ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

แนวคิดการบำเพ็ญบารมี (๖)


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 samana072

samana072
  • Admin_Article_Only
  • 109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:วัดพระธรรมกาย

โพสต์เมื่อ 05 July 2006 - 09:09 AM

[attachmentid=6133]
ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญสัจจ บารมี ให้เต็มเปี่ยม
อย่าได้กระทำการพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ด้วยมุ่งทรัพย์เป็นต้น
แม้อสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมของท่านก็ตาม
ธรรมดาว่า ดาวประกายพรึกในทุกฤดูกาล ไม่เว้นทางโคจรของตน
ไม่โคจรไปในทางอื่น โคจรไปเฉพาะในทางของตนเท่านั้น ฉันใด
แม้ท่าน ไม่ละสัจจะ ไม่กระทำการพูดเท็จ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉันนั้น


ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีความเสี่ยงต่อภัยรอบด้าน ผู้ใดรู้จักใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญบารมี ย่อมจะมีบุญเป็นกำไรชีวิต บุญเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าอัญมณีใดๆ ในโลก สามารถติดตามตัวเราไปได้ทุกหนทุกแห่งและทุกภพ ทุกชาติ บุญจะคอยส่งผลอันดีงามให้กับชีวิตของเรา จะขจัดวิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้ห่างจากตัวเรา ยิ่งเรามีความบริสุทธิ์มาก บุญก็ยิ่งจะส่งผลเร็ว และให้ผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรค ฉะนั้นวันเวลาที่ผ่านไปจึงควรหมั่นทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ใจอยู่ในบุญตลอดทั้งวัน บุญจะได้ตามหล่อเลี้ยงให้เราประสบแต่ความสุขความสำเร็จในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป

มีธรรมภาษิตที่สุเมธดาบสโพธิสัตว์กล่าวสอนตนเองไว้ใน พุทธวงศ์ว่า

“ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไปท่านพึงบำเพ็ญสัจจบารมี ให้เต็มเปี่ยม อย่าได้กระทำการพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ด้วยมุ่งทรัพย์เป็นต้น แม้อสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมของท่านก็ตาม ธรรมดาว่า ดาวประกายพรึกในทุกฤดูกาล ไม่เว้น ทางโคจรของตน ไม่โคจรไปในทางอื่น โคจรไปเฉพาะในทางของตนเท่านั้น ฉันใด แม้ท่านไม่ละสัจจะ ไม่กระทำการพูดเท็จ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉันนั้น”

*หลังจากที่สุเมธดาบสพิจารณาถึงบารมีทั้ง ๖ ประการแล้ว ท่านได้ไตร่ตรองไปอีกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ คำยกย่องชมเชย นั่นคือเมื่อมีความรู้ความสามารถ และลาภสักการะเกิดขึ้นแล้ว อาจเป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวออกนอกเส้นทางแห่งความดีที่ตั้งใจไว้ได้ ดังนั้นพระโพธิสัตว์จึงต้องบำเพ็ญสัจจบารมี คือ จะไม่ออกนอกทางแห่งความดีที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้จะมีลาภยศมามอบให้ ฉะนั้นก็ไม่ยอมออกนอกเส้นทาง เหมือนกับดาวประกายพรึกจะโคจรอยู่ในเส้นทาง ไม่ออกนอกเส้นทาง
*มก. ทูเรนิทาน เล่ม ๕๕ หน้า ๓๘

นอกจากจะไม่ออกนอกเส้นทางแล้ว เมื่อทำงานใหญ่มากขึ้น อุปสรรคที่ต้องเจอ คือ ผลประโยชน์ ความอิจฉาริษยา และความหวาดระแวง คนเราเมื่อตั้งใจจะทำความดี ก็จะมีคนที่อยากทำความดีตามเราไปด้วย แต่คนที่อิจฉาริษยาก็จะคอย ขัดขวางเรา เพราะกลัวเสียหน้าบ้าง กลัวเสียผลประโยชน์บ้าง บางยุคบางสมัยพระโพธิสัตว์ก็ถูกใส่ความ ถูกลอบสังหารบ้าง เพราะความดีที่ทำไปนั้นทำให้คนพาลอิจฉาริษยา และไปขัดผลประโยชน์ ทำให้เขาเกิดความระแวงอยากจะกำจัดออกไปให้พ้น ทั้งยังต้องเจอกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เจออุปสรรคมากมาย แต่พระองค์ก็ยังคงมั่นคงในการทำความดีต่อไป

