ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

แนวคิดการบำเพ็ญบารมี (๕)


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 samana072

samana072
  • Admin_Article_Only
  • 109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:วัดพระธรรมกาย

โพสต์เมื่อ 04 July 2006 - 10:20 AM

[attachmentid=6080]

ดูก่อนสุเมธดาบส ท่านพึงบำเพ็ญแม้ปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้เว้นใครๆ เลย
ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นล่าง ชั้นกลาง และชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตทั้งหมด
ไต่ถามปัญหา ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เดินไปบิณฑบาตตามลำดับตรอก
ไม่ละเว้นตระกูลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลชั้นไหน ได้อาหารพอยังชีพ ฉันใด
แม้ท่านก็ฉันนั้น เข้าไปหาบัณฑิตทั้งปวง ไต่ถามปัญหา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า


จิตใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประกอบด้วยความรัก และความเมตตา เป็นทางมาแห่งสันติภาพอันไพบูลย์ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะทำให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พลังมวลแห่งใจที่บริสุทธิ์ จะช่วยเปลี่ยนแปลงกระแสที่กำลังร้อนแรงด้วยไฟกิเลส ให้เป็นกระแสแห่งความดีที่รุกเงียบไปในบรรยากาศโลก มวลมนุษยชาติจะเกิดความปรองดอง มีอะไรก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป โดยถือว่าสมบัติทั้งหลายเป็นของกลาง โลกเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่มีสมาชิกในบ้านมากมาย เราทุกคนต่างเป็นหมู่ญาติกัน และยังต้องเดินทางไกลในสังสารวัฏไปสู่ฝั่งอายตนนิพพาน

มีธรรมภาษิตที่สุเมธดาบสโพธิสัตว์กล่าวสอนตนเองว่า

“ ดูก่อนสุเมธดาบส ท่านพึงบำเพ็ญแม้ปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้เว้นใครๆ เลย
ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นล่าง ชั้นกลาง และชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตทั้งหมด
ไต่ถามปัญหา ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เดินไปบิณฑบาตตามลำดับตรอก
ไม่ละเว้นตระกูลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลชั้นไหน ได้อาหารพอยังชีพ ฉันใด
แม้ท่านก็ฉันนั้น เข้าไปหาบัณฑิตทั้งปวง ไต่ถามปัญหา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ”


การสร้างบารมี ไม่ใช่ทำเพียงชาติสองชาติ ต้องทำกันยาวนานเป็นอสงไขยชาติ และต้องอาศัยกำลังใจที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าความนึกคิดของปุถุชนทั่วไป แม้ว่าภพชาติจะมาตัดช่วงจังหวะการสร้างบารมี ให้ได้รูปกายใหม่ หรือเกิดในสถานที่ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสั่งสมบารมีบ้าง ทำให้บางจังหวะของชีวิตหลงลืมประมาทชะล่าใจไปบ้าง แต่ทันทีที่ได้โอกาสก็ต้องสร้างความดีต่อไป และในระหว่างที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ จะต้องมีมโนปณิธานที่แน่วแน่ ต้องอาศัยกำลังใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว สร้างบุญบารมีไปจนกว่าจะแก่รอบมากยิ่งขึ้น

ครั้งที่แล้ว หลวงพ่อได้กล่าวถึงแนวคิดการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ว่า ท่านเริ่มจากทานบารมีเป็นอันดับแรก เพราะเสบียงเป็นสิ่งที่สำคัญในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ เพื่อหล่อเลี้ยงตนเอง และหมู่คณะด้วย จากนั้นท่านได้บำเพ็ญศีลบารมี ชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อเป็นการรักษาสภาวะปกติของตนเอง จะได้บังเกิดในภพภูมิที่เหมาะต่อการสร้างบารมีไปทุกภพทุกชาติ จะทำให้หนทางการไปสู่อายตนนิพพานย่นย่อเข้ามา จากนั้นท่านก็บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ฝึกตัวไม่ให้ไปยึดติดในลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่เกาะเกี่ยวในเบญจกามคุณทั้งห้า สลัดให้หลุดจากสิ่งที่ทำให้เนิ่นช้า ทำใจให้ เกาะเกี่ยวอยู่ในกระแสของพระนิพพานอย่างเดียว

