ตายแล้วไปไหน
ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร
ติรัจฉานภูมิ
 
     หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจเรื่องของอบายภูมิมาได้ 3 หัวข้อแล้ว ลำดับต่อไปนี้จะได้ทำความเข้าใจรายละเอียดของอบายภูมิลำดับสุดท้าย คือ ติรัจฉานภูมิ อันเป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 จัดอยู่ในปรโลกฝ่ายทุคติภูมิ
 
     ติรัจฉานภูมิ คือ โลกของสัตว์ผู้ไปโดยขวาง คือเวลาจะเดินทางไปไหนมาไหนต้องไปโดยอาการขวางลำตัว อกขนานไปกับพื้น ต้องคว่ำอกไป เช่น สุนัข แมว หนู ไก่ เป็ด งู ปลา เป็นต้น นอกจากร่างกายต้องไปอย่างขวาง หรืออีกนัยหนึ่งว่า มีจิตใจที่ขวางอีกด้วย คือขวางจากมรรคผลนิพพาน แม้จะทำความดีเท่าไร ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินั้นได้ อย่างมากที่สุดก็ได้เพียงทำใจให้เลื่อมใส ละโลกแล้วไปสวรรค์เท่านั้น  
 
ที่ตั้งของติรัจฉานภูมิ
 
     สัตว์ที่ไปเกิดเป็นเดียรัจฉาน เราสามารถมองเห็นรูปร่างลักษณะได้ชัดเจน ไม่เหมือนกับเปรต หรืออสุรกาย ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อได้ สัตว์เดียรัจฉานบางชนิดมีความคุ้นเคยกับมนุษย์ เพราะอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่โดยสภาพรวมๆ แล้ว สัตว์เดียรัจฉานอาศัยอยู่ไม่เป็นที่ และไม่มีที่อยู่เป็นของตนโดยเฉพาะ
 
ดิรัจฉานภูมิ หรทอการไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เช่ย สุนัข แมว หมู หนู เป็นต้น
เราต้องระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก ให้หมั่นละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
เมื่อละจากโลกนี้ไปจะได้ไม่ต้องไปทนทุกข์ทรมานในเดียรัจฉานภูมินี้เลย
 
      ไม่เหมือนสัตว์ที่ไปเกิดในนรก สัตว์นรกทั้งหลายนั้นมีสถานที่อยู่เป็นขุม สัตว์ถ้าทำบาปหนาก็ไปตกนรกขุมใดขุมหนึ่ง ต้องเสวยผลแห่งกรรมชั่วของตนในนรกขุมนั้น ถ้าบาปยังมีก็ไปเกิดในขุมอื่นต่อไป เมื่อหมดกรรมแล้ว จึงจะไปเกิดในภูมิอื่นต่อไปตามยถากรรม แต่สัตว์ที่เกิดในติรัจฉานภูมินี้ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเที่ยวอยู่ไปมาบนพื้นดิน ในป่า ในน้ำ บนโลกมนุษย์นี้ ซึ่งท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า มีสัตว์เดียรัจฉานอยู่มากมาย ที่เราทั้งหลายได้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป  
 
ความเป็นอยู่ของสัตว์เดียรัจฉาน
 
     หากจะกล่าวถึงความเป็นอยู่ของสัตว์เดียรัจฉานแล้ว สัตว์เดียรัจฉานมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากเข็ญกว่ามนุษย์มากนัก เพราะมีภัยแห่งชีวิตรอบด้าน การที่สัตว์จะมีชีวิตอยู่รอดไปแต่ละวันนั้น แสนจะลำบากยากเย็น เป็นชีวิตที่ตกต่ำแสนจะอาภัพ ได้รับแต่ความไม่สบายรอบด้าน ต้องแสวงหาอาหารกินตลอดเวลา กว่าจะได้อาหารมาก็ต้องแก่งแย่งกันอย่างดุเดือด มีความหวาดระแวงภัยอยู่เป็นนิตย์ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากมนุษย์คอยตี คอยฆ่า ภัยจากสัตว์ใหญ่กว่าคอยขบกัด สารพัดจะต้องทนทุกข์ทรมาน และต้องเป็นสัตว์เดียรัจฉานอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำไว้ ไม่ใช่ว่าจะตายเกิดในชาติเดียวเท่านั้น แต่ต้องตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน เป็นสัตว์ชนิดนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วแต่กรรมที่ตนกระทำไว้
 
     ถึงแม้โลกของสัตว์เดียรัจฉานนี้ จะมีทุกข์ทรมานเรื่องการหาอาหาร เรื่องความหวาดระแวงในการดำรงชีวิต แต่ก็ยังมีความโชคดีกว่าสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่ต้องเสวยผลแห่งกรรมอย่างเผ็ดร้อน ถูกทัณฑ์ทรมานอยู่ตลอดเวลา ยังพอจะมีความน่าชื่นชมยินดีอยู่บ้าง เพราะมีอกุศลเบาบางกว่าบ้าง เป็นเศษกรรมแล้ว แม้จะต้องประสบความลำบากอย่างไร ก็ยังมีความน่ายินดีอยู่ 3 ประการ
 
1. กามสัญญา รู้จักเสวยกามคุณ
2. โคจรสัญญา รู้จักกิน (รวมถึงรู้จักนอนด้วย)
3. มรณสัญญา รู้จักกลัวตาย
 
   ติรัจฉานภูมิจึงมีความหมายได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นโลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ 3 ประการ ส่วนธรรมสัญญา ความรู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี หรือรู้จักกุศล อกุศลนั้น สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายไม่มีเลย เว้นแต่สัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก เช่น โพธิสัตว์ จึงจะมีธรรมสัญญาปรากฏได้ แต่ไม่ใช่จะหาง่ายในโลกนี้  
 
ประเภทของสัตว์เดียรัจฉาน
 
     สัตว์เดียรัจฉานมีจำนวนมากมายเหลือประมาณมากกว่ามนุษย์มากนัก อยู่บนบกเหมือนมนุษย์ก็มี อยู่ในน้ำก็มีและมีมากกว่าอยู่บนบกเสียอีก รูปร่างก็แตกต่างกันสุดจะพรรณนา ขนาดของสัตว์เดียรัจฉาน มีตั้งแต่ใหญ่โตมาก เช่น ช้าง และขนาดเล็กจนแทบจะมองไม่เห็นก็มี จากตำราทางพระพุทธศาสนา มีการจำแนกประเภทของสัตว์เดียรัจฉานออกเป็น 4 ชนิด คือ
 
1. อปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่ไม่มีขาเลย ได้แก่ ปลา งู ไส้เดือน เป็นต้น
2. ทวิปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่มี 2 ขา ได้แก่ นก เป็ด ไก่ เป็นต้น
3. จตุปปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่มี 4 ขา ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น
4. พหุปปทติรัจฉาน คือ จำพวกเดียรัจฉานที่มีขามาก ได้แก่ กุ้ง แมงมุม ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น
 
     ในเรื่องการแยกประเภทของสัตว์นั้น นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถแยกได้อีกหลายแบบ แล้วแต่หลักการและการนำไปใช้งาน เช่น แยกเป็น 2 ชนิด เป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ หรือ 3 ชนิด เช่น สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้น ใช้หลักการแยกชนิดจากจำนวนขาของสัตว์ ซึ่งก็เป็นวิธีการแยกประเภทที่ง่ายมาก ถ้าหากปรารถนาที่จะจำแนกประเภทของสัตว์ที่เห็นอยู่ทั่วไป ก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยอาศัยหลักการนี้จัดกลุ่มของสัตว์ได้  
 
เหตุที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน
 
     เหล่าสัตว์ที่มาเกิดในติรัจฉานภูมินี้ เพราะอำนาจแห่งเศษบาปอกุศลที่ตนได้กระทำไว้แต่ปางก่อน ส่วนใหญ่มาจากกิเลสตระกูลโมหะ คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น หลงยึดติดกับบุคคล หรือทรัพย์สมบัติ เมื่อจิตผูกพันกับทรัพย์ กับบุคคล ครั้นละโลกแล้วก็มีโอกาสเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานเฝ้าสมบัติอยู่ในที่นั้นได้ อีกพวกหนึ่ง เพราะเคยทำอกุศลกรรมไว้ในชาติก่อน ได้รับผลแห่งกรรมชั่วในนรก เมื่อพ้นกรรมจากนรกแล้ว เศษกรรมก็นำให้มาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน หรือบางพวกเมื่อใช้กรรมในนรกแล้ว ต้องไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกายก่อน เมื่อเศษกรรมเบาบางลงจึงมาเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน และมักจะเกิดเป็นเดียรัจฉาน ซ้ำๆ อยู่หลายชาติ เป็นชนิดเดิมบ้าง บางทีก็เปลี่ยนชนิด มีโอกาสทำกุศลกรรมน้อยมาก
 
     ถึงแม้จะมีโอกาสทำกุศลได้น้อย แต่นับว่าโชคดีกว่าอบายภูมิทั้ง 3 ชั้น คือ นรก เปรต อสุรกาย ที่ไม่มีโอกาสได้ทำกุศล โอกาสในการทำกุศลแม้เพียงนิด แต่ยังพอเป็นความหวังให้ได้เกิดใหม่ในสุคติภูมิได้ ดังตัวอย่างในสมัยพุทธกาล เรื่องนางสามาวดี ซึ่งขอนำเสนอโดยสรุปย่อดังนี้
 
     ครั้งหนึ่ง ก่อนพระศาสดาของเราจะมาบังเกิด มีชายคนหนึ่ง มีอาชีพเป็นคนเลี้ยงโค เขาได้เลี้ยง สุนัขไว้ตัวหนึ่ง สุนัขนี้เป็นสุนัขแสนรู้ ชายผู้นี้มีความเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงได้นิมนต์ท่านมาฉันภัตตาหารในเรือนของตนเป็นประจำ ในภายหลังชายคนนี้ไม่สะดวก จึงส่งสุนัขนี้ไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อเป็นสัญญาณว่า ให้ไปฉันในเรือนของตน สุนัขนี้ก็จะนำทาง และช่วยไล่สัตว์ร้ายในระหว่างทาง ในกาลต่อมาใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้ามารับบาตร คนเลี้ยงโคได้ถวายผ้าสำหรับทำผ้าไตรได้ 3 ผืน และกล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า
 
“ ท่านเจ้าข้า ถ้าท่านชอบใจ ก็โปรดอยู่เสียในที่นี้นี่แหละ แต่ถ้าไม่ชอบใจ ก็โปรดไปได้ตามสบาย”
 
     พระปัจเจกพุทธเจ้ามีทีท่าว่าจะไป คนเลี้ยงโคจึงไปส่ง สุนัขนี้รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า จะไปก็ตามไปส่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหาะไปจบลับสายตา เนื่องจากสุนัขมีความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก จึงเห่าหอนด้วยความรักจนขาดใจตาย เมื่อตายแล้วก็ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 
     ตัวอย่างที่นำเสนอนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า แม้สัตว์เดียรัจฉานจะมีโอกาสในการทำความดีน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีโอกาสไปเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ หรืออยู่ในภูมิที่ดีกว่าเดิม
 
     จะเห็นได้ว่า ชีวิตของสัตว์เดียรัจฉานเป็นชีวิตที่ทุกข์ทรมาน น่าสงสาร หาความสุขได้ยาก ที่เป็นผลเช่นนี้ ก็เพราะผลแห่งกรรมชั่วที่ตนกระทำไว้ในอดีตทั้งสิ้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว เราต้องระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก ให้หมั่นละชั่ว ทำดี ทำจิตให้เลื่อมใสมากๆ เมื่อละจากโลกนี้ไปจะได้ไม่ต้องไปทนทุกข์ทรมานในเดียรัจฉานภูมินี้เลย
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับติรัจฉานภูมิ
 
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/ตายแล้วไปไหน/ตายแล้วไปไหน-เศษกรรมนำให้เป็นสัตว์ดิรัจฉาน.html
เมื่อ 17 เมษายน 2567 02:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv