ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ทําสิ่งแวดล้อม ให้เป็นปฏิรูปเทส ( ๓ )


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 20 March 2006 - 10:36 AM

[attachmentid=3208]

การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม เป็นอุดมมงคล


การดำรงชีวิตบนโลกมนุษย์ไม่ได้ยืนยาวแต่อย่างใด เดี๋ยวก็วันเดี๋ยวก็คืน จากชีวิตในวัยเด็กเติบโตสู่วัยหนุ่มสาว แล้วย่างเข้าสู่วัยชรา เป็นการนับถอยหลังในการเดินทางไปสู่สัมปรายภพ แม้จะเป็นระยะเวลาที่แสนสั้นในโลกนี้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุด เหมาะต่อการสั่งสมบุญกุศลที่จะเป็นเสบียงสำหรับการเดินทางไกลในสังสารวัฏ เพื่อที่ชีวิตหลังความตายจะได้ไม่ลำบาก ส่วนการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายใน จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในการเดินทางสู่สัมปรายภพ เพราะพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันสูงสุดและอบอุ่นปลอดภัยที่สุด ซึ่งจะเป็นเครื่องรับประกัน นำเราไปสู่สุคติทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะหมดกิเลสเข้าสู่นิพพานในที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มงคลสูตร ว่า
“ปฏิรูปเทสวาโส เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม เป็นอุดมมงคล”
ในมงคลทีปนีได้กล่าวถึงลักษณะของถิ่นที่เหมาะสมว่า ต้องมีพุทธบริษัทอาศัยอยู่ คือ มีภิกษุสามเณรผู้เป็นเนื้อนาบุญ เพื่อเราจะได้สั่งสมบุญเป็นหนทางไปสู่สวรรค์นิพพาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ที่คำสอนของพระบรมศาสดามีองค์ ๙ เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย ซึ่งหมายถึง คำสอนที่เป็นไปเพื่อให้เกิดมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน หมายถึงว่า ประเทศไหนที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ประเทศนั้นถือว่าเป็นปฏิรูปเทส
ในปัจจุบัน ประเทศไทยถือได้ว่า เป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุด ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีพระสงฆ์มากมายที่สมบูรณ์ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ช่วยแนะนำพร่ำสอนให้เราได้เข้าใจในหนทางของพระนิพพาน สมควรที่เราจะใช้โอกาสอันเป็นอุดมมงคลนี้ แสวงหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา และสร้างบุญบารมีเพิ่มเติมกุศลราศีแก่ตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะการที่จะหาที่ที่สมบูรณ์ด้วยบุญเขตอย่างนี้ไม่ใช่ของง่ายเลย