พระโพธิสัตว์เจ้ารู้ว่า อุปสรรคเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นตลอดเส้นทางการสร้างบารมี จึงตั้งจิตอธิษฐานกำกับไว้ว่า แม้ใครจะมาอิจฉาริษยา ท่านก็จะไม่อิจฉาริษยาใคร ตรงข้ามกลับมีมุทิตาจิตตอบ และตราบใดที่ยังไม่บรรลุความปรารถนาอันสูงสุด ท่านจะตั้งมั่นไม่ยอมล้มเลิกการสร้างบารมีระหว่างทาง จะบำเพ็ญอธิษฐานบารมีให้เต็มเปี่ยม แม้อุปสรรคนั้นจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม หากไม่บรรลุอภิสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านไม่ยอมเลิกราเป็นอันขาด

ท่านสอนตนเองว่า “จำเดิมแต่นี้เป็นต้นไป เราพึงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่เก่าก่อน ทั้งหลายถือปฏิบัติเป็นประจำ คือ ธรรมดาว่าภูเขาหินศิลาแท่งทึบไม่หวั่นไหว ตั้งมั่น ย่อมไม่สะเทือนด้วยแรงลม ย่อมตั้งอยู่ในที่เดิมของตนเท่านั้น ฉันใด เราจะไม่หวั่นไหวในความตั้งใจจริงตลอดกาลทุกเมื่อ ฉันนั้น” หลังจากอธิษฐานที่จะบำเพ็ญบารมีมาถึง ๘ ประการแล้ว เพื่อที่จะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรื้อสัตว์ขนสัตว์เข้าสู่นิพพาน สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างหวังพึ่งพิงอยากเข้าใกล้ อยากเข้ามาพึ่งบารมี ท่านก็ต้องเป็นผู้มีมหากรุณา มีเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าโดย ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง แม้ใครที่คิดเบียดเบียนประทุษร้าย ท่านก็มีความเมตตาต่อบุคคลนั้น

พระโพธิสัตว์ได้ใคร่ครวญยิ่งๆ ขึ้นไปว่า “ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้ายังมีอยู่อีกไม่มีเพียงเท่านี้ ดูก่อนสุเมธดาบส จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญเมตตาบารมีให้เต็มเปี่ยม ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ พึงมีจิตเป็นอย่างเดียวกันในหมู่สัตว์ทั้งหลาย ธรรมดาว่า น้ำย่อมทำความเย็นให้แผ่ซ่านไปทั้งแก่คนชั่วทั้งแก่คนดี ฉันใด แม้ท่านเมื่อเป็นผู้มีน้ำใจเป็นอันเดียวกันด้วยเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวงก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉันนั้น”

บารมีสุดท้ายคือ อุเบกขาบารมี เป็นบารมีที่ต้องฝึกตัว อย่างยิ่งยวด เพราะการจะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็อยู่ที่บารมีข้อนี้ คือ จะต้องเป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอำนาจอคติต่างๆ ทั้งในเรื่องของคน สัตว์ สิ่งของ ตั้งแต่ลำเอียงเพราะความพอใจ ความโกรธ ความหลง หรือความกลัว เพราะเมื่อถึงคราวประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องมีอุเบกขาธรรม ต้องวางใจเป็นกลางๆ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อใจจะได้มาหยุดเป็นจุดเดียวกัน

เมื่อพิจารณาบารมีทั้ง ๑๐ ทัศครบแล้ว สุเมธดาบสได้สอนตนเองว่า จำเดิมแต่นี้เป็นต้นไป จะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ตั้งแต่ทานบารมีเรื่อยมาจนถึงอุเบกขา และที่สุดแล้วต้องวางใจเป็นกลางในธรรมทั้งหลาย สุขก็ดีทุกข์ก็ดี เหมือนแผ่นดินที่เมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ย่อมเป็น กลางได้ในทุกสภาวะฉันใด แม้การสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้น จะต้องมีอุเบกขาบารมีธรรมจนถึงที่สุด

