วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)

วัดพระธรรมกาย วิชชาธรรมกาย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย คำถามที่ถูกถามถึงบ่อย ทำไมต้องสวมเสื้อแขนยาว ทำไมวัดพระธรรมกายต้องก่อสร้างศาสนสถานใหญ่ๆ ด้วย ทำบุญมากได้บุญมากจริงหรือ คำว่า "ธรรมกาย" มีในพระไตรปิฎกหรือไม่ https://dmc.tv/a48

บทความธรรมะ Dhamma Articles > แนะนำช่อง DMC
[ 20 ก.พ. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18279 ]


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
 
 
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม : โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา คือ อะไร, ใคร คือ คุณครูไม่ใหญ่, ลูกพระธัมฯ
 
ตอบ:โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา เป็นการเรียนการสอนธรรมะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมิได้มุ่งเน้นทางด้านวิชาการ จึงทำให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ (มีอยู่ชั้นเดียว) เป็นการเรียนธรรมะแบบสบายๆ ไม่เคร่งเครียด มีการบรรยายด้วยคำพูด มีภาพสวยๆ มีเพลงสนุกๆ ให้ผู้เรียนเพลิดเพลิน พร้อมๆกับการได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโลก ชีวิต และกฎแห่งกรรมอย่างลึกซึ้ง

    สำหรับสรรพนามที่ พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี ใช้คำเรียกแทนตัวท่านเองว่า ครูไม่ใหญ่ ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยานั้น เนื่องจากท่านเริ่มศึกษาธรรมะกับ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านจึงเคารพนับถือคุณยายอาจารย์ว่า เป็นครูบาอาจารย์ของท่าน เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อกล่าวถึงคุณธรรมของคุณยายอาจารย์ ใโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ซึ่งมีรูปภาพของคุณยายอาจารยประดิษฐานอยู่ในสถานที่แห่งนี้ด้วย ท่านจึงยกย่องให้คุณยายอาจารย์เป็น ครูใหญ่ แล้วกล่าวถึงตัวท่านเอง ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่าเป็น ครูไม่ใหญ่ ซึ่งเป็นคำที่เข้าใจง่ายๆ ระหว่างครูกับนักเรียน และเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์ที่พึงแสดงความเคารพต่อครูบาอาจารย์

    การที่คุณครูไม่ใหญ่ ท่านเรียกผู้ฟังธรรมว่า ลูกพระธัมฯ เพราะชื่อจริงของท่าน คือ หลวงพ่อธัมมชโย (สมณศักดิ์เป็นที่พระเทพญาณมหามุนี) เมื่อมีการสนทนาธรรม พูดคุยแบบเป็นกันเองเหมือนพ่อคุยกับลูกในครอบครัว ท่านจึงเรียกว่า ลูกพระธัมฯ แต่บางครั้งท่านสนทนาธรรมกับสาธุชนที่เพิ่งเข้าวัดมาใหม่ๆ ท่านก็ใช้คำเป็นทางการว่า ญาติโยม ด้วยเหมือนกัน
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำไมต้องทำการบ้าน 10 ข้อ ที่ครูไม่ใหญ่ให้
 
ตอบ : การบ้าน 10ข้อ เป็นไปเพื่อการน้อมนำใจให้จดจ่ออยู่กับบุญกุศล ตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอน เพราะในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ล้วนต้องพบเจออุปสรรคมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป หากใครรักษาใจให้จดจ่ออยู่กับบุญกุศลได้มากเท่าไร อานุภาพของใจก็จะดึงดูดบุญเก่ามาสมทบกับบุญใหม่ แล้วขจัดปัดเป่าอุปสรรคในชีวิต จากหนักก็จะเป็นเบา จากเบาก็จะสลายหายไป และบุญที่เราจดจ่ออยู่ทั้งวันนี้ ก็จะดึงดูดให้สิ่งที่ดีๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเรา เมื่อถึงคราวนั่งสมาธิเจริญภาวนา จะสามารถทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึง พระธรรมกาย ได้โดยง่าย
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำไมคุณครูไม่ใหญ่ต้องสวมเสื้อแขนยาว
 
ตอบ : สำหรับเรื่องการใส่เสื้อแขนยาวของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยนั้น เรื่องนี้ได้รับความกระจ่างจากคณะแพทย์ที่ทำการรักษาพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แจ้งให้ทราบว่า...
 
