ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

Dhamma for the week 24 - 31 /12


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 2 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 ThDk

ThDk
  • Members
  • 259 โพสต์
  • Location:Struer, Denmark
  • Interests:จุดมุ่งหมายของการประพฤติพรรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ... เพื่อละสังโยชน์... เพื่อถอนอานุสัย.. เพื่อรู้รอบสังสารวัฎอันยืดยาว... เพื่อความสิ้นอาสวะ... เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือ วิชชาและวิมมุติ... เพื่อญาณทัศนะ... เพื่อปรินิพพาน อันปราศจากอุปทาน.

โพสต์เมื่อ 23 December 2006 - 02:55 AM

24 ธันวาคม สุขแบบต่าง ๆ: ความสุขในโลกมีอะไรบ้าง และสุขแบบไหนประเสริฐกว่า ?

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุข ๒ อย่างนี้... คือ สุขของคฤหัสถ์ ๑ สุขเกิดแต่บรรพชา...๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดแต่บรรพชาเป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขเกิดจากกาม ๑ สุขเกิดจากการออกจากกาม ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดจากการออกจากกามเป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขเจือด้วยกิเลส ๑ สุขไม่เจือด้วยกิเลส ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่เจือด้วยกิเลส เป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขมีอาสวะ ๑ สุขไม่มีอาสวะ ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่มีอาสวะเป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขอิงอามิส ๑ สุขไม่อิงอามิส ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่อิงอามิสเป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขของพระอริยเจ้า ๑ สุขของปุถุชน ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขของพระอริยเจ้าเป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขทางกาย ๑ สุขทางใจ ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขทางใจเป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขอันเกิดแต่ฌานที่ยังมีปีติ ๑ สุขอันเกิดแก่ฌานที่ไม่มีปีติ ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขอันเกิดแต่ฌานไม่มีปีติ เป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขอันเกิดแต่ความยินดี ๑ สุขอันเกิดแต่ความวางใจเป็นกลาง ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดแต่การวางใจเป็นกลางเป็นเลิศ


“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขอันเกิดแต่สมาธิ ๑ สุขเกิดจากใจใช่สมาธิ ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขเกิดแต่สมาธิ เป็นเลิศ
“สุข ๒ อย่างนี้ คือ สุขที่มีรูปเป็นอารมณ์ ๑ สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ๑ บรรดาสุข ๒ อย่างนี้ สุขไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เป็นเลิศ


25 ธันวาคม อันตรายของคนพาล

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟอันลุกลามมาจากเรือนทำด้วยไม้อ้อหรือหญ้านั้น ย่อมไหม้แม้เรือนยอดที่เขาโบกปูนทั้งภายในภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้ มีบานประตูมิดชิด มีหน้าต่างปิดแน่นแม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัย.... อันตราย....อุปสรรคที่จะเกิดขึ้นทั้งสิ้นนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล การเกิดขึ้นแต่บัณฑิตไม่ฉันนั้นเหมือนกันแล...”


* ธรรมเป็นเครื่องหมายพาลและบัณฑิต

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีกรรมเป็นเครื่องกำหนดบัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องกำหนดปัญญา ย่อมแสดงออกในความประพฤติของคน...บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ พึงทราบว่า เป็นคนพาล ธรรม ๓ ประการคืออะไร กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑... บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต ธรรม ๓ ประการ คือ อะไร คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑....”


* ลักษณะอื่น ๆ ของคนพาล

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นคนพาล... คือไม่เห็นโทษว่าเป็นโทษ ๑ เห็นโทษว่าเป็นโทษแล้วไม่ยอมแก้ไข ๑ เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับตามธรรม ๑.... ถามปัญหาโดยไม่รอบคอบ ๑ ตอบปัญหาโดยไม่รอบคอบ ๑ ไม่อนุโมทนา ปัญหาที่ผู้อื่นตอบอย่างรอบคอบ ด้วยบทพยัญชนะที่เหมาะสมสละสลวยตรงประเด็น ๑....”


* สถานที่ที่ภิกษุลืมไม่ได้

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้ เป็นสถานที่อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต...สถานที่ ๓ แห่งคืออะไร คือ ที่ที่ภิกษุปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตนี้ เป็นสถานที่ที่ ๑ ที่ที่ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เป็นสถานที่ที่ ๒ ที่ที่ภิกษุกระทำให้เจริญซึ่งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน นี้เป็นสถานที่ที่ ๓....
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้แล เป็นสถานที่อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต...”




26 ธันวาคม ภิกษุผู้มีชื่อเสียงควรทำอะไร

พุทธดำรัส ตอบ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อมิใช่สุขแก่ชนเป็นอันมากเพื่อความพินาศแก่ชนเป็นอันมาก
เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน
คือ ชักชวนในกายกรรมที่ไม่สมควร ๑ ชักชวนในวจีกรรมที่ไม่สมควร ๑ ชักชวนในธรรม
ที่ไม่สมควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อม
ปฏิบัติเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อมิใช่สุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศแก่ชนเป็น
อันมาก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉนคือ ชักชวนในกายกรรม
ที่สมควร ๑ ชักชวนในวจีกรรมที่สมควร ๑ ชักชวนในธรรมที่สมควร ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีชื่อเสียงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่
ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ”




* บุคคลผู้สิ้นหวัง

พุทธดำรัส ตอบ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้หมดหวังเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
บังเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลจัณฑาล สกุลคนเป่าปี่ (ขอทาน)สกุลนายพรานป่า สกุลช่างรถ
หรือสกุลกุลีเทหยากเยื่อ ซึ่งเป็นสกุลที่ยากจน มีข้าวน้ำโภชนาหารน้อย มีความเป็นไปฝืดเคือง
มีของกินและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยฝืดเคือง และเขาเป็นคนมีผิวพรรณหม่นหมองไม่น่าดู ต่ำเตี้ย
มากด้วยความป่วยไข้ เป็นคนบอด เป็นคนง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต
หาข้าวน้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องตามประทีป
ไม่ได้ เขาได้ฟังข่าวว่า กษัตริย์ผู้มีพระนามอย่างนี้ ถูกพวกกษัตริย์อภิเษกแล้วด้วยการอภิเษก
ให้เป็นกษัตริย์ เขาหาคิดอย่างนี้ไม่ว่า ถึงตัวเราก็จักถูกพวกกษัตริย์อภิเษกด้วยการอภิเษกให้เป็น
กษัตริย์สักครั้งหนึ่งแน่แท้ ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า "บุคคลผู้หมดหวัง" ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้หมดหวังเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนทุศีล
มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีสมาจารที่พึงระลึกด้วยความรังเกียจมีการงานปกปิด ไม่ใช่
สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เน่าในภายใน
ชุ่มด้วยราคะ เป็นดังหยากเยื่อ เธอได้สดับข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอหาคิดดังนี้
ไม่ว่าแม้เราก็จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า"บุคคลผู้หมดหวัง" ฯ ”


* บุคคล ภิกษุ ผู้ไม่มีความหวังใด ๆ

พุทธดำรัส ตอบ “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ปราศจากความหวังเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระราชาในโลกนี้ เป็นกษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว พระองค์ได้สดับข่าวว่า กษัตริย์ผู้มีพระนาม
อย่างนี้ ถูกพวกกษัตริย์อภิเษกด้วยการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ พระองค์หาทรงพระดำริดังนี้ไม่ว่า
ถึงตัวเราก็จักถูกพวกกษัตริย์อภิเษกด้วยการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์สักคราวหนึ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุใด
เพราะพระองค์ซึ่งแต่ก่อนยังมิได้รับการอภิเษก ได้มีการอภิเษกสงบไปแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่า "บุคคลผู้ปราศจากความหวัง" ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
แม้ฉันใด ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปราศจากความหวังเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น
พระอรหันตขีณาสพ เธอได้สดับข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา
อาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เธอย่อมไม่คิด


ดังนี้ว่า ถึงเราก็จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ สักคราวหนึ่งโดยแท้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ความหวังในวิมุติของเธอผู้ยังไม่หลุดพ้นในก่อนนั้นระงับแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า
"บุคคลผู้ปราศจากความหวัง" ฯ”

