ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สัมมาทิฏฐิ ( ๖ )


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 27 January 2006 - 04:52 PM

[attachmentid=1652]


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ ยิ่งขึ้น เหมือนความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘
การจะก้าวไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต ต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็ง และมีสติปัญญา อีกทั้งต้องมีพลังบุญหนุนนำ จึงจะประสบความสำเร็จได้ หากมีแต่ความพยายาม แต่ไม่มีปัญญา ความพยายามนั้นอาจจะสูญเปล่าได้ ความพยายามที่ไม่มีวันล้มเหลว คือ การประกอบความเพียร ด้วยการนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วเราจะไม่พบกับคำว่าผิดหวังเลย แต่ใจจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความดีพลังแห่งความสำเร็จ เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นนำใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายให้ได้ ตลอดเวลา เราย่อมจะมีแต่ความสุขสมหวังในชีวิตอย่างแน่นอน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน โยนิโสมนสิการสัมปสาทสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ยิ่งขึ้น เหมือนความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘”
คำว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ภาษาพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ หมายถึง การพิจารณา ไตร่ตรอง สอบสวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่หลงเชื่ออย่างงมงาย แต่ไม่ดื้อรั้นด้วยทิฏฐิมานะ ไม่มีอคติความลำเอียง ใคร่ครวญด้วยปัญญาบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ผู้ที่ไม่มีโยนิโสมนสิการ มักจะมีความคิดตื้นๆ คิดเพียงแค่ผลประโยชน์ที่จะได้ในชาตินี้เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงชาติหน้าและภพชาติต่อๆ ไปว่า สิ่งที่ตัวทำอยู่ในขณะนี้ จะกลายเป็นวิบากในอนาคตต่อไปอย่างไรบ้าง
ดังเรื่องของพระเจ้าอังคติราชที่หลงฟังคำของคุณอเจลกะ เพราะไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองให้ดีก่อนจึงหลงเชื่อ ส่วนพระราชธิดาของพระองค์นั้น จะสามารถใช้ปัญญาแก้ไข ให้พระองค์หันกลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิได้เหมือนเดิมหรือไม่ พวกเรามาติดตามกันต่อ