    สืบเนื่องจากปัญหาสุขภาพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ที่ท่านได้ทุ่มเทในงานพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบกับปัจจุบันท่านเป็นโรคเบาหวาน และเป็นโรคภูมิแพ้ รวมถึงมีปัญหาใหญ่ร่วมด้วย คือ เส้นเลือดดำใหญ่อุดตัน จึงทำให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อไม่สามารถทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไม่สามารถต้านทานต่อแรงลมได้ ไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน เมื่อโดนลมกระทบจะทำให้ท่านมีอาการเป็นไข้ และคออักเสบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาแต่ละครั้งเป็นเวลานาน
 
    จากโรคที่เป็นอยู่นี้ ทางการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า พลังปราณไม่เพียงพอ ทำให้ภูมิต้านทานของโรคน้อย และการไหลเวียนของเลือดไม่ดี
 
    ส่วนเรื่องพระวินัยนั้น การสวมเสื้อแขนยาวของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสุขภาพ ไม่เป็นอาบัติ เพราะมุ่งรักษาสุขภาพ ไม่ถือว่าผิดศีลหรือ ละเมิดพระพุทธบัญญัติแต่อย่างใด
 
    แต่อย่างไรก็ตาม พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้กล่าวไว้ว่า "ถ้าหากหลวงพ่อมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ หายจากโรค หลวงพ่อก็อยากถอดเสื้อแขนยาวออก อยากเป็นอย่างพระสงฆ์ทั่วไปนั่นแหละ หลวงพ่อไม่อยากสวมเสื้อแขนยาวเลย แต่เพราะสุขภาพไม่เอื้ออำนวย จึงต้องทนอยู่ในสภาพอย่างนี้"
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:เพลงทางโลกเกี่ยวอะไรกับรายการธรรมะ
 
ตอบ:คำถามนี้สร้างความหนักใจให้กับทีมงานผลิตสื่อพอสมควร เพราะเสียงตอบรับ ที่ชอบก็มีมาก ที่ไม่ชอบก็มีมาก สาเหตุที่ต้องมีเพลงคั่นเป็นระยะๆ เพราะคุณครูไม่ใหญ่ ต้องใช้เสียงเกือบ 3ชั่วโมง จึงต้องมีอะไรมาคั่นหรือมาประกอบ เพื่อช่วยให้ท่านมีจังหวะในการพักเสียงบ้าง
 
    ส่วนว่าเหมาะสมหรือไม่ ขอให้คำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เนื่องจากกลุ่มผู้ฟังมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเล็กๆมีความสนใจน้อย การเปิดเพลงบ่อยๆ จะช่วยดึงดูดความสนใจเป็นระยะๆ สำหรับผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่ก็มีตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป วัยรุ่นก็มีทั้งเข้าวัดสนใจฟังธรรม และยังไม่สนใจที่จะฟังธรรม สิ่งที่สังคมไทยกำลังเป็นห่วงอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ วัยรุ่นประเภทที่ยังไม่สนใจฟังธรรม ยังคุ้นเคยชื่นชอบอยู่กับเพลงรักบ้าง เพลงสนุกสนานรื่นเริงทางโลกบ้าง ดังนั้นทีมงานผลิตจึงต้องเอาใจกลุ่มนี้มากสักหน่อย เมื่อดึงดูดให้เขามาสนใจฟังแล้ว เขาก็จะค่อยๆได้รับธรรมะซึมซับไปตามลำดับ
 
    สำหรับผู้ที่รักในการปฏิบัติธรรม ไม่ชอบฟังเพลงทางโลก ก็อย่าเพิ่งหงุดหงิด ขอให้นำเหตุการณ์นี้มาเป็นบททดสอบภาคปฏิบัติว่า เราจะอดทน รักษาใจให้ใสได้ในภาวะที่เราไม่ชอบได้หรือไม่ ถ้าผ่านข้อสอบบทนี้ได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน หรือที่ไหนๆ เราจะใช้ทุกๆเหตุการณ์ เป็นอุปกรณ์ในการสั่งสมบุญได้โดยไม่ต้องลงทุนเลยทีเดียว
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:วัดพระธรรมกายคิดว่า ทำอย่างไร จึงจะทำให้สังคมไทยดีขึ้น
 