27 ธันวาคม บุคคล ภิกษุ ผู้มีความหวัง

พุทธดำรัส ตอบ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีหวังเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระโอรสของพระราชา
มหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ควรอภิเษก แต่ยังไม่ได้รับการอภิเษก ถึงความ
ไม่หวั่นไหว เขาได้ฟังข่าวว่า กษัตริย์ผู้มีพระนามอย่างนี้ถูกพวกกษัตริย์อภิเษกด้วยการอภิเษกให้เป็น
กษัตริย์ เขาย่อมคิดดังนี้ว่า ถึงตัวเราก็จักถูกพวกกษัตริย์อภิเษกให้เป็นกษัตริย์สักคราวหนึ่ง
โดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า "บุคคลผู้มีหวัง" ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีหวังเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม เธอได้สดับข่าวว่า ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอย่อมคิดดังนี้ว่า แม้เราก็จัก
ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่สักคราวหนึ่งโดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า "บุคคลผู้มีหวัง" ฯ ”

* สิ่งที่สูงกว่าพระเจ้าจักพรรดิและพระพุทธเจ้า

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักพรรดิผู้ทรงธรรมเป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน คุ้มครอง กษัตริย์ผู้ตามเสด็จ กองทัพพราหมณ์ และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท สมณะและพราหมณ์ เนื้อและนก ด้วยธรรม ย่อมทรงหมุนจักรให้เป็นไปด้วยธรรมเท่านั้น จักรที่มนุษย์ ข้าศึก หรือสัตว์ใด ๆ จะหมุนไปไม่ได้ฉันใด
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงธรรมเป็นธรรมราชา ทรงอาศัยพระธรรม สักการะพระธรรม เคารพพระธรรม ยำแรงพระธรรม มีพระธรรมเป็นธง มีพระธรรมเป็นตรามีพระธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน อันประกอบด้วยธรรม ไว้ในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว ทรงหมุนจักรคือพระธรรมให้เป็นไปโดยธรรมจักรนั้น สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนไปไม่ได้....”

* ความคดโกง กาย วาจา ใจ

คำตอบ “ในอดีตกาล มีกษัตริย์ องค์หนึ่งพระนามว่าปเจตนะ รังสั่งให้นายช่างรถไปทำล้อรถคู่หนึ่งให้เสร็จใน ๖ เดือน เมื่อเวลาล่วงไป ๕ เดือน กับ ๒๔ วัน เขาทำล้อเสร็จเพียงข้างเดียว แต่ภายใน ๖ วันที่เหลืออยู่เขาก็สามารถทำล้ออีกข้างหนึ่งให้เสร็จได้ เขาได้นำล้อ ๒ ข้างมาแสดงให้พระราชาทอดพระเนตร ล้อที่เขาทำใน ๖ วันนั้นกลิ้งไปสุดแรงผลักแล้วก็ล้มลง ส่วนล้อที่ทำใน ๕ เดือน ๒๔ วันนั้น เมื่อกลิ้งไปสุดแรงแล้ว ยังตั้งอยู่ได้เหมือนอยู่ในตัวรถ เมื่อพระราคาตรัสถามถึงสาเหตุ นายช่างรถทูลว่า ล้อที่ทำใน ๖ วันนั้นมีส่วนประกอบที่คดโค้ง มีข้อเสีย มียางเหลืออยู่ในไม้ ส่วนล้อที่ทำใน ๕ เดือน ๒๔ วันนั้น ไม่มีข้อบกพร่องเหล่านั้น นายช่างผู้ทำรถนั้นคือใคร ?



พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ว่านายช่างทำรถนั้นในสมัยนั้นคงจะเป็นคนอื่น แต่ข้อนี้ท่านทั้งหลายไม่ควรเห็นดังนั้น นายช่างรถในสมัยนั้น ก็คือเรานั้นเอง
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คราวนั้นเราฉลาดในความคดโค้งแห่งไม้ ในข้อเสียแห่งไม้ ในยางเหนียวแห่งไม้ แต่บัดนี้เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าฉลาดในความคดโกงแห่งกาย ในโทษแห่งกาย ในยางเหนียวแห่งกาย ฉลาดในความคดโกง...ในโทษ...ในยางเหนียวแห่งวาจา ฉลาดในความคดโกง...ในโทษ... ในยางเหนียวแห่งใจ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งไม่ละความคดโกง... โทษ.... ยางเหนียวแห่งกาย... แห่งวาจา...แห่งใจ เขาได้พลัดตกไปจากพระธรรมวินัย เหมือนกับล้อที่เสร็จใน ๖ วัน....


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่งละความคดโกง... โทษ.... ยางเหนียวแห่งกาย... วาจา...ใจได้ เขาตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย นี้ เหมือนกับล้อที่เสร็จใน ๖ เดือนหย่อน ๖ ราตรี....”

28 ธันวาคม หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าอบรมปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง ? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑ เป็นผู้ประกอบความเพียร ๑....”


* ธรรม 3 ประการ

พุทธดำรัส ตอบ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนเอง
เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้งสองฝ่าย ธรรม
๓ ประการเป็นไฉน คือ กายทุจริต ๑ วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนเอง เป็นไปทั้ง
เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปทั้งเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่เป็นไป
เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้งสองฝ่ายธรรม ๓ ประการ
เป็นไฉน คือ กายสุจริต ๑ วจีสุจริต ๑ มโนสุจริต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่เป็น
ไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้งสองฝ่าย ฯ"


* พ่อค้าที่เจริญก้าวหน้า: พ่อค้าที่ประสบความเจริญก้าวหน้า มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือโดยไม่นานเลย องค์ ๓ ประการคืออะไร ? พ่อค้าในโลกนี้เป็นผู้มีจักษุ ๑ จัดธุรการงานดี ๑ ถึงพร้อมด้วยคนที่พึ่งพาอาศัยได้ ๑
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีจักษุอย่างไร....พ่อค้าในโลกนี้ย่อมรู้สิ่งที่จะพึงซื้อขาย สิ่งที่พึงขายนี้ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านั้น จักเป็นทุนเท่านี้ เป็นกำไรเท่านี้....
“พ่อค้าชื่อว่าจัดธุระการงานดีอย่างไร... พ่อค้าในโลกนี้เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขายสิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย...
“พ่อค้าชื่อว่าถึงพร้อมด้วยคนที่จะพึ่งพาอาศัยได้อย่างไร... พ่อค้าในโลกนี้อันคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่งที่ได้ทราบว่าพ่อค้าผู้นี้เป็นคนมีจักษุ จัดธุระดีสามารถเลี้ยงบุตรภริยา และใช้เงินคืนเราได้ตามเวลา ต่างก็เชิญชวนพ่อค้านั้นด้วยทรัพย์ว่า ท่านพ่อค้าผู้สหาย แต่นี้ไปท่านจงนำเอาทรัพย์ไปเลี้ยงบุตรภริยาและใช้คืนให้แก่เราตามเวลา....
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ย่อมถึงความมีโภคะมากมายเหลือเฟือโดยไม่นานเลย...”

* พระอริยบุคคล ๓ ประเภท:
พระอริยบุคคล ๓ ประเภท คือ กายสักขี (ผู้ถูกต้องวิโมกข์ ๘ ด้วยกาย) ทิฏฐิปัตตะ (ผู้ได้ความเห็นถูก) และสัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) พระสวิฏฐะเห็นว่าพวกสัทธาวิมุติดีกว่า เพราะมีสัทธินทรีย์ รุนแรง พระมหาโกฐิตะเห็นว่า พวกกายสักขีดีกว่า เพราะมีสมาธินทรีย์รุนแรง ส่วนพระสารีบุตรเห็นว่าพวกทิฏฐิปัตตะดีกว่า
เพราะมีปัญญินทรีย์รุนแรง ทั้ง ๓ ท่านจึงพร้อมกันไปกราบทูลพระพุทธองค์เพื่อพระพุทธวินิจฉัย ?
พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนสารีบุตร การที่จะพยากรณ์ในเรื่องนี้โดยส่วนเดียวว่า บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนี้ บุคคลนี้เป็นผู้งามกว่า ประณีตกว่าดังนี้ ไม่ใช่จะทำได้โดยง่ายเลย เพราะมีฐานะเป็นไปได้ดังนี้ คือ ขณะที่บุคคลผู้สัทธาวิมุติปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ บุคคลกายสักขีและทิฏฐิปัตตะ ก็พึงเป็นพระสกทาคามีหรืออนาคามี.... ขณะที่บุคคลทิฏฐิปัตตะกำลังปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ บุคคลผู้สัทธาวิมุติก็เป็นพระสากทาคามีหรือพระอนาคามี และแม้บุคคลผู้กายสักขีก็อาจเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี....การที่จะระบุลงไปในเรื่องนี้อย่างนี้อย่างเด็ดขาดว่า ในบุคคล ๓ จำพวกนั้น บุคคลผู้นี้เป็นผู้งามกว่าและประณีตกว่า ไม่ใช่จะทำได้โดยง่ายเลย....”


29 ธันวาคม คนไข้ ๓ ประเภท

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ จำพวกนี้ปรากฏอยู่ในโลก.. คือ คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้ผู้ปฏิบัติบำรุงที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นได้
“คนไข้บางคนในโลก ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมหายจากอาพาธนั้นได้
“คนไข้บางคนในโลก ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตาม ย่อมหายจากอาพาธนั้นได้
“คนไข้บางคนในโลก ได้โภชนะที่สบาย.....ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควร จึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในบรรดาคนไข้ ๓ จำพวกนั้น เราอนุญาตอาหารสำหรับคนไข้ ยาสำหรับคนไข้และอุปัฏฐากคนไข้ไว้ เพราะเห็นแก่คนไข้ที่ได้โภชนะที่สบาย..... เภสัชที่สบาย....... อุปัฏฐากที่สมควร จึงหายจากโรคนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย....”


* เหตุที่ทรงแสดงธรรม

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความถูกต้องและความแน่นอนมั่นคงในกุศลธรรมทั้งหลาย
“บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลายเอง
“บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต.... ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็น.... ไม่ได้ฟัง... ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง......
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอน....ถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็น... ไม่ได้ฟัง... ย่อมไม่หยั่งลง.... เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ และก็เพราะอาศัยบุคคลนี้ จึงควรแสดงธรรมแม้แก่บุคคลอื่น ๆ ด้วย....”


* คนมีอุปการะมากอย่างแท้จริง

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้เป็นผู้มีอุปการะมากแก่บุคคล.. คือ บุคคลอาศัยผู้ใดจึงถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ.... บุคคลนี้จัดว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก...
“บุคคลอาศัยผู้ใดแล้ว รู้ชัดตามความเป็นจริงว่าทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา... บุคคลนี้จัดว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก...
“บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้... บุคคลนี้ก็เป็นผู้มีอุปการะมาก...
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่บุคคลจะตอบแทนบุญคุณแก่บุคคล ๓ ประเภทนี้ ด้วยการกราบไหว้ การลุกรับ การประนมมือไหว้ สามีจิกรรม การให้ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค กระทำมิได้ง่ายเลย....”


* คนที่มีจิตเหมือนแผลเก่า ฟ้าแลบ เพชร

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเป็นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความแค้นใจ ถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคืองพยาบาทขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเขาย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย.....บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนแผลเก่า
“บุคคลที่มีจิตเหมือนฟ้าแลบคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา... เหมือนบุรุษผู้มีดวงตา เห็นรูปในขณะฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด..... บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนฟ้าแลบ.....

“บุคคลที่มีจิตเหมือนเพชรคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เปรียบเหมือนแก้วมณี หรือหินชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เพชรจะทำลายไม่ได้ไม่มี.... บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนเพชร.....”


30 ธันวาคม การเลือกคบคน
พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ไม่ควรคบเป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเลว โดย ศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ไม่ควรคบ ไม่ควรเสพ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน
“บุคคลที่ควรคบ... คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเสมอกับตนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ควรคบ...เพราะเหตุไร เพราะเราผู้เสมอกับตนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา จักมีการสนทนากัน เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา การสนทนานั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความผาสุกแก่พวกเรา
“บุคคลที่ควรสักการะ เคารพแล้วคบ.... คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ยิ่งกว่าเราโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา บุคคลเช่นนี้ควรสักการะ เคารพแล้วจึงคบ...เพราะเหตุไร เพราะอาจหวังได้ว่า จักบำเพ็ญศีลขันธ์..... สมาธิขันธ์.... ปัญญาขันธ์.... ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักสนับสนุนศีลขันธ์..... สมาธิขันธ์.... ปัญญาขันธ์.... ที่บริบูรณ์แล้วด้วยปัญญาในที่นั้น ๆ....
“บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนเสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลใด ๆ คบคนที่สูงกว่าย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้นจึงควรคบคนที่สูงกว่าตน..”