เมื่อพิจารณาบารมีทั้ง ๓ อย่างแล้ว ท่านได้ตรวจตราต่อ ไปก็พบว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากภพทั้งสามไปได้ ดังนั้นจะต้องแสวงหาความรู้ ตั้งแต่ความรู้จากการได้ยินได้ฟังที่เป็นสุตมยปัญญา จากสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ความรู้จากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองทดลองด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจินตมยปัญญา รวมไปถึงความรู้แจ้ง คือ ภาวนามยปัญญา อันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนาข้ามภพข้ามชาติ ความรู้เหล่านี้จะมาทำลายความมืดแห่งอวิชชาให้หมดสิ้นไป

*บารมีอย่างที่ ๔ คือ ปัญญาบารมี ท่านสอนตนเองว่า จะบำเพ็ญปัญญาบารมี อุปมาเหมือนภิกษุที่เดินบิณฑบาต ไปรับภัตตาหารที่ใดก็ตาม จะบิณฑบาตไปตามลำดับ ไม่ว่าผู้ที่ ใส่บาตรจะมาจากตระกูลไหน วรรณะใด ชนชั้นใดก็ตาม จะเป็นชนชั้นสามัญทั่วไป ชนชั้นกลาง เศรษฐีหรือชนชั้นสูง เป็น พระราชามหากษัตริย์ ท่านก็จะรับบิณฑบาตหมด เหมือนกับ ผู้แสวงหาความรู้ใส่ตัว ความรู้นั้นอยู่ในบุคคลใด ในวัยไหน ในฐานะใดหรือในชนชั้นใดก็ตาม ขอให้มีความรู้ที่นำมากำจัด อาสวกิเลสได้ ท่านก็จะไปขอความรู้จากคนเหล่านั้น

*มก. ทูเรนิทาน เล่ม ๕๕ หน้า ๓๖

หลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้าง ที่บางภพชาติท่านเกิดในยุคสมัยที่หาผู้คนจะรู้ธรรมสักบทก็ไม่มี แต่รู้ว่าหนุ่มจัณฑาลเป็นคนมีปัญญา ก็อ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปเรียนวิชา หรือบางชาติแค่คำว่า เทวธรรมคืออะไร ก็ไม่มีใครรู้ มีเพียงยักษ์ตนเดียวเท่านั้นที่มีอายุยืน เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้รู้ในอดีต ถ้าอยากรู้ต้องกระโดดเข้าปากให้ยักษ์กินเป็นค่าตอบแทน พระโพธิสัตว์ก็ยินยอมโดยไม่เสียดายชีวิต ขอเพียงก่อนตายให้ได้ฟังคำว่า เทวธรรมคืออะไร นี่ท่านค่อยๆ เริ่มสั่งสมปัญญาบารมีของท่านมาอย่างนี้

บารมีประการต่อมาที่ท่านได้ตรวจตราดูดีแล้วทรงพบว่า ความบกพร่องในตัวจำเป็นต้องรีบแก้ไขรีบปรับปรุง จึงจำเป็นต้อง มีวิริยบารมีเข้ามาเสริม และนอกจากจะมีความเพียรพยายาม ไม่สิ้นสุดแล้ว จะต้องกล้าเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเอง

คำว่า กล้า มาจากคำว่า วีระ หรือวิริยะ หมายถึง กล้าที่จะแก้ไขความบกพร่องของตนเอง สิ่งใดที่ไม่ดีเคยชินอยู่กับ สิ่งนั้น ก็ปฏิวัติใหม่ให้ดีขึ้น และกล้าที่จะละเว้นหรือหลีกเลี่ยงความไม่ดีทั้งหลายที่เคยทำไว้ สิ่งไม่ดีใดที่ยังไม่เคยทำก็จะไม่ทำ จากนั้นยังกล้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นไปอีก ความดีที่ มีอยู่ให้รักษาไว้ อีกทั้งพอกพูนให้มากขึ้น ความดีอะไรที่ยังไม่ เคยทำ หรือที่คนในโลกไม่กล้าทำ ท่านก็กล้าทำ เพราะการจะบรรลุประโยชน์อันสูงสุดได้นั้นต้องบำเพ็ญบารมีที่ยิ่งยวด คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งความปรารถนา จึงตามความคิดของพระบรมโพธิสัตว์ไม่ทัน ท่านกล้าคิด กล้าพูด และกล้าที่จะทำความดี ที่ไม่มีใครในโลกเคยทำมาก่อน นี่คือวิริยบารมีของท่าน