*ในตอนที่แล้ว นางวิสาขา พยายามปรับบรรยากาศในบ้านของบิดาสามีให้เป็นปฏิรูปเทส ถึงตอนที่ท่านมิคารเศรษฐีโมโหนางวิสาขาที่กล่าวหาว่าตัวท่านกินของเก่า อีกทั้งไม่พอใจในหลายๆ เรื่อง ซึ่งแท้จริงเกิดจากความไม่เข้าใจของท่านเศรษฐี จึงทำให้ท่านวินิจฉัยผิด โดยสั่งให้คนในบ้านช่วยกันขับไล่ลูกสะใภ้ออกจากบ้าน
ฝ่ายมหาอุบาสิกาวิสาขาได้เรียกกุฎุมพีทั้ง ๘ มาช่วยไต่สวนว่า ตนมีความผิดจริงหรือไม่ เมื่อกุฎุมพีทั้ง ๘ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนทนาย ไต่ถามถึงคำกล่าวของนางที่ว่ากินของเก่านั้น หมายถึงอะไร นางวิสาขาได้กล่าวแก้ว่า “เมื่อมีพระเถระรูปหนึ่งบิณฑบาตเดินผ่านหน้าบ้าน ขณะท่านเศรษฐีกำลังบริโภคข้าวมธุปายาส ท่านทำเป็นไม่สนใจพระเถระ ฉะนั้น นางจึงพูดให้บิดาได้สติ โดยกล่าวต่อพระเถระว่า ไปข้างหน้าก่อนเถิดเจ้าข้า บิดาสามีของดิฉันไม่ทำบุญในอัตภาพนี้ เพราะกำลังกินของเก่าอยู่ ดังนั้น เหตุที่ว่ากินของเก่า จึงหมายถึงสมบัติต่างๆ ที่ท่านเศรษฐีได้มานี้ เกิดจากผลบุญในอดีต”
เมื่อกุฎุมพีทั้ง ๘ พิจารณาดูแล้ว เห็นว่านางวิสาขาพูดความจริง จึงถือว่านางไม่ได้มีความผิดในข้อหานี้ เศรษฐีก็ได้ยกประเด็นอื่นขึ้นมากล่าวหาว่า นางได้แอบไปเที่ยวในเวลากลางคืน แสดงว่านางนอกใจสามี นางวิสาขาก็ได้กล่าวแก้ในประเด็นนี้ว่า นางไม่เคยไปไหนตอนกลางคืนเลย ยกเว้นคืนหนึ่งที่แม่ม้าอัสดรกำลังจะตกลูก นางเห็นว่าไม่มีใครเอาใจใส่ จึงชวนคนรับใช้ในบ้านออกไปในยามดึกเพื่อสงเคราะห์ลูกม้า กุฎุมพีทั้ง ๘ ได้สืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย เห็นว่านางวิสาขาพูดเรื่องจริง คำฟ้องของท่านเศรษฐีจึงเป็นอันตกไปอีกประเด็นหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ท่านเศรษฐียังไม่ยอมจำนนเพียงแค่นั้น ได้กล่าวหาอีกว่า ก่อนที่นางวิสาขาจะเดินทางออกจากบ้านมาเป็นสะใภ้ของตนที่นี่ ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อ แก่ลูกสาวสองต่อสองว่า ไฟในไม่ควรนำออก เป็นต้น ตนกลับเห็นว่า ถ้าหากไม่ยอมให้ไฟในบ้านแก่คนผู้ที่มาขอ มัวแต่หวงแหนเอาไว้ ต่อไปก็จะไม่มีใครเป็นมิตรด้วย การที่ธนัญชัยเศรษฐีสอนนางให้ตระหนี่เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร
อันที่จริงเป็นการคิดคนละอย่าง เป็นการมองต่างมุม คือ พูดในความหมายอีกอย่างหนึ่ง แต่เรากลับคิดไปอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาค้างคาใจ
ไฟในอย่านำออก หมายถึง ไม่ควรนำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวไปเปิดเผยแก่คนภายนอก เพราะจะทำให้เขาดูถูกเหยียดหยาม เมื่อมีปัญหาก็ให้หาทางแก้ไขเป็นการภายใน ไม่เกี่ยวกับเรื่องการขอไฟที่พ่อสามีกล่าวถึงแต่อย่างใด
ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ภายนอกที่ร้อนใจเข้ามาในบ้าน
พึงให้แก่ผู้ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือ ให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว เมื่อถึงกำหนดก็นำมาส่งคืนตามเวลา ครั้นถึงคราวที่เรามีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือบ้าง ถ้าไม่เกินความสามารถของเขา เขาก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มใจ บุคคลเช่นนี้ ภายหลังมาขอความช่วยเหลือ เราก็ให้ความช่วยเหลืออีก
ไม่ให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ หมายถึง ผู้ใดที่เราให้ความช่วยเหลือ ให้หยิบยืมสิ่งของแล้ว ไม่ส่งคืนตามกำหนดเวลา ครั้นเรามีเรื่องขอความช่วยเหลือบ้าง แม้ไม่เกินความสามารถของเขา และเป็นเรื่องถูกศีลธรรมเขาก็ไม่ยอมช่วยเหลือเรา เป็นคนเห็นแก่ตัว คนเช่นนี้ ภายหลังถ้ามาขอความช่วยเหลือจากเราอีก ก็อย่าช่วย ต้องมีอุเบกขาบ้าง
