ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

มงคลที่ ๔ อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 02 March 2006 - 03:48 PM

[attachmentid=2824]

ธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน คือ จักร ๔ ได้แก่ การอยู่ในประเทศอันสมควร การคบสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ และความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ธรรม ๔ อย่างนี้ มีอุปการคุณมาก

การเจริญสมาธิภาวนาเป็นทางลัดที่สุดที่ทำให้เราพบความสุขและมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ถ้าเราบริสุทธิ์มาก บุญจะเกิดขึ้นได้มาก ถ้าเราหมั่นเจริญภาวนา เพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้แก่ตัวเองทุกวัน ในที่สุด เราจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อันเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตปรารถนา เพราะฉะนั้นอย่าประมาทในความสำคัญของการเจริญภาวนากันทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ว่า
“ธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน คือ จักร ๔ ได้แก่ การอยู่ในประเทศอันสมควร การคบสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ และความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ธรรม ๔ อย่างนี้ มีอุปการคุณมาก”
มนุษย์ทุกคนต่างแสวงหาทางที่จะทำให้ชีวิตของตนมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเกื้อกูล ต่อสุขภาพกายและใจ ทำให้เราประกอบกิจการงาน หรือสร้างความดีได้เต็มที่ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ได้เกิดในร่มเงาของบวรพระพุทธศาสนา มีพระสัทธรรมคำสอนเป็นหลักในการดำรงชีวิตนั้น ถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญกิริยาต่างๆ อย่างสมบูรณ์ และผลแห่งการสั่งสมบุญ จะทำให้ชีวิตของเราประสบกับความสุขความเจริญ ทั้งในโลกนี้รวมไปถึงโลกหน้าด้วย
สถานที่ที่เหมาะสมนั้น ท่านเรียกว่า ปฏิรูปเทส ปฏิรูปเทสสำหรับผู้มุ่งหวังความเจริญในทางธรรม คือ สถานที่ที่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงอยู่ มีพุทธบริษัทและสาธุชนทั้งหลายสมัครสมานสามัคคี มีใจใฝ่ในการสร้างบุญกุศล ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอยู่เป็นนิตย์ การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสมเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคลอันสูงสุด เพราะเป็นเหตุให้เราได้อนุตตริยะ คือ ได้สิ่งที่ยอดเยี่ยมถึง ๖ ประการ คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันยอดเยี่ยม คือ ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระสาวกผู้ปฏิบัติดี ทรงศีล ทรงธรรม น่าเข้าใกล้เพื่อจะได้ฟังธรรม
๒. สวนานุตตริยะ การฟังอันยอดเยี่ยม คือ ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ได้จริง
๓. ลาภานุตตริยะ การได้อันยอดเยี่ยม คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย และอยากศึกษาพระธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันยอดเยี่ยม คือ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันยอดเยี่ยม คือ ได้ อุปัฏฐากบำรุงพระบรมศาสดา หรือพระสาวกผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ
๖. อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันยอดเยี่ยม คือ ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เป็นแหล่งแห่งความสะอาดบริสุทธิ์
นี่คือความโชคดีของผู้ที่ได้เกิดในดินแดนที่พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรือง เหมือนดังพระวักกลิ ผู้เป็นเลิศในด้านบรรลุธรรมด้วยความศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


