ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สหายแห่งธรรม


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 15 December 2005 - 04:39 PM

[attachmentid=734]

ส ห า ย แ ห่ ง ธ ร ร ม
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์ผู้มีปกติอยู่ด้วยกรรมดีไซร้ บุคคลนั้นพึงเอาชนะอันตรายทั้งปวง มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น

ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน มวลมนุษยชาติล้วนปรารถนาให้โลกมีสันติสุขที่แท้จริง แต่ไม่มีใครรู้ว่า สันติสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่า การที่จะทำให้เกิดสันติสุขที่แท้จริงนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงสันติสุขภายใน คือเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริง และเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกัน โดยเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ก็ตาม หากได้ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธี ย่อมเข้าถึงพระธรรมกายกันได้ทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ สทฺธิญฺจรํ สาธุวิหาริธีรํ
อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ จเรยฺย เตนตฺตมโน สติมา
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์ผู้มีปกติอยู่ด้วยกรรมดีไซร้ บุคคลนั้นพึงเอาชนะอันตรายทั้งปวง มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น” การได้คบหาสมาคมกับบัณฑิตนักปราชญ์ ถือว่าเป็น มงคลอย่างยิ่ง จะเป็นเหตุให้เพิ่มพูนคุณธรรมภายในตัว เพราะบัณฑิตจะไม่คอยจับผิดคนอื่น แต่จะแสวงหาสิ่งที่ดีงาม แล้วนำมาสอนตัวเอง สอนผู้อื่น จะไม่ชวนทะเลาะให้แตกสามัคคี มีแต่กล่าวคำที่นำมาซึ่งการสมานไมตรี คอยชี้เส้นทางสวรรค์ เส้นทางนิพพานให้
แต่ถ้าในโลกนี้ไม่มีบัณฑิตให้คบหาสมาคมเลย ก็ควรเที่ยวไปตามลำพังคนเดียว ดีกว่าไปคบเพื่อนที่ไม่ดี เพราะเพื่อนที่ดี แม้จะมีน้อย ยังดีกว่าเพื่อนนับร้อยที่หาผู้ชี้ทางสวรรค์ทางนิพพานไม่ได้เลย