*ครั้นพระนางรุจาราชธิดารู้ว่า พระราชบิดาถูกชีเปลือยเกลี้ยกล่อมให้นับถือลัทธิที่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม จึงรีบเสด็จไปเข้าเฝ้าทันที พระเจ้าอังคติราชทอดพระเนตรเห็นพระธิดา จึงตรัสถามว่า “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท หรือยังประพาสอยู่ในอุทยาน หรือเล่นน้ำในสระโบกขรณีเพลิดเพลินดีอยู่หรือลูก ต้องการอะไรบ้าง เขาได้นำสิ่งของมาให้ทันใจลูกไหม ลูกรัก เจ้าจงบอกสิ่งที่เจ้าชอบที่สุดมาเถิด แม้สิ่งนั้นจะเทียบเท่ากับ ดวงจันทร์ พ่อจะหามาให้เจ้าให้ได้”
พระราชธิดากราบทูลว่า “ข้าแต่เสด็จพ่อ ชีวิตความเป็นอยู่ของหม่อมฉันสุขสบายดีทุกอย่าง และพรุ่งนี้เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ขอเพียงเสด็จพ่อพระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่ลูก ลูกจะได้บริจาคทานแก่พวกยาจก วณิพกพเนจร ตามที่ได้กระทำมาเสมอ ลูกได้เท่านี้ก็พอใจเป็นที่สุดแล้ว”
พระราชาสดับเช่นนั้น ทรงปฏิเสธทันทีว่า “ลูกเอาทรัพย์ไปใช้เช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์เลย เลิกให้ทานเถิดลูก ลูกควรจะนำทรัพย์ที่พ่อจะให้นี้ ไปใช้จ่ายเที่ยวเล่นสนุกสนานให้เต็มที่ ไม่ต้องไปคิดถึงใคร และภพชาติต่อไปก็อย่าไปกังวล ลูกจงเก็บเกี่ยวความสุขในชาตินี้ให้เต็มที่เถิด”
เราจะเห็นว่า แม้ปัจจุบันก็มีคำกล่าวทำนองนี้มาก เพราะเขาไม่รู้จักปรโลก ไม่รู้จักความสุขในสวรรค์ และความทุกข์ในมหานรกว่าเป็นอย่างไร จึงคิดตื้นๆ แค่หาความสบายในชาตินี้ เช่นนี้เป็นการกระทำที่มองใกล้ ไม่ได้มองการณ์ไกล ชีวิตย่อม ไม่ปลอดภัย เราต้องศึกษาไว้ให้ดี อย่าไปหลงใหลกับความสุขชั่วคราว แต่ต้องไปรับทุกข์ถาวรในปรโลก เพราะมันไม่คุ้มกันเลย
จากนั้นพระเจ้าอังคติราชทรงนำเรื่องของอลาตเสนาบดี มาเล่าให้พระธิดาฟังว่า “ชาติที่แล้ว อลาตเสนาบดีทำแต่บาปอกุศล ไม่มีศีล บุญกุศลก็ไม่เคยทำไว้ ชาตินี้เขาก็ยังได้กลับมาเกิดเป็นเสนาบดีที่มีความเป็นอยู่อย่างสบาย นี่คือตัวอย่างของผู้ทำชั่วแต่ได้ดี ส่วนทาสชื่อวีชกะนี้ ก็เป็นตัวอย่างของการทำความดี แล้วไม่ได้ผลดี เพราะในชาติที่แล้ว เขาอุตส่าห์ทำแต่ความดีจนนึกบาปไม่ออก แต่กลับต้องมาเกิดในท้องของนางทาสี แม้ในชาตินี้เขาก็ยังไม่ละการทำความดี หมั่นทำทาน รักษาอุโบสถศีลเป็นประจำ แต่ก็ยังเป็นทาสรับใช้ที่มีความเป็นอยู่ฝืดเคืองเหมือนเดิม ลูกรัก แม้แต่ท่านคุณาชีวกก็กล่าวว่า โลกนี้ไม่มี โลกอื่นไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายผู้ผุดเกิดไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ยินดีในความพร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมไม่มี ปรโลกไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อปรโลกไม่มี ลูกจะให้ทานไปทำไม จะรักษาศีลไปทำไม จงสุขสำราญในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ให้เต็มที่เถิด”
พระธิดาสดับแล้ว ไม่ทรงคล้อยตาม เพราะพระนางทรงเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมเป็นอย่างดี และยังสามารถระลึกชาติได้ ๗ ชาติ อีกทั้งรู้อนาคตอีกถึง ๗ ชาติ ดังนั้นสัมมาทิฏฐิของพระนางจึงบริบูรณ์มากกว่า เพราะสามารถเห็นถึงกฎแห่งกรรมได้ชัดเจนกว่าว่า แต่ละภพแต่ละชาติเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร จึงกราบทูลพระบิดาว่า
“เมื่อก่อนลูกเพียงแค่ได้ยินเท่านั้น แต่วันนี้ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า ผู้ใดคบคนพาล ผู้นั้นก็เป็นพาลไปด้วย ผู้หลงทางอาศัยคนหลงทางแนะนำ ก็ยิ่งหาทางออกไม่พบ ผู้ใดคบคนพาล ผู้นั้นก็เป็นคนพาล เหมือนม้าเดินตามหลังคนเลี้ยงม้าขาเป๋ หรือเหมือนต้นมะม่วงแม้จะมีผลหวานอร่อย แต่เมื่อปลูกใกล้ต้นสะเดาก็มีรสขมได้ คำพูดเหล่านี้ หม่อมฉันล้วนเคยได้ยินมา วันนี้ได้เห็นประจักษ์แล้ว เสด็จพ่อ การที่พระองค์อาศัยคนพาลอย่างคุณอเจลกะผู้ไม่มีความละอายเหมือนเด็กชาวบ้าน และหลงเชื่อคำของอลาตเสนาบดีผู้เสื่อมจากชาติ ทั้งคบกับวีชกทาส เช่นนี้ไม่สมควรเลย ไฉนพระองค์จึงไปหลงเชื่อคนเช่นนี้เล่า ขอเสด็จพ่อได้โปรดไตร่ตรองคำของหม่อมฉันด้วยเถิด”
จากนั้นพระราชธิดาทรงระลึกชาติไปดู อดีตชาติของ อลาตเสนาบดีว่า เขาทำกรรมอะไรจึงได้มาเป็นเสนาบดี และกราบทูลพระบิดาว่า “อลาตเสนาบดีระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว และยังไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งก่อนที่เสนาบดีผู้หลงผิดนี้จะไปเกิดเป็นนายโคฆาต ในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า เขาได้เอาพวงดอกอังกาบไปบูชาพระเจดีย์ด้วยจิตที่เลื่อมใส ครั้นละจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ท่องเที่ยวอยู่ในสวรรค์เป็นเวลายาวนาน แต่เพราะตนเองเคยทำบาปอกุศลไว้ ชนกกรรมจึงนำไปเกิดในตระกูลของคนฆ่าโค อันที่จริง กรรมคือปาณาติบาตนี้ จะส่งผลให้เขาไปเกิดในอบายภูมิ เสวยวิบากกรรมอันแสนทรมาน แต่เพราะกุศลกรรมที่เกิดจากการบูชาพระเจดีย์ยังคอยอุปถัมภ์ตามส่งผลอยู่ จึงชิงช่วงส่งผลก่อนเหมือนเอาขี้เถ้ากลบถ่านไฟไว้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ชนกกรรมฝ่ายกุศลจึงทำให้เขาได้เป็นเสนาบดีและระลึกชาติได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เขาจึงสนับสนุนวาทะของคุณอเจลกะ แต่เขาไม่อาจระลึกถึงบุญที่ตนได้ทำไว้ในอดีต อีกทั้งในชาติปัจจุบัน ตนก็ยังทำแต่บาปอกุศล ยินดีในการรบราฆ่าฟัน เป็นอาจิณกรรมที่ได้ทำไว้ใน ๒ ชาตินี้ ซึ่งจะส่งผลให้เขาไปเกิดในนรก เสวยวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานต่อไป”

เห็นไหมว่า กรรมในอดีตที่เราทำไว้ เป็นตัวกำหนดพันธุกรรม และชะตากรรมที่นำชีวิตไปสู่ความสว่างหรือความมืด กฎแห่งกรรมของแต่ละคนมีความสั้นยาวและซับซ้อนแตกต่างกันไป ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะดูเพียงชาติเดียวไม่ได้ ต้องย้อนไปดูหลายๆ ชาติ ดังนั้นให้ทุกคนรู้จักจับแง่คิดให้ดี ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ อย่ารีบด่วนหลงเชื่อใครง่ายๆ ให้เชื่อผู้รู้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลัก และให้หมั่นทำใจใสๆ วินิจฉัยของเราจะได้ไม่ผิดพลาดกันทุกคน
*มก. เล่ม ๖๔ หน้า ๒๑๓

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_26__.jpg   137.89K   14 ดาวน์โหลด