ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ชีวะประวัติ ขุนพันธรักษ์ราชเดช


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 4 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 สิริปโภ

สิริปโภ
  • Members
  • 1766 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:เรื่องลึกลับ

โพสต์เมื่อ 28 February 2007 - 10:30 AM

ท่าน “ขุนพันธรักษ์ราชเดช”




แนบไฟล์  _________1.jpg   19.07K   129 ดาวน์โหลดแนบไฟล์  _________2.jpg   18.21K   132 ดาวน์โหลด

นครศรีธรรมราช - สิ้นมือปราบจอมขมังเวทเมืองคอน “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” เผยประวัติยาวนานถึง 108 ปี เจ้าพิธีสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปราบขุนโจรดัง “เสือดำ หัวแพร” “เสือกลับ คำทอง” และอีกสารพัดเสือ ทั้งยังสร้างคุณงามความดีอื่นๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังอีกมากมาย

วันนี้ (6 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านพักเลขที่ 764/5 ภายในซอยราชเดช ถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นนายตำรวจมือปราบชื่อดังเมื่อครั้งอดีตเจ้าของฉายา “มือปราบหนังเหนียว” “มือปราบจอมขมังเวท” “มือปราบชาตรี” และ “มือปราบดาบแดง” ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของวงการข้าราชการตำรวจ และประชาชนชาวนครศรีธรรมราช ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพิธีกรรมสำคัญของนครศรีธรรมราชหลายพิธี เช่น พิธีกรรมสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2530-2531 ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงแล้วด้วยอายุรวมถึง 108 ปี และยังเชื่อว่าเป็นท่านขุนฯ ที่ได้รับพระราชทานทินนามที่เสียชีวิตเป็นคนสุดท้ายของประเทศไทยก็ว่าได้

โดยลูกหลานที่ใกล้ชิดและดูแล พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จนถึงวาระสุดท้ายได้ระบุว่า พล.ต.ต.ขุนพันธ์ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อเวลา 23.27 น.ของคืนวันที่ 5 ก.ค.49 ด้วยอาการสงบอันเนื่องมาจากโรคชราด้วยวัยที่สูงถึง 108 ปีท่ามกลางบุตรหลานที่มาดูแลจำนวนมากจนถึงวาระสุดท้ายที่ค่อยๆ หายใจแผ่วลงๆ จนสิ้นลมในที่สุด

"ขุนพันธ์"มือปราบ! ผู้ปิดตำนานเสือปล้น

หากสืบเรื่องราวถอยหลังจะเห็นได้ชัดว่า "เสือ" ในยุคสมัยก่อนไม่ได้เกรงกลัวต่ออาญาแห่งกฎหมายเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุที่สภาวะสังคมที่บีบคั้นอย่างหนึ่งและความยากจนอย่างหนึ่ง แต่ทั้งหมดนั้นเมื่อผู้ใดกระทำผิดแล้วก็ถูกดูดเข้าสู่วงเวียนแห่งกรรมดิ่งลึกเข้าไปอีก การยอมมอบตัว หรือการยอมจำนนจึงแทบไม่มีให้เห็น ฉะนั้นการเปิดฉากไล่จับกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนถึงขั้นวิสามัญฆาตกรรมจึงกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคนั้น

มากมายเหลือเกินที่เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อในการเข้าปะทะกันของทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกับฝ่ายเสือร้าย แต่นายตำรวจผู้หนึ่งที่สร้างวีรกรรม การปราบปรามเสือร้ายทุกทิศทางทำให้เกิดฉายา"รายอกะจิ" ซึ่งคุณสัมพันธ์ ก้องสมุทร ได้บันทึกคำจำกัดความของ รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลาฯ ไว้ว่า เป็น"วีรบุรุษพริกขี้หนู" ซึ่งหมายถึง พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช มือปราบเสือที่เลื่องชื่อในอดีต

