ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 08 March 2006 - 10:05 AM

[attachmentid=2981]

เมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคจ่าฝูงว่ายข้ามตรง โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปด้วย ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติธรรมตามไปด้วยโดยแท้ ถ้าพระราชา ผู้เป็นใหญ่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน
การช่วยเหลือตนเองและสรรพสัตว์ ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน ต้องอาศัยกำลังบุญกำลังบารมีมาก ตั้งแต่แบบธรรมดา อุปบารมีและปรมัตถบารมี จนกระทั่งถึงขั้นต้องสร้างบุญบารมีกันชนิดที่เรียกว่า เป็นบุญนับอสงไขยไม่ถ้วน เช่นเดียวกันกับการสงสารเพื่อนมนุษย์ ปรารถนาช่วยเหลือไม่ให้เขาเดือดร้อน ถ้าเรามีทรัพย์สมบัติมาก ก็ช่วยเหลือได้เต็มที่ ทำให้เขารอดพ้นจากความอดอยากยากจน มีความสุขความสะดวกสบายในชีวิต ทั้งยังมีเวลาที่จะแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต คือ พระรัตนตรัย
ดังนั้นการมีบุญมาก ย่อมทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จอย่างง่ายดาย เราจึงจำเป็นต้องสั่งสมบุญให้ได้มากที่สุด และต้องทำกันเป็นหมู่ใหญ่ ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยม กระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานไปถึงที่สุดแห่งธรรมพร้อมๆ กัน
มีธรรมภาษิตบทหนึ่งใน ราโชวาทชาดก ว่า
“เมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงว่ายคดเคี้ยว โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดเคี้ยวตามไปด้วย ในมนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรมโดยแท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่ไม่เป็นสุขทั่วกัน เมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป โคจ่าฝูงว่ายข้ามตรง โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปด้วย ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติธรรมตามไปด้วยโดยแท้ ถ้าพระราชา ผู้เป็นใหญ่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน”

