ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ผูกมิตรไว้ดีกว่า


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 14 December 2005 - 03:42 PM

[attachmentid=731]

ผู ก มิ ต ร ไ ว้ ดี ก ว่ า

ถ้าผู้ใดเป็นมิตร ถึงจะมีกำลังน้อย แต่ดำรงอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นก็นับได้ว่าเป็นทั้งญาติ เป็นทั้งพวกพ้อง และเป็นทั้งเพื่อนของเรา

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันสงบประณีต ละเอียดลึกซึ้ง จะนึกคิดคาดเดาเอาไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง หากเราตั้งใจปฏิบัติกันอย่างจริงจัง และปฏิบัติอย่างถูกวิธี ย่อมเข้าถึงธรรมได้อย่างแน่นอน เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในตัวของพวกเราทุกคน และของมนุษย์ทุกคนในโลก ซึ่งจะเข้าถึงได้ต่อเมื่อเราฝึกใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้อย่างถูกต้อง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คุณชาดก ว่า
“ถ้าผู้ใดเป็นมิตร ถึงจะมีกำลังน้อย แต่ดำรงอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นก็นับได้ว่าเป็นทั้งญาติเป็นทั้งพวกพ้อง และเป็นทั้งเพื่อนของเรา”
การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มิตรสหายและพวกพ้องบริวารมีส่วนสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยเหลือสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ชีวิตของเรามีความราบรื่นและสร้างความดีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเราจึงควรผูกมิตรไว้กับทุกๆ คน ให้มีความรู้สึกว่า เมื่อหันไปรอบทิศ ก็มีแต่มิตรรอบตัว


*ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ “มิตตคันถกะ” อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี เมื่อถึงวัยอันควร เขาประสงค์จะมีครอบครัว จึงไปสู่ขอกุลธิดาคนหนึ่ง เมื่อกุลธิดาถามถึงมิตรสหายของเขา ที่พอจะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระในยามมีภัย เขาตอบว่า”ยังไม่มี” นางจึงให้เขาไปผูกมิตรกับบุคคลต่างๆ ที่พอจะเป็นที่พึ่งได้
เขาเริ่มผูกมิตรกับคนสำคัญหลายคน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของมหาชน ด้วยการประพฤติธรรม คือ สังคหวัตถุ ๔ มีการให้ทาน พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย
โดยเริ่มไปผูกมิตรกับนายทวารซึ่งเฝ้าประตูพระนคร ผูกมิตรกับอำมาตย์และเสนาบดีทั้งหลาย ตลอดจนเข้าไปถวายการรับใช้ จนกระทั่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชา และได้อุปัฏฐากบำรุงพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
พระบรมศาสดาทรงโปรดให้เขาได้ดำรงอยู่ในฆราวาสธรรม แม้พระราชาก็ทรงโปรดพระราชทานอิสริยยศแก่เขา
เมื่อถึงวันอาวาหมงคล พระราชาได้พระราชทานเรือนหลังใหญ่ให้ มหาชนได้มอบของที่ระลึกมากมายให้แก่เขา ภรรยาของเขาส่งบรรณาการที่ได้รับพระราชทานจากพระราชาให้แก่อุปราช ส่งบรรณาการที่ได้รับจากอุปราชให้แก่เสนาบดี เป็นอย่างนี้ตามลำดับ
เขาได้ผูกมิตรกับชาวเมืองไว้ทั่วหน้า และในวันที่ ๗ ได้จัดมหาสักการะถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป
ครั้นเสร็จภัตกิจ พระบรมศาสดาทรงกระทำอนุโมทนา อุบาสกและภรรยาต่างได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน
ภิกษุทั้งหลายพากันสนทนากันถึงเรื่องนี้ พระบรมศาสดาเสด็จมาพลางตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เขากำเนิดในสัตว์เดียรัจฉาน ได้ผูกมิตรกับสัตว์อื่นๆ ทำให้พ้นจากภัยทั้งปวงได้”
จากนั้นทรงนำอดีตชาติของเขามาตรัสเล่าว่า
ในอดีตกาล มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง ทางทิศใต้ของสระมีพญาเหยี่ยวอาศัยอยู่ ทิศตะวันตกมี นางเหยี่ยวตัวหนึ่ง ทิศเหนือเป็นที่อยู่ของพญาราชสีห์ ทิศตะวันออกมีพญานกออกอาศัยอยู่ ส่วนในสระน้ำมีพญาเต่าอาศัยอยู่
ครั้งนั้น พญาเหยี่ยวปรารถนาจะได้นางเหยี่ยวมาเป็นภรรยา แต่นางเหยี่ยวได้แนะนำให้ไปผูกมิตรกับสัตว์ที่อยู่ตามทิศต่างๆ เสียก่อน เผื่อเวลามีภัยเกิดขึ้น จะได้มีมิตรสหายคอยช่วยเหลือ พญาเหยี่ยวจึงไปผูกมิตรกับพญานกออก พญาเต่า และพญาราชสีห์ จากนั้นทั้งคู่ก็ได้อยู่ร่วมกัน ทำรังอยู่บนต้นกระทุ่มบนเกาะกลางสระน้ำ
ต่อมาไม่นานนางเหยี่ยวก็ได้ให้กำเนิดลูกน้อยสองตัว วันหนึ่ง มีนายพรานออกล่าสัตว์ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ยังไม่ได้อะไรเลย จึงเข้าไปพักเหนื่อยที่ใต้ต้นกระทุ่ม และก่อไฟขึ้น ควันไฟได้รมลูกเหยี่ยว มันจึงส่งเสียงร้อง
เมื่อพรานได้ยินเสียง ก็คิดจะปีนขึ้นไปเอาลูกเหยี่ยวมาเป็นอาหาร นางเหยี่ยวเห็นเช่นนั้น จึงบอกให้พญาเหยี่ยวไปขอความช่วยเหลือจากพญานกออก
พญานกออกได้ปลอบโยนว่า “อย่ากลัวไปเลย ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมช่วยเหลือมิตรสหายในยามมีภัย” พญานกออกรีบบินมาจับที่ยอดไม้ เฝ้ามองดูการกระทำของนายพราน ขณะที่นายพรานปีนขึ้นต้นไม้ใกล้จะถึงรัง พญานกออกก็ดำลงไปในสระ เอาปากอมน้ำ แล้วบินไปพ่นน้ำใส่คบเพลิงจนดับ นายพรานจึงต้องปีนลงมาจุดคบเพลิงใหม่ แล้วปีนกลับขึ้นไปอีก
ครั้นใกล้จะถึงรัง พญานกออกก็เอาน้ำมาดับไฟอีก ทำเช่นนี้จนถึงเที่ยงคืน นายพรานก็ยังไม่ละความพยายาม ส่วนพญานกออกรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก พญาเหยี่ยวขอบคุณในน้ำใจของพญานกออก และขอร้องให้เพื่อนพักผ่อนก่อน
จากนั้นก็บินไปขอความช่วยเหลือจากพญาเต่า พญาเต่าฟังดังนั้นจึงกล่าวให้กำลังใจว่า “เพื่อนไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เราจะช่วยเหลืออย่างสุดกำลังความสามารถ เพราะบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมมีความจริงใจต่อมิตรสหาย และคอยให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่องอย่างสุดกำลัง” ลูกเต่าซึ่งอยู่ใกล้ๆ พญาเต่า มีความคิดว่า จะต้องช่วยเหลือพ่อ จึงขออาสาทำหน้าที่นี้แทน แต่พญาเต่าห้ามไว้เพราะเห็นว่ายังเล็กอยู่ จากนั้นได้ดำลงไปในน้ำ กวาดเอาเปือกตมและสาหร่ายขึ้นมาดับไฟที่ก่ออยู่ใต้ต้นไม้ นายพรานเห็นจึงไล่จับเต่า พญาเต่ารีบหนีดำลงไปตรงน้ำลึก นายพรานไม่รู้ว่าน้ำลึกจึงกระโดดตามลงไป งมหาเต่าอยู่นาน ก็ไม่เจอ ทำให้ต้องลอยคออยู่ในน้ำ ได้รับความลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาก ครั้นขึ้นฝั่ง นายพรานก็ก่อไฟใหม่ และเตรียมขึ้นไปจับลูกนกอีก นางเหยี่ยวจึงบอกให้พญาเหยี่ยวไปขอความช่วยเหลือจากพญาราชสีห์
พญาราชสีห์กล่าวว่า “สหายเหยี่ยว เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ฉันจะช่วยเหลือเพื่อนเอง เพราะธรรมดาของวิญญูชน เมื่อรู้ว่ามีภัยเกิดขึ้นกับมิตรสหาย ย่อมต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยคุ้มครองมิตร”
จากนั้นพญาราชสีห์ก็วิ่งไปหานายพราน นายพรานเห็น ราชสีห์วิ่งตรงเข้ามาหา จึงเกิดความกลัวตาย รีบวิ่งหนีไปอย่างสุดชีวิต ทำให้ลูกน้อยของพญาเหยี่ยวได้รับความปลอดภัย พญาเหยี่ยวมีใจร่าเริงยินดีและขอบคุณมิตรสหายทั้งหลาย
ความที่สัตว์เหล่านี้ มีความสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน ไม่ทอดทิ้งกันในยามมีภัย จึงเป็นสัตว์ที่มีความรัก ความสามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้นจนตลอดชีวิต

เราจะเห็นว่า มิตรแท้มีความสำคัญต่อชีวิตของเราทุกคน เมื่อมีมิตรแล้ว ก็ให้ผูกมิตรไว้ให้ดี อย่าได้ด่วนทำลายมิตรภาพของกันและกัน ต้องรู้จักถนอมน้ำใจกัน รักษาสัมพันธไมตรีไว้อย่าให้เสื่อมคลาย แม้บางครั้งอาจมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น ให้ปรับเข้าหากัน ประนีประนอม อะลุ่มอล่วยกัน อย่าได้ถือสาหาความ เพราะเรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็ก แต่มิตรภาพเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า
มิตรแท้ที่สำคัญที่สุดที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ คือกัลยาณมิตรที่อยู่ภายในตัวของเรา ซึ่งก็คือพระรัตนตรัยภายในนั่นเอง ท่านเป็นมิตรที่ยิ่งกว่ามิตรทั้งหลาย มีแต่ความปรารถนาดีล้วนๆ ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ท่านสามารถช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เวลาเรามีทุกข์สามารถพึ่งท่านได้ตลอดเวลา จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ชีวิตของเรามีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
เพราะฉะนั้น ให้หมั่นผูกมิตรกับมิตรแท้ที่อยู่ภายใน ขยันปฏิบัติธรรม หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในให้ได้ทุกๆ คน

*มก. มหาอุกกุสชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๓๗๓

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_09__.jpg   60.65K   44 ดาวน์โหลด