ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สัมมาทิฏฐิ ( ๕ )


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 27 December 2005 - 05:48 PM

[attachmentid=862]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย

กฎแห่งกรรม เป็นกฎสากลของโลกที่มีมาก่อนกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีใครบัญญัติขึ้นมา แต่เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละคน ถ้าทำดีย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งความดี ทำความชั่วย่อมมีวิบากอันทุกข์ทรมานเป็นผล คนทำกรรมดี เมื่อละโลกไปแล้ว บุญย่อมจะส่งผลให้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์ แม้เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะบริบูรณ์ด้วยมนุษยสมบัติ มีทรัพย์สินเงินทอง เครื่องอำนวยความสะดวกครบครันไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะอำนาจแห่งมหาทานบารมีส่งผล หรือเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ ก็ด้วยอำนาจแห่งศีลที่รักษาไว้ดีแล้ว หรือมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด รู้แจ้งแทงตลอดในศาสตร์ทั้งปวง ก็ด้วยอำนาจแห่งสมาธิที่ได้ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ทำสมาธิภาวนามาข้ามภพข้ามชาตินั่นเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไปเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลาย เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย”
มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ผู้มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดไว้ ๓ จำพวก คือ พวกที่เชื่อว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้คนเราเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ไม่มี ชีวิตเป็นไปตามฤกษ์ยาม จึงทำให้เกิดภาวะเชื่อเรื่องดวงอย่างเดียว แล้วไม่คิดพัฒนาตนด้วยการทำกรรมดี ปล่อยชีวิตไปวันๆ ความเห็นผิดเช่นนี้เรียกว่า “อเหตุกทิฏฐิ”
ฝ่ายที่ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องโลกนี้ โลกหน้า เพราะคิดว่าบุญหรือบาปที่ทำไปไม่ส่งผลในภพชาติต่อไป สิ่งใดที่ทำในภพชาตินี้ก็จบลงไปพร้อมกับการตาย ความเห็นเช่นนี้เรียกว่า “อกิริยทิฏฐิ” ซึ่งอันที่จริง กรรมดี กรรมชั่วที่เราทำไว้ ไม่ได้จบลงเพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ยังส่งผลต่อไปอีกยาวนานมาก
อีกจำพวกหนึ่ง คือ มีความเห็นว่า ผลของกรรมไม่มี จึงไม่ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นทางไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เช่น ไม่ขวนขวายในการทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา เป็นต้น จึงกลายเป็น “นัตถิกทิฏฐิ”
มิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ ประเภทนี้ ท่านกล่าวว่า ห้ามทั้งสวรรค์และมรรคผลนิพพาน เพราะเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิอ่อนๆ ก็ยังพอจะแก้ไขได้
เรามาติดตามเรื่องของ พระเจ้าอังคติราช ผู้กำลังแสวงหาหนทางสวรรค์กันต่อ
*เมื่อตอนที่แล้วคุณอเจลกะได้ ประกาศวาทะของตนให้พระราชาคล้อยตาม แต่ความรู้สึกลึกๆ นั้น พระองค์ยังไม่ได้ปักใจเชื่อ ส่วนอลาตเสนาบดีผู้พร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว เมื่อได้ฟังคำของคุณอเจลกะ ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ ถึงกับกล่าวสนับสนุนว่า
“ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำพูดของท่านอาจารย์ เพราะข้าพเจ้าระลึกชาติของตนได้ชาติหนึ่ง คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสี เป็นนายพรานฆ่าโค ชื่อว่า ปิงคละ ได้ทำบาปกรรมไว้มาก ได้ฆ่าสัตว์เป็นจำนวนมาก ครั้นจุติจากชาตินั้นแล้ว ก็มาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้ ไม่เห็นต้องตกนรกเลย เพราะฉะนั้นบาปที่ข้าพเจ้าทำไว้ไม่มีผลอย่างแน่นอน”
เมื่อมีพยานยืนยันว่า บุญบาปไม่มี ทำให้พระราชาถึงกับนิ่งอึ้งไปนาน
ขณะเดียวกันนั้นเอง ทาสเข็ญใจชื่อ วีชกะ มีโอกาสได้ฟังวาทะของคุณอเจลกะและคำยืนยันของเสนาบดีผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาสะอึกสะอื้นร้องไห้ เมื่อถูกพระราชาตรัสถาม ก็กราบทูลว่า
“ข้าแต่มหาราช แม้ข้าพระองค์เองก็ยังระลึกถึงความสุขสบายในชาติก่อนได้ดี คือ ในชาติก่อนข้าพระองค์เกิดเป็นเศรษฐี อยู่ในเมืองสาเกต ดำรงมั่นอยู่ในศีล ๕ มาโดยตลอด ยินดีในการบริจาคทาน ประกอบแต่สัมมาอาชีวะ ในชาตินั้น ข้าพระองค์นึกถึงบาปไม่ออกเลย เมื่อข้าพระองค์จุติจากชาตินั้นแล้ว ก็มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี หญิงขัดสนในมิถิลานครนี้ แต่แม้จะเกิดมายากจนเช่นนี้ ข้าพระองค์ก็ยังประพฤติชอบ ได้ให้อาหารครึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ปรารถนา ได้รักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เป็นประจำมิได้ขาดเลย
