จะหยุดแสวงหา
4. จิตใจเปี่ยม จะรู้จักเป็นผู้ให้ (โดยไม่หวังผลตอบแทน)
5. จิตใจล้น จะรู้จักอุทิศตัวเพื่อสังคม

สังคมจะดีขึ้นได้ ต้องเริ่มที่ตัวเรา เพราะว่าใครจะชั่ว จะเลว จะโกง จะกิน เราไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปห้ามเขา ถึงแม้จะห้ามได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เราจะช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้ เพียงแค่หันมาเริ่มที่ตัวเรา โดยเราไม่ชั่ว ไม่เลว ไม่โกง ไม่กิน อย่างคนอื่นเขา เมื่อทำได้แล้วก็ขยายแนวคิดเหล่านี้ไปสู่ ลูก หลาน เหลน ญาติสนิท เพื่อนฝูง ที่เคารพ เชื่อถือ ศรัทธาในตัวเรา เมื่อแนวความคิดเหล่านี้ได้ถูกขยายไปมากเท่าใด สังคมก็จะเริ่มค่อย ๆ ดี มากขึ้นเท่านั้น จงคิดอยู่เสมอว่า “ มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้ ” อย่าไปคาดหวังจากคนอื่นเป็นอันขาด ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ดังนั้นต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา เราจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ผิดๆ และไม่ใช้ให้คนอื่นกระทำในสิ่งที่ผิดๆ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะความผิดเล็กน้อยเหล่านั้น ถ้ากระทำมันจนเกิดเป็นความเคยชินจนเป็นสันดานแล้ว ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่ความผิดที่ใหญ่ขึ้นได้ อย่างไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นเราต้องหักห้ามใจมิให้กระทำผิด แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม

การที่เราจะดูว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ ให้ดูที่กตัญญูกตเวที เพราะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กตัญญูกตเวทีคือเครื่องหมายของคนดี คำว่า กตัญญู หมายถึงรู้คุณท่าน ส่วนคำว่า กตเวที นั้นหมายถึง การตอบแทนคุณท่าน ดังนั้นผู้ที่รู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่านเท่านั้นจึงจะเรียกว่าเป็นคนดี และเป็นคนที่น่าคบหาสมาคมด้วย เราจึงต้องเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที เพื่อที่ผู้อื่นจะได้คบหาสมาคมกับเรา ได้อย่างสนิทใจ

เรื่องของบารมี เราจะเห็นว่าบางคนมีบารมีมาก บางคนมีบารมีน้อย บางคนไม่มีบารมี บารมีนั้นมิได้เกิดขึ้นเอง แต่เราต้องเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา ถ้ามีความพยายามที่จะสร้างแล้ว บารมีย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน คำว่าบารมี นั้นแปลว่า กำลังใจ เช่น มีกำลังใจในการให้ทานก็จะได้ทานบารมี มีกำลังใจในการรักษาสัจจะก็จะได้ สัจจะบารมี ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ คือ
1. ทาน ใช้สำหรับ ตัดความโลภ (โลภะ แปลว่า ดึงเข้ามา)
2. ศีล ใช้สำหรับ ตัดความโกรธ
3. เนกขัมมะใช้สำหรับ ตัดอารมณ์กามคุณ (ยึดติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)
4. ปัญญา ใช้สำหรับ ตัดความโง่
5. วิริยะ ใช้สำหรับ ตัดความขี้เกียจ
6. ขันติ ใช้สำหรับ ตัดความไม่รู้จักอดทน
7. สัจจะ ใช้สำหรับ ตัดความไม่จริงใจ (มีอารมณ์ใจกลับกลอก)
8. อธิษฐาน ใช้สำหรับ ทรงกำลังใจไว้ให้สมบูรณ์ บริบูรณ์
9. เมตตา ใช้สำหรับ สร้างความเยือกเย็นของใจ
10. อุเบกขาใช้สำหรับ วางเฉย ช่างมัน เมื่อเราไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้

เรื่องของทาน เป็นเรื่องแรกของการสร้างบารมี
ทาน คือการให้เพื่อสงเคราะห์ โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อตัดโลภออกไป ทาน มาจากคำว่า ทานํ แปลว่า การให้
ทาน มีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. ทาสทาน คือการให้ที่เลวกว่าที่เรากินเราใช้ เป็นทานที่มีบารมีต่ำ จัดอยู่ในขั้น บารมี
2. สหายทานคือการให้ที่เสมอกันกับที่เรากินเราใช้ เป็นทานที่มีบารมีเข้าใกล้นิพพาน หรือเฉียด ๆ นิพพาน อยู่ในขั้นอุปบารมี
3. สามีทาน คือการให้ที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ เป็นทานที่มีบารมีมาก เข้าถึงนิพพานได้ อยู่ในขั้นปรมัตถบารมี

เรื่องของปัญญา ปัญญาคือความรู้ ความรู้นั้นเกิดขึ้นได้ 3 ทาง คือ
1. สุตตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการฟัง การเรียนรู้
2. จินตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการคิด การไตร่ตรอง การใคร่ครวญพิจารณา
3. ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ผุดขึ้นเอง(รู้เอง) ขณะที่จิตเป็นสมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิ ซึ่งจะรู้เห็นได้ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าปัญญาขั้นอื่นๆ และเป็นปัญญาที่ใช้ตัดกิเลสทั้ง 3 กอง ให้หมดได้โดยสิ้นเชิง

เรื่องของสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ คือ
1. ขณิกสมาธิ คือสมาธิที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เกิดจากการจดจ่อ ตั้งใจทำ
สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ตั้งใจขับรถ ตั้งใจฟัง ตั้งใจอ่าน เป็นต้น
2. อุปจารสมาธิ คือสมาธิเข้าใกล้ หรือสมาธิเฉียด ๆ สมาธิระดับนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถที่จะใช้พิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญา หมดข้อสงสัยได้ด้วยตนเอง
3. อัปปนาสมาธิ คือสมาธิขั้นดิ่ง สมาธิระดับนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาให้เกิดปัญญา แต่เกิดประโยชน์มากในการพักจิต เพราะสมาธิระดับนี้ ร่างกายจะไม่รับรู้สัมผัสใดๆ ไม่รับรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และใช้พลังงานในร่างกายน้อยมาก ไม่ต้องกินอาหารได้หลายๆ วันติดต่อกัน ที่เรียกว่า เข้าฌาน

การฝึกเพื่อให้เกิดสมาธินั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ก็คือ ฝึกสติให้รู้เท่าทันจิต เมื่อสติตามทันจิตแล้ว ก็จะเกิดสมาธิ ขณะที่สติตามทันจิต การตัดสินใจใด ๆ ของเราจะไม่ผิดพลาด ถ้าขาดสติเมื่อใด ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ สมาธิจะพัฒนาสูงขึ้นได้ก็อยู่ที่การหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ การฝึกสมาธิ มีหลายแนวทาง เราต้องเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับจริตของตนเอง สมาธิของเราจึงจะก้าวหน้าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

เรื่องของกิเลส กิเลสหมายถึงเครื่องเศร้าหมองของจิต มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ
1. โลภะ คือความโลภ (แปลว่า ดึงเข้ามา) ดับได้ด้วยการให้ทาน การบริจาค
2. โกรธะ คือความโกรธ ดับได้ด้วย เมตตา กรุณา รัก สงสาร
3. โมหะ คือความหลง ไม่รู้ความจริง ดับได้ด้วยการไม่ยึดติดอยู่ในวัตถุ ไม่ติดอยู่ในร่างกาย ไม่ติดอยู่ในโลกใดๆ ทั้งหมด
เมื่อเราละกิเลสทั้ง 3 ประการ อย่างหยาบ ๆ ได้แม้เพียงเล็กน้อย เราจะรู้สึกได้ถึงความเบาสบายของจิต ฉะนั้นถ้าหากเราละกิเลสได้ละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง กิเลสนั้นหมดไปจากใจ เราจะรู้สึกเบาสบายขนาดไหน เป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องของ บุญ-บาป
บุญ หมายถึง ความเบาสบายของใจ ที่เกิดจากการกระทำกุศล (สิ่งที่ดีงาม) เช่นการให้ทาน การรักษาศีล และการภาวนา ซึ่งจะเกิดบุญ (ความเบาสบายใจ) จากน้อยไปหามากตามลำดับ
บาป หมายถึง ความไม่สบายใจ ที่เกิดจากการทำอกุศล (สิ่งไม่ดีไม่งาม) เช่น การกระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับ ทาน ศีล ภาวนา
กรรม แปลว่าการกระทำ เป็นคำกลาง ๆ ฉะนั้นถ้านำไปรวมกับคำว่า กุศล จะได้คำว่า กุศลกรรม หมายถึงการกระทำในสิ่งที่ดีงาม หรือถ้านำไปรวมกับคำว่า อกุศล ก็จะได้คำว่า อกุศลกรรม หมายถึง การกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือการกระทำความชั่วนั่นเอง
กุศลกรรมส่งผลให้เราได้รับความสุข ส่วนอกุศลกรรม ส่งผลให้เราได้รับความทุกข์ ดังนั้น ถ้าเราต้องการความสุข เราจะต้องเลือก ทำแต่กุศลกรรมเท่านั้น …


ภาคผนวก

บุญกิริยาวัตถุ
บุญกิริยาวัตถุ แปลว่าหลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือหลักแห่งการทำบุญ บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี 3 อย่าง คือ
1. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
2. ศีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
3. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
หมายความว่า วิธี หรือหลักแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดโดยย่อแล้วก็มีเพียง 3 อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา แต่ถ้าขยายความให้กว้างออกไป บุญกิริยาวัตถุมี 10 ประการ คือ
1. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
2. ศีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
3. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
4. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
5. ไวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ
6. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ
7. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ
8. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม
9. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม
10. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง การปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูก

ลำดับอานิสงส์ของทาน (ทานํ=การให้)
ให้แก่สัตว์เดรัจฉาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้มนุษย์ 1 ครั้ง
ให้แก่มนุษย์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้สมมติสงฆ์ 1 ครั้ง
ให้กับสมมติสงฆ์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระโสดาบัน 1 ครั้ง
ให้กับพระโสดาบัน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระสกิทาคามี 1 ครั้ง
ให้กับพระสกิทาคามี 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระอนาคามี 1 ครั้ง
ให้กับพระอนาคามี 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระอรหันต์ 1 ครั้ง
ให้กับพระอรหันต์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระปัจเจกพุทธเจ้า 1 ครั้ง
ให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้พระพุทธเจ้า 1 ครั้ง
ให้กับพระพุทธเจ้า 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้สังฆทาน 1 ครั้ง
ให้สังฆทาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้อภัยทาน 1 ครั้ง
ให้อภัยทาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้ธรรมทาน 1 ครั้ง
ดังนั้น การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ สพฺพทานํ ธมมทานํ ชินาติ ”
สังโยชน์ 10
1. สักกายทิฏฐิ คือความรู้ความเห็นผิด ว่า กายเป็นตน หรือรูปเป็นตน ขันธ์ 5 เป็นตน ความจริงสิ่งเหล่านั้นเป็นสภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า และอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมดา (ธัมมัฏฐิตตา) กฎแห่งไตรลักษณ์ แต่เพราะหยั่งไม่ถึงความจริงข้อนี้ จึงยึดถือว่ารูปร่างกายนี้เป็นตนเป็นของตน จึงเกิดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตนอย่างหยาบ ๆ
2. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยต่าง ๆ เช่น สงสัยในองค์พระศาสดา สงสัยในพระธรรม ในพระสงฆ์รวมตลอดทั้งสงสัย ที่ไป ที่มา ของชีวิต ชะตา โชคเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่มีหลักยึด ยากแก่การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงาม
3. สีลัพพตปรามาส คือความยึดมั่นในศีลพรต ยึดมั่นในพีธีการที่ทำตาม ๆ กันมาอย่างงมงาย ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง เห็นเป็นขลัง เห็นเป็นศักดิ์สิทธิ์ ติดในรูปแบบพิธีรีตอง ประพฤติปฏิบัติด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ โดยที่มุ่งผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง
4. กามราคะ คือความกำหนัดยินดีในกาม ความติดใจมัวเมาในกามคุณ
5. ปฏิฆะ คือความโกรธแค้นขัดเคือง คับข้องหมองใจ ความไม่พอใจ ความขุ่นใจ
6. รูปราคะ คือความติดใจในรูปภพ ในรูปธรรมอันประณีต พอใจในรสแห่งความสุขสงบของสมาธิขั้นรูปฌาน เป็นต้น
7. อรูปราคะ คือความติดใจในอรูปภพ ในอรูปธรรม เช่นอารมณ์ในอรูปฌาน เป็นต้น
8. มานะ คือความถือตัวถือตน ถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่ ในเชิงเปรียบเทียบว่า ดีกว่าเขา สูงกว่าเขา เท่าเทียมเขา หรือต่ำกว่าเขา เป็นต้น
9. อุทธัจจะ คือ ความที่จิตซ่านไปตามอารมณ์ วาบหวิว กระเพื่อมไหวด้วยธรรมารมณ์
10. อวิชชา คือความไม่รู้เท่าทันความจริง ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในกฎธรรมดาแห่งเหตุผล ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ตราบเท่าที่ยังไม่พ้นทุกข์สิ้นเชิง
สังโยชน์ 10 อย่างนี้ เป็นเครื่องวัดระดับของอริยบุคคล จากชั้นอริยชนชั้นต้นสุดจนถึงอริยชนชั้นสูงสุดดังนี้
พระอริยชั้นโสดาบัน ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ข้อต้น คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส ได้ กลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกไม่เกิน 7 ชาติ แล้วจะสำเร็จอรหันต์ เข้านิพพาน
พระอริยชั้นสกิทาคามี ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ยังละกามราคะ ปฏิฆะขั้นหยาบได้ กลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกไม่เกิน 3 ชาติแล้วจะสำเร็จอรหันต์เข้านิพพาน
พระอริยชั้นอนาคามี ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ข้อต้น คือ ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ ได้ทั้งหมด จะไม่กลับมาเกิดอีกแต่จะบำเพ็ญบารมีที่ชั้นพรหมโลกและสำเร็จอรหันต์ เข้านิพพาน
พระอริยชั้นอรหันต์ ละสังโยชน์ 10 อย่างได้ทั้งหมด เมื่อละได้ก็เข้าสู่นิพพานได้ทันที ถ้ายังไม่ทิ้งร่างเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ถ้าทิ้งร่างแล้วเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน

พุทธวิธีชนะความโกรธ
วัตถุประสงค์ เพื่อเสนอแนวคิดตามหลักพระพุทธศาสนาให้ผู้อ่านใช้ระงับความโกรธ
รวบรวมโดย ธัมมวัฑโฒ ภิกขุ วัดโสมนัสวิหาร วศบ.(จุฬา) M.S. (Computer) น.ธ.เอก
สาระโดยย่อ ลักษณะของความโกรธ ลำดับขั้นของความโกรธ สาเหตุของความโกรธ ภาษิต ข้อคิดหรือคติ สำหรับระงับหรือบรรเทาความโกรธ

ความบางตอนจากหนังสือ พุทธวิธีชนะความโกรธ
แผ่นดินนี้ไม่อาจทำให้ราบเรียบเสมอกันหมดได้ฉันใด มนุษย์ทั้งหลาย จะให้คิดเหมือนกันหมดก็ไม่ได้ฉันนั้น ดังนั้นอย่าโกรธหรือเดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อคนอื่นมีความเห็นไม่เหมือนเรา หรือทำไม่ถูกใจเรา ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น ไม่เป็นไปตามใจเรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร ๆ ตัวเราเองแท้ ๆ ยังไม่รู้ใจ ทำไม่ถูกใจเรา แล้วคนอื่นจะรู้ใจ ทำถูกใจเราได้อย่างไร
การนินทา ไม่ใช่ของใหม่ที่เกิดขึ้น เขาทำกันมาแต่โบราณแล้ว คนนั่งนิ่งเขาก็นินทาว่า ทำไมจึงนั่งนิ่งเหมือนคนใบ้ คนพูดมากก็นินทาว่า ทำไมจึงพูดไม่หยุดอย่างกับปากเป็นหุ่นชักยนต์ คนพูดพอประมาณ เขาก็นินทาว่า ทำไมเจ้าคนนี้จึงสำคัญว่าคำพูดของตนเหมือนทองคำ พูดคำสองคำก็นิ่งเสีย แผ่นดินก็ดี พระอาทิตย์และพระจันทร์ก็ดี คนก็ยังนินทา แม้พระพุทธเจ้าผู้เพรียบพร้อมด้วยคุณงามความดี คนก็ยังนินทา คนไม่ถูกนินทา ไม่เคยมีมา แล้วจักไม่มีต่อไป ถึงในขณะนี้ก็ไม่มี (ธรรมบท)
อันนินทา กาเร เหมือนเทส้วม ถ้ารวบรวมรับไว้ ย่อมได้เหม็น
หากไม่รับ กลับหาย คลายประเด็น ย้อนไปเหม็นปากเน่าของเขาเอง
ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ขวัญใจโลก คนยังโขก ยังสับ งับเหยงเหยง
ถ่มน้ำลาย รดฟ้า ด่าบรรเลง ใครจะเก่ง เกินลิ้น คนนินทา (ศรีตราด)
คำพูดเป็นเพียงลมปาก เมื่อพูดแล้วคลื่นเสียงก็จางหายไปในอากาศ ไม่อาจทิ่มแทงหรือทำอันตรายร่างกายเราได้ เหมือนสายลมอ่อน ๆ ที่พัดมาต้องร่างกายเราแล้วจางหายไป คำพูดที่เขานินทาเรานั้น ได้จางหายไปในอากาศหมดแล้ว ดับสูญไปนานแล้ว ไม่มีร่องรอยเหลืออยู่อีกแล้ว เหตุไฉนจึงยังเก็บเอาสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ตัวตน ที่ล่วงไปนานแล้วมาคิดให้รกใจ ร้อนใจ ทุกข์ใจเปล่า ๆ ทำไม การกระทำอย่างนี้ โง่หรือฉลาดกันแน่
นิสัยควาย แล้วไม่วาย จะบดเอื้อง คนรื้อเรื่อง อตีตัง มาตั้งขาน
พิรี้พิไร ไม่รู้จบ งบประมาณ ก็เปรียบปาน ดังควาย น่าอายนา (อุทานธรรม)
ผู้ใดอดทนต่อถ้อยคำของคนที่ต่ำกว่าได้ นักปราชญ์กล่าวว่า ความอดทนของผู้นั้นสูงสุด ผู้มีความอดทนพึงได้ผลคือความไม่กระทบกระทั่ง เวรย่อมระงับด้วยกำลังแห่งขันติ (สรพังคชาดก)
การกล่าวร้ายหรือหมิ่นประมาท เป็นเสมือนยาพิษซึ่งศัตรูวางแก่เรา เพื่อให้เราโกรธแค้น เพื่อทำลายสมรรถภาพในการทำงาน ทำลายสุขภาพอนามัยและความสงบกายสงบใจของเรา แล้วเหตุไฉนเราจึงต้องกลืนกินยาพิษที่เขาวางไว้เพื่อประทุษร้ายเรา ( หลวงวิจิตรวาทการ)
เราอาจถูกคนด่าว่าเสียดสี หรือพูดดูหมิ่นให้เจ็บใจ แต่ถ้าเรามีความอดกลั้นพอ ไม่ตกเป็นทาสของความโกรธและความวู่วามแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะผ่านหายไปด้วยการทำเป็นไม่รู้เท่าทัน หรือทำเป็นไม่ได้ยินคนขนาดเราก็ไม่ได้วิเศษมาแต่ไหน จะถูกเสียดสีว่ากล่าวบ้างไม่ได้เทียวหรือ ก็คนขนาดประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจ ยังถูกด่ากันโครม ๆ แล้วเราเป็นอะไร จะถูกกระทบกระเทือนบ้างไม่ได้หรือ
บุคคลบางคนดูเหมือนจะมีเรื่องกังวลอยู่แต่การแก้เผ็ดแก้แค้น หรือพูดจาตอบโต้กับคนนั้นกับคนนี้อยู่เนืองนิตย์ ใครพูดจาแหลมมาเป็นต้องถูกตอบโต้กลับไปอย่างสาสม ถ้านึกไม่ออกในขณะนั้น ก็ต้องไตร่ตรองหาคำพูดที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บใจให้จงได้ บางครั้งถึงกับนอนไม่หลับ มีเรื่องเล่าว่าคนแจวเรือไปได้สองคุ้งน้ำแล้ว เพิ่งนึกคำโต้ตอบได้ อุตส่าห์แจวเรือกลับมาตอบโต้เขาอีกคำสองคำแล้วจึงจากไป ลองนึกดูก็ได้ว่าบุคคลที่ทำดังนี้จะมีความสุขได้อย่างไร (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

คอยปลดเปลื้อง เรื่องร้าย ให้คลายออก หมั่นซักฟอก จิตใจ ให้เจิดจ้า
สิ่งสกปรก รกใจ ไม่เก็บมา ผ่านหูตา ปล่อยไป ไม่ไยดี (ก.เขาสวนหลวง)

โทษผู้อื่น แลเห็น เป็นภูเขา โทษของเรา แลไม่เห็น เท่าเส้นขน
ตดคนอื่น เหม็นเบื่อ เราเหลือทน
ตดของตน ถึงเหม็น ไม่เป็นไร (อุทานธรรม)
คนอื่นจะทำให้เราเป็นคนเลวไม่ได้ คนที่จะทำให้เรากลายเป็นคนเลวมีอยู่คนเดียวในโลก คือตัวเราเอง คนตั้งร้อยมารุมด่าเราวันยันค่ำ ก็ทำให้เรากลายเป็นคนเลวไม่ได้ แต่ถ้าเราเองพูดจาหยาบคายด่าตอบ หรือแสดงท่ายักษ์ออกมาเมื่อใด เราก็จะกลายเป็นคนเลวอย่างเขาไปด้วย การที่เขาด่าเรา เขามุ่งหมายที่จะทำให้เรากลายเป็นคนเลว เป็นบ้า เป็นหมู เป็นหมา ถ้าเราควบคุมตัวไว้ได้ ไม่ยอมเลวตาม เราก็ชนะ ถ้าเอาความเลวออกตอบเมื่อไร เราก็แพ้ ( พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์)
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง (พุทธทาสภิกขุ)

เมื่อเขาด่า แทนที่จะคิดว่า ไอ้นี่ด่าเรา ก็ไปคิดวิจารณ์ว่า เขาด่าว่าอย่างไรแน่ อาจขอให้เขาด่าซ้ำอีกที โดยบอกเขาว่าเราฟังไม่ทัน เพราะด่ากระทันหันมาก เช่นถ้าเขาด่าเราว่า คนหมา ๆ เราก็วิจารณ์คำว่า คนหมา ๆ คือคนยังไง แล้วที่ว่า หมา ๆ น่ะ หมาไทยหรือหมาฝรั่ง ตัวผู้หรือตัวเมีย คิดแล้วไม่รู้เรื่อง ด่าสั้นเกินไป ไม่ถูกไวยากรณ์ ตกลงคำด่ายังใช้ไม่ได้ คืนเจ้าของเขาไปดีกว่า การหัดคิดในแง่ขำขันทำให้ใจเย็น โกรธช้า (พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์)
ถ้าเขาด่า ฟังให้ดี ใช่มีบ่อย
เราต้องคอย จับประเด็น จนเห็นได้
เขาด่าจบ หากว่าเรา ไม่เข้าใจ
ขอจงให้ ด่าให้ฟัง อีกครั้งเทียว
ถ้าถูกยิง ด้วยสายตา อย่าขุ่นข้อง
เราไม่ต้อง จ้องตอบโต้ โวตาเขียว
หากเขาค้อน แล้วหยุดไป ในครั้งเดียว
ขออีกเที่ยว ค้อนมา นัยน์ตางาม ( ศรีตราด)

พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระราหุลว่า เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง อุจจาระบ้าง ปัสสาวะบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอาหรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ฉันใด เธอจงทำใจเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้น เพราะเมื่อเธอทำใจเสมอด้วยแผ่นดิน สัมผัสที่ชอบใจและไม่ชอบใจ จักไม่ครอบงำจิตของเธอ (มหาราหุโลวาทสูตร)
ธรรมดาน้ำ ย่อมจะเย็นฉันใด ใจเราก็ควรจะเย็น ไม่โกรธ ด้วยอาศัยขันติและเมตตาฉันนั้น
ธรรมดาอากาศไม่มีใครจับยึดไว้ได้ฉันใด เราก็ไม่ควรให้ความโกรธยึดถือได้ฉันนั้น
ธรรมดาแผ่นดินย่อมรับน้ำหนักของสิ่งต่าง ๆ บนโลกไว้ได้ฉันใด เราก็ควรอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้คนในโลกไว้ได้ฉันนั้น (มิลินทปัญหา จักกวัติวรรค)

พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า หากมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีมือจับทั้งสองข้างเลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ผู้ใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ผู้นั้นไม่เป็นผู้ชื่อว่า เป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเราเพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้ (กกจูปมสูตร)
ความโกรธเกิดกับผู้ใดก็เผาใจผู้นั้นให้ร้อนเร่า ถึงเราจะโกรธแค้นปานใด ก็ไม่อาจสาปแช่งหรือแผ่ความโกรธไปเผาผู้อื่นให้พลอยร้อนใจไปกับเราด้วย ดังนั้นแม้ชื่อว่าโกรธเขา แต่ผู้ที่ร้อนใจ เจ็บใจ ทุกข์ใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็คือเราไม่ใช่เขา
ในที่บางแห่งท่านเปรียบว่า อาการที่โกรธคนอื่นก็อุปมาเหมือนกับการหยิบเหล็กร้อนแดงหรืออุจจาระ ดังนั้นการโกรธลับหลังเขาก็เหมือนกับการหยิบเหล็กร้อนแดงหรืออุจจาระแล้วถือไว้เฉย ๆ เพราะไม่รู้จะไปขว้างใคร ต้องร้อนหรือเหม็นอยู่คนเดียว คนอื่นเขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยเลย ยิ่งโกรธบ่อย ๆ ก็ต้องร้อนต้องเหม็นบ่อย ๆ ยิ่งโกรธโดยไม่ยอมเลิกก็เหมือนเอามือกำเหล็กร้อนไว้แน่นไม่ยอมปล่อย หรือเอามือขยำอุจจาระโดยไม่ยอมเลิก ลองนึกดูว่าสภาพเช่นนั้น น่าสมเพชและน่าสะอิดสะเอียนขนาดไหน เราจะยอมปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นหรือ
แม้ชื่อว่า โกรธเขา แต่เราร้อน
เดินนั่งนอน ใจร้อนรุ่ม ดุจสุมไฟ
แล้วยังดื้อ ถือโทษ โกรธอยู่ใย
ได้อะไร เป็นประโยชน์ โปรดคิดดู (ธัมมวัฑโฒ ภิกขุ)



* * * * * * *

การปฏิบัติเพื่อระงับความโกรธ

1. ให้ระลึกถึงโทษของความโกรธ ว่าความโกรธนั้นให้โทษประการต่าง ๆ หาคุณมิได้เลย ผู้ไม่โกรธตอบผู้โกรธตนก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
2. ให้ระลึกถึงความดีของเขา เพราะแต่ละคนย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดีอยู่ในตัว ถ้าหาความดีไม่ได้จริง ๆ ก็ให้นึกสงสารเขาว่าต่อไปจะต้องประสบผลร้าย จากการประพฤติไม่ดีอย่างนี้
3. ให้คิดถึงความจริงที่ว่า การโกรธคือการทำให้ตัวเองทุกข์ คนที่โกรธแล้วเป็นสุขไม่มีในโลก
4. ให้พิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมที่เกิดจากความโกรธ จะทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปอีก
5. ให้พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระศาสดาว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดเวลายาวนาน ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนม์ชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้ง เบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่ทรงแค้นเคือง ทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงแม้เขาจะตั้งตัวเป็นศัตรู
6. ให้พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในวัฏสงสาร ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่ชายน้องชาย พี่หญิงน้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตรเป็นธิดาของเรา มิใช่หาได้ง่าย หมายความว่ามนุษย์ทุกคนต้องเคยเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติ
7. พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ความโกรธมีโทษก่อผลร้ายมากมายฉันใด เมตตาก็มีคุณก่อให้เกิดผลดีมากฉันนั้น ผู้มีเมตตาย่อมสามารถเอาชนะใจคนอื่น ซึ่งเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ ผู้ตั้งอยู่ในเมตตาชื่อว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
8. พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ ว่าทุก ๆ สิ่งในโลกประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ
9. พิจารณาทำทานสังวิภาค การทำทานสังวิภาคคือการให้ของของตนแก่ศัตรูและรับของของเขามาเพื่อตน แต่ถ้าของของเขาไม่บริสุทธิ์ ก็พึงให้แต่ของของตนฝ่ายเดียว ไม่รับของเขา เมื่อทำดังนี้ ความอาฆาตในบุคคลนั้นก็จะระงับไป

* * * * * * *



ข้อห้าม …. เพื่อความสำเร็จ
- อย่าทำตัวเป็นคนซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย
- อย่าไปคิดว่าตัวเองเป็นคนดีกว่าคนอื่น เป็นอันขาด
- อย่าหาความสุขจากการซุบซิบ นินทา ผู้อื่น
- อย่าเป็นคนอาฆาต จองเวร
- อย่าเป็นคนขี้เซา เอาแต่นอน
- อย่าคบเพื่อนที่ไม่ดี
- อย่าทำงานอดิเรก เพียงสักแต่ว่าทำ
- อย่าเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น
- อย่าเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ
- อย่าสร้างนิสัยที่ไม่ดี
- อย่าเป็นคนที่อยู่นิ่งไม่ได้ (หลุกหลิก)
- อย่าหลงลำพอง
- อย่าหละหลวมเรื่องสุขภาพ
- อย่าตกเป็นทาสของอารมณ์
- อย่ามองคนในแง่ร้าย
- อย่าคลั่งศาสนา จนดูหมิ่นศาสนาอื่น
- อย่ามองข้ามอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต
- อย่าโกรธตัวเอง
- อย่าสร้างเรื่องเท็จ
- อย่าเพ้อฝัน
- อย่าพูดเกินความจริง
- อย่าวางท่า
- อย่าปั้นแต่งนิยายขึ้นมาหลอกลวงผู้อื่น
- อย่าพูดคำว่า “ ไม่ ” เมื่อคุณ อยากบอกว่า “ ใช่ ”
- อย่ากลัวความผิดพลาด
- อย่ากลัวที่จะเป็นตัวของตัวเอง
- อย่าเป็นคนดีแต่พูด
- อย่าพูดคลุมเครือ ต้องชี้เฉพาะเจาะจงให้แน่ชัด
- อย่าทำตัวเหมือนคนอื่น จงเป็นตัวของตัวเอง
- อย่าละเลยสุขภาพ
- อย่ามีนิสัยขี้บ่น ขี้โมโห
จงจำข้อห้ามเหล่านี้ให้ดี อย่าลืมและอย่าละเลยเป็นอันขาด
จากหนังสือ สำรวจตัวพัฒนาตน ของอินทิรา ปัทมินทร

วิธีใช้เอกสารเล่มนี้
1. ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้อ่านวันละ 1 ครั้ง
2. ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ให้อ่านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
3. ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ก็อ่านเพียงครั้งเดียวแล้วก็รีบมอบให้คนอื่นต่อไป


หมายเหตุ ถ้าเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอนุญาตให้เผยแพร่ต่อได้ ไม่จำกัด

ไฟล์แนบ



#2 BOG-BOG

BOG-BOG
  • Members
  • 293 โพสต์

โพสต์เมื่อ 24 April 2006 - 12:17 AM

มนุษย์คนแรกชื่อว่าอะไร

แล้วมนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร


ต้นกำเนิดของมนุษย์ มาจากลิงจริงหรอ สงสัยนิดหน่อยขอผู้รู้ช่วยตอบด้วยจ๊ะ





คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว คนชั่วชอบทำลาย คนมักง่ายชอบทิ้ง คนจริงชอบทำ คนระยำชอบติ !!!!

#3 เป็นหนึ่ง

เป็นหนึ่ง
  • Members
  • 354 โพสต์

โพสต์เมื่อ 24 April 2006 - 01:08 AM

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

[๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ
เธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน
พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็น
พวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร
ดังนี้เถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่
รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม
เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกาย
ก็ดี ว่าพรหมกาย ก็ดี ว่าธรรมภูต ก็ดี ว่าพรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ

[๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง
ระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า
สัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร
มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิต
อยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้ง
บางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ
อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น
ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ใน
อากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละ
สมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฎ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฎ กลางวันกลาง
คืนก็ยังไม่ปรากฎ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฎ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฎ
เพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฎ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่า
นั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิด
ง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฎแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยว
ให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี
กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้ง
เล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลนพูดว่า ท่าน
ผู้เจริญทั้งหลาย นี่จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอา
นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยาก
ขึ้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างสัตว์นั้น
เอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลอง
ลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาสัตว์
เหล่านั้นพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือแล้วบริโภค ดูกรเสฏฐะ
และภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือ
แล้วบริโภคอยู่นั้น เมื่อรัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวง
อาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย
ก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อ
กลางคืนและกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง
และกึ่งเดือนปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นมาอีก ฯ

[๕๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันบริ-
*โภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน
ด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้นมัวเพลินบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดิน
เป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้ง
ผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมี
ผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นพากันดูหมิ่น
สัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิว
พรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น
เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็หายไป เมื่อง้วนดินหายไป
แล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงพากันจับกลุ่ม ครั้นแล้ว ต่างก็บ่นถึงกันว่า รสดีจริง รส
ดีจริง ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากได้ของที่มีรสดีอย่างใดอย่าง
หนึ่ง มักพูดกันอย่างนี้ว่า รสอร่อยแท้ๆ รสอร่อยแท้ๆ ดังนี้ พวกพราหมณ์
ระลึกได้ถึงอักขระ(หมายถึงเรื่องราว) ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณนั้นเท่านั้น
แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ

[๕๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อง้วนดินของสัตว์
เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีกระบิดินขึ้น กระบิดินนั้นปรากฏลักษณะคล้ายเห็ด
กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีเหมือนเนยใส หรือเนยข้นอย่างดีฉะนั้น
ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ
ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคกระบิดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่
รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลนาน ดูกรวาเสฏฐะ
และภารทวาชะ โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน
มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้า
ขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์
บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม
พากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวก
ท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดู
หมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป เมื่อกระบิ
ดินหายไปแล้ว ก็เกิดมีเครือดินขึ้น เครือดินนั้นปรากฏคล้ายผลมะพร้าวทีเดียว
เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี
ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภค
เครือดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็น
อาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่
รับประทานเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน
สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น
สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามี
ผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสอง
พวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดิน
ก็หายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็พากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็
บ่นถึงกันว่า เครือดินได้เคยมีแก่พวกเราหนอ เดี๋ยวนี้เครือดินของพวกเราได้
สูญหายเสียแล้วหนอ ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมาก พอถูกความ
ระทมทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบ ก็มักบ่นกันอย่างนี้ว่า สิ่งของของเราทั้งหลาย
ได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งของของเราทั้งหลายได้มาสูญหายเสียแล้วหนอ
ดังนี้ พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น
แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ

[๕๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อเครือดินของสัตว์
เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีข้าวสาลีขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มี
แกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้นนำเอา
ข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็
งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าเขาพากันไปนำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า
ตอนเย็นข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกแล้วก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่อง
ไปเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น พวกสัตว์บริโภคข้าวสาลีที่เกิด
ขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ พากันรับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร
ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน ก็โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีอันเกิดขึ้น
เองอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นการช้า
นาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่าง
กันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฏ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฏ นัยว่า สตรีก็
เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างเพ่งดู
กันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัดขึ้น เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่า
ร้อนเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแล สัตว์พวกใดเห็นพวก
อื่นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่
บ้าง พร้อมกับพูดว่า คนชาติชั่ว จงฉิบหาย คนชาติชั่ว จงฉิบหาย ดังนี้ แล้ว
พูดต่อไปว่า ก็ทำไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำแก่สัตว์เช่นนี้เล่า ข้อที่ว่ามานั้น จึงได้
เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่ง คนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่
บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในเมื่อเขาจะนำสัตว์ที่ประพฤติชั่วร้าย
ไปสู่ตะแลงแกง พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของ
โบราณนั้นเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ

ที่มา
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๑๘๑๙ - ๒๑๒๙. หน้าที่ ๗๕ - ๘๘.
http://84000.org/tip...129&pagebreak=0

-----------------------------------------------------------------------------------

อาจจะอ่านยากสักนิดนะครับ เพราะเป็นเนื้อความจากพระไตรปิฎกเลย สรุปว่า มนุษย์เกิดจากอาภัสสรพรหมครับ ไม่ได้มาจากลิง แต่ลิงนั่นแหละ ที่เกิดมาจากมนุษย์ เมื่อมนุษย์ไปทำบาปอกุศล ตายแล้วก็ไปเกิดในทุคติภูมิ อันได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เพราะอย่างนี้ ลิงจึงได้กำเนิดขึ้นครับ
I just gotta get out of this prison cell.
Someday I'm gonna be free.

#4 niwat

niwat
  • Members
  • 1420 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 24 April 2006 - 08:48 PM

คำว่ามนุษย์ มาจากคำว่า “มน” แปลว่าใจ รวมกับคำว่า “อุษย์” หรืออุตม(อุดม) แปลว่าสูง มนุษย์จึงหมายถึงสัตว์ที่มีใจสูง ใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง กล่าวโดยตรงหมายความถึงคนที่อยู่ในโลกของเรานี้ ถ้ากล่าวโดยอ้อม หมายถึงโลกมนุษย์อื่นๆ อีก ๓ โลก ที่อยู่ในจักรวาลเดียวกันกับเราด้วย.
ที่อยู่ของมนุษย์ อยู่บนพื้นดินที่มีอยู่ทั้ง ๔ ทิศของภูเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นภุเขาที่อยู่ตรงกลางจักรวาล ผืนแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่า ทวีปทั้ง ๔ มีชื่อเรียกว่า ปุพเพวิเทหทวีป อปรโคยานทวีป ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป.

จากหนังสือเราคือใคร เรียบเรียงโดยป้าหวิน (อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล)


#5 CEO

CEO
  • Members
  • 577 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย

โพสต์เมื่อ 29 April 2006 - 01:04 AM

QUOTE
ให้แก่สัตว์เดรัจฉาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้มนุษย์ 1 ครั้ง
ให้แก่มนุษย์ 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้สมมติสงฆ์ 1 ครั้ง

ขอแก้เป็น
ให้แก่สัตว์เดรัจฉาน 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้มนุษย์ผู้ทุศีล 1 ครั้ง
ให้แก่มนุษย์ผู้ทุศีล 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้มนุษย์ผู้มีศีล 1 ครั้ง
ให้แก่มนุษย์ผู้มีศีล 100 ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้สมมติสงฆ์ 1 ครั้ง
สร้างบารมีทุกวินาที
แม้ชีวิตนี้ก็ให้ได้

#6 นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว
  • Members
  • 2378 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:รู้สึกว่าจะไม่ค่อยได้อยู่กะที่อ่ะ มาดูอารายกานอ่ะ
  • Interests:มาสร้างบารมีตามติดหมู่คณะดีกว่า

โพสต์เมื่อ 23 September 2006 - 04:11 PM

อนุมทนาด้วย
กายธรรมควรเทิดไว้ ในใจ
เป็นสรณะภายใน เทียงแท้
กว่านี้ บ่ มีใด เทียบได้
น้อบนบท่านไว้แล ค่ำเช้าสุขเสมอ


เอาบุญมาฝากจ้า นั่งสมาธิเยี่ยมไปเลย แถมไปติดจานมาอีกด้วย เด็กชาวเขานี้น่ารักนะแม้คุยไม่รู้เรื่องก็ตามล่ะ สนุกดี

#7 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 20 March 2007 - 09:24 AM

ขอกราบอนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุ

#8 *ibeam*

*ibeam*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 29 November 2010 - 12:46 AM

ดีมากเลยค่ะ ชอบๆๆๆ biggrin.gif biggrin.gif biggrin.gif

#9 *แป้ง*

*แป้ง*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 03 February 2011 - 10:12 AM

กราบอนุโมทนาค่ะ สาธุ