ท่านยังสอนตนเองว่า จะบำเพ็ญวิริยบารมีให้เหมือนกับพญาราชสีห์ที่ฝึกอิริยาบถตนเองมาดีแล้วทุกอิริยาบถ ทั้งนั่งนอนยืนเดินต้องสง่างาม เพราะราชสีห์เป็นจ้าวป่า อิริยาบถก็ต้องเหมาะกับความเป็นจ้าวป่า เวลานอนก็รักษาความเป็นจ้าวป่าไว้ มีสติสัมปชัญญะ ไม่กลิ้งเกลือกไปมาเหมือนสุกร เวลา ตื่นขึ้นหากท่านอนไม่เรียบร้อยเหมือนตอนก่อนนอน แม้จะหิวเท่าไรก็จะไม่ยอมออกหากิน จะฝึกใหม่ แม้นอนยังต้องฝึก ความเพียรต้องมากถึงขนาดนั้น ท่านสอนตนเอง และฝึกตนเอง อย่างยิ่งยวดอย่างนั้น

ต่อมา เมื่อกล้าทำความดี บางครั้งอาจได้ยินเสียง วิพากษ์วิจารณ์ เย้ยหยันดูถูกดูแคลนจากคนที่ไม่เข้าใจ บารมี ต่อไปที่ต้องรักษาให้ยิ่งยวดขึ้นไป คือ ขันติบารมี เพราะเมื่อกล้าเปลี่ยนแปลงความไม่ดีที่เคยทำอยู่ กล้าทำความดีที่ใครๆไม่กล้าทำ เสียงค่อนขอดวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขันติบารมีก็ต้องตามมา ความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่งที่จะชนะกิเลสในตัว ต้องรักษาใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวในปัญหา หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น อีกทั้งไม่หลงในคำสรรเสริญเยินยอ อันจะเป็นเหตุให้ประมาท จะต้องมีความหนักแน่นทั้งนินทาและสรรเสริญ

พระบรมโพธิสัตว์สอนตนเองว่า “ ดูก่อนสุเมธบัณฑิต นับแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญขันติบารมีให้เต็มเปี่ยม พึงเป็นผู้อดทนได้ทั้งในความนับถือทั้งในความดูหมิ่น คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างลงบนแผ่นดิน แผ่นดินย่อมไม่กระทำความชอบใจ ไม่กระทำความแค้นใจ มีแต่อดทนอดกลั้น ฉันใด แม้ท่านเมื่ออดทนได้ในความนับถือก็ดี
ในความดูหมิ่นก็ดี จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ ฉันนั้น ”

ขอกล่าวเรื่องการสร้างบารมี ที่จะไปสู่จุดหมายปลายทาง ไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้วติดตามในตอนต่อไป จนกว่าจะครบบารมีทั้งสิบทัศ การสร้างบารมีให้ได้ดีต้องมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ที่เรียกว่าการตั้งผังชีวิต เป็นการวางแผนผังชีวิตของนักปราชญ์บัณฑิต ที่ตั้งกันมาข้ามภพข้ามชาติ เมื่อวางผังแล้วต้องสร้างบุญบารมีซึ่งเปรียบเสมือนเรือแพ เข็มทิศ และเสบียงที่จะข้ามห้วงน้ำ คือ โอฆะ ไปสู่นิพพานแดนเกษม เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จให้ได้ อย่าได้ลดละความพยายาม ให้ทำตามแผนผังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ เช่นเดียวกับพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  5.jpg   220.73K   11 ดาวน์โหลด

<a href="http://www.dmc.tv/im...0-02-14-18.jpg" target="_blank">
</a>