ไพฑูรย์ อินทศิลา จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เข้าสัมภาษณ์ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ไว้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2546 ขุนพันธรักษ์ราชเดช นับเป็นแบบอย่างตำรวจไทยที่น่ายกย่อง ข้อมูลต่าง ๆ จากนี้ เสมือนเป็นแผ่นหน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการตำรวจไทย และเป็นทั้งข้อคติเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังตระหนักถึง"เสือ" อาชญากรแผ่นดินที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ท่านขุนฯ ได้พูดถึงเสือในยุคสมัยนั้นว่า เสือในขณะนั้นเป็นสิ่งที่ใครต่อใครก็อยากเป็นอยู่แล้ว เพราะนั่นย่อมหมายถึง ความยิ่งใหญ่ ความโหดร้าย และคำว่า"เสือ" กระตุ้นให้เกิดความระห่ำ ความกล้าใจพองโตและฮึกเหิม เสือพวกนี้จะมีอิทธิพล มีสมัครพรรคพวกมาก อีกทั้งในเวลานั้นการปราบปรามเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะต้องไล่ล่าบุกป่าฝ่าดงแหวกคมหนามเข้าไปในถิ่นของมัน ยิ่งถ้าเสือตัวนั้นเป็นเสือทางภาคใต้ปราบยากกว่าเสือภาคกลาง เพราะเสือภาคใต้มีวิชา มีของดี ของขลัง ติดตัว แต่ทางภาคกลางไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้มากนัก แต่ให้ความสำคัญกับจำนวนของสมัครพรรคพวก

"เสือแต่ละรายมีพฤติกรรมโหด####มกว่าในปัจจุบัน แต่ถ้าจะว่าไปแล้วเสือในสมัยนั้นจะยึดถือและรักษาคำสัตย์ ท่านขุนฯได้เปรียบเทียบเสือในแต่ละยุคสมัยไว้น่าคิด เมื่อสังคมเปลี่ยน จิตใจคนก็อาจเปลี่ยนตามได้เหมือนกัน การรักษาสัจจะนี้เองผลักดันให้เกิดการตกลงกันระหว่างฝ่ายเสือ กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการเข้าร่วมปราบปรามเสือในก๊กอื่น ๆ เช่น ชุมเสือฝ้าย ได้มีการพูดคุย และส่วนหนึ่งก็ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ให้ร่วมกันปราบปรามเสือ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เสือชุมอื่น ๆ เป็นอย่างมาก

ท่านขุนฯ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเสือร้าย และเหตุการณ์เป็นช่วง ๆ อย่างในภาคใต้ เช่นเสือสังข์ เสืออะแวสะดอ ตาและ ส่วนเสือในภาคกลาง ก็ 4 เสือสุพรรณ อันประกอบด้วย เสือฝ้าย เสือใบ เสือมเหศวร และเสือดำ นั่นคือชื่อบรรดาเสือที่มีอำนาจ มีอิทธิพลอย่างมาก แต่การปราบเสือที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือการปราบขุนโจรอะแวสะดอ ตาและ เจ้าพ่อแห่งขุนเขาบูโด จ.นราธิวาส ขุนโจรผู้นี้มีความโหด####ม และมีเป้าหมายที่น่ากลัวมาก โดยต้องการที่จะแบ่งแยกแผ่นดินอิสลามใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งที่ทำการปล้นตามหมู่บ้านจะจงใจเลือกเหยื่อที่เป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธเท่านั้น เมื่อปล้นแล้วจะฆ่าเจ้าของบ้านตายด้วยวิธีที่โหด####มพิสดารทุกรายไป อย่างการจิกผมแล้วใช้"กริช" ซึ่งเป็นอาวุธประจำตัวมาทิ่มแทงที่คอจากนั้นจะกดกริชหมุนเอาเนื้อ หรือหลอดลมออกมา

สิ่งที่ท่านขุนฯ ยอมรับขุนโจรอะแวสะดอ ตาและ ก็เห็นจะเป็น ความที่มันมีของขลังอยู่จริง ท่านขุนฯ เคยยิงปะทะซึ่ง ๆ หน้ามาแล้ว แต่ก็ทำอะไรมันไม่ได้ การติดตามปราบปรามเกิดปะทะกันอีกครั้ง หลังจากกระหน่ำกระสุนยิงแล้วไม่สามารถเอาชีวิตมันได้ ท่านขุนฯ จึงวิ่งเข้าไปชกต่อยกันพัลวันร่วมครึ่งชั่วโมง จึงจับมันใส่กุญแจมือได้ และจากการตรวจสอบพบว่า กระสุนที่ยิงตามลำตัวไม่ถูกมันเลย ส่วนกระสุนที่ซัดเข้าที่ปาก 9 นัด มันอมกระสุนไว้ในปากโดยที่ไม่มีร่องรอยบาดแผลใด ๆ ฟันก็ไม่หัก ขุนโจรผู้นี้ยังคายหัวกระสุนทั้ง 9 นัด ลงกลางโต๊ะสอบสวน

