ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

เส้นทางสู่ความเป็นพุทธะ (๑)


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 samana072

samana072
  • Admin_Article_Only
  • 109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:วัดพระธรรมกาย

โพสต์เมื่อ 05 July 2006 - 09:30 AM

[attachmentid=6136]

ธรรมดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้รู้ว่าสกลจักรวาลทั้งสิ้น เต็มด้วยถ่านเพลิงซึ่งปราศจากเปลว
เกลื่อนกล่นด้วยหอก และหลาว ดารดาษไปด้วยหนามแหลม หรือเต็มด้วยน้ำปริ่มฝั่งแล้ว
หากสามารถก้าวข้ามได้ จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ตัดสินใจที่จะทอดเท้าก้าวข้ามไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ


บุคคลปรารภจะทำอะไรแล้ว พึงกระทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เนิ่นช้าต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต การงานที่คั่งค้างก็เหมือนดินพอกหางหมู นอกจากจะพอกพูนภาระแล้ว ยังทำให้เสียการงานอีกด้วย ดังนั้นเราควร ที่จะเร่งรีบขวนขวายทำงานให้สำเร็จสมบูรณ์ จะได้เป็นอุปนิสัยที่ดีติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อตัดสินใจจะทำอะไรต่อไป จะได้ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง ที่สำคัญเรายังมีงานหลักที่จะต้องทำ อีกทั้งยังเป็นงานหลักที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ คือ การทำใจหยุดใจนิ่ง ซึ่งถือเป็นกรณียกิจที่สำคัญ เราควรต้องหมั่นทำภาวนาให้เข้าถึงพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกของเราอย่างแท้จริง

มีธรรมภาษิตใน ขัคควิสาณสูตร ว่า

“ธรรมดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แม้รู้ว่าสกลจักรวาลทั้งสิ้น เต็มด้วยถ่านเพลิงซึ่งปราศจากเปลว
เกลื่อนกล่นด้วยหอก และหลาว ดารดาษไปด้วยหนามแหลม หรือเต็มด้วยน้ำปริ่มฝั่งแล้ว
หากสามารถก้าวข้ามได้ จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ตัดสินใจที่จะทอดเท้าก้าวข้ามไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ”


กว่าที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแต่ละพระองค์จะสั่งสมบารมีจนแก่รอบ และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ท่านถึงกล่าวว่า ทุลฺลโภ พุทฺธุปฺปาโท การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก บุคคลที่จะกล้าคิด กล้าทำอย่างนั้นได้มีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น คือ พระบรมโพธิสัตว์ เป็นยอดนักรบในสังสารวัฏ รบกับกิเลสที่ครอบงำจิตใจมนุษย์ ท่านต่อสู้กับความยากลำบาก และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในระหว่างการสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งปรารถนาพุทธภูมิ อยากรื้อสัตว์ ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานนั้น เพียงแค่คิดก็ยากแล้ว ยากยิ่งกว่า งมเข็มในมหาสมุทร จากนั้นต้องยํ้าคิด ยํ้าพูด ยํ้าทำ หมั่นตอกยํ้าซํ้าเดิมในมโนปณิธานที่แน่วแน่ ไม่ได้คำนึงถึงเวลาว่าอีกกี่เดือน กี่ปี กี่ภพกี่ชาติจึงจะสมปรารถนา ท่านสร้างบารมีอย่างไร้กาลเวลา บารมีแก่รอบเมื่อไรก็สมปรารถนาเมื่อนั้น พระโพธิสัตว์จึงเป็นบุคคลที่มีใจเหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลาย เมื่อจะทำทานก็ทำแบบทุ่มเทสุดหัวใจ ชาวโลกส่วนใหญ่นั้นอยากได้ แต่ท่านอยากให้ ให้ได้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิตเป็นทาน

พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุดยอดนักเสียสละของโลกและจักรวาล การรักษาศีลหรือเจริญภาวนาก็ทุ่มเทจนตลอดชีวิต เพียรพยายามมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้รู้ว่าหนทางสู่ความเป็นพระพุทธเจ้านั้นยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ตาม ขณะที่สร้างบารมีอยู่นั้น มีพระโพธิสัตว์จำนวนไม่น้อยที่เกิดท้อถอยในระหว่างทาง เพราะยังเป็นประเภทอนิยตโพธิสัตว์ คือ เห็นว่า การรื้อสัตว์ขนสัตว์ช่างยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ จึงปรารถนาเป็นเพียงพระอัครสาวกบ้าง พระอริยสาวกบ้าง ซึ่งการสร้างบารมีไม่ยาวนานมาก เพียงให้ได้หมดกิเลสเป็นพระอสีติมหาสาวกซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระอัครสาวกก็ใช้เวลา ๑ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป

*สมัยหนึ่ง พระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรใช้เวลานานเท่าไร”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยการกำหนดอย่างต่ำที่สุด ๒๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป กำหนดปานกลาง ๔๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป กำหนดอย่างสูง ๘๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ทั้ง ๓ ประเภทนั้น คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นปัญญา-ธิกะ สัทธาธิกะ และวิริยาธิกะ”
*มก. ขัคควิสาณสูตร เล่ม ๔๖ หน้า ๑๐๔