ต่อจากนั้นท่านพิจารณาเห็นว่า พุทธการกธรรมที่เป็นเครื่องบ่มโพธิญาณให้แก่รอบจะต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ ให้เต็มเปี่ยมครบถ้วนบริบูรณ์ ธรรมอย่างอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไม่มี บารมีทั้ง ๑๐ ทัศนั้น ไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่มีในเบื้องสูง ในอากาศ ภายใต้แผ่นดิน หรือในทิศทั้งหลาย แต่ตั้งอยู่ภายในใจที่อยู่ใน กายนี้ เมื่อพิจารณาจนทะลุปรุโปร่งเช่นนั้นแล้ว จึงอธิษฐานบารมี ทั้งหมด พิจารณาทบไปทวนมา ยึดบารมี ๑๐ ทัศ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ ประการ รวมเป็น ๓๐ ประการ พิจารณา จนมั่นใจว่า สิ่งที่ได้ไตร่ตรองมาทั้งหมดนั้น ตรงตามร่องรอยที่พระบรมโพธิ์สัตว์ทั้งหลายประพฤติกันมา

ในขณะที่ท่านกำลังพิจารณาบารมีทั้ง ๑๐ ทัศอยู่นั้น มหาปฐพีก็สะเทือนเลื่อนลั่น เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นมา ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างไม่อาจทรงตัวยืนอยู่ได้ เหมือน ศาลาหลังใหญ่ที่ถูกลมพายุโหมพัดอย่างหนัก มหาชนพากัน เกิดความสะดุ้งหวาดกลัว รีบไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อ ทูลถามสาเหตุที่แผ่นดินไหว

พระทีปังกรพุทธเจ้าตรัสว่า “พวกท่านอย่าได้กลัวเลย วันนี้เราได้พยากรณ์ถึงบุคคลใดว่าจักได้เป็นพุทธเจ้า บุคคลนั้นไตร่ตรองถึงธรรมที่พระชินเจ้าถือปฏิบัติมาแล้วแต่เก่าก่อน เมื่อเขาไตร่ตรองถึงธรรมอันเป็นพุทธภูมิโดยไม่เหลือ ปฐพีนี้พร้อมทั้งหมื่นโลกธาตุในโลกทั้งเทวโลก จึงอนุโมทนาสาธุการในปณิธานอันยิ่งใหญ่ของนิยตโพธิสัตว์”

มหาชนได้ฟังดังนั้นต่างเกิดมหาปีติ เกิดกำลังใจ และปรารถนาที่จะสร้างบารมีร่วมกับพระโพธิสัตว์บ้าง จึงตั้งใจทำบุญกุศลพร้อมกับอธิษฐานขอร่วมสร้างบารมีกับท่านสุเมธ-ดาบสเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นมาท่านก็สร้างบารมีเอาชีวิตเป็นเดิมพันเรื่อยมา ไม่เคยย่อท้อเลยตลอด ๔ อสงไขยกับอีก๑๐๐,๐๐๐ มหากัป คือ ระยะเวลาที่ท่านฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อที่จะยกตน และสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากห้วงทุกข์แห่งสังสารวัฏ ในที่สุดท่านก็สมหวัง ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็น ที่พึ่งของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย

พวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการสร้างบารมี ยังต้องพบเจอปัญหา และอุปสรรคมากมาย แต่นั่นถือเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจของนักสร้างบารมี เป็นการบ่มบารมีให้แก่รอบ อย่าได้ท้อกัน ให้หมั่นนึกถึงบารมี ทั้ง ๑๐ ทัศให้ดี และคิดทุกวันว่า เราเกิดมาสร้างบารมี บารมีไหนพร่องก็เติมให้เต็ม และเพิ่มพูนให้บริบูรณ์มากขึ้น เพื่อตัวของเราเอง ชาวโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตที่สมบูรณ์

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  6.jpg   179.78K   14 ดาวน์โหลด

<a href="http://www.dmc.tv/im...0-02-14-18.jpg" target="_blank">
</a>