เห็นชัดว่า คาถาอาคมในยุคสมัยก่อนมีบทบาทมากที่ทำให้"เสือ" มีความกล้า และไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ วิชาอาคมนั้นมีมากมาย อย่างวิชามหายันต์ วิชาตรีนิสิงเห ไทยศาสตร์ขาว ผ่านพิธีเสกว่านกิน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ พิธีเสกน้ำมันงาดิบ พิธีแช่ยาแช่ว่าน คาถาอาคมนั่นก็คือส่วนหนึ่งที่สร้างความฮึกเหิมให้กับเสือแล้วยังมีเครื่องรางของขลังอีกหลายอย่าง เช่น พระประหนังอยุธยา แหวนพระรอด ตะกรุดโทน เป็นต้น หลังจากการคุมขังโจรผู้นี้แล้ว ไม่เกิน 10 วัน เหมือนมันรู้ว่าจะถูกตัดสินประหารชีวิต จึงตัดสินใจกินยาพิษฆ่าตัวตาย

ไม่เพียงแต่ ขุนโจรอะแวสะดอ ตาและ ที่ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากในการไล่ล่า ยังมี"เสือสังข์" เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาในการติดตามหลายเดือน อาวุธปืนก็ทำอะไรมันไม่ได้เหมือนกัน พอมีจังหวะในการปะทะ ท่านขุนก็บุกใส่เปลี่ยนจากการยิงเป็นการเข้าแลกด้วยมือเปล่า หมัด เท้า เข่า ศอก รวมทั้งใช้ปากกัด เสือสังข์ตัวใหญ่มาก เสือสังข์กัดขุนพันธ์ไม่ยอมปล่อย ขุนพันธ์จึงใช้ง่ามหัวแม่เท้าขวาหนีบพวงสวรรค์เสือสังข์ และกดให้เสือสังข์ชิดติดกับพื้น มันชักมีดพร้าที่เหน็บอยู่ที่เอวมาเชือดคอ แต่คมมีดเอาขุนพันธ์ไม่อยู่ ในที่สุดเสือสังข์ก็สิ้นฤทธิ์และตายในที่สุด ท่านขุนฯ ยอมรับว่าการปราบเสือสังข์นั้นทำให้ท่านเกือบเอาตัวไม่รอด.


ประวัติของ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช


สำหรับประวัติของ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร เขต 8 เป็นนายตำรวจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคใต้ และในจังหวัดอื่นๆ ที่ไปดำรงตำแหน่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือในการปราบปรามโจรผู้ร้าย นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้สนใจวิชาการทั่วไป โดยสนใจทางด้านประวัติศาสตร์คติชนวิทยาและไสยศาสตร์เป็นพิเศษ มีข้อเขียนปรากฏอยู่ในหนังสือ และวารสารต่างๆ หลายเรื่อง จนถึงปัจจุบันคนทั่วไปนิยมเรียกท่านสั้นๆ ว่า "ท่านขุน"

พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีชื่อเดิมว่า บุตร พันธรักษ์ เกิดเมื่อวัดที่ 18 กุมภาพันธ์ 2446 ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกกับบิดา ตั้งแต่ ก ข ก กา ไปจนจบ พออ่านสมุดข่อยได้บ้างจึงได้เข้าเรียนที่วัดอ้ายเขียวกับอาจารย์ปานซึ่งเป็นสมภาร และอาจารย์นามสมภารรูปต่อมา และที่วัดอ้ายเขียวนี้เองท่านได้เรียนกับครูฆราวาสคนหนึ่งด้วย ชื่อนายหีด เป็นชาวอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งอาจารย์ปานได้พามาอยู่ที่วัดนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ ใครๆ เรียกกันว่าหลวงหีด นายหีดได้สอนหนังสือไทยแบบใหม่ให้ คือ ใช้แบบเรียนเร็ว เล่ม 1-2-3 จนท่านขุนมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่ในเกณฑ์ดี

หลังจากนั้นท่านจึงเข้าสู่การศึกษาระบบโรงเรียน โดยเริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3 เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง 3 วัน ได้เลื่อนชั้นถึง 3 ครั้ง

เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบ ท่านจึงเข้าเรียนในชั้นเดิม ที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ในปี พ.ศ.2456 ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (โรงเรียนเบจมราชูทิศในปัจจุบัน)

พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราด ต้องพักรักษาตัวปีกว่า เมื่อหายจึงคิดจะกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิมแต่ปรากฏว่าเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 และปีที่ 3 แล้ว จึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2459 โดยไปอยู่กับพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติกจากครูหลายคน เช่น ครูย้อย ครูศิริ ครูนก ครูมณี จนมีความชำนาญพอสมควร ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี พ.ศ.2467 ต่อมาในปี 2468 จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย เรียนอยู่ 5 ปี สำเร็จหลักสูตรในปี พ.ศ.2472

หลังจากจบการศึกษาแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2473 เป็นนักเรียนทำการอยู่ 6 เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ต่อมาในปี พ.ศ.2474 ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง

ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไป โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือ เสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง ขุนพันธรักษ์ราชเดช เล่าว่า เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

นอกจากนั้นแล้วยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ท่านก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มี นายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นจเรพระยาศรีสุรเสนา ไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรี พลตำรวจเผือก ชูด้วง เป็นสิบตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล 400 บาท

หลังจากนั้นมาอีก 1 ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่นๆ 16 คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช" และในปี พ.ศ.2478 ได้รับเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจโท และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนี (แบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ 1 พรรษา จึงลาสิกขา

ในปี พ.ศ.2479 ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน การปราบโจรครั้งสำคัญและทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากคือ การปราบผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส ในปี พ.ศ.2481 หัวหน้าโจรชื่อ "อะแวสะดอ ตาเละ" นัยว่าเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธเท่านั้น ในที่สุดก็ถูกขุนพันธ์ฯ จับได้ ท่านจึงได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า "รายอกะจิ" หรือแปลว่า “อัศวินพริกขี้หนู” และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกในปีนั้นเอง

พ.ศ.2482 ขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ปี พ.ศ.2485 ย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปราบปรามโจรหลายราย รายสำคัญ คือ เสือสาย และเสือเอิบ หลังจากนั้นขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่น คือ ในปี พ.ศ.2486 ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมาย ที่สำคัญคือการปราบ เสือโน้ม หรืออาจารย์โน้ม จึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี

พ.ศ.2489 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เป็นต้น กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ชุกชุมมากขึ้นทุกวันยากแก่การปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้งกองปราบพิเศษขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ 1 กองพัน แต่งตั้งให้ พ.ต.ต.สวัสดิ์ กันเขตต์ เป็นผู้อำนวยการกองปราบ และ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นรองผู้อำนวยการ กองปราบพิเศษได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2489 เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้าย แต่แผนล้มเหลว ผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ขุนพันธ์ฯ ได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท

ครั้งนั้นขุนพันธ์ฯ ใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนที่จะใช้ปืนยาว ดาบนั้นถุงผ้าแดงสวมทั้งฝักและด้าม คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า "ขุนพันธ์ดาบแดง" ฝีมือขุนพันธ์ฯ เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2,000 บาท เพื่อไม่ให้ปราบปราม แต่ขุนพันธ์ฯ ไม่สนใจ คงปฏิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ ท่านอยู่ชัยนาท 3 ปี ปราบปรามเสือร้ายต่างๆ สงบลง แล้วได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา อยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเศษก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชมที่กำแพงเพชร ขณะนั้นเป็นระยะเปลี่ยนอธิบดีกรมตำรวจ และขุนพันธ์ฯ ก็ถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าเป็นโจรผู้ร้าย

พล.ร.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ อธิบดีกรมตำรวจยังเชื่อมั่นว่าขุนพันธ์ฯ เป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วน และแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.2490 ขุนพันธ์ฯ ได้ปรับปรุงการตำรวจภูธรของเมืองนี้ให้มีสมรรถภาพขึ้น และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือ เสือไกร กับ เสือวัน แห่งอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ฝีมือการปราบปรามของขุนพันธ์ฯยิ่งลือกระฉ่อนไปไกล

ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงขุนพันธ์ฯ นายตำรวจมือปราบ เพราะเคยประจักษ์ฝีมือมาแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอตัวขุนพันธ์ฯ กลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย กรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ขุนพันธ์ฯ จึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญๆสิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่นนอกจากงานด้านปราบปรามซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้าง ชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น

ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพันตำรวจโทในปี พ.ศ.2493 ท่านอยู่พัทลุงได้ 2 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2494 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2503 จึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ.2507ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่ง หน้าที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติประวัติในการปราบปรามโจรผู้ร้ายคนสำคัญๆ ของจังหวัดต่างๆ ที่ท่านไปประจำอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไปและเป็นคนที่ครั่นคร้ามของโจรก๊กต่างๆนับได้ว่าเป็นนายตำรวจมือปราบคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย และด้วยฝีมือในการปราบปรามนี้เองทำให้ท่านได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับมา แม้เกษียณแล้วท่านก็ยังสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเสมอมา เช่น ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยเลือกตั้งปี พ.ศ.2516 เป็นต้น

นอกจากเกียรติคุณทั้งในและนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าวมาแล้ว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึงคือ เป็นนักวิชาการที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน ได้เขียนเรื่องราวต่างๆ ลงพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่างๆ หลายเรื่อง ขุนพันธ์ฯ เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์

นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งประวัติบุคคลและสถานที่ ตำนานท้องถิ่น มวย และเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ข้อเขียนต่างๆของท่าน เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในภาคใต้ สองเกลอ ช้างเผือกงาดำ หัวล้านนอกครู ศิษย์เจ้าคุณ มวยไทย เชื่อเครื่อง กรุงชิง เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องกรุงชิงนั้น ท่านเล่าว่าเป็นเรื่องที่ท่านเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันตามพระบรมราชโองการ และต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน "รูสมิแล" วารสารของมหาวิทยาลัยปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ.2526 งานเขียนของท่านส่วนมากจะลงพิมพ์ใน สารนครศรีธรรมราช หนังสืองานเดือนสิบวิชชา (วารสารทางวิชาการของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) รูสมิแล (วารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และหนังสือที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ของโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ

ในด้านชีวิตครอบครัว ขุนพันธ์รักษ์ราชเดชมีภรรยาคนแรกชื่อเฉลา ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ขณะที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีบุตรด้วยกัน 8 คน ต่อมาภรรยาเสียชีวิต ท่านจึงได้ภรรยาใหม่ชื่อสมสมัย มีบุตรด้วยกัน 4 คน

ตลอดระยะเวลาที่รับราชการที่ผ่านมา ขุนพันธรักษ์ราชเดช ผู้หาญกล้าเสียสละเพื่อประชาชน โดยยึดมั่นปณิธานไว้..."เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บปวด ไม่หวั่นไหวต่อความลำบาก ไม่มักมากในลาภผล บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน"

ข้อมูลด้านอื่นๆ

สายวิชา : เชี่ยวชาญเพลงมวยเสียมก๊ก (มวยไทย) เพลงดาบสายทักษิณ กระบี่กระบอง และวิชาการต่อสู้อีกหลายแขนง เป็นศิษย์ฆราวาสแห่งสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกร สืบทอดยอดวิชาหลายแขนง อาทิ ยอดวิชาคงกระพัน นะจังงัง มหาอุด ผิวกายคงทนต่อศาสตราวุธ นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญในวิชาแพทย์แผนโบราณ ว่านและสมุนไพรต่าง ๆ

อาวุธคู่กาย : เดิมมีปืนเมาเซอร์ ต่อมาได้ฝึกวิชาคงกระพัน ชาตรีจนแตกฉาน จึงไม่จำเป็นต้องพกปืนอีก แต่อาศัยเพียงสนับมือและเพลงมวย ในการปราบปรามเหล่าโจรร้าย เสือร้ายก๊กต่าง ๆ ภายหลังได้รับมอบศาสตราวุธชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นดาบที่ตกทอดมาจาก พระยาพิชัยดาบหัก ฝักดาบมีถุงผ้าสีแดงห่อหุ้ม ตัวดาบมีความคมกล้ายิ่งนัก ในระยะหลังการออกปราบปรามโจรร้าย ท่านขุนพันธ์จึงอาศัยเพียงดาบเล่มนั้น กับสนับมือออกปราบปราม เหล่ามิจฉาชีพตลอดมา จนได้ฉายา " ขุนพันธ์ดาบแดง " เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 2000บาทเพื่อไม่ให้ปราบปราม

