ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 phani

phani
  • Admin_Article_VDO
  • 425 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 14 March 2015 - 09:16 AM

พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
 
แนบไฟล์  หลวงพ่อธัมมชโย.jpg   188.86K   7 ดาวน์โหลด
 
     พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปัจจุบันอายุ 70 ปี ท่านเริ่มศึกษาธรรมะเมื่อปี 2506 ขณะเรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยได้ไปปฏิบัติสมาธิภาวนากับคุณยายอาจารย์อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ
     เมื่อจบสวนกุหลาบ ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านเป็นผู้รักการปฏิบัติธรรมมาก ไปปฏิบัติกับคุณยายอาจารย์ทุกวัน ไม่เว้นเลยแม้แต่วันสอบไล่ปลายภาค
     เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2512 จึงได้ตัดสินใจอุปสมบทตลอดชีวิต เมื่อบวชได้เพียง 1 พรรษา คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี มีจิตศรัทธาถวายที่ดินจำนวน 196 ไร่ ที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หลวงพ่อธัมมชโยจึงได้นำหมู่คณะเริ่มบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายมาตั้งแต่วันมาฆบูชา ปี 2513 
     วัดได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ มีญาติโยมมาปฏิบัติธรรมในวันสำคัญคราวละหลายหมื่นคน จนพื้นที่ไม่พอรองรับ ญาติโยมจึงได้รวบรวมปัจจัยซื้อที่ดินเพิ่ม ขยายมาเป็น 2,500 ไร่ ในปัจจุบัน
 
>> ลักษณะพิเศษของพระเทพญาณมหามุนี
 
น่าทึ่งว่าทำไมท่านจึงสามารถสร้างศรัทธาแก่สาธุชนนับล้าน ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันสำคัญได้คราวละหลายแสนคน ลักษณะพิเศษของท่านคือ
 
1. เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นแบบอย่างแก่ศิษยานุศิษย์ กุฏิเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมีขนาดเท่ากันกับกุฏิพระลูกวัดทุกประการ มีขนาด 3 × 4 ตารางเมตร ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น มีเพียงเตียงไม้ โต๊ะเก้าอี้ไม้ 1 ชุด ตู้ 1 ใบ พัดลม 1 ตัว เท่านั้น
 
ปัจจุบันเมื่ออายุ 70 ปีแล้ว ต้องมีผู้ดูแลสุขภาพจึงย้ายมาอยู่ในกุฏิที่กว้างขึ้นแต่ก็เป็นกุฏิชั่วคราว โครงเหล็กฝายิบซั่มบอร์ด หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอน พื้นปูเสื่อน้ำมัน มีโต๊ะ 1 ตัว วางอยู่ข้างเตียง และใช้เตียงไม้เป็นที่นั่งแทนเก้าอี้เวลาเขียนหนังสือ
 
2. รักความสะอาดและความเป็นระเบียบมาก ช่วงที่ท่านยังแข็งแรง ตกเย็นจะพาพระเณรกวาดวัด ตั้งแต่ท้ายวัดถึงหน้าวัด ระยะทางราว 1 กิโลเมตร เป็นประจำทุกวันเป็นปีๆ และพาพระเณรลงลอกคูคลองข้างวัด จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวัดพระธรรมกายจึงสะอาดและเป็นระเบียบ
 
3. เรียบง่ายไม่ชอบพิธีรีตอง เมื่ออยู่ในวัดกับพระเณร อุบาสก อุบาสิกา ท่านเป็นผู้เรียบง่าย ไม่ชอบพิธีการ ให้ความเมตตาเป็นกันเองกับทุกคน แต่เมื่อเป็นงานทางการ ท่านจะสั่งว่าต้องทำทุกอย่างให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้ดีที่สุด เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นการแสดงความเคารพบูชาพระรัตนตรัย
 
4. เป็นผู้มีวินัยเรื่องเวลาอย่างยิ่ง กิจวัตรประจำวันของท่านทุกอย่างจะเป็นเหมือนตารางเวลาที่กำหนดไว้เป๊ะๆ ทุกวันสม่ำเสมอ ใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่า ทำให้ทำงานได้มากทั้งการทำภาวนาและการสั่งงานต่างๆ
 
5. รักการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตท่านก็ปฏิบัติธรรมทุกวันไม่มีเว้นเลย เมื่อบวชแล้วก็ยิ่งทุ่มเทให้กับการเจริญสมาธิภาวนา และอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้รักการปฏิบัติธรรม เพราะนี่คือแก่นสารสาระที่แท้จริงของชีวิต
 
6. ถือธรรมเป็นใหญ่ มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ สิ่งใดที่ถูกต้องท่านกล้าที่จะตัดสินใจ ทำสิ่งนั้นโดยไม่หวั่นเกรงสิ่งใดเลย เช่น แรกเริ่มญาติโยมมาวัดก็ใส่เสื้อหลากสี แต่เมื่อท่านสังเกตเห็น มีการประดับประดาเหมือนแต่งมาอวดกัน ท่านก็ชักชวนให้ทุกคนใส่ชุดขาวมาวัด ทำให้สะอาดตา เหมาะแก่บรรยากาศการปฏิบัติธรรม และเกิดความเสมอภาคกัน ตอนแรกไม่มีใครเห็นด้วย เกรงว่าญาติโยมจะหาว่าไปบังคับเขา เดี๋ยวจะไม่มาวัด ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีใครมาวัด ท่านก็จะนั่งสมาธิรูปเดียว เมื่อประกาศบอกญาติโยมไป ช่วงแรกคนมาวัดก็ลดไปเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ท่านก็ไม่หวั่นไหว เดินหน้าต่อไป สุดท้ายญาติโยมก็กลับมามากกว่าเดิม
 
7. กระจายงาน ท่านกระจายอำนาจการตัดสินใจให้พระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ทุกคนช่วยกันทำงาน ช่วยกันตัดสินใจตามหน้าที่ของตน ทำให้ทุกรูปทุกคนได้ใช้ศักยภาพของตนเต็มที่ งานจึงขยายตัวได้เร็ว ส่วนตัวท่านเองนั้นเป็นผู้มอบเฉพาะนโยบายสำคัญๆ และให้ทุกคนไปช่วยกันทำ ถ้าวัดรวมศูนย์การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่เจ้าอาวาส จะไม่สามารถขยายงานใหญ่ได้ เพราะเวลาไม่พอ ดูงานไม่ทั่วถึง
 
ต่อกรณีที่มีข้อกล่าวหาท่านนั้น
 
คนเราจะพูดอย่างไรก็ได้ ทั้งทางดีทางร้าย “สิ่งที่เชื่อถือได้มากกว่าคำพูด คือการกระทำ” โดยเฉพาะการกระทำที่ทำมาตลอดชีวิตกว่า 50 ปี
     เราสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ พระเทพญาณมหามุนีเป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน เราอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน นั้นก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล แล้วแต่จริตความชอบของแต่ละคน แต่ไม่อาจกล่าวหาว่าท่านมีเจตนาไม่สุจริต เพราะผู้ที่มีเจตนาไม่สุจริต ทำเพื่อหวังลาภสักการะ จะไม่ทำอย่างที่ท่านทำ และก็ทำไม่ได้ อาทิ 
 
- สร้างศาสนสถาน รองรับชาวพุทธได้ 1 ล้านคน เป็นงานใหญ่ที่ต้องทำด้วยชีวิต เจดีย์ วิหาร ศาลา ศาสนสถานที่สร้างขึ้นมาก็จะเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว 
- สร้างพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนากว่า 4,000 รูป / คน ญาติโยมผู้มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนานับล้านคน
 
     พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ศีล รู้ได้ด้วยการอยู่ร่วม” คนที่อยู่ด้วยกันเป็นสิบๆปี ใครนิสัยเป็นอย่างไรก็จะรู้กันหมด ถ้าท่านไม่ดีจริงจะไม่มีทางสร้างพระเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาได้เช่นนี้ ชีวิตของใครใครก็รัก จะสละชีวิตของตนได้ต้องชัดเจนแล้วว่าสิ่งนั้นดีจริง มีคุณค่าจริงเท่านั้น
     เราไม่สามารถกล่าวหาผู้ทำความดีตลอดชีวิตว่าแกล้งทำได้ เพราะเมื่อทำตลอดชีวิตมันคือเรื่องจริง 
     หากใครมีจริตชอบแบบไหน ให้ทุ่มเทความรู้ความสามารถของตนไปในทางสร้างสรรค์ ชวนคนไปปฏิบัติแบบที่ตนชอบให้มากๆ จะดีกว่า ถ้าทุกคนทำอย่างนั้น พระพุทธศาสนาจะเจริญก้าวหน้า สังคมจะสงบร่มเย็น ศีลธรรมจะกลับคืนมา
     แต่ถ้าใช้พลังไปในทางทำลาย เอาแต่โจมตีใส่ร้ายป้ายสี มีแต่จะสร้างความแตกแยก ทำให้พระพุทธศาสนาอ่อนแอลง จนอาจจะสาบสูญไปจากแผ่นดินไทย ตัวผู้ทำก็ต้องแบกบาปมหาศาล
     พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ถือเป็นพระภิกษุที่มีผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดดเด่นที่สุดรูปหนึ่งในปัจจุบัน จึงเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ท่านเป็นเหมือนทองคำแท้ที่ถูกเผาถูกทุบเพื่อพิสูจน์มาแล้วกว่า 50 ปี และก็ยังคงยืนหยัดเผยแผ่พระพุทธศาสนา สร้างคนดีให้สังคมต่อไป แม้ทำมาจนอายุท่านปีนี้ 70 ปีแล้วก็ตาม
 
หมายเหตุ ___ ขอขอบคุณข้อมูลจากพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส วัดพระธรรมกาย