ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

พุทธบูชา มาฆประทีป


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 04 February 2006 - 04:14 PM

[attachmentid=2021]

บุคคลให้อาหารชื่อว่า ให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่า ให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่า ให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่า ให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่า ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม
วันเวลาที่ผ่านไป เราไม่สามารถจะเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนดั่งสายน้ำที่ไหลผ่านไปแล้วไม่อาจหวนกลับ ชีวิตเราก็เช่นกัน ย่างก้าวผ่านไปเหมือนกับกาลเวลา จึงควรต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ก้าวไปพร้อมกับการสร้างความดี สร้างบารมีให้เต็มที่ เพราะฉะนั้น ทุกคนควรทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้เกิดขึ้นต่อตัวของเราเองและผู้อื่น ด้วยการประพฤติธรรม มีความปรารถนาดี ความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ และฝึกฝนอบรมตนเองด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ก็คือ เวลาที่ใจหยุดนิ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน กินททสูตร ว่า
“บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่า ให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่า ให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่า ให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่า ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม”


*ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ มีอุบาสกท่านหนึ่ง ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงสถาปนาพระภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านผู้มีทิพยจักษุ ท่านมีจิตเลื่อมใสอยากจะเป็นผู้เลิศอย่างนั้นบ้าง จึงได้ทูลอาราธนา นิมนต์พระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป มารับ ภัตตาหาร ที่บ้านตลอดระยะเวลา ๗ วัน ท่านได้ถวายทานที่ประณีตด้วยจิตอันเลื่อมใส
ครั้นครบวันที่ ๗ ท่านได้ตั้งความปรารถนาต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าพระองค์ทำสักการะใหญ่ครั้งนี้ มิใช่เพื่อหวังทรัพย์สมบัติอะไร เพียงเห็นพระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ด้านผู้มีทิพยจักษุ ข้าพระองค์ก็ปรารถนาที่จะเป็นยอดของภิกษุ ผู้มีทิพยจักษุเช่นเดียวกับภิกษุรูปนั้น ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคตกาล พระเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาทรงตรวจดูด้วยอนาคตังสญาณ คือ ญาณเครื่องรู้ในอนาคต ทรงทราบว่าความปรารถนาของอุบาสกนี้ จะสำเร็จ จึงตรัสอนุโมทนาว่า
“อุบาสกผู้เจริญ ในอนาคตกาลอีกแสนกัป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าพระโคดม จักอุบัติขึ้น เธอจะมีชื่อว่า อนุรุทธะ จะเป็นยอดของภิกษุผู้มีทิพยจักษุ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ครั้นทรงกระทำภัตตานุโมทนาแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับพระวิหาร ส่วนอุบาสกบังเกิดความปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง จึงตั้งใจทำบุญกุศลไม่เคยขาด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เขาได้สร้างเจดีย์ทองสูง ๗ โยชน์ ได้ถามพระภิกษุสงฆ์ว่า จะบูชาพระเจดีย์อย่างไรจึงจะได้ทิพยจักษุ ภิกษุสงฆ์จึงแนะนำให้บูชาด้วยการจุดประทีปโคมไฟ แล้วตั้งจิตอธิษฐานตามความปรารถนา
อุบาสกจึงทุ่มเทชีวิตจิตใจ ลงมือสร้างโคมประทีปขนาดใหญ่ด้วยตนเองถึง ๑,๐๐๐ โคม ทั้งยังสร้างโคมเล็กๆ ล้อมรอบโคมใหญ่ ให้เป็นบริวารอีกมากมาย เขาจุดโคมประทีปล้อมรอบเจดีย์ทองของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สว่างไสวตลอดทั้งคืน ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยอานิสงส์ผลบุญ ที่ตั้งใจสั่งสมบุญบารมีมาตลอดชีวิต เมื่อละโลกไปแล้ว ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิของเทวโลกและมนุษยโลกตลอดแสนกัป โดยไม่รู้จักทุคติเลย
ครั้นครบแสนกัป ท่านได้ไปเกิดเป็นลูกมหาเศรษฐี ในยุคของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หมั่นประกอบการกุศลอยู่เป็นนิตย์ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ สละทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด ทุ่มให้กับการสร้างมหาเจดีย์ สูงประมาณ ๑ โยชน์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นก็ให้ช่างทำภาชนะสำริดเป็นจำนวนมาก บรรจุเนยใสจนเต็ม วางไส้ตะเกียงไว้ในถาดเนยใส แล้วนำมาเรียงกันให้ขอบปากต่อขอบปากจดกันจนรอบพระเจดีย์ จุดไฟให้สว่างไสว และให้ช่างทำถาดสำริดใหญ่เป็นพิเศษสำหรับตน ใส่เนยใสจนเต็ม วางไส้ตะเกียงพันดวงไว้ในถาดเนยใสนั้น จุดไฟในถาดให้ลุกโพลง เมื่อเอาผ้าพันรอบศีรษะแล้ว ท่านได้ยกถาดเทินไว้บนศีรษะ เดินเวียนประทักษิณรอบมหาเจดีย์ตลอดทั้งคืน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยใจที่ผ่องใส เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แม้จะเวียนเทียนอยู่ตลอดทั้งคืน ท่านก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีแต่ความปีติทุกย่างก้าว
จวบจนมาถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้มาเกิดในตระกูลกษัตริย์มีพระนามว่า “อนุรุทธะ” เป็นกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการมาก เสวยสมบัติอยู่ในปราสาท ๓ หลัง ที่เหมาะสมกับฤดูกาล วันหนึ่ง พระเจ้ามหานามซึ่งเป็นพระเชษฐา ได้ตรัสถามพระเจ้าอนุรุทธะว่า “บัดนี้ ศากยกุมารทั้งหลายได้ออกผนวชตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก แต่ในตระกูลของเรายังไม่มีใครออกผนวชเลย อนุรุทธะ เธอจะผนวชไหม”
ตอนแรกพระเจ้าอนุรุทธะไม่ยินดีในการออกผนวช เพราะทราบว่าชีวิตนักบวชนั้นเป็นอยู่ลำบาก อยากได้ของเย็นก็ได้ร้อน อยากได้ของร้อนก็ได้เย็น เรื่องอาหารการฉัน ก็แล้วแต่ญาติโยมจะนำมาถวาย แต่เมื่อทรงนึกถึงการครองเรือนของพระเชษฐา ก็ทรงรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะรู้ว่า ที่สุดของการแสวงหาเลี้ยงชีพนั้น ไม่มีแก่นสารอะไร ต้องทำงานไปตลอดชาติ ทำไปจนกว่าไม่มีเรี่ยวแรงจะทำ อีกทั้งยังเป็นทางมาแห่งธุลีกิเลส ไม่สามารถทำตนให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้
ดังนั้นท่านจึงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช เพราะแม้จะลำบาก แต่ก็เป็นทางมาแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง เมื่อทรงผนวชได้ไม่นาน อาศัยความเพียรไม่ประมาทและบุญกุศลที่เคยทำไว้ดีแล้ว ท่านก็เข้าถึงพระรัตนตรัย ทำทิพยจักษุให้เกิดขึ้นได้ สามารถมองทะลุในที่มืดได้ สิ่งใดที่ท่านปรารถนาจะดู แม้จะอยู่ในที่ลับหรือจะอยู่ไกลเพียงใด ท่านก็เห็นได้หมด ไม่มีสิ่งใดบดบังทิพยจักษุของท่านได้ แม้ความเป็นอยู่ของชาวสวรรค์ ท่านก็เห็นหมด ต่อมาท่านทำใจให้หยุดนิ่งละเอียดถึงที่สุด ก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะภิกษุสาวกผู้เป็นเลิศทางด้านทิพยจักษุ

