ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ของแท้ของเทียม


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 13 December 2005 - 08:50 PM

[attachmentid=728]

ข อ ง แ ท้ ข อ ง เ ที ย ม


การสมาคมกับสัตบุรุษแม้ครั้งเดียว ย่อมสามารถรักษาผู้นั้นไว้ได้ แต่การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้หลายครั้ง ก็รักษาไม่ได้ พึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะการรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อม มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนปรารถนาความสุข และกำลังแสวงหาสิ่งที่เป็นสรณะอันแท้จริง ต่างก็อยากจะรู้เรื่องราวของตัวเองว่าเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต แต่การที่จะรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องอาศัยตัวของเรา ที่ปฏิบัติธรรมจนเกิดความรู้แจ้ง เป็นความรู้ที่เกิดจากการทำภาวนา ที่เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” คือการทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน มหาสุตโสมชาดก ว่า
“การสมาคมกับสัตบุรุษแม้ครั้งเดียว ย่อมสามารถรักษาผู้นั้นไว้ได้ แต่การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้หลายครั้ง ก็รักษาไม่ได้ พึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะการรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อม ราชรถอันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นรู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งของมหาสมุทรก็ไกลกัน ข้าแต่พระราชา แต่ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ ไกลกันยิ่งกว่านั้น”
เมื่อเราจะคบกับใคร จะเคารพเลื่อมใสในผู้ใด หรือจะเชื่อฟังถ้อยคำของใคร เราควรพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า บุคคลนั้นเป็นสัตบุรุษ หรือว่าเป็นอสัตบุรุษ
หากเป็นอสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล ไม่มีธรรม เราอย่าไปเชื่อถือ เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสในการสร้างบารมี แต่ถ้าหากเป็นสัตบุรุษ ผู้มีคุณธรรม เราควรจะเชื่อฟังและประพฤติตามบุคคลนั้น