*ในสมัยหนึ่ง พระเจ้าปัญจาละเป็นผู้มีน้ำพระทัยงาม แต่เหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตในหน้าที่ ขูดรีดประชาชน จนชาวเมืองต้องพาลูกเมียหลบหนีไปอยู่ในป่า จะกลับมาเฉพาะเวลากลางคืน เพราะกลางวันหากใครอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะมากลั่นแกล้งรีดไถทรัพย์สินเงินทองไปหมด
สมัยนั้นพระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นรุกขเทวา สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นอกเมือง ซึ่งพระราชารับสั่งให้ชาวเมืองมาทำพิธีบวงสรวงต้นไม้นี้เป็นประจำทุกปี พระโพธิสัตว์คิดว่า “พระราชาเป็นผู้มีบุญคุณต่อเรา พระองค์ถูกคนรอบข้างปิดหูปิดตา ให้เห็นว่าบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ในขณะที่บ้านเมืองใกล้จะลุกเป็นไฟอยู่แล้ว ชาวเมืองต่างพากันสาปแช่งพระราชาทุกวันทุกคืน”
คืนนั้นพระโพธิสัตว์ จึงเข้าไปในห้องบรรทมของพระราชา เปล่งรัศมีกายยืนอยู่ในอากาศ พระราชาทอดพระเนตรเห็นความสว่างไสวแห่งรัศมีกายของเทวดา จึงตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร มาที่นี่เพราะมีความประสงค์สิ่งใด”
พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า “ข้าพระองค์เป็นรุกขเทวา มาที่นี่เพื่อเตือนสติพระองค์ เพราะพระองค์เป็นผู้ประมาทในการบริหารบ้านเมือง ราชสมบัติจะต้องพังพินาศในเวลาอันใกล้นี้ และพระองค์อาจจะต้องถูกประชาชนพากันรุมประชาทัณฑ์” เพื่อเป็นการเตือนสติพระราชา พระโพธิสัตว์จึงสั่งสอนว่า “พระองค์อย่าได้ประมาทเลย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ส่วนความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ผู้ไม่ประมาท ย่อมชื่อว่าไม่ตาย ส่วนผู้ประมาทแม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว เพราะลุ่มหลงมัวเมาจึงทำให้เกิดความประมาท เมื่อประมาท จึงเกิดความเสื่อม เพราะความเสื่อมจึงเกิดโทษ ดังนั้น ขอพระองค์ อย่าได้ประมาท ให้หาโอกาสไปตรวจดูราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ และช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรของพระองค์เถิด”
จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็อันตรธานหายไป เมื่อพระเจ้าปัญจาละได้สดับถ้อยคำของรุกขเทวาแล้ว ทรงสลดพระทัยยิ่งนัก รุ่งขึ้นจึงมีรับสั่งให้มหาอำมาตย์ ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนพระองค์
ส่วนพระองค์รีบเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยปุโรหิตคนหนึ่ง ทรงปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านธรรมดา เพียงแค่เสด็จออกจากพระราชวังไปได้โยชน์เดียว พระองค์ก็ได้ยินเสียงชายแก่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด เพราะถูกหนามตำที่ข้อเท้า พลางสาปแช่งพระราชาว่า “ขอให้พระเจ้าปัญจาละ จงถูกลูกศรเสียบแทงในสงคราม เสวยทุกข์ทรมานเหมือนกับเราในขณะนี้ด้วยเถิด”
ปุโรหิตได้ยินเช่นนั้น จึงเข้าไปถามว่า “ท่านลุง ท่านเป็นคนตาฝ้าฟาง เดินไม่ระมัดระวังเอง ถึงได้ถูกหนามแทงเอา พระราชาไม่เคยมาเบียดเบียนท่าน ทำไมจะต้องสาปแช่งพระราชา ผู้เป็นเหนือหัวด้วยเล่า”
ชายชราตอบว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ที่เราถูกหนามแทงนี้ เป็นความผิดของพระเจ้าปัญจาละคนเดียวเท่านั้น เพราะกลางวัน พระองค์ปล่อยให้พวกราชบุรุษกดขี่ขูดรีดเอาเงินทองจากเรา ส่วนกลางคืนเรายังถูกพวกโจรปล้นแย่งชิงทรัพย์สินอีก แผ่นดินของพระราชาโกง มีแต่คนไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย แน่ะพ่อคุณเอ๋ย เมื่อมีภัยเช่นนี้ ประชาชนต่างพากันหวาดกลัว จึงเข้าป่าหาไม้มีหนามเอามาวางเป็นที่กำบัง เรามองไม่เห็นหนามเหล่านั้น จึงโดนหนามทิ่มตำได้รับความเจ็บปวดอยู่นี่แหละ”
พระราชาทรงสดับเหตุผลเช่นนั้น จึงตรัสเรียกปุโรหิตพลางตรัสว่า “ชายชราพูดถูกแล้ว เป็นความผิดของเราแท้ๆ อย่าไปตำหนิเขาเลย เราจักกลับไปเสวยราชสมบัติโดยธรรม” จากนั้นพระราชาก็ออกเดินทางต่อไป ระหว่างทางพบหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง กำลังปีนขึ้นไปเด็ดผักผลไม้เกิดพลาดพลัดตกลงมา นางร้องสาปแช่งพระราชาด้วยความเจ็บปวดว่า “ที่เราต้องได้รับความเจ็บปวดเช่นนี้ เพราะพระเจ้าปัญจาละพระองค์เดียวเท่านั้น ขอให้พระราชาพลัดตกลงมาจากปราสาท นอนกลิ้งเกลือกทุรนทุราย ได้รับทุกข์แสนสาหัสเหมือนเราด้วยเถิด”
ปุโรหิตได้ฟังคำสาปแช่งเช่นนั้น เกิดความไม่พอใจ จึงเดินเข้าไปถามนางว่า “เธอตกจากต้นไม้เพราะความประมาทของเธอเอง ทำไมต้องพาดพิงมาถึงพระราชาด้วย”
หญิงเข็ญใจตอบว่า “เนื่องจากพระราชาไม่ได้บำบัดทุกข์บำรุงสุข ไม่ได้ปกครองราษฎรโดยธรรม ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทางการมาขูดรีดประชาชน แล้วยังปล่อยให้โจรมาปล้นบ้านฉันอีก ทำให้ฉันต้องอดอยากยากจนลง ต้องหาเช้ากินคํ่าลำบากอย่างนี้”
ไม่ว่าพระราชากับปุโรหิตจะเดินทางไปที่ไหน ก็ได้ยินแต่เสียงชาวบ้านสาปแช่งอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยที่ชาวบ้านต่างไม่รู้ว่า คนแปลกหน้านี้เป็นใคร เพราะไม่มีผู้ใดเคยพบเคยเห็นพระราชา นอกจากชาวบ้านจะด่าและสาปแช่งแล้ว แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานซึ่งในยุคนั้นพูดภาษามนุษย์ได้ ยังด่าทอพระองค์ด้วยความอาฆาตพยาบาท เช่นฝูงกากำลังเอาจะงอยปากจิกกินกบเป็นอาหาร พระราชาได้ยินเสียงกบเขียดร้องสนั่นลั่นทุ่งนาเป็นเสียงสาปแช่งพระองค์ ทำให้พระองค์รู้สึกสลดพระทัยยิ่งนัก
ปุโรหิตถามกบว่า “เจ้าร้องด่าว่าพระราชาทำไม พระราชาทำอะไรให้เจ้าลำบากรึ” กบร้องตอบว่า “ท่านต้องเป็นคนชั่วแน่นอน ถึงได้ยกย่องพระราชา เพราะพระราชาปล่อยให้คนชั่วรังแกคนดี ปล่อยให้คนพาลเป็นหัวหน้า เมื่อชาวบ้านถูกโจรผู้ร้ายจี้ปล้น ก็ไม่เป็นอันทำการทำงาน ไม่มีเวลาทำไร่ไถนา อาหารก็ขาดแคลน ถ้าหากแว่นแคว้นนี้ มีพระราชาปกครองโดยทศพิธราชธรรม ฝูงกาก็จะได้กินก้อนข้าวอย่างดี มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องมากินพวกข้าเป็นอาหารอย่างนี้หรอก”
พระราชาได้ฟังเช่นนั้น จึงรีบเสด็จกลับเข้าวัง เรียกประชุมเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหมดทันที ทรงประกาศนโยบายให้ทั้งข้าราชการและราษฎรประพฤติธรรม ด้วยการสมาทานศีล ส่วนพระองค์ทรงใส่พระทัยบริหารบ้านเมือง ลงโทษผู้ที่ทำความผิด สนับสนุนคนทำความดีให้ได้รับตำแหน่งสูงยิ่งๆ ขึ้นไป ทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขร่มเย็น ประชาชนต่างมีความสุขกันถ้วนหน้า