ให้ไม่ให้ก็ให้ หมายถึง ถ้าญาติพี่น้องเราที่ตกระกำลำบากมาขอความช่วยเหลือ แม้บางครั้งไม่เคยสงเคราะห์เรา ภายหลังเขามาขอความช่วยเหลือ ก็ให้ช่วยเหลือกันไป เพราะถึงอย่างไรก็ยังเป็นญาติพี่น้องกัน
กินให้เป็นสุข หมายถึง ให้จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามีในเรื่องอาหาร อย่าให้ขาดตกบกพร่อง ไม่เห็นแก่กิน อีกทั้งไม่ควรกินก่อนพ่อแม่ของสามี
นั่งให้เป็นสุข หมายถึง รู้จักที่สูงที่ต่ำ ไม่นั่งสูงกว่าพ่อแม่ของสามี ไม่เป็นคนแข็งกระด้าง มักใหญ่ใฝ่สูง แต่ให้ใฝ่ดี คือมีสัมมาคารวะ ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ผู้ใหญ่เห็นมารยาทที่งดงามก็จะเกิดความเอ็นดู
นอนให้เป็นสุข หมายถึง ดูแลเรื่องที่หลับที่นอนให้ดี ยึดหลักตื่นก่อนนอนทีหลัง ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เอาแต่เที่ยวสนุกสนานเฮฮาเหมือนหนุ่มสาวทั่วไป ก่อนนอนควรจัดการธุรกิจการงานให้เรียบร้อยก่อน
บูชาไฟ หมายถึง ยามพ่อแม่ของสามีหรือสามีกำลังโกรธ เปรียบเสมือนไฟกำลังลุก แม้เราจะถูกดุด่าก็ให้นิ่ง อย่าไปต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะเรื่องราวอาจจะยิ่งลุกลามใหญ่โต ไม่มีประโยชน์ ให้คอยหาโอกาส เมื่อท่านหายโกรธ จึงชี้แจงเหตุผลให้ฟังอย่างนุ่มนวลจะดีกว่า
ประการสุดท้าย บูชาเทวดา หมายถึง ให้เคารพสามี หรือพ่อแม่ของสามีเสมือนเทวดา อย่าประพฤตินอกใจ หรือประพฤตินอกลู่นอกทาง เพราะเมื่อเราทำผิด หากท่านรู้ก็จะถูกตำหนิหรือขับไล่ออกจากบ้านได้ และเมื่อพ่อแม่ของสามีหรือสามีทำความดี ให้มีมุทิตาจิต ส่งเสริมสนับสนุน พูดให้กำลังใจเพื่อให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อมหาอุบาสิกาวิสาขาได้แก้ข้อกล่าวหาทุกข้อ ที่มิคารเศรษฐีกล่าวตู่ โดยมีกุฏุมพีทั้ง ๘ เป็นผู้วินิจฉัย ในที่สุด ท่านมิคารเศรษฐียอมรับว่า นางวิสาขาเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน แม้นางวิสาขาจะชนะคดี แต่นางก็ไม่ปรารถนาจะอยู่กับพ่อสามี เพราะคิดว่า ถึงอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความสุข เพราะนางจะไม่ได้สั่งสมบุญเลย จึงชักชวนเหล่าข้าทาสบริวารให้เก็บสัมภาระสิ่งของทั้งหมด เพื่อเดินทางกลับบ้าน
มิคารเศรษฐีเห็นว่า ลูกสะใภ้ แสนดีจะจากไปจริงๆ รู้สึกตกใจมาก จึงกล่าวขอโทษและขอร้องให้นางอยู่ต่อไป และไม่ว่านางอยากทำอะไร ตนจะไม่ขัดใจอีกแล้ว
นางวิสาขาเห็นโอกาสดี จึงกล่าวว่า “ดิฉันไม่ถือโทษโกรธเคืองคุณพ่อหรอก แต่ดิฉันเป็นผู้มีความเลื่อมใสไม่คลอนแคลน ในพระรัตนตรัย หากอยู่ที่นี่แล้ว ไม่ได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ดิฉันก็คงอยู่ต่อไปไม่ได้ แต่หากท่านอนุญาตให้ถวายทานตามใจชอบ ดิฉันจึงจะอยู่ที่นี่ต่อไป แต่ถ้าไม่อนุญาต ดิฉันก็ขออำลาพวกท่านในบัดนี้แหละ”
แม้ท่านเศรษฐีไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่เมื่อลูกสะใภ้เสนอเงื่อนไขเช่นนี้ จึงต้องยอมจำนน เพราะว่าคนดีอย่างนางวิสาขาผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งสติปัญญาและมารยาทจากไป ตนก็คงมองหน้าใครไม่ได้ และคงได้รับคำติเตียนจากผู้คนมากมาย จึงเอาใจลูกสะใภ้ว่า “ขอให้ลูกจงบำรุงเหล่าสมณะตามชอบใจเถิด”
เมื่อได้รับอนุญาตเช่นนั้น รุ่งขึ้นนางวิสาขาจึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารที่บ้าน เมื่อพวกชีเปลือยรู้ว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาฉันภัตตาหารที่บ้านของมิคารเศรษฐี จึงพากันแอบเข้าไปนั่งในบ้านของเศรษฐีด้วย นางวิสาขาได้ส่งข่าวไปบอกบิดาของสามีว่า “ภัตตาหารและเครื่องสักการะทุกอย่างจัดไว้แล้ว ขอท่านบิดาโปรดมาบำรุงพระภิกษุสงฆ์เถิด” แต่เนื่องจากเศรษฐียังไม่มีศรัทธา จึงปฏิเสธว่ากำลังติดธุระอยู่ ให้ลูกสะใภ้เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ไปก่อน หลังจากเลี้ยงพระแล้ว นางได้ส่งข่าวไปบอกให้ท่านเศรษฐีมาฟังธรรมจากพระบรมศาสดา