กรรมทั้งปวงที่ข้าพระองค์ประพฤติดีแล้วนั้น คงไร้ผลเป็นแน่ ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์อย่างที่ท่านอลาตเสนาบดีกล่าวไว้ ข้าพระองค์พบแต่ความปราชัย เหมือนนักกีฬาที่ฝึกซ้อมมาดีแล้ว แต่ยังต้องพ่ายแพ้คู่แข่งทุกครั้ง ข้าพระองค์ไม่เห็นประตูแห่งสุคติเลย ฉะนั้นข้าพระองค์จึงร้องไห้เพราะสงสารตัวเองที่ทำความดีมาตลอด แต่ความดีที่ทำไว้นั้นกลับไม่ส่งผลเลย”
พระเจ้าอังคติราชสดับคำของทาสผู้ซื่อสัตย์แล้ว รู้สึกสับสนพระทัย เพราะคนใกล้ตัวทั้งซ้ายและขวาต่างมีความเห็นพ้องต้องกันหมดว่า ผลของบุญและบาปไม่มี สัตว์ย่อมได้รับสุขและทุกข์เอง สัตว์ทั้งหมดย่อมหมดจดได้ ด้วยการเวียนเกิดเวียนตายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อพระราชาเริ่มเอนเอียง ในที่สุดทรงตัดสินพระทัยประกาศว่า
“เราเสียเวลามาพอสมควรแล้ว ที่มัวแต่ไปขวนขวายในการทำบุญกับสมณพราหมณ์ มัวแต่สั่งสอนคฤหบดีและพสกนิกรให้งดเว้นจากความยินดีในกามคุณ ให้เร่งรีบขวนขวายในบุญกุศล ตั้งแต่นี้ไป เราจะเสวยเบญจกามคุณอย่างเดียว ไม่ใส่ใจในการบำเพ็ญทศพิธราชธรรมอีกต่อไป”
ครั้นพระราชาประกาศเช่นนั้นแล้ว จึงตรัสบอกลาคุณอเจลกะกลับพระราชวังทันที โดยไม่ทรงนมัสการหรือแสดงความเคารพใดๆ ซึ่งต่างกับการเสด็จเข้าไปหาคุณอเจลกะครั้งแรก ที่พระองค์ทรงนมัสการ ถามถึงทุกข์สุข แล้วจึงตรัสถามถึงธรรมะที่พระองค์ต้องการรู้
รุ่งเช้า พระองค์ตรัสกับเหล่าอำมาตย์ทั้งหลายในที่ประชุมว่า “นับแต่นี้ไป อย่าได้รบกวนเรา เราจะเสวยความสุขในกามคุณเท่านั้น เรื่องกิจการบ้านเมืองให้เหล่าอำมาตย์วินิจฉัยกันเอง ไม่ต้องรายงานให้เรารู้”
ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเพลิดเพลินมัวเมายินดีอยู่แต่ในกามคุณเท่านั้น ไม่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และบุญกุศลใดๆ
ครั้นถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ พระราชธิดาผู้มีบุญพระนามว่า รุจา ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอังคติราช ได้เสด็จไปขอพระราชทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะกับพระราชบิดา เพื่อนำไปบำเพ็ญทานในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันพระตามที่พระนางประพฤติมาโดยตลอด และในวันพระนั้น พระนางจะทรงรักษาอุโบสถศีล อีกทั้งทรงให้ทานแก่คนกำพร้า คนเดินทางไกล ยาจก และวณิพกเป็นจำนวนมาก
ระหว่างทางที่เสด็จมานั้น พระพี่เลี้ยงได้ยินข่าวลือว่า “พระราชาทรงฟังถ้อยคำของอาชีวกผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงรับสั่งให้รื้อโรงทานที่ประตูเมืองทั้งสี่ บัดนี้ทรงมัวเมาแต่เบญจกามคุณ มิได้สนพระทัยในพระราชกรณียกิจเลย”
พระพี่เลี้ยง จึงกราบทูลพระนางรุจา พระนางรุจาสดับเช่นนั้น รู้สึกสลดพระทัย ทรงดำริว่า จะต้องแก้ไขทิฏฐิของพระบิดาให้ได้ ส่วนพระราชธิดาจะทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรได้สำเร็จหรือไม่อย่างไร เราต้องมาติดตามรับฟังกันในตอนต่อไป

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า แม้จะระลึกชาติได้หนึ่งชาติ แต่ความเห็นก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะเห็นไม่ตลอด สัมมาทิฏฐิจึงไม่บริบูรณ์ และอาจเห็นผิดได้ วินิจฉัยที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมมีผลเสียหายต่อหลายชีวิต การคบคนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้เพียงไม่กี่นาที ย่อมสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิทันทีอย่างคาดไม่ถึง เพราะตามปกติ จิตของคนทั่วไปพร้อมที่จะไหลลงต่ำ ไหลไปตามกระแสกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ เหมือนสายน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่มหาสมุทร ดังนั้นให้พวกเรา ยึดมั่นในความดี ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก และยึดมั่นในบุญกุศล ในการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แม้บุญยังรอการให้ผล ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ในการทำความดีกันต่อไป
*มก. เล่ม ๖๔ หน้า ๒๑๐

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_25__.jpg   42.28K   46 ดาวน์โหลด


#2 **ธรรมจักร**

**ธรรมจักร**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 02 January 2006 - 12:36 PM

สาธุ อนุโมทนาในธรรมทานครับ