ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ผู้เลิศทางมีลาภ ( ๓ )


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 29 May 2006 - 03:54 PM

[attachmentid=4887]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ คือ พุทธวิสัย ฌานวิสัย วิบากแห่งกรรม และโลกจินดา คือ ความคิดในเรื่องโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้แล บุคคลไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า และได้รับความลำบากเปล่า
ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน ล้วนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน พ่อค้าทำการค้า ประกอบธุรกิจ ย่อมหวังผลกำไรเป็นเครื่องตอบแทน เพื่อยังความสุขให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว นักรบทำสงครามเพื่ออำนาจความยิ่งใหญ่ หรือเพียงเพื่อปกป้องมาตุภูมิของตน ให้อยู่รอดปลอดภัยจากเหล่าอริราชศัตรู แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเปลือกนอกที่ฉาบทาด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันทำให้บุคคลทั้งหลายลุ่มหลงมัวเมา และประมาทในชีวิต แต่สำหรับนักรบกองทัพธรรม การทำความเพียรประหารกิเลส ทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย กระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติทุกคน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อจินติตสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ คือ พุทธวิสัย ฌานวิสัย วิบากแห่งกรรม และโลกจินดา คือ ความคิดในเรื่องโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้แล บุคคลไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า และได้รับความลำบากเปล่า” วิบากแห่งกรรมเป็นหนึ่งในอจินไตย ๔ อย่าง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่ควรคิด ถ้าคิดก็อาจทำให้มีส่วนแห่งความเป็นบ้าได้ เพราะเรื่องของกรรมมีความสลับซับซ้อนมาก เกินกว่าสติปัญญาของปุถุชนทั่วไปจะคาดคิดด้นเดาได้ ต้องใช้ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริง จึงจะสามารถเชื่อมโยงเหตุและผล กรรมและผลของกรรมได้อย่างถูกต้องชัดเจน เพราะชีวิตในปัจจุบัน ย่อมเป็นผลมาจากการกระทำในอดีต และชีวิตในอนาคต ย่อมเป็นผลมาจากเหตุที่กระทำในปัจจุบันทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ซึ่งเป็นผังสำเร็จติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายของทุกคน


*ดังเช่นเรื่องราวของ พระกุมารสีวลี ท่านต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติ จากนั้นพระมารดาได้ถวายมหาทานกับพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ของการถวายทาน พระสารีบุตรเถระถามพระกุมารต่อจากตอนที่แล้วว่า “สีวลี เธอได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนี้ การบวชไม่ดีสำหรับเธอหรือ” พระกุมารตอบว่า “ถ้าหากได้รับอนุญาต ผมก็จะบวชขอรับ” พระนางสุปปวาสาเห็นพระสารีบุตรเถระสนทนากับบุตรชาย จึงเข้าไปสอบถาม เมื่อทราบว่าสีวลีราชกุมารปรารถนาจะออกผนวช พระนางสุปปวาสาเห็นว่า การตัดสินใจของพระกุมารเป็นไปเพื่อบุญกุศล จึงอนุญาตว่า “ดีแล้วเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าจงให้กุมารบวชเถิด”
เมื่อพระสารีบุตรเถระได้รับอนุญาตจากพระนางแล้ว จึงนำพระสีวลีกุมารไปที่พระวิหาร สอนตจปัญจกกัมมัฏฐานโดยอนุโลมและปฏิโลม และสอนต่อไปว่า “สีวลี เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอได้เสวยตลอด ๗ ปี ๗ เดือนกับอีก ๗ วันนั้นเถิด”
พระกุมารเรียนว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า การบรรพชาของกระผมเป็นภาระของท่าน หากกระผมสามารถทำสิ่งใดได้ กระผมจะพยายามทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง ขอรับ”
ด้วยมีพระชนม์เพียง ๗ พรรษา สีวลีกุมารทรงตัดสินใจบวชถวายชีวิตในพระศาสนา แม้การบรรลุธรรมก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก เพราะพระกุมารเป็นผู้ที่สั่งสมบุญมาดีแล้วในอดีตชาติ เมื่อถึงคราวจะบรรลุธรรม ก็เป็นประเภทสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือ ปฏิบัติได้สะดวกและรู้เห็นได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากได้รับฟังโอวาทจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว ขณะโกนผมของ พระกุมาร เพียงจรดมีดโกนลงครั้งแรก สีวลีกุมารสามารถทำใจให้หยุดนิ่ง ตามตรึกระลึกถึงโอวาทของพระอุปัชฌาย์ และทุกขเวทนาที่ได้รับขณะอยู่ในครรภ์ กระทั่งใจหยุดนิ่งได้สนิท ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในทันทีนั้นเอง ขณะโกนผมได้ครึ่งศีรษะ ท่านได้บรรลุสกิทาคามิผล และขณะโกนไปได้สามในสี่ ก็ได้บรรลุถึงกายธรรมพระอนาคามี ทันทีที่โกนหมดศีรษะ ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที ไม่ก่อนไม่หลังกัน
ตั้งแต่พระกุมารบวช ปัจจัยสี่เกิดขึ้นกับท่านมากมาย และยังมีเพียงพอสำหรับภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอีกด้วย นี่คือเรื่องราวของพระสีวลีเถระในช่วงที่บุญส่งผลอย่างเต็มที่ระหว่างที่เป็นคฤหัสถ์กระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ส่วนอีกมุมหนึ่งของชีวิตที่ท่านเคยทำผิดพลาดไว้ ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในครรภ์นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันนั้น เรื่องราวในอดีตชาติของท่านมีอยู่ว่า
ชาติหนึ่ง ท่านจุติจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูลที่กรุงพาราณสี ต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา ครั้นได้เป็นพระราชา ทรงยกทัพไปล้อมเมืองๆ หนึ่งไว้ และได้ส่งพระราชสาสน์ถึงชาวเมืองนั้นว่า “จะให้ราชสมบัติหรือจะทำการรบ ขอให้ตอบมา”
ชาวเมืองตอบว่า “พวกเราจะไม่ให้ราชสมบัติ และจะไม่สู้รบด้วย” จากนั้นพากันปิดประตูเมือง อาศัยเพียงประตูเล็กด้านหลังเมืองเพื่อไปหาฟืน อาหาร และน้ำเท่านั้น
พระเจ้าพาราณสีสั่งทหารให้รักษาประตูใหญ่ ๔ ประตู ล้อมเมืองไว้ถึง ๗ ปี ๗ เดือน นับเป็นเวลานานมาก จนพระราชมารดาของพระองค์สงสัยว่า ทำไมทำการศึกนานนัก ครั้นทรงรู้ถึงสาเหตุ พระนางได้ตรัสว่า “บุตรของเราช่างโง่นัก” ทรงมีพระราชเสาวนีย์ฝากไปบอกพระโอรสว่า “จงปิดประตูเล็กทั้งหมด เพื่อมิให้ชาวเมืองเข้าออกโดยเด็ดขาด” พระเจ้าพาราณสีทรงปฏิบัติตาม โดยสั่งให้ปิดประตูเล็กเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อชาวเมืองเข้าออกเมืองไม่ได้ ต่างเดือดร้อนเพราะขาดเสบียง ในวันที่ ๗ ชาวเมืองจึงได้พร้อมใจกันจับ พระราชาของพวกตนสำเร็จโทษ และได้ยกเมืองให้กับพระเจ้าพาราณสีในที่สุด ด้วยกรรมนี้ทำให้ท่านต้องไปตกในอเวจีมหานรกนานจนพื้นแผ่นดินสูงขึ้น ๑ โยชน์ จึงพ้นกรรมจากนรก มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน และยังไปนอนขวางในครรภ์อีก ๗ วัน เพราะบาปกรรมที่ปิดประตูเล็ก ๗ วันนั่นเอง ส่วนพระนางสุปปวาสาก็คือพระราชมารดาของพระราชาในชาตินั้น

นี่เป็นตัวอย่างของผู้ที่เคยผิดพลาดมาในอดีต จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งหน้าที่การงานทั้งหลาย เปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าเราจับไม่ดี ย่อมมีสิทธิ์ลูบคมดาบ และถูกบาดได้ง่ายๆ แต่ถ้าจับด้วยความระมัดระวัง และนำมาใช้ประโยชน์ ประโยชน์มากมายย่อมเกิดขึ้น อันที่จริง ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ ล้วนเป็นของสมมติ เพื่อไว้ใช้สร้างบารมี ย่นย่อหนทางพระนิพพานให้สั้นลง แต่ผู้ไม่รู้ กลับใช้ก่อกรรมทำบาปอกุศล แม้บุญเก่าจะทำมาดีให้ได้เกิดเป็นพระราชา แต่ถ้าประมาท ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางที่ผิด ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป
ฉะนั้นทั้งบุญและบาปที่ได้ทำไป จะคอยติดตามส่งผลตลอดเวลา ไม่ได้สูญหาย ไปไหนแน่นอน บางทีเราทำกรรมแค่ครั้งเดียว แต่ต้องไปใช้ผลกรรมหลายชาติ ถ้าเป็นบุญก็ตามส่งผลให้ได้ไปเสวยผลบุญในสุคติโลกสวรรค์ยาวนาน ถ้าเป็นบาปอกุศลก็ตามส่งผลให้ต้องไปเสวยวิบากกรรมในทุคติภูมิยาวนานเช่นกัน เมื่อส่วนของกรรมใช้ไปหมดแล้ว แต่เศษของกรรมยังเหลืออยู่ ย่อมต้องทนใช้เศษกรรมต่อไปอีก กระทั่งภพชาติสุดท้ายในสังสารวัฏ
ดังนั้นชีวิตในสังสารวัฏมีเพียงบุญกับบาปเท่านั้น ถ้าเราไม่ทำบุญ บาปอกุศลจะเข้ามาแทน ทำให้ใจเรายินดีในการทำบาป เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นทำบุญบ่อยๆ ทำบุญใหญ่ๆ ใจเราจะได้ใสๆ ให้ใจของเราชุ่มอยู่ในบุญ กระทั่งบาปไม่ได้ช่อง ชีวิตของเราจะได้ไม่หม่นหมอง จะผ่องใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยกันทุกๆ คน


*มก. สีวลิเถราปทาน เล่ม ๗๒ หน้า ๓๓๗

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_58__.jpg   105.6K   9 ดาวน์โหลด