ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

บูชาบุคคลที่ควรบูชา


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 04 February 2006 - 03:46 PM

[attachmentid=2019]

ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม ผู้นั้นชื่อว่า สักการะเคารพนับถือ บูชายำเกรงนอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม

ในการเดินทางไกล เราจำเป็นจะต้องมีเสบียงติดตัวไป เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้ดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในโลกนี้ เดินทางในโลกหน้า หรือแม้กระทั่งเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน จะต้องมีเสบียงคือบุญ ไว้หล่อเลี้ยงกายและใจ บุญจะช่วยชำระใจของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ และเป็นเครื่องดึงดูดความสุขความสำเร็จในชีวิต บุญเกิดจากการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ทางมาแห่งบุญโดยย่อ ได้แก่ การทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ว่า
“ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม ผู้นั้นชื่อว่า สักการะเคารพนับถือ บูชายำเกรงนอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม”
การเคารพบูชาต่อพระรัตนตรัยที่ดีที่สุดคือการทำใจหยุด ใจนิ่ง เพราะเป็นปฏิบัติบูชาที่จะพาเราเข้าสู่การเข้าถึง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายใน ดังนั้นให้พวกเราหยุดใจสบายๆ หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายให้สนิททีเดียว ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่สถิตของพระรัตนตรัยภายใน การที่เราเอาใจ มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบูชาพระรัตนตรัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การบูชามี ๒ อย่าง ได้แก่ อามิสบูชา และปฏิบัติบูชา อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ มีดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอม อาหารหวานคาว และน้ำ เป็นต้น ส่วนปฏิบัติบูชา หมายถึง การตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างคุณงามความดีตามคำสอน และปฏิบัติตามแบบอย่างอันดีงามของผู้ที่เราจะบูชา พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า การปฏิบัติบูชา เป็นเลิศกว่าอามิสบูชา เพราะใครก็ตามบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ย่อมได้ชื่อว่า ทำการบูชาอันสูงสุด มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เกินจะพรรณนาได้ อามิสบูชาที่ทำด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในผู้มีคุณธรรมสูงสุด เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้สะอาดหมดจดจากกิเลสอาสวะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มหาศาล ดังเช่นเรื่องราวของนายสุมนมาลาการ