ท่านเศรษฐีเกรงใจลูกสะใภ้มาก จึงคิดว่า ถ้าไม่ไปตามคำเชื้อเชิญบ้าง คงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจไปฟังธรรม ถึงกระนั้นนักบวชชีเปลือยก็ยังแนะนำอีกว่า “จะไปก็ไปเถอะ แต่อย่าไปนั่งตรงหน้าพระพุทธเจ้า ให้นั่งอยู่นอกม่าน” มิคารเศรษฐีจึงไปนั่งนอกม่านตามคำแนะนำดังกล่าว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ไม่ว่าจะนั่งนอกม่านหรือนอกฝาบ้านก็ตาม นอกแผ่นหินหรือนอกจักรวาลก็ตาม เราตถาคตสามารถทำให้ได้ยินเสียงของเราได้ จากนั้นพระพุทธองค์ จึงตรัสธรรมิกถา ประหนึ่งว่าจับลำต้นมะม่วงเขย่าให้ผลหล่น โดยปกติเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แม้คนฟังยืนอยู่ข้างหน้า ข้างหลังหรืออยู่เลยไปร้อยจักรวาล พันจักรวาลก็ตาม อยู่ในรูปภพหรืออรูปภพก็ตาม ต่างพากันกล่าวว่า “พระศาสดาทอดพระเนตรดูเราคนเดียว ทรงแสดงธรรมโปรดเราคนเดียว” นี้คืออานุภาพแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดท่านเศรษฐี เมื่อจบพระธรรมเทศนา เศรษฐีได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ท่านยกม่านขึ้นและรีบคลานเข้าไปถวายบังคมแทบพระบาทของพระศาสดา จากนั้นก็ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และสถาปนานางวิสาขาผู้เป็นศรีสะใภ้ ไว้ในตำแหน่งมารดาของตน นางจึงมีอีกชื่อว่า วิสาขามิคารมารดา
ตั้งแต่นั้นมา ประตูบ้านของท่านมิคารเศรษฐี ก็เปิดไว้เพื่อต้อนรับภิกษุสงฆ์จากทั่วทิศ ทำให้ท่านเศรษฐีได้สั่งสมบุญทุกวัน ไม่เคยขาดเลยแม้แต่วันเดียว โดยเฉพาะมหาอุบาสิกาวิสาขา ได้สร้างมหาทานที่พิเศษๆ เช่น นางได้ขายเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์มูลค่าถึง ๙ โกฏิ ซึ่งเป็นของรักของหวง เพื่อนำทรัพย์นั้นมาสร้างพระคันธกุฎีอันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสร้างวัดบุพพารามเพื่อเป็นที่พักของภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เป็นต้น
เมื่อบ้านของท่านเศรษฐีเป็นปฏิรูปเทสด้วยฝีมือของ มหาอุบาสิกาวิสาขาแล้ว ทุกคนในบ้านต่างมีใจเปี่ยมไปด้วยความสุข ชีวิตที่เคยมืดก็กลับสว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรม บ้านก็กลายเป็นสถานที่สร้างบุญบารมี ภายในบ้านจะมีการจัดสังฆทาน ไว้พร้อมสรรพ เหมือนบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คือ ทุกเช้ามีการถวายภัตตาหารที่บ้าน หลังเพลมีการนำยารักษาโรค และน้ำปานะชนิดต่างๆ ไปถวายพระสงฆ์ที่วัด มีการฟังธรรมทุกวัน ความดีงามที่นางวิสาขาได้ทำไว้ ประกอบกับแรงอธิษฐานที่ตั้งไว้ดีแล้วในอดีต ทำให้พระบรมศาสดาทรงสถาปนานางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายทาน คือ เป็นยอดอุปัฏฐากฝ่ายหญิงนั่นเอง

ดังนั้น เราจะเห็นว่า การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง เป็นบุญลาภของบุคคลนั้น แม้การจะเปลี่ยนสถานที่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการสร้างบารมี ให้กลายมาเป็นปฏิรูปเทสนั้นจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้ เราคือบุคคลสำคัญที่จะมารังสรรค์โลกนี้ให้เจริญขึ้น และจะมาสถาปนาโลกนี้ให้เป็นปฏิรูปเทส เป็นโลกแห่งการสร้างบารมีให้มวลมนุษยชาติได้สั่งสมบุญบารมีอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป และจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพาน
*มก. ประวัตินางวิสาขามิคารมารดา เล่ม ๓๓ หน้า ๙๕

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_45__.jpg   94.55K   16 ดาวน์โหลด