* โทษของการคบคนเลว

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมอันเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าใน ภายในเยิ้มด้วยราคะ เป็นเหมืองขยะ บุคคลเช่นนี้ควรรังเกียจไม่ควรคบ.... เพราะเหตุไร เพราะแม้จะไม่เจริญรอยตามบุคคลเช่นนั้นก็จริง แต่กิตติศัพท์ที่เสียหายของเขาย่อมระบือไปว่า เขามีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหาย มีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในอุจจาระ ถึงแม้จะไม่กัดก็ทำให้เปื้อนได้”

* คนที่ควรเฉยเมย

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเจ้าโทสะ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท...แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย.... เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิจิ...เปรียบเหมือนหลุมอุจจาระ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น... บุคคลเช่นนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรคบ เพราะเหตุไร ? เพราะเขาถึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความเสียหายให้เราบ้าง....”

* คนปากเสีย และปากดี

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลปากอุจจาระ คือ อย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุมก็ดี ในฝูงชนก็ดี ไปในท่ามกลางเหล่าญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชาสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน.... เขาไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้ก็ว่าไม่รู้ ไม่เห็นก็ว่าเห็น หรือไม่เห็นก็ว่าเห็น กล่าวแกล้งเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตนเอง เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย... นี้เรียกว่าคน “ปากอุจจาระ”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ปากดอกไม้ คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุม.... ถูกเขาอ้างเป็นพยาน.... เมื่อเขาไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น ย่อมไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตน เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย... นี้เรียกว่าคน “ปากดอกไม้”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ปากน้ำผึ้ง คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสตเป็นที่รักจับหัวใจ เป็นวาจาของชาวเมือง เป็นที่รักที่ชอบในของคนมาก... นี้เรียกว่าคน “ปากน้ำผึ้ง”....


31 ธันวาคม พระพรหมของบุตร

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สกุลใดบุตรบูชาบิดามารดาในเรือนตน สกุลนั้นมีพรหม.... มีอาจารย์เบื้องต้น... มีอาหุไนยบุคคล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า “พรหม” คำว่า “บุพพาจารย์” คำว่า “อาหุไทยบุคคล” นี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา เพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง สอนให้ลูกรู้จักโลกนี้
“มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเยกว่าพรหมว่าบุพพาจารย์ ว่าอาหุไนยบุคคล เพราะฉะนั้นบัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดาด้วย ข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั่นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์....”


* รากเหง้าของกรรม

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๓ ประการนี้เป็นเหตุให้เกิดกรรม
เหตุ ๓ ประการคืออะไร ? คือโลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมที่กระทำด้วยความโลภ เกิดแต่ความโลภ มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในทีที่อัตตภาพของเขาเกิดขึ้น กรรมนั้นให้ผลในที่ใด เขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นในที่นั้น ในปัจจุบันนี้เองหรือในตอนอื่น ๆ...

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมที่กระทำด้วยความโกรธ..... ความหลง เกิดแต่ความโกรธ... ความหลง.... ย่อมให้ผลในที่ที่อัตตาภาพของเขาเกิดขึ้น กรรมนั้นให้ผลในที่ใด เขาจะต้องเสวยผลกรรมนั้นในที่นั้นในปัจจุบันนี้เองหรือในตอนต่อ ๆ ไป....

“เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่แตกหัก ไม่เน่าเสีย ไม่เสียหายเพราะลมและแดด ยังไม่แก่น เก็บงำไว้ดี เขาหว่านลงไปบนพื้นดินที่เตรียมไว้เป็นอย่างดี ในนาที่ดี ทั้งฝนก็ตกดีตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยแท้ทีเดียว....”


* พระอรหันต์ทำกรรมหรือไม่

พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมที่กระทำด้วย อโลภะ.... อโทสะ.... อโมหะ.... เกิดแต่ อโลภะ.... อโทสะ.... อโมหะ.... มี อโลภะ.... อโทสะ.... อโมหะ.... เป็นแดนเกิดเมื่อโลภะ.... โทสะ.... โมหะ สิ้นไปแล้ว กรรมนั้นก็เป็นอันละแล้ว มีมูลรากที่ถอนขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้เป็นสิ่งที่ไม่มี ทำให้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้อีกแน่นอน... เปรียบเหมือนบุรุษพึงเอาไฟเผาเมล็ดพืชที่ไม่แตกหักเน่าเปื่อย.... ครั้นแล้วก็ทำให้เป็นผล แล้วโปรยไปตามลมพายุ หรือลอยเสียในแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว พึงเป็นพืชที่ถูกถอนรากขึ้นทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา...”


* สุขของพระพุทธองค์

หัตถกราชกุมารชาวเมืองอาฬวี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับบนที่ปูด้วยใบไม้ ในฤดูหนาวอันเยือกเย็น ซ้ำมีหิมะตกในระยะเวลาแปดวัน มีพื้นดินแตกระแหง ลมเวรัมพะก็โหมพัด ผ้าย้อมฝาดของพระพุทธองค์ก็บาง จึงกราบทูลถามว่า พระองค์ทรงเป็นสุขดีหรือ ?

พุทธดำรัส ตอบ
“ดูก่อนกุมาร เราอยู่เป็นสุขดี เราเป็นคนหนึ่งในบรรดาคนที่อยู่อย่างมีความสุขในโลก... ดูก่อนกุมาร เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้...ท่านจะเป็นความในเรื่องนั้นอย่างไร คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีในโลกนี้ มีเรือนยอดที่เขาฉาบทาสีทั้งภายในภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้มีบานประตูมิดชิดในเรือนยอดนั้นมีบัลลังก์ ซึ่งปูลาดด้วยผ้าลาดมีขนยาว... ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางไว้ทั้งสองข้าง ตามประทีปน้ำมันจุดไว้สว่างไสว ภรรยาสี่นางพึงบำรุงบำเรอด้วยสิ่งที่น่าพออกพอใจ ดูก่อนกุมาร ท่านจะเห็นข้อนั้นอย่างไรคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อยู่เป็นสุขหรือหาไม่”
หัตถกราชกุมารทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีหรือบุตร คฤหบดีนั้นพึงอยู่เป็นสุข และเขาเป็นหนึ่งในจำนวนคนที่อยู่เป็นสุขในโลก”
พุทธดำรัสตรัสว่า “ดูก่อนกุมาร ท่านจะเห็นความข้อนั้นอย่างไร ? คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีพึงเกิคความเดือดร้อนทางกายหรือทางจิต ซึ่งเกิดแต่ ราคะ.. โทสะ... โมหะ อันเป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกมันเผาอยู่เป็นทุกข์ มิใช่หรือ ?”
หัตถกราชกุมารทูลตอบว่า “อย่างนั้นพระเจ้าข้า”


พุทธดำรัสตรัสว่า “ดูก่อนกุมาร คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น ถูกความเร่าร้อนอันเกิดแต่ราคะใด.... เกิดแต่โทสะใด.... เกิดแต่โมหะใด... เผาลนอยู่จึงอยู่เป็นทุกข์ ราคะ... โทสะ.. โมหะนั้น ตถาคตละได้แล้วอย่างเด็ดขาด ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน... เพราะฉะนั้น เราจึงอยู่เป็นสุข...”










โลกอยู่ภายใต้การครอบงำของชรา ก้าวเข้าไปสู่ชรา ไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่มีผู้เป็นใหญ่

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง

โลกพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา.

- สละโลกได้ ก็พ้นทุกข์ได้


#2 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 23 December 2006 - 04:22 PM


ผมชอบสาระธรรมในพุทธวจนะ ที่ท่าน ThDk ขยันหมั่นนำมาเตือนสติ ให้อยู่กับปัจจุบันธรรม จังเลยครับ

คำสอนเหล่านี้สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เสมอ

และเป็น Checking Points การฝึกคุณธรรมอย่างดีเลยครับ

ขออนุโมทนาธรรมกับท่าน ThDk ด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธ

ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ มุ่งสู่ที่สุดแห่งธรรม

#3 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 13 April 2007 - 11:40 AM

ขอกราบอนุโมทนาบุญคุณ ThDk และคุณ dangdee ด้วยครับ สาธุ