อาจมีผู้สงสัยว่า ทำไมต้องกำหนดเวลานานอย่างนั้นด้วย ถ้าเร่งสร้างบารมีอย่างเต็มที่ เพียงไม่กี่ล้านชาติก็น่าจะสามารถตรัสรู้ธรรมได้ เหมือนถ้าขยันเรียนหรือขยันทำงาน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่อันที่จริงการจะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้บุคคลจะถวายมหาทานเหมือนกับมหาทานของพระเวสสันดรทุกๆ วันก็ดี สั่งสมบารมีธรรม มีศีล เป็นต้น เพื่อมุ่งสัพพัญญุตญาณก็ดี หากยังไม่ถึง ๒๐ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว ยังไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้า เพราะญาณยังไม่แก่รอบ ยังไม่ถึงความไพบูลย์ เปรียบเหมือนข้าวกล้าจะออกรวงได้ ต้องใช้เวลา ๔ หรือ ๕ เดือน แม้จะขยันรดน้ำวันละ ๑๐๐,๐๐๐ ครั้งทุกๆ วันก็ยังไม่อาจออกรวงภายใน ๑ เดือน ฉันใด ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องค่อยเป็นไปตามกาลเวลาที่เหมาะสม ฉันนั้น

เมื่อจะสร้างบารมีเพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระโพธิสัตว์จำต้องปรารถนาอภินิหาร ๘ ประการ ซึ่งจะช่วยให้การตรัสรู้ธรรมเป็นผลสำเร็จ คือ ปรารถนาความเป็นมนุษย์ ความถึงพร้อมด้วยเพศ ถึงพร้อมด้วยเหตุ ได้พบพระศาสดา ได้บรรพชา ความถึงพร้อมแห่งคุณ อธิการ และความพอใจ

คำว่า อภินิหารนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้ฤทธิ์เดชหรืออิทธิปาฏิหาริย์ แต่เป็นมโนปณิธานที่ตั้งไว้อย่างดีแล้ว เพื่อ ส่งเสริมการสร้างบารมีให้ได้ตรัสรู้ธรรมในอนาคต ได้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ ตั้งแต่

๑. ปรารถนาความเป็นมนุษย์ เนื่องจากเกิดเป็นเทวดา พรหม อรูปพรหม หรือสัตว์เดรัจฉาน ไม่สามารถสร้างบารมีได้ดีเท่ากับเป็นมนุษย์ เพศภาวะของความเป็นมนุษย์นี้จึงสำคัญที่สุด

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ คือ ต้องเป็นบุรุษอย่างเดียว ไม่เป็นอภัพบุคคล ตั้งแต่เป็นสตรี กะเทย บัณเฑาะว์ หรืออุภโตพยัญชนก คือ มีสองเพศ บุรุษถือว่าเป็นอุดมเพศ เพราะมีลักษณะใกล้เคียงลักษณะมหาบุรุษมากที่สุด และสามารถสั่งสมบุญได้ดีที่สุดด้วย ท่านจึงตั้งปณิธานข้อนี้ไว้ให้ได้

๓. ถึงพร้อมด้วยเหตุ คือ ได้อุปนิสัยแห่งพระอรหัต ถ้ามีโอกาสฟังธรรมกับพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ก็ให้สามารถตรองตาม และบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เหมือนอย่างสุเมธดาบส เพียงแต่ท่านยังไม่ปรารถนาจะหมดกิเลสเป็น พระอรหันต์ แต่ปรารถนาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

๔. ได้พบพระศาสดา หมายถึงว่า ระหว่างสร้างบารมี อยู่นั้น ขอให้ได้พบ ได้เลื่อมใส และได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

๕. ได้บรรพชา คือ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธ-ศาสนา ได้อุดมเพศแล้ว ไม่ว่าจะเกิดในตระกูลกษัตริย์ พราหมณ์ หรือพ่อค้า นักธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้มีอัธยาศัยน้อมไปในการออกบวช บำเพ็ญตนเป็นอนาคาริกมุนี ตั้งแต่เป็นภิกษุ ดาบส หรือฤๅษีผู้บำเพ็ญพรต

๖. ความถึงพร้อมแห่งคุณ หมายถึง บวชแล้วขอให้ได้ คุณธรรมภายใน มีฌาณ อภิญญา ตั้งแต่ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘

๗. อธิการ คือ การกระทำที่ยิ่ง หมายถึง ทำในสิ่งที่เหนือมนุษย์ทั่วไป สิ่งไหนที่เป็นความดี เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน แม้คนธรรมดาไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ ขอให้ท่านกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ เช่น ปัญจมหาบริจาค ที่ท่านได้บริจาคทรัพย์ บุตร ภรรยา อวัยวะ และชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก แต่ก็ขอให้ท่านได้ทำ และทำได้สำเร็จ

๘. ความพอใจ คือ จะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติ จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ขอให้ใจคิดอยากสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า อย่างเดียว อย่าได้เฉไฉ ท้อแท้ใจ เหมือนที่ท่านอุปมาไว้ว่า แม้จะต้องหมกไหม้อยู่ในกองไฟตลอด ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป หากพ้นแล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ยอมที่จะรับความทุกข์ทรมานนั้น

นี่เป็นอภินิหาร ๘ ประการ เป็นความปรารถนาที่พิเศษ และเป็นมโนปณิธานที่เป็นไปเพื่อการให้ได้บรรลุสัพพัญญุต-ญาณของพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย พวกเราต่างมีมโนปณิธาน อุดมการณ์ และเป้าหมายเหมือนกัน คือ จะสร้างบารมีร่วมกันเป็นทีม เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ขณะที่เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย มีโอกาสที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายนี้ นับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ในระหว่างการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ดังนั้นให้เร่งรีบสร้างบุญบารมี อย่างเต็มที่เต็มกำลัง เก็บเกี่ยวบุญให้ได้มากที่สุด และให้หมั่นอธิษฐานจิต ตอกยํ้าซํ้าเดิมเข้าไปเรื่อยๆ เตือนตน และฝึกฝนตนเองเสมอ ให้สมกับที่ได้ชื่อว่า เกิดมาสร้างบารมีกันทุกคน

<a href="http://www.dmc.tv/im...0-02-14-18.jpg" target="_blank">
</a>