ผลงาน : กำหราบชุมโจรมานับไม่ถ้วน อาทิ เสือฝ้าย เสือดำ เสือมเหศวร (ที่ชาวเสียมก๊กเอามาทำเป็นหนังฟ้าทะลายโจร แต่ตัวจริงถูกปราบโดยท่านผู้นี้) โดยเฉพาะโจรแถบทางใต้ล้วนร้ายกาจทั้งสิ้น ดังนั้นขุนพันธ์จึงต้องใช้กลยุทธ์ข่มนาม อาทิ การตัดหัวเสียบไว้หน้าโรงพัก เอาหัวโจรร้ายมาทำที่เขี่ยบุหรี่ เช่น หัวเสือสายแห่งสุราษฎร์ธานี ตลอดชีวิตรับราชการ พล.ต.ต.ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกียรติประวัติในการปราบปรามโจรผู้ร้ายคนสำคัญๆ ของแคว้นต่างๆ ที่ท่านไปประจำอยู่ จนเป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป เป็นที่ครั่นคร้ามของโจรก๊กต่างๆ เป็นที่รักใคร่ของชาวประชาราษฎรทั้งปวง นับได้ว่าท่านเป็นนายตำรวจมือปราบคนสำคัญคนหนึ่งของเสียมก๊ก และด้วยฝีมือในการปราบปรามนี้เองทำให้ท่านได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับมา แม้เกษียณแล้วท่านก็ยังสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมืองเสมอมา

การต่อสู้ครั้งสำคัญ : ดวลกับจอมโจรอะแวสะดอ เจ้าพ่อเขาบูโดแห่งแคว้นนราธิวาส อาแวสะดอเป็นจอมโจรที่ปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธ ทางราชการพยายามปราบหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเรียกตัวท่านขุนพันธ์มา จอมโจรผู้นี้มีวิชาคงกระพันเป็นเยี่ยม ท่านขุนพันธ์ยืนยันว่า อะแวสะดอถูกยิงหมดลูกโม่ จนร่างล้มฟุบลง แต่กลับลุกขึ้นมาได้ และบ้วนกระสุนทิ้งออกมาจากปาก ท่านขุนพันธุ์เห็นดังนั้นจึงล้วงสนับออกมาสวมที่มือ แล้วเข้าต่อสู้ประชิดตัว อาศัยความชำนาญในวิชาป้องกันตัว จึงสามารถจับตัวจอมโจรอาแวสะดอได้


สกุปพิเศษ จากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มติไทย จ.นครศรีธรรมราช





#2 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 28 February 2007 - 10:46 AM

ถ้าจำไม่ผิดนะ ท่านนี้คือผู้ที่ทำ จตุคามรามเทพ คนแรก ถ้าผิดพลาดประการใดขออภัย เพิ่งฟังผ่าน ๆ ตอนนั้นฟังข่าวพระราชสำนัก ว่ามีการพระราชเพลิงศพ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็เลือน ๆ ไปแล้ว แต่มาอ่านสกู๊ปนี้อีกที ก็คิดว่าใช่นะครับ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วย เพราะในข่าววแพนภาพของผู้นำคนสำคัญของพรรคหลายท่าน

#3 วัดในดวงใจ

วัดในดวงใจ
  • Members
  • 1199 โพสต์

โพสต์เมื่อ 28 February 2007 - 01:10 PM

ใช่ครับร่วมกับโกผ่องและพล ต ท สรรเพชญ์
พระพุทธเจ้ารู้
และท่านก็ตรัสสรุป
ว่าทางเดียวที่จะรู้ตามท่าน
ตลอดจนหยุดตามท่าน
คือการมองเข้าข้างใน
และการหยั่งรู้สรรพสิ่งออกมาจากภายใน
คือสัญลักษณ์สำคัญของพุทธแท้
พุทธแท้จะรู้ว่าการพยายามมองออกข้างนอก
เป็นวิธีที่ไม่ทำให้รู้จักประโยชน์สูงสุด
อันพึงมีพึงได้จากความเป็นมนุษย์