*ในสมัยพุทธกาล ณ กรุงสาวัตถี มีชายหนุ่ม ๒ คน เป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่งชื่อ “สิริคุตต์” เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อีกคนหนึ่งชื่อ “ครหทินน์” เป็นสาวกของนิครนถ์
พวกนิครนถ์มักพูดกับครหทินน์เสมอว่า “ให้ไปบอกสิริคุตต์ว่า การเข้าไปหาพระสมณโคดมนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ให้มาหาผู้เป็นเจ้านิครนถ์ มาถวายไทยธรรมแก่นิครนถ์ทั้งหลายจะดีกว่า”
ครหทินน์เพียรพยายามไปพูดกับสิริคุตต์อยู่เนืองๆ สิริคุตต์ก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่เมื่อถูกรบเร้าบ่อยเข้า จึงถามเพื่อนไปว่า “พระผู้เป็นเจ้าของท่านรู้อะไรบ้างล่ะ”
ครหทินน์ตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า “โอ ท่านอย่าพูดอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าของเราไม่รู้เป็นไม่มี ท่านรู้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้ว่าอะไรจะเกิด อะไรไม่เกิด รู้การกระทำทั้งกาย วาจา ใจ ของเราเชียวนะ”
สิริคุตต์จึงกล่าวว่า “เรื่องนี้ผมไม่ทราบมาก่อนเลย ผมอยากจะเห็นอานุภาพของพระผู้เป็นเจ้านิครนถ์ ฉะนั้นขอช่วยนิมนต์ให้ท่านมาฉันภัตตาหารที่บ้านผมในวันพรุ่งนี้หน่อยเถอะ” ครหทินน์ดีใจจึงรีบไปแจ้งข่าวกับนิครนถ์ทั้งหลาย พวกนิครนถ์ทราบรู้สึกกระหยิ่มใจ คิดว่ากิจของเราสำเร็จแล้ว ลาภสักการะมากมายจะเกิดขึ้นแก่เราอย่างแน่นอน
วันรุ่งขึ้น เมื่อนิครนถ์ ๕๐๐ คน มาถึง สิริคุตต์ออกไปต้อนรับ พลางนึกในใจว่า “หากนิครนถ์เหล่านี้เป็นผู้รู้จริง จงอย่าเข้ามาในเรือน เพราะในเรือนนี้ไม่มีภัตตาหาร มีแต่หลุมคูถ”
จากนั้นได้นิมนต์นิครนถ์ให้เข้าไป พวกนิครนถ์ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จึงตามเข้าไป พ่อบ้านได้ชี้แจงนิครนถ์เหล่านั้นว่า เป็นธรรมเนียมของที่บ้านว่า เมื่อจะนั่งต้องนั่งพร้อมกัน ทันทีที่พวกนิครนถ์ทั้ง ๕๐๐ คน นั่งลงพร้อมๆ กันบนอาสนะที่อยู่เหนือหลุมคูถ ทั้งหมดก็ตกลงไปในหลุมคูถ ได้รับความอับอายขายหน้าไปตามๆ กัน
เวลาผ่านไปครึ่งเดือน สิริคุตต์ได้กล่าวกับครหทินน์บ้างว่า “ท่านเข้าไปหานิครนถ์เหล่านั้น จะมีประโยชน์อะไร ไปหาพระบรมศาสดาดีกว่า”
ครหทินน์นั้นปรารถนาจะได้ยินคำนี้มานานแล้ว เพราะอยากแก้แค้น จึงถามสิริคุตต์ว่า “พระศาสดาของท่านรู้อะไรบ้าง”
สิริคุตต์จึงกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต พระพุทธองค์ทรงเป็นบรมครูของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย”
ครหทินน์ไม่ได้เชื่อหรอก แต่กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น จงช่วยทูลนิมนต์พระบรมศาสดา และภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป มาฉันภัตตาหารที่บ้านของข้าพเจ้าในวันพรุ่งนี้เถอะ”
สิริคุตต์จึงไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อกราบทูลเรื่องทั้งหมด พระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์ เพราะรู้ด้วยพุทธญาณว่า ในวันพรุ่งนี้ มหาชนจำนวนมากจะได้บรรลุธรรม สิริคุตต์และครหทินน์ จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ครหทินน์ให้ขุดหลุมใหญ่ในระหว่างเรือน ๒ หลัง นำไม้ตะเคียนมา ๘๐ เล่มเกวียน จุดไฟสุมตลอดคืน แล้วปกปิดอำพรางหลุมถ่านเพลิงไว้อย่างดี นำไม้ผุมาวางเป็นสะพาน ด้วยหวังว่า ทันทีที่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์เหยียบบนไม้ผุ ไม้ก็จะหัก พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ก็จะตกลงไปใน หลุมถ่านเพลิง อีกทั้งให้คนนำตุ่มเปล่ามาอำพราง ทำเป็นว่ามีภัตตาหารอยู่มากมาย