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าความปรารถนาใดๆ ที่เป็นไปในทางที่ชอบ ประกอบด้วยกุศล โดยมีการสั่งสมบุญไว้ดีแล้วเป็นพื้นฐาน ย่อมจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จดังใจปรารถนาทุกประการ การที่พระอนุรุทธะได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เลิศที่สุดในบรรดาภิกษุผู้มีทิพยจักษุด้วยกัน เพราะท่านได้ประกอบเหตุในการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดวงประทีปเอาไว้
ดังนั้น ในวาระอันสำคัญ คือ วันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา พวกเราจะได้พร้อมใจกันมาประพฤติปฏิบัติธรรม ฝึกทำใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และจะได้ร่วมกันจุดโคมมาฆประทีป เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นมหากุศลที่ หาได้ยาก
พิธีจุดมาฆประทีปที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งการสร้างบารมีที่สำคัญที่เราไม่ควรพลาด ที่วัดพระธรรมกายได้จัดให้มีพิธีบุญใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณ เราจะได้ร่วมกันตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ที่ท่านมาอยู่ธุดงค์จำนวนหลายพันรูป ที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ พร้อมกับสาธุชนที่มาจากทั่วประเทศอีกเป็นเรือนแสน การที่พวกเรามาร่วมใจกันทำความดีเป็นหมู่คณะใหญ่ จะได้เป็นต้นแบบและต้นบุญให้กับชาวโลกต่อไป
ภาคสาย เราจะได้เจริญสมาธิภาวนาร่วมกัน เพื่อกลั่นกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ จะได้เป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ตลอดทั้งวัน มหาธรรมกายเจดีย์นี้จะเป็นศูนย์รวมใจของชาวโลก และเป็นสื่อที่จะให้ชาวโลกได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน
ส่วนในพิธีภาคคํ่า เราจะพร้อมใจกันทำสมาธิภาวนาที่มหาธรรมกายเจดีย์ และร่วมกันจุดโคมมาฆประทีปนับ ๑๐๐,๐๐๐ ดวง ถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ ที่มีองค์พระธรรมกายประจำตัวสีทองอร่ามประดิษฐานบนโดม ซึ่งพวกเราได้ร่วมใจกันสถาปนาขึ้นมาด้วยความเหนื่อยยาก เราได้ฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบากมาแล้ว ในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ จะเป็นวันที่เราปลื้มปีติ เพราะมหาธรรมกายเจดีย์จะสว่างไสวไปด้วยดวงประทีปแห่งธรรม ดวงใจของเราก็จะสว่างไสวไปด้วยแสงแห่งธรรมกาย ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และจะได้ตั้งจิตอธิษฐานร่วมกัน เพื่อทำความปรารถนาของเราให้สำเร็จ จะได้เป็นบุญใหญ่ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

*มก. เล่ม ๓๒ หน้า ๓๐๔

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_31__.jpg   135.66K   17 ดาวน์โหลด


#2 **[email protected]**

**[email protected]**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 14 February 2006 - 09:31 AM

วัดพระธรรมกายเป็นวัดที่ดีมากเลยค่ะ