#4 WISH

WISH
  • Moderators
  • 3579 โพสต์

โพสต์เมื่อ 28 February 2007 - 02:44 PM

ช่วงงานพระราชทานเพลิงศพ ได้ฟังข่าวสัมภาษณ์บุตรของท่านขุนพันธ ซึ่งเล่าไว้ว่าบิดาท่านเคยทำจตุคามรามเทพ เพื่อ
- บูรณะศาลหลักเมือง-พระบรมธาตุ(จำปี พ.ศ.ไม่ได้ เพราะขณะฟังวิทยุ กำลังขับรถอยู่)
- เป็นของที่ระลึกแก่ลูกหลานเมืองคอน เวลาไปเยือนต่างถิ่น หากคนอื่นเขาถามว่า"เรามาจากแห่งหนตำบลใด" เมื่อเราแสดงจตุคามรามเทพ ก็จะเป็นการสื่อให้รู้ว่าเราคือชาวเมืองคอน(ด้วยความภูมิใจ)

ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเป็นยังไง อยู่ๆของที่ระลึกของเมืองคอนก็กลายเป็น วัตถุมงคล ของขลัง ประดุจพระเครื่องไปแล้ว
ทำไมต้อง หาคำตอบ ณ แดนไกล ลืมหรือไร ว่าอยู่ใกล้ DMC

#5 Pungpa

Pungpa
  • Members
  • 458 โพสต์
  • Gender:Female
  • Interests:ผ่านการอบรมมัชฌิมธรรมทายาทหญิง รุ่นที่ 13 /2549 แล้วค่ะ<br /><br />รับบุญ : ฝึกงานอยู่ที่ ศูนย์ประสานงานโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา

โพสต์เมื่อ 28 February 2007 - 05:02 PM

ท่านขุนพันธ์เป็นศิษย์รุ่นพี่โรงเรียนของหนู Pungpa นั้นเองค่ะ อาจารย์ที่โรงเรียนให้ความเคารพมากๆเลย ท่านเป็นคนเก่ง จำได้ตอนงานศพของท่าน อาจารย์ไปงานแทบจะทุกๆคืนเลย

ท่านขุนพันธ์อายุมากเลยนะคะ คุณครูเล่าให้ฟังว่า ตอนงานครบรอบ 100 ปี เบญจมฯ ของโรงเรียน ท่านขุนพันธ์ยังมา เดินมาแบบแข็งแรงด้วยนะ

วันพระราชทานเพลิงศพ วันนั้นอาจารย์จะให้หนู Pungpa ไปอยู่ฝ่ายปฏิคม ดีนะที่ปฏิเสธไว้ก่อน มีหวังวันนั้นหนู Pungpa ถูกเหยียบตายแน่ๆเลย

แต่น้องสาวของ Pungpa นะสิไม่รอด ต้องไปช่วยงานฝ่ายปฏิคม น้องสาวเล่าว่ากว่าจะเข้างานได้ เข้า 4 ประตูกว่าจะได้ล่ะ คนเยอะมากๆเลย ที่คนเยอะ เพราะเค้าประกาศประชาสัมพันธ์ทางสื่อเยอะมากว่าจะแจกจตุคามรามเทพ รุ่นขุนพันธ์ คนก็แห่กันไปเยอะมากทั่วประเทศไทยก็ว่าได้เลยล่ะคะ แต่ทำไปทำมาประกาศว่าไม่มีการแจกพระแล้ว คนก็เริ่มทยอยกันกลับ พอดึกๆ ประมาณ 4 ทุ่ม ก็แจก แต่ก็ต้องเลื่อนไปอีก เพราะเกิดเหตุวุ่นวาย ไปเป็นตอนตี 4 ของวันใหม่ พระที่ทำออกมามีแค่นิดเดียว ไม่พอกับคนที่มาร่วมงาน เค้าเลยต้องหลอกว่าไม่แจกพระแล้ว อย่างนี้หนูว่า ไม่ดีเลย ทำให้คนอื่นเสียโอกาส เสียเวลา (น้องสาวเล่าให้ฟังว่า มีคุณยายแก่ๆคนหนึ่งจะไปร่วมงานด้วย แต่คนเยอะมาก เดินไปก็มีแต่คนเบียด คุณยายเลยเข้าไปอยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ตั้งแต่ตอน กลางวัน จนเค้าแจกพระตอน 4 ทุ่ม กว่าจะได้ออก สงสารยายคนนั้นมากๆเลย )

แต่ถ้ามาวัดเราแล้วนะ รับรอง ได้ทุกคนที่มาร่วมงานอย่างแน่นอน ไม่แน่นจัดอย่างงานนี้แน่นอนค่ะ วันมาฆะยังมาร่วมงานด้วยนะคะ
หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะ
หยุดนั่นเองเป็นตัวสำเร็จ
ทั้งทางโลกและทางธรรม สำเร็จหมด