มหาชนมาประชุมรวมกันที่บ้านของครหทินน์ ครั้นถึงเวลา พระบรมศาสดาเสด็จมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ครหทินน์ออกไปรับเสด็จ ถวายบังคมแล้วยืนประคองอัญชลีอยู่เบื้องพระพักตร์ พลางคิดในใจว่า “ถ้าพระองค์ทรงรู้เรื่องทุกเรื่อง ทรงรู้วาระจิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายจริง ขอพระองค์อย่าเสด็จเข้าไปสู่เรือนของข้าพระองค์ เพราะภัตตาหารต่างๆ นั้นไม่มี หากพระองค์เสด็จเข้าไป ก็จะตกลงในหลุมถ่านเพลิง”
พระบรมศาสดาล่วงรู้ความคิดของครหทินน์ แต่ต้องการจะสงเคราะห์ จึงเสด็จไปบนหลุมถ่านเพลิงนั้น ด้วยพุทธานุภาพ ดอกบัวใหญ่ได้ผุดขึ้นมารองรับพระบาท พระพุทธองค์เสด็จไปประทับที่พุทธอาสน์ แม้พระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ไปนั่งบนอาสนะด้วยวิธีเดียวกัน
ครหทินน์เห็นดังนั้น เกิดความเร่าร้อน กระวนกระวายใจ รีบเข้าไปหาสิริคุตต์พลางบอกว่า ไม่ได้เตรียมอาหารไว้เลย สิริคุตต์จึงปลอบใจ และให้ครหทินน์ลองไปเปิดตุ่ม ทันใดนั้น เขาก็ต้องตกใจ เมื่อเห็นตุ่มเหล่านั้นเต็มไปด้วยภัตตาหารมากมาย สรีระของเขาเต็มไปด้วยความปีติ เกิดจิตเลื่อมใสในพระบรมศาสดา จึงได้น้อมถวายภัตตาหารด้วยความเคารพยิ่งนัก เมื่อเสร็จภัตกิจ พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา แล้วตรัสว่า “บุคคลไม่รู้คุณแห่งพระพุทธศาสนา และคุณแห่งพระสงฆ์สาวก เพราะไม่มีปัญญาจักษุ สรรพสัตว์ผู้ไม่มีปัญญาจักษุชื่อว่าเป็น ผู้มืดบอด” ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
“ยถา สงฺการธานสฺมึ อุชฺฌิตสฺมึ มหาปเถ ปทุมํ ตตฺถ ชาเยถ สุจิคนฺธํ มโนรมํ เอวํ สงฺการภูเตสุ อนฺธภูเต ปุถุชฺชเน อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก
ดอกปทุมมีกลิ่นหอม พึงเกิดในกองแห่งหยากเยื่ออันเขา ทิ้งแล้วในที่ใกล้ทางใหญ่นั้น ย่อมเป็นที่รื่นรมย์ใจ ฉันใด พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นเพียงดั่งกองหยากเยื่อ ย่อมไพโรจน์ล่วงปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นดังคนบอดด้วยปัญญา ฉันนั้น”
เมื่อจบพระธรรมเทศนา มหาชนแปดหมื่นสี่พันได้ บรรลุธรรมาภิสมัย ครหทินน์และสิริคุตต์ได้บรรลุกายธรรมพระโสดาบัน และได้บำเพ็ญมหาทานบารมีในพระพุทธศาสนาจนตลอดอายุขัย เราจะเห็นได้ว่า การที่เราจะคบกับใคร หรือรับฟังข้อมูลจากใครนั้น มีผลต่อชีวิตของเราอย่างมาก หากครหทินน์ไม่ได้สิริคุตต์เป็นกัลยาณมิตร ชีวิตของเขาก็จะหลงผิด วนเวียนอยู่ในความมืด คืออวิชชา ครั้นได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลง จากปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
ดังนั้น อย่าให้เวลาอันมีค่าของเรา สูญเสียไปกับการสมาคมกับผู้ไม่ประพฤติธรรม แต่ให้เราใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด สร้างบารมีให้เต็มที่ ดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา สักวันหนึ่งเมื่อบารมีของเราเต็มเปี่ยม เราก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ เมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกาย ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยก็หมดไป เพราะฉะนั้นหมั่นทำหยุดทำนิ่งให้เข้าถึงธรรมกายกันทุกคน

*มก. ครหทินน์ เล่ม ๔๑ หน้า ๑๓๕

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_07__.jpg   38.13K   34 ดาวน์โหลด


#2 ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

    "ความเพียรเครื่องเผากิเลสพึงกระทำเสียแต่วันนี้"

  • Members
  • 2171 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ราชอาณาจักรสยามประเทศ
  • Interests:ADVANCE MEDITATION

โพสต์เมื่อ 14 December 2005 - 12:37 AM

อสนฺตํ โย ปคฺคณฺหาติ อสนฺตํ จูปเสวติ
ตเมว ฆาสํ กุรุเต พฺยคฺโฆ สญฺชีวโก ยถา


ผู้ใดยกย่องอสัตบุรุษ คบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ
อสัตบุรุษย่อมทำให้เขาเป็นเหยื่อ เหมือนเสือที่สัญชีพชุบขึ้น
ทำสัญชีพให้เป็นเหยื่อของตนฉะนั้น


ที่มา : (วศิน อินทสระ. ๒๕๑๗. จริยาบถ เล่ม ๒ เรื่อง ยกย่องคนที่ไม่ควรยกย่อง)