*ในสมัยที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่กรุงโกสัมพี มีภิกษุ ๒ รูป ทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต่างมีทิฏฐิมานะ ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดการทะเลาะก็ได้ลุกลามใหญ่โตไปจนถึงลูกศิษย์ด้วย
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธดำรัสไปว่า
“พวกเธอจงสมัครสมานสามัคคีกันเถิด ใครที่มัวผูกโกรธว่า คนโน้นด่าเรา คนนี้ทุบตีเรา คนโน้นชนะเรา คนนี้ขโมยของของเรา เวรของเขาย่อมไม่อาจสงบระงับลงได้ แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับได้ ด้วยการไม่จองเวรเท่านั้น”
แม้พระพุทธองค์จะสอนเช่นนี้ เหล่าภิกษุก็ยังไม่ยอมเลิกทะเลาะกัน พระพุทธองค์จึงเสด็จหลีกไป ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพังตลอดพรรรษา โดยมีพญาช้างชื่อ ปาริไลยกะ คอยอุปัฏฐาก ช้างปาริไลยกะนี้ เคยเป็นจ่าโขลงมาก่อน แต่ต้องการจะหลีกเร้น หาที่สงบ เมื่อได้มาพบพระพุทธองค์ มีความศรัทธาเลื่อมใส จึงคอยอุปัฏฐากพระพุทธองค์เป็นอย่างดี
แม้พญาช้างจะมีอุปสรรคคือไม่ได้กายมนุษย์ แต่ด้วยดวงใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังศรัทธา จึงสามารถทำกิจทุกอย่าง คอยอุปัฏฐากพระพุทธองค์โดยมิได้ขาดตกบกพร่องเลย พญาช้างได้ใช้งวงจับหม้อไปตักน้ำฉันน้ำใช้มาตั้งไว้ เวลากลางวันก็เอางวง หักกิ่งไม้มากวาดบริเวณที่พัก เพื่อให้พระบรมศาดาได้ใช้เป็นที่เสด็จเดินจงกรม เมื่อพระพุทธองค์ทรงประสงค์น้ำร้อน ช้างจัดน้ำร้อนถวาย ด้วยการเอางวงสีไม้แห้งจนเกิดเป็นไฟ แล้วใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น จากนั้นเอางวงกลิ้งก้อนหินใส่ในกองไฟ จนก้อนหินร้อน แล้วเอาท่อนไม้ดันก้อนหินไปทิ้งลงในบ่อเล็กๆที่หมายตาเอาไว้ พอหย่อนงวงลงไป รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว จึงไปคุกเข่าถวายบังคมพระบรมศาสดา แสดงอาการให้พระพุทธองค์รู้ว่า น้ำสำหรับสรงสนานพร้อมแล้ว
ครั้นตกกลางคืน พญาช้างคอยเป็นยาม เอางวงถือไม้เดินรอบที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟาดตรงโน้นทีตรงนี้ที เพื่อป้องกันอันตรายทุกอย่าง จนถึงรุ่งอรุณ
เวลาที่พระพุทธองค์จะเสด็จออกบิณฑบาต ก็จะถือบาตรตามเสด็จไปส่งจนถึงชายแดนบ้าน แล้วรอคอยอยู่ปากทางจนกว่าพระพุทธองค์จะเสด็จกลับมา ขณะที่พระองค์ฉันภัตตาหาร จะคอยถวายงานพัด พญาช้างทำเช่นนี้ทุกวันทุกคืน จนข่าวนี้ดังไปทั่วชมพูทวีป
ฝ่ายเจ้าลิงที่อยู่ในป่านั้น สังเกตเห็นอาการของพญาช้างปาริไลยกะ แสดงความเคารพเลื่อมใสในพระบรมศาสดา ด้วยการทำกิจทุกอย่าง ตนก็ปรารถนาจะแสดงอาการว่ามีความเลื่อมใสบ้าง จึงไปหารวงผึ้งมาถวายพระบรมศาสดา แต่เนื่องจากรวงผึ้ง ยังมีตัวอ่อนอยู่ เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับมาแล้ว วางรวงผึ้งไว้และประทับนั่งนิ่งเฉย ยังไม่เสวยน้ำผึ้งนั้น
ลิงสังเกตเห็นเช่นนั้น ก็ไปจับปลายกิ่งไม้พลิกพิจารณาดู เห็นว่ามีตัวอ่อนอยู่ จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออก แล้วถวายใหม่ พระบรมศาสดาจึงทรงบริโภค เจ้าลิงเกิดความปีติดีใจมาก ได้โหนกิ่งไม้กระโดดโลดเต้นไปมา
ขณะนั้นเอง กิ่งไม้ที่กำลังห้อยโหนหักลงมา โดยที่ยังไม่ทันตั้งตัว ลิงจึงตกลงมาถูกปลายตอที่แหลมคมเสียบตาย ด้วยดวงจิตที่เลื่อมใสในพระบรมศาสดา เมื่อตายแล้ว ลิงไปบังเกิดในวิมานทอง สูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ทันที มีนางอัปสรถึงหนึ่งพันเป็นบริวาร
ฝ่ายภิกษุที่ทะเลาะวิวาทกัน เมื่อเห็นโทษของการแตกสามัคคี จึงหันกลับมาสามัคคีกันดังเดิม แล้วอ้อนวอนพระอานนท์ไปนิมนต์พระพุทธองค์ให้เสด็จกลับมา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอานนท์จึงพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าภิกษุทูลถามว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อน พระองค์ประทับอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส ผู้ที่คอยทำวัตรอุปัฏฐากพระองค์ในที่นี้ไม่มีเลย แต่ก็ดูเหมือนว่าพระองค์ จะทรงมีพระเกษมสำราญดี พระพุทธเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาตรัสว่า “กิจของเราทุกอย่าง ช้างปาริไลยกะ ได้ทำให้เป็นอย่างดีแล้ว” จากนั้นตรัสสอนภิกษุต่อไปอีกว่า “ถ้าหากได้สหายผู้มีปัญญา ช่วยเหลือตนเอง มีคุณธรรมที่จะช่วยทำประโยชน์ให้สำเร็จ ก็ควรเที่ยวไปกับสหายนั้น ซึ่งจะคอยป้องกันภัยให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้สหายเช่นนั้น ควรเที่ยวไปคนเดียวจะประเสริฐกว่า เพราะความเป็นมิตรสหายไม่มีในหมู่คนพาล”
จากนั้นพระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนา จนภิกษุทั้งหมดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ภายหลังได้เสด็จกลับเข้าเมืองสาวัตถี โดยมีพญาช้างผู้จงรักภักดี ยืนส่งพระพุทธองค์อยู่ที่ชายป่าด้วยความอาลัย และเมื่อพระบรมศาสดาจากไปไม่นาน หัวใจช้างก็แตกสลาย ตายลงด้วยความอาลัย แต่ด้วยความเลื่อมใส ที่พญาช้างมีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในทันทีเช่นกัน

เราจะเห็นว่า การได้อยู่ใกล้และคบหาสมาคมกับบัณฑิต ทำให้พบแต่ความสุขสวัสดี นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตัวเอง หากไม่ได้หมู่คณะที่เป็นบัณฑิต การอยู่คนเดียวยังจะประเสริฐกว่า
อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะคบหาคนดีผู้สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ตัวเราเองต้องทำหน้าที่ของการเป็นเพื่อนที่ดีต่อบุคคลอื่นด้วย ผู้ที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างสมบูรณ์ ต้องเป็นผู้ที่มีใจหยุดอย่างสมบูรณ์แล้ว เราจึงควรดำเนินตามแบบอย่างของพระพุทธองค์ ด้วยการตั้งใจฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ภายใน ได้พบบัณฑิตที่แท้จริง แล้วจะได้ชักชวนให้ทุกคนทำความดีได้อย่างเต็มที่ หน้าที่กัลยาณมิตรนี้ เป็นหน้าที่ของพวกเรายอดนักสร้างบารมี ฉะนั้นอย่าได้เกียจคร้านในการทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อเราจะได้ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างสมบูรณ์

*มก. เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เล่ม ๔๐ หน้า ๗๘

ไฟล์แนบ