*เรื่องมีอยู่ว่า ในกรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้คนหนึ่ง ชื่อ “สุมนะ” ทุกๆ เช้า เขาจะนำดอกมะลิ ๘ ทะนาน ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร และจะได้ทรัพย์มาเป็นค่าดอกไม้วันละ ๘ กหาปณะเป็นประจำ
วันหนึ่ง ขณะที่เขาถือดอกไม้จะนำไปถวายพระราชา พระบรมศาสดาเสด็จมาบิณฑบาต พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์จำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกาย นายสุมนะเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามาก อยากจะถวายดอกมะลิทั้ง ๘ ทะนาน ที่ถืออยู่ในมือ เพื่อเป็นพุทธบูชา
เขาคิดว่า “ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้เหล่านี้ในวันนี้ เราอาจจะถูกประหาร หรือถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้นก็ได้ แต่ก็ช่างเถอะ เพราะถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้เท่านั้น แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า” เขาคิดอย่างนี้แล้วก็ตัดสินใจสละชีวิต โปรยดอกไม้ทั้ง ๘ ทะนาน บูชาพระบรมศาสดาทันที ทันใดนั้น สิ่งอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น คือ ดอกมะลิทั้ง ๘ ทะนาน ไม่ได้ตกถึงพื้นดินเลย ดอกมะลิ ๒ ทะนาน ได้กลายเป็นเพดานดอกไม้ แผ่อยู่เหนือพระเศียรของพระบรมศาสดา อีก ๒ ทะนาน แผ่เป็นกำแพงดอกไม้ลอยอยู่ข้างขวา และ ๒ ทะนานอยู่ข้างซ้าย ส่วนอีก ๒ ทะนาน อยู่ข้างหลัง กำแพงดอกไม้ทั้งหมดนี้ ลอยไปพร้อมกับพระบรมศาสดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระดำเนิน กำแพงดอกมะลิทั้งหมดก็ลอยตามไป เมื่อประทับยืน กำแพงดอกมะลิก็หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน
นายสุมนะเห็นดังนั้น เกิดความปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วกลับไปยังเรือนของตน เมื่อกลับไปถึงบ้าน ภรรยาของเขาถามหาดอกไม้สำหรับพระราชา เขาตอบว่า “ถวายพระบรมศาสดาไปแล้ว” ภรรยาถามอีกว่า “แล้วจะหาดอกไม้ที่ไหนไปถวายพระราชาล่ะ” เขาตอบว่า “ฉันได้ตัดสินใจแล้วว่า ยอมสละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมศาสดา ถ้าพระราชาจะลงพระอาญาอย่างไร ฉันก็ยอม”
ภรรยาเขาเกิดความกลัวในพระอาญา จึงต่อว่าสามีว่า “ทำไมโง่อย่างนี้ ! เธอไม่รู้หรอกหรือว่า ธรรมดาพระราชาจะให้คุณหรือโทษ พระองค์ก็ทำได้อย่างเต็มที่ ถ้าทำให้พระองค์กริ้วเพียงครั้งเดียว ก็อาจเกิดความพินาศได้ ฉันไม่ยอมรับกรรมไปกับเธอด้วยหรอก”
นางรีบพาลูกไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดเพื่อเอาตัวรอดว่า สิ่งที่นายสุมนะทำไปนั้น ขอให้เป็นเรื่องของเขาเพียงผู้เดียว ตนเองไม่ข้องเกี่ยวด้วย และจะขอหย่ากับนายสุมนะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นสัมมาทิฏฐิ และบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย พอได้สดับแล้วพระองค์รู้สึกชื่นชมนายสุมนะ แต่ก็แกล้งทำเป็นพิโรธตรัสว่า “เราต้องเอาผิดกับนายสุมนะให้จงได้” รับสั่งให้ภรรยานายสุมนะกลับไป แล้วพระองค์ก็รีบตามเสด็จพระบรมศาสดาไปตลอดทาง
พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระราชามีจิตเลื่อมใส จึงเสด็จดำเนินต่อไปเพื่อให้พระราชาได้อนุโมทนาในการทำความดีของนายสุมนะ พระองค์ไม่ทรงประทานบาตรให้ใครเลย เสด็จไปจนถึงพระลานหลวง จึงได้ประทานบาตรแก่พระราชา พระพุทธองค์เสวยภัตตาหารที่พระลานหลวง ทรงอนุโมทนา แล้วจึงเสด็จกลับสู่พระวิหาร ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นยังคงลอยติดตามพระองค์ไปตลอดเวลา จนกระทั่งเสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี ดอกไม้จึงได้ตกลงที่ซุ้มประตู
พระเจ้าพิมพิสารส่งเสด็จพระบรมศาสดาแล้ว ทรงรับสั่ง ให้นายสุมนะเข้าเฝ้า ตรัสยกย่องการกระทำของเขา ที่กล้าสละชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธองค์ และได้พระราชทาน ช้าง ม้า ทาส ทาสี นารีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ อย่างละ ๘ พร้อมทั้ง บ้านส่วย และทรัพย์ ๑ พันกหาปณะ กับเครื่องประดับชื่อว่า มหาปสาธน์ แก่เขา
พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ถึงผลของการบูชาที่นายสุมนมาลาการได้กระทำว่า จะมีผลเป็นอย่างไร
พระพุทธองค์ตรัสว่า “อานนท์ นายมาลาการนี้ สละชีวิตเพื่อเรา ทำการบูชาด้วยดอกไม้ จักไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป จะท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ต่อไปภายภาคหน้าจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าสุมนะ”

จะเห็นได้ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชามีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นเพียงอามิสบูชา แต่ถ้าหากทำถูกที่ ถูกทักขิไณยบุคคล และทำด้วยจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ย่อมได้รับผลอันไพบูลย์ ดังนั้นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา จึงได้ชื่อว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง ไม่ว่าท่านผู้ควรบูชาทั้งหลาย จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม การบูชาก็มีอานิสงส์ไพศาลเช่นกัน
ดังเช่นที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า "ใครๆ ไม่อาจนับบุญของบุคคลผู้บูชาได้ว่า บุญนี้จะมีประมาณเท่าใด ไม่ว่าจะด้วยวิธีนับอย่างไรก็ตาม ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือ พระพุทธเจ้า หรือพระสาวกทั้งหลาย ผู้ข้ามพ้นธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ข้ามพ้นความเศร้าโศกและความคร่ำครวญแล้ว ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะยังมีชีวิตอยู่ หรือปรินิพพานแล้ว "
การที่พวกเราได้ร่วมสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยด้วยจิตเลื่อมใส ก็เช่นเดียวกัน และยิ่งถ้าเรา หมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนา เพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย บุญอันยิ่งใหญ่ไพศาล ย่อมจะบังเกิดแก่พวกเราอย่างนั้นเหมือนกัน

*มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๑๐๔

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_30__.jpg   133.94K   17 ดาวน์โหลด


#2 **Saw**

**Saw**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 06 February 2006 - 07:04 PM

สาธุ