ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

การทำสังคายนา


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 6 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 prem

prem
  • Members
  • 128 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 24 February 2010 - 09:44 PM

การทำสังคายนา

ด้วยความที่เป็นคนเกิดในศาสนาอื่น และตอนนี้หันมานับถือพุทธศาสนา และอยากจะศึกษาให้เกิดความกระจ่างแก่ตนเอง จึงกราบเรียนถามท่านผู้ที่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกและมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะ ช่วยกรุณาให้ข้อกระจ่างด้วยค่ะ

1. เหตุที่ต้องมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก เพราะว่า ในสมัยนั้น เริ่มมีความแตกแยก และความเข้าใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แตกต่างกันใช่หรือไม่
2. ทำไมถึงต้องนิยายที่แตกต่างกันในพุทธศาสนา – และสองนิกายที่แตกต่างกันนี้ ยึดถึอพระไตรปิฎกเหมือนกันหรือไม่
3. การทำสังคายนานั้น เกิดขึ้นมากี่ครั้งแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ขออนุโมทนาบุญธรรมทานนี้ แด่ทุกท่านนะคะ สาธุค่ะ

.."การนั่งธรรมะ คือ ความสุขที่เป็นยิ่งกว่าความสุขทั้งมวล"..

#2 @--แสงตะวัน--@

@--แสงตะวัน--@
  • Members
  • 723 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:Thailand

โพสต์เมื่อ 25 February 2010 - 01:17 AM

ผมขอคัดคำตอบของเพื่อนนักเรียน ป.โท DOU บางท่านมาตอบแทนนะครับ อาจเยอะซะหน่อยนะ

QUOTE
1. เหตุที่ต้องมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก เพราะว่า ในสมัยนั้น เริ่มมีความแตกแยก และความเข้าใจในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แตกต่างกันใช่หรือไม่


คำตอบของคุณเกยูร
จุดประสงค์สำคัญที่สุดของการสังคายนา คือการรวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อธำรงรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือคลาดเคลื่อนไป เพราะพระธรรมวินัยนั้นคือหลักของพระพุทธศาสนา หากปราศจากคำสอนแล้วพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังพุทธวจนะในคราวจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป (ที.ม.10/141/178) พระเถระทั้งปวงเห็นความสำคัญของพระธรรมวินัยซึ่งจะสืบทอดพระศาสนาต่อไปในภายหน้า หากละเลยปล่อยไว้กระทั่งพระธรรมวินัยเกิดความคลาดเคลื่อนไปจะเป็นอันตรายต่อพุทธศาสนา จึงได้เริ่มสังคายนารวบรวมพระธรรมคำสอนขึ้นเป็นหมวดหมู่ภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน


พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะ ซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้อง เกรงบัญชาใคร"

พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้

จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิง

พระพุทธสรีระ ใช้เวลา 7 เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์

การทำสังคายนาพระธรรมวิทัยครั้งที่ 1 จึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหาเมืองราชคฤห์ตามคำปรารภของพระมหากัสสปะเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระเป็นประธานทำสังคายนาพระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรมวินัยในหมวด สุตตันตปิฎกและอภิธรรม

พระอุบาลี เป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก ซึ่งแนวการวางระเบียบพระธรรมวินัยในครั้งนั้นจัดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังคงมีการรักษาสิ่งที่ได้จัดรวบรวมในครั้งปฐมสังคายนาอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาทโดยไม่มีการปรับแก้มาจนปัจจุบัน

3.มีพระ ภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหมดเข้าร่วมการสังคายนาและลงมติยอมรับตามที่ได้สังคายนา

QUOTE
2. ทำไมถึงต้องนิยายที่แตกต่างกันในพุทธศาสนา – และสองนิกายที่แตกต่างกันนี้ ยึดถึอพระไตรปิฎกเหมือนกันหรือไม่


คำตอบคุณอมรรัตน์
นิกายหินยาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายเถรวาท และทักษิณนิกาย หินยาน แปลว่า ยานลำเล็ก ขนสรรพสัตว์ไปได้น้อย หรือ เถรวาท แปลว่า วาทะของพระเถระ

นิกายหินยาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายเถรวาท และทักษิณนิกาย เหตุที่เรียกว่า นิกายเถรวาท เพราะพระในนิกายนี้ถือปฏิบัติตามหลักคำสอนที่สืบต่อกันมาโดยพระเถระตั้งแต่ครั้งที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งถือว่าเป็นพระเถระที่ได้มีชีวิตอยู่ทันเห็นพระพุทธเจ้าและได้รักษาคำสอนพระพุทธเจ้าไว้ตามรูปแบบที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
ต่อมานิกายนี้ได้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทักษิณนิกาย แปลว่า นิกายฝ่ายใต้ หมายความว่า เป็นนิกายของพระภาคใต้ นิกายหินยานได้แตกสาขาออกมาอีกในเวลาต่อมารวมกันเป็น ๑๘ นิกาย และในปีพุทธศักราช ๒๑๘ ปี หลังจากทำตติยสังคายนาแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งพระธรรมทูตออกไปประกาศพระศาสนา ๙ สายด้วยกัน เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ที่เห็นเด่นชัด คือ ในประเทศลังการวมทั้งประเทศไทยและประเทศในแถบอินโดจีนคือ ลาว เขมร พม่าก็รวมอยู่ด้วย พระพุทธศาสนาที่เจริญแพร่หลายอยู่ในประเทศดังกล่าวมานี้ล้วนเป็นพระพุทธศาสนาประเภทเถรวาททั้งสิ้น

นิกายมหายาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอาจริยวาท มหายาน แปลว่า ยานลำใหญ่ ขนสรรพสัตว์ไปได้มาก

นิกายมหายาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอาจริยวาท เพราะพระในนิกายนี้ถือปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์ในแต่ละสำนักเป็นหลักและแก้ไขพระวินัยให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นเหตุการณ์และตามความประสงค์ของตนเองได้ โดยยึดถือพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้เมื่อครั้งใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า หากสงฆ์ประสงค์จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ให้ถอนได้ เพราะฉะนั้น ในนิกายนี้จึงมีการแก้ไขพระวินัยหลายข้อด้วยกัน และบางสาขาในนิกายนี้แก้ไขพระวินัยถึงขนาดที่ว่า พระมีครอบครัวได้ ต่อมา นิกายนี้ได้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุตตรนิกาย แปลว่า นิกายฝ่ายเหนือ หมายความว่า เป็นนิกายที่แพร่หลายขึ้นไปในแถบภาคเหนือของอินเดีย คือ กำหนดเอาตั้งแต่แคว้นปัญจาปขึ้นไปจนกระทั่งถึงบริเวณพื้นที่ที่เป็นประเทศอาฟกานิสถานในปัจจุบัน นิกายมหายานได้เจริญแพร่หลายอยู่ในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และปัจจุบันได้รับความนิยมกว้างขวางอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติที่ไม่เคร่งครัดมากเกินไป

สรุปว่า มหายาน กับ เถรวาท ต่างกันอย่างไร
เถรวาท ไม่มีการแก้ไขพระวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัตศีลมากี่ข้อก็รักษาหมดทุกข้อ เนื่องจากพระมหากัสสปะ ต้องการรักษาพระพุทธศาสนาให้เหมือนเดิมมากที่สุด
มหายาน ยึดหลักพุทธโอวาท ว่า สิกขาเล็กน้อยให้ปรับได้

พระพุทธศาสนา ที่ไทยเรานับถืออยู่เป็นแบบนิกายเถรวาท

QUOTE
3. การทำสังคายนานั้น เกิดขึ้นมากี่ครั้งแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน


คำตอบคุณหงษ์สุดา
พระไตรปิฏกนั้น มีที่มาที่ไป คือ มีความพยายามที่จะทำให้เกิดเป็นพระไตรปิฏกหลายอย่าง และที่เด่นที่สุดคือการทำ "สังคายนา "

การสังคายนา คือ การร้อยกรอง รวบรวมพระธรรมวินัยจัดไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อประโยชน์แก่การทรงจำ นำไปบอกกล่าว เพื่อประกาศพระศาสนา และเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก

สังคายนามีมาก่อนปรินิพพาน และหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน การสังคายนา ก็ยังมีต่อมาเนื่องจากมีสาเหตุหลายประการ

การสังคายนาก่อนพุทธปรินิพพาน

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์เองก็ยังทรงห่วงใยพระธรรมวินัย เคยแสดงพระประสงค์ที่จะสังคายนาพระธรรมวินัย พระเถรหลายรูปก็พยายาม ที่จะให้เกิดการสังคายนา พอสรุปได้ดังนี้

1.พระพุทธเจ้าทรงสังคายนาด้วยพระองค์เอง เช่น พระองค์ช่วยปรับทิฎฐิพระอริฏฐะ

2. พระสารีบุตร ท่านเคยขอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัย ที่เมืองเวรัญชา เพราะท่านเห็นเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยของลัทธินิครนนาฎบุตร จึงชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาพระวินัย เพื่อจะได้ไม่ทะเลาะกันภายหลัง

3.พระจุนทะ ปรารภเหตุ พวกนิครนถ์สาวกแตกแยกเป็น 2 พวก เพราะนาฎบุตรถึงแก่กรรม จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและตรัสเรื่องสังคายนากับท่าน ตรัสแนะนำให้พระจุนทะจัดระเบียบพระธรรมวินัย ดังปรากฏในปาสาทิกสูตร เป็นต้น

4.พระโสณะ โกฎิกัณณะ ท่านเคยสังวัธยายพระสูตรทั้งหมดที่มีในอรรถวรรค ด้วยสรภัญญะถวายพระพุทธเจ้า

การสังคายนาหลังพุทธปรินิพพาน

มีทั้งหมด 4 ประเทส คือ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย

ในอินเดีย เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว การสังคายนาก็ยังถือเป็นภาระกิจเร่งด่วน เนื่องจากหลายสาเหตุ เริ่มตั้งแต่การปฐมสังคายนา ที่มีเหตุจากที่เมื่อขณะพระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีพระสุภัททะ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ซึ่งทำในอินเดีย ต่อมา ยังทำสังคายนาอีก 3 ครั้ง เพื่อจัดหมวดหมู่และการทำความบริสุทธิของพระไตรปิฏก เหมือนพระพุทธองค์ยังคงอยู่

ในการทำสังคายนาครั้งที่ 2 เสร็จ มีเหตุการณ์ทำให้สงฆ์แตกแยก อันเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแตกแยกไป 18 นิกาย เป็นกำเนิดของพระพุทธศาสนามหายาน หรือ อาจริยวาท หรือ ชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น มหาสังฆิกะ เอกยาน ยึดหลักคำสอนที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย

ในการสังคายนา ครั้งที่ 3 เหตุจากการที่เหล่าเดียรถีย์เข้ามาปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อหวังลาภสักการะ เมื่อทำสังคายเสร็จ มีการส่งฑูตไปเมืองต่าง ๆ 9 สาย ทำให้เพื่อพระศาสนา รุ่งเรืองในดินแดนอื่นและเจริญเติบโต

ครั้งที่ 4 เป็นการสังคายนาของพุทธศาสนามหายาน ที่แค้วนกัศมีระ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย

ในศรีลังกา มีการสังคายนา 4 ครั้ง คื อ

ครั้งที่ 1 โดย พระมหินทะเถระ

ครั้งที่ 2 โดย ในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย เหตุการณ์บ้านเมืองผันแปร อาจจะทำให้กุลบุตรมีศรัทธาน้อยลง จึงได้ขอพระพรพระบรมราชูปถัมภ์พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย ทำสังคายนาพระธรรมวินัยแล้วจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

ครั้งที่ 3 และ 4 ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานาม และพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ตามลำดับ

ในพม่า เกิดขึ้น 2 ครั้ง เป็นการชำระพระไตรปิฏก และจารึกลงบนแผ่นหินอ่อน และยีงมีการพิมพ์พระไตรปิฏกและอรรถกถาฉบับอักษรพม่าแจกจ่ายไปยังประเทศต่าง ทั่วโลก

ในประเทศไทย เกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง โดย

ครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2020 ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่เชียงใหม่ ล้านนา วัดเจดีย์เจ็ดยอด

ครั้งที่ 2 ในสมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ พ.ศ 2331-2332 ในรัชสมัย ร.1 ทำที่ วัดนิพพานาราม หรือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ปัจจุบัน จารึกในใบลาน

ครั้งที่ 3 ในรัชสมัย ร.5 พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจารึกและการตีพิมพ์เป็นเล่มสมุด ในประเทศสยามและในโลก

ครั้งที่ 4 ในรัชสมัย ร.7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ 2532 ใน ร.9 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์เก่า ได้ดำเนินจารึกพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อันเป็นภาษาหลักของพระพุทธศาสนา ลงบนแผ่นหินอ่อน กว้าง 1.10 เมตร สูง 2 เมตร หนา 7-8 นิ้ว ประดิษฐานที่ พุทธมณฑล จ.นครปฐม นับเป็นพระไตรปิฏกหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีจำนวนมากที่สุดในโลก ขณะนี้

ปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า จึงได้มีการนำพระไตรมาบันทึกลงแผ่น CD-ROM เพื่อใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น พระไตรปิฎก CD-ROM ของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือฉบับ PTS ของมูลนิธิธรรมกาย

จึงเห็นได้ว่า ความเป็นมาของพระไตรปิฏกจากอดีต ถึง ปัจจุบัน นั้น มีวิวัฒนาการเป็น 2 ยุค คือ ยุค แบบ มุขปาฐะ และ ยุคปัณณลิขิตะ

ที่มา : จากหนังสือ พระไตรปิฏกและการตีความ. อาจารย์ทศพร ศรีคำ จากหน้าที่ 9- 26 และ จาก บทเรียนออนไลน์ DOU อาจารย์ทศพร ศรีคำ


สุดท้ายฝากคำตอบเรื่องความน่าเชื่อถือของพระพุทธศาสนาหลังปรินิพพาน
เป็นคำตอบของพระสุริยา
พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้พิจารณาตัดสินเอาตามเหตุผลที่เขาเห็นได้ด้วยตนเอง
หลักกาลามสูตร ๑๐ ที่ว่าด้วยการอย่าเชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ดังนี้

๑. มา อนุสฺสาเวน อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา
๒. มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่าตามสืบๆ กันมา
๓. มา อิติ กิราย อย่าเชื่อโดยตื่นข่าว
๔. มา ปิฎกสัมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยอ้างปิฎก
๕. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
๖. มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน
๗. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อโดยการตรึกตรองตามอาการ
๘. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา อย่าเชื่อโดยเห็นว่าถูกตามลัทธิของตน
๙. มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อโดยเห็นว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
๑๐. มา สมโฌ โน ครุ อย่าเชื่อโดยถือว่า สมณะนี้เป็นครูของตน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอีกว่า “เมื่อใด ท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติถึงที่แล้วจะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงละเสีย ฯลฯ เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครยึดถือปฏิบัติ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายพึงถือปฏิบัติบำเพ็ญ(ธรรมเหล่านั้น)"

ดังนั้นจึงสามารถให้ผู้ศึกษาได้ลองศึกษาด้วยตนเองเพื่อพิสูจน์ว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาน่าเชื่อถือหรือไม่ เมื่อได้มาศึกษาก็จะเข้าใจและเชื่อถือและปฏิบัติตาม ยิ่งศึกษากันแพร่หลายความน่าเชื่อถือก็จะไม่ลดลง แต่หากผู้ศึกษาลดจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ผู้ศึกษาอย่างจริงจังถ่องแท้ไม่มี คำสอนก็จะเป็นลักษณะจำกันต่อ ๆ มา ความน่าเชื่อถือก็คงจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ก็เป็นได้

ปล. ขออนุโมทนาบุญกับผู้ตอบทุกท่านนะครับ ขออนุญาติผ่าน dmc แล้วกันนะครับ :-)
"ชีวิตนี้อุทิศเพื่อพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย"

#3 tnawut

tnawut
  • Moderators
  • 2398 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:Laksi
  • Interests:Internet, Computer, Electronic, Security, Merit, Meditation, อินเตอร์เน็ต, คอมพิวเตอร์, ทำบุญ, ปล่อยปลา, บูชาเจดีย์, ฝันในฝัน, DOU, หมู่บ้านปฏิบัติธรรม, บวช, บรรพชา, Web, CU, Chula

โพสต์เมื่อ 25 February 2010 - 09:24 AM

QUOTE
ดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้


กว่าสองพันห้าร้อยปี ยังคงพระศาสนาอยู่ได้ มา ณ บัดนี้ ยกยอพระพุทธศาสนาให้เฟื่องฟูอีกครั้ง การบวชพระแสนรูปได้ปรากฏขึ้นแล้ว เพราะเป็นของจริงพิสูจน์ได้จริง

ขออนุโมทนาบุญกับ คุณแสงตะวันครับ

#4 kasaporn

kasaporn
  • Members
  • 870 โพสต์

โพสต์เมื่อ 25 February 2010 - 09:33 AM

ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

#5 ดินสอแห่งธรรม

ดินสอแห่งธรรม

    สร้างบารมีเป็นหมู่คณะ = ฝึกตนให้เป็นผู้ใจกว้าง

  • Members
  • 1478 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ดุสิตบุรี
  • Interests:สร้างบารมีแบบเต็มกำลัง

โพสต์เมื่อ 25 February 2010 - 09:57 AM

..ตอบได้ขาดมากๆ อิอิ สาธุๆๆๆ ..."ผู้ให้ปัญญา ...ย่อมได้ปัญญา"
..อันมือของฉันสองมือนี้ ดูเล็กนิดเดียวและไม่มั่นใจว่าฉันจะสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดแก่โลกใบนี้ได้.. แต่ฉันมั่นใจว่า ...หัวใจของฉันนี้ มอบไว้ให้แด่พระพุทธศาสน์....

#6 Tree

Tree
  • Members
  • 2076 โพสต์

โพสต์เมื่อ 27 February 2010 - 12:45 AM

สาธุ ครับผม
ได้ความรู้มากขึ้นจริงๆ


#7 *ผู้มาเยือน*

*ผู้มาเยือน*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 28 December 2010 - 09:46 AM

การเดินทางผิดแล้วรู้ว่าตัวเองเดินทางผิดมีค่ากว่าคนที่เดินผิดแล้วไม่ยอมที่จะเริ่มต้นใหม่แถมยังไปชักชวนให้บุคคลอื่นเดินตามตน...ชั่งเป็นบุรุษที่โง่เขลาหลงผิดเสียนี้กระไร...ข้าพเจ้าคิดว่าคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสอนอย่างผิดๆ...บุคคลนั้นถือว่าเป็นเดียรถีย์..ไม่ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้เดินร่วมทางแห่งพระพุทธเจ้าเลย...โปรดสังวรเถิดท่านผู้กำลังแสวงหาความสุขที่แท้จริงอย่าได้เชื่อในการสอนแห่งพระธรรมกาย...เพราะถ้าเข้าแล้วท่านจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพระเจ้าโดยแท้ที่จริงเราคือมนุษย์ที่สามารถหลุดพ้นได้ด้วยการปฏิบัติเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าของเรานี้เอง...เพียงแต่ว่าวาสนาบารมีของเรายังไม่ถึงเท่านั้นเอง...พยายามสร้างความดีต่อไปแต่ให้เป็นความดีตามหลักแห่งศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมาคือทุกอย่างเป็นอนัตตามิใช่อัตตาอย่างวัดพระธรรมกายสอนถ้าเป็นอย่างนั้นพราหมณ์เขาสอนมาก่อนหน้าพระพุทธเจ้าแล้ว...แล้วทำไม่พระพุทธเจ้าถึงไม่ปฏิบัติตามเล่าท่านเพียงแค่เอาเป็นบาทในการปฏิบัติเพื่อให้ถึงความหลุดพ้นมิใช่เอามามาเป็นแก่นในการยึดครองเพื่อเอามาเป็นคำสอนอย่างที่ธรรมกายกำลังปฏิบัติกันอยู่นี้..อย่างได้ลืมตัวเดี๋ยวจะลืมกาย