เราจะเห็นว่า หากยุคสมัยใดได้ผู้นำที่ดีมีคุณธรรมมาบริหารประเทศ ยุคสมัยนั้นประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข โลกย่อมบังเกิดสันติสุข ไม่มีการรบราฆ่าฟันกัน มีแต่การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปรารถนาดีต่อกัน เมื่อกระแสใจของชาวโลก ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี ไม่ประมาทในชีวิต ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจจะมีสภาพคล่อง ประชาชนไม่อดอยากยากจน โรคภัยไข้เจ็บก็น้อย ผู้คนมีอายุยืนยาว ผิวพรรณวรรณะผ่องใส ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีหมด
ตรงกันข้าม หากยามใดที่จิตสำนึกของมนุษย์ตกต่ำ ผู้นำไม่ประพฤติธรรม ประชาชนไม่ประพฤติธรรม มัวประมาทเลินเล่อ ถูกกระแสบาปเข้าบังคับบัญชาอยู่ภายใน ให้คิดชั่ว ทำชั่ว เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็จะตกต่ำ ดินอากาศฟ้าแปรปรวน โรคภัยไข้เจ็บ ก็เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น ศีลธรรม คือ เครื่องพลิกผันสถานการณ์ที่ยํ่าแย่ให้กลับดีขึ้นมาได้ การประพฤติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยคุ้มครองโลกให้ปลอดภัยได้ เราจึงควรตั้งใจประพฤติธรรมกันให้เต็มที่ ช่วยกันนำศีลธรรมไปสู่มวลมนุษยชาติด้วย จิตใจชาวโลกจะได้สูงขึ้น สิ่งที่ดี จะได้บังเกิดขึ้น และเมื่อใดทุกคนในโลกคิดกันได้อย่างนี้ รู้จักสั่งสมบุญบารมี เมื่อนั้นโลกก็จะพบกับสันติสุขที่แท้จริงอย่างแน่นอน หากเราปรารถนาให้โลกมีสันติภาพ เราต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกาย ถึงสันติสุขภายใน และช่วยกันขยายสันติสุขนี้ไปทั่วโลกให้ได้

*มก. เล่ม ๖๑ หน้า ๕๑๓

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_42__.jpg   111.66K   16 ดาวน์โหลด