*พระวักกลิ เป็นพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งท่านได้เห็นพระบรมศาสดาขณะเสด็จบิณฑบาตอยู่ เกิดความรู้สึกเลื่อมใสมากในพระรูปกาย มองดูพระพุทธองค์อย่างมีความสุข ไม่รู้อิ่มไม่รู้เบื่อเลย จึงคิดหาทางที่จะได้อยู่ใกล้ๆ ท่าน เห็นว่าการบวชเป็นวิธีการที่จะทำให้สมหวังได้ จึงติดตามพระพุทธองค์ไปถึงวัดเชตวัน เพื่อขอบรรพชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของพระวักกลิ จึงทรงยินยอมให้บวช
ตั้งแต่บวช พระวักกลิไม่เป็นอันทำอะไรเลย ได้แต่หาโอกาสเพื่อจ้องมองดูพระพุทธองค์ โดยติดตามไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าท่านจะนั่งจะยืน ก็เลือกที่ที่จะมองเห็นพระพุทธองค์ได้ถนัด พระบรมศาสดาทรงรอคอยให้ญาณของพระวักกลิแก่กล้าก่อน จึงยังไม่ได้ตรัสอะไร จนวันเวลาผ่านไป เมื่อเห็นว่า พระวักกลิมีญาณแก่กล้าพอแล้ว จึงตรัสเตือนว่า “วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรกับการเที่ยวตามดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่า เห็นธรรม”
แม้พระพุทธองค์จะตรัสเช่นนี้ พระวักกลิก็ยังไม่รู้สึกตัว ยังคอยติดตามเฝ้าดูอยู่ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ถ้าภิกษุรูปนี้ ไม่ได้ความสังเวชแล้ว จะไม่ได้ตรัสรู้ ครั้นถึงวันเข้าพรรษา จึงตรัสห้ามพระวักกลิ ติดตามพระองค์อีกต่อไป
พระวักกลิเสียใจมาก คิดว่า ถ้าหากไม่ได้เห็นพระบรมศาสดา เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ ตั้งใจว่าจะกระโดดเขาตาย
พระบรมศาสดาทรงล่วงรู้ด้วยพระญาณ ทรงดำริว่า หากพระองค์ไม่ปลอบโยน อุปนิสัยแห่งมรรคผลของท่านจะถูกทำลาย คือ จะตายก่อนโดยที่ไม่ได้บรรลุมรรคผล จึงทรงเปล่งพระรัศมีแสดงพระองค์ เสมือนเสด็จไปประทับอยู่เบื้องหน้าของพระวักกลิ
ในขณะนั้น ทรงเหยียดพระหัตถ์ออก แล้วตรัสว่า “มาเถิด วักกลิ อย่ากลัวเลย จงแลดูตถาคต เราจะยกเธอขึ้นเหมือนพยุงช้างขึ้นจากเปือกตม มาเถิดวักกลิ เธออย่ากลัว จงแลดูตถาคต เราจะยกเธอขึ้นเหมือนคนช่วยพระจันทร์ที่ถูกราหูจับ”
พระวักกลิได้ยินพระบรมศาสดาเรียกตน รู้สึกปลื้มปีติมาก ความเศร้าโศกที่มีอยู่มลายสิ้นไป เหมือนสระน้ำแห้งแล้งที่มีฝนตกลงมาจนเต็ม และความปลื้มปีติ ทำให้กายเบา ใจเบา ตัวท่านได้ลอยขึ้นไปในอากาศ ท่านระลึกถึงพระดำรัสของพระบรมศาสดา พยายามข่มปีติ เจริญวิปัสสนา และในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ในขณะนั้นเอง

เราจะเห็นว่า การได้อยู่ในปฏิรูปเทส เช่นพระวักกลินั้น เป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิต เพราะท่านอยู่ในกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเชตวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่นานที่สุด จึงมีโอกาสได้เห็นพระพุทธองค์ เห็นแล้วก็มีความศรัทธาเลื่อมใส ได้บวชในบวรพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม ฝึกฝนตนเอง
จนในที่สุดได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แม้ท่านจะเป็นคนติดในรูปอย่างมากก็ตาม แต่เมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น และได้รับคำสั่งสอนจากพระพุทธองค์ ท่านก็เอาชนะความติดในรูป ด้วยการบรรลุ อรหัตตผล ได้ในที่สุด พวกเราก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้มีบุญที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้ว ถึงได้เกิดในปฏิรูปเทส คือผืนแผ่นดินไทย อันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์คํ้าชูพระพุทธศาสนาตลอดมา ทั้งยังมีพุทธบริษัทที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีกัลยาณมิตรเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อกัน ดังนั้นถ้าเราตั้งอยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดา มีความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นประจำอยู่เนืองนิตย์ ย่อมมีสุคติและพระนิพพานเป็นที่ไปอย่างแน่นอน


*มก. เล่ม ๕๒ หน้า ๑๐๗

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_41__.jpg   82.26K   19 ดาวน์โหลด


#2 **[email protected]**

**[email protected]**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 08 March 2006 - 09:42 AM

ขอเรียนถามผู้รู้หน่อยนะค่ะ แล้วผู้ที่อยู่ในที่ ที่ไม่เหมาะสม ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรดีค่ะ จึงจะทำให้ไม่เกิดเป็นกังวล

ขอขอบพระคุณมาณ.ที่นี้ค่ะ