ตอบ:การทำให้สังคมไทยดีขึ้น ต้องมองว่าเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคน อย่าเกี่ยงให้เป็นหน้าที่ของวัด ของโรงเรียน ของสื่อมวลชน ของรัฐบาล หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่จริงๆแล้ว ทุกคน ทุกหน่วยงาน จะต้องช่วยกันทำหน้าที่ของตน ถ้าทุกคนเอาแต่หวัง อยากให้สังคมไทยดี แต่ไม่ได้ลงมือกระทำ สังคมก็คงไม่ดีขึ้นได้ และอย่าเพิ่งไปท้อแท้ใจแต่ต้นว่า เป็นปัญหาใหญ่ ลำพังตัวเราคงแก้ไขอะไรไม่ได้ เลยไม่ยอมทำอะไร ขอให้คิดแล้วลงมือทำอย่างต่อเนื่อง คนดีๆที่เขาเห็นประโยชน์เขาก็จะมาช่วยกัน ถ้าทุกคนคิดแล้วทำอย่างนี้ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ สังคมไทยก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน
 
    ในส่วนของการปลูกฝังศีลธรรมนี้ แน่นอนว่า พระภิกษุสงฆ์และวัดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ถ้าวัดทั้ง 30,000กว่าวัด พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 300,000กว่ารูป ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ก็คงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ศีลธรรมของสังคมดีขึ้น ทำให้ผู้คนมีศีลธรรม มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวประจำจิตใจ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม
 
    วัดพระธรรมกาย ในฐานะวัดๆหนึ่งในประเทศไทย ก็ได้พยายามทำหน้าที่ของตนในในส่วนนี้อย่างเต็มกำลัง มาตั้งแต่เริ่มสร้างวัด ให้การศึกษาอบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาของวัด ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ และให้ช่วยกันอบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ชักชวนประชาชนเข้าวัด ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จัดกิจกรรมการปลูกฝังคุณธรรม ทั้งในและนอกสถานที่มากมายหลายอย่าง ดังที่ได้เห็นในภาพกิจกรรมต่างๆของวัดพระธรรมกาย
 
    ผลของการทุ่มเท อุทิศชีวิตทำงานอย่างจริงจังมาตลอด 35ปี วัดพระธรรมกายก็ทำงานได้ผลในระดับหนึ่ง มีประชาชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอบรมคุณธรรมจำนวนมาก แต่ทางวัดตระหนักดีว่า การปลูกฝังคุณธรรมแก่ประชาชนทั้งแผ่นดิน เป็นงานใหญ่ ต้องให้วัดทุกวัดในประเทศไทยร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน

    ดังนั้น วัดพระธรรมกายจึงได้เชิญชวน ให้มาร่วมกันสร้างกระแสของการทำความดีให้เกิดขึ้น โดยในวันสำคัญทางศาสนา ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ครั้งละเป็นจำนวนพันจากทั่วประเทศ มาอยู่ธุดงค์ปฏิบัติธรรม รับฟังโอวาทจากพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ โดยได้มาทำเป็นเวลา 19ปีเต็ม เพราะมุ่งหวังตั้งใจว่า พระทุกรูปจะได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับสาธุชนที่มาร่วมงาน
 
    เมื่อพระทุกรูปได้เห็นกิจกรรมทั้งหมดแล้ว จะได้เกิดความเชื่อมั่นว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของดีจริง ถ้าตั้งใจศึกษาและเผยแผ่อย่างจริงจังแล้ว ประชาชนจะให้ความสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย มหรสพ ดนตรี คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ มารวมคน เพราะการเทศนาธรรมและสอนทำสมาธิ ก็สามารถรวมชาวพุทธได้
 
    พระภิกษุรูปใดต้องการทราบ วิธีการทำงานของวัดพระธรรมกาย ก็จะได้รับการถ่ายทอดให้อย่างเต็มที่ เพราะหวังว่า ท่านจะได้กลับไปพัฒนาวัดและท้องถิ่นของตน เมื่อทุกวัดในประเทศไทย ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างนี้ วัดก็จะเป็นที่พึ่งของชาวพุทธได้อย่างแท้จริง พระพุทธศาสนาก็จะเจริญขึ้น สังคมไทยเราก็จะดีขึ้น


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:เคล็ดลับความสำเร็จของวัดพระธรรมกายคืออะไร ทำไมจึงมีประชาชนเลื่อมใส ศรัทธาเข้าวัด ปฏิบัติธรรมกันมาก
 
ตอบ:เงื่อนไขที่ทำให้วัดพระธรรมกายทำงานด้านการอบรมศีลธรรม ได้ผลมาบ้างในระดับหนึ่งนั้น อาจสรุปได้ 4ประเด็นดังนี้
 
1.มีอุดมการณ์ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และหมู่คณะรุ่นบุกเบิกได้ตั้งปณิธานร่วมกันไว้ว่า จะสร้างพระให้เป็นพระ สร้างวัดให้เป็นวัด เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับ สร้างคนให้เป็นคนดีของสังคม พระทุกรูปบวช เพราะมีความตระหนักซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย และเมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจบวชอุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนา ไม่คิดลาสิกขา หมู่คณะที่ตามมาในรุ่นหลังๆก็มีอุดมการณ์ในทำนองเดียวกัน
 
    ปัจจุบันวัดพระธรรมกาย มีบุคลากร ประจำ คือ พระภิกษุ สามเณร จำนวนพันเศษ อุบาสก อุบาสิกา ศิษย์วัด ประมาณ 700คน คนเกือบ 2,000คน ที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน ที่จะสร้างคนดีให้กับสังคม ทุ่มเททำงาน สัปดาห์ละ 7วัน โดยไม่มีวันหยุด เมื่อรวมกับกำลังของญาติโยม สาธุชน ที่มีศรัทธา เห็นประโยชน์ เห็นความตั้งใจจริงของวัดพระธรรมกายแล้ว ก็สามารถทำงานได้มาก

2.ทำงานจริง พัฒนางานตลอด เมื่อเริ่มสร้างวัด เมื่อ 35ปีก่อนโน้น หมู่คณะรุ่นบุกเบิกเป็นพระหนุ่ม คนหนุ่ม ส่วนใหญ่มีอายุเพียง 20ปีเศษ ยังมีประสบการณ์น้อย แต่มีความตั้งใจมุ่งมั่นจริงจัง ที่จะปฏิบัติฝึกฝนตนเอง และเผยแผ่ธรรมะ ก็ทำงานมาแบบลองผิดลองถูก ทำไปแล้วผลไม่เป็นอย่างที่คิดก็มาก แต่ก็ไม่ท้อถอย พยายามสรุปผล และปรับปรุงพัฒนางานมาโดยตลอด เรียนรู้จากการทำงานจริง ประสบการณ์เป็นตัวสอนเราให้สามารถพัฒนางานให้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น โดยมีคติในการทำงานของวัดอยู่ว่า ไม่ได้ไม่มี ไม่ดีไม่ได้ ต้องได้และดี ให้ดีกว่าดีที่สุด โดยเราถือว่าการทำงานของพระพุทธศาสนาให้ดี เป็นแบบอย่างได้นั้น เป็นการแสดงถึงความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างหนึ่ง

3.เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด เนื่องจากประสบการณ์ของเรามีน้อย จึงพยายามไปศึกษาจากวัดต่างๆ ที่ตั้งมานานแล้วทั้ง 70กว่าจังหวัดในยุคนั้น หมู่คณะรุ่นบุกเบิกเดินทางไปดูมาเกือบทั่วทุกจังหวัด ยกเว้นแม่ฮ่องสอนจังหวัดเดียว เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ที่ไหนได้ยินเสียงเล่าลือว่าดีอะไร ก็ไปดูไปศึกษามาหมด พยายามศึกษารวบรวมข้อดีของวัดต่างๆ มาเป็นแบบอย่างในการสร้างวัด ติดปัญหาอะไรก็มักไปกราบขอคำแนะนำจากพระเถระผู้ใหญ่หลายๆรูป ซึ่งท่านเห็นความตั้งใจจริง ในการทำงาน ท่านก็เมตตาแนะนำสั่งสอนมาโดยตลอด
 
    ปัจจุบัน แม้งานของวัดจะพัฒนามาได้ในระดับหนึ่ง แต่ทางวัดก็ยังคงเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นในการทำงานจากทุกฝ่ายเสมอมา แม้ญาติโยมสาธุชนที่มาวัด ใครมีความสามารถด้านใด มีความเชี่ยวชาญ มีความเห็นอย่างไร ทางวัดก็รับฟังและขอให้มาช่วยกันทำงาน พัฒนางานไป ความสำเร็จของวัดพระธรรมกายในปัจจุบัน จึงมาจากการร่วมแรงร่วมใจ รวมสติปัญญาความสามารถของบุคคลต่างๆจำนวนมาก
 
4.ทำงานเป็นทีมไม่ยึดติดตัวบุคคล จะสังเกตเห็นว่า วัดต่างๆที่มีชื่อเสียงมากขึ้นมา ส่วนใหญ่มักเป็นเพราะมีเจ้าอาวาสเป็นพระภิกษุที่ได้รับความเลื่อมใสจากประชาชน ประชาชนจะรู้จักพระมากกว่ารู้จักวัด พูดง่ายๆว่า หลวงพ่อดัง มากกว่าวัดดัง เมื่อพระภิกษุที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธานั้นมรณภาพไป วัดนั้นก็ซบเซาไป บางทีเกือบกลายเป็นวัดร้างไปเลยก็มี
 
    แต่วัดพระธรรมกาย เน้นการทำงานเป็นทีม มีคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาช่วยกลั่นกรองงาน ก่อนที่จะถึงการตัดสินใจของเจ้าอาวาสในขั้นสุดท้าย มีการกระจายการทำงานเป็นระบบ ทำให้สามารถทำงานได้กว้างขวาง มีประสิทธิภาพ ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนเอง ในการทำงานได้อย่างเต็มที่ เราพยายามสร้างระบบงาน ไม่ยึดติดตัวบุคคล เพื่อว่าแม้เจ้าอาวาสและหมู่คณะรุ่นบุกเบิกละโลกไปแล้ว ระบบงานต่างๆก็ยังอยู่ และวัดก็ยังคงทำหน้าที่เผยแผ่คุณธรรมแก่ประชาชนได้ตลอดไป
 
    ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้ว่า สำหรับวัดพระธรรมกายแล้ว ประชาชนจะรู้จักชื่อวัดมากกว่า ชื่อเจ้าอาวาส คือ วัดดัง มากกว่าหลวงพ่อดัง


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำไมจึงมีเสียงติติงการทำงานของวัดพระธรรมกาย
 
ตอบ:ที่ใดก็ตามที่มีการทำอะไรใหม่ๆเกิดขึ้น ก็ย่อมจะมีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีเสียงติติงเสมอ เพราะผู้ที่ยึดติดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ย่อมมีอยู่ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นการทำเพื่อคนหมู่มาก ย่อมเป็นที่สนใจ เสียงติติงก็อาจมีมากเป็นธรรมดา เป็นหน้าที่ของผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวม จะต้องรับฟังแล้วนำมาพิจารณาด้วยใจที่เปิดกว้างว่า ที่ตนทำอยู่อย่างนั้นบกพร่องจริงหรือไม่ หากพบว่าจริงก็ให้ปรับปรุงแก้ไขเสีย หากพบว่าเสียงติติงนั้นไม่เป็นความจริง เกิดจากความไม่เข้าใจ ก็ต้องพยายามให้มีข้อมูลความจริงให้เขาได้ทราบ
 
    อีกทั้งบางครั้งก็อาจเป็นได้ว่า เสียงติติงนั้นอาจเกิดจาก ผู้ที่มีใจไม่เป็นกุศล อาจด้วยความอิจฉาริษยา ความหมั่นไส้ หวาดระแวง หรือเสียผลประโยชน์ ก็ตามแต่ ก็จะต้องอดทน เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ตนทำอยู่ปรากฏผลชัดขึ้น ความจริงก็จะปรากฏออกมาเอง
 
    อย่าว่าแต่เราสามัญชนเลย แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์มีพระดำริ จะสร้างสวนลุมพินีเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ก็ยังมีเสียงติติงว่า ทำไมใหญ่โต ไม่มีความจำเป็น แต่ปัจจุบัน ทุกคนต่างก็ตระหนักซาบซึ้ง ในพระวิจารณญาณที่กว้างไกลของพระองค์กันถ้วนหน้า
 
    หรืออย่างพระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาส ท่านเป็นผู้ริเริ่มการแสดงปาฐกถาธรรมโดยไม่ถือใบลาน ช่วงแรกๆก็ถูกต่อต้านมาก แต่ต่อมาทุกคนก็ยอมรับ
 
    แม้ในทางโลก เมื่อคุณสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลดค่าเงินบาท เมื่อปีพุทธศักราช 2527 ช่วงแรกก็มีผู้โจมตี ด่าว่ากันอย่างสาดเสียเทเสียมากมาย แต่ต่อมาทุกคนก็ประจักษ์ชัดในคุณูปการที่ท่านสร้างไว้แก่แผ่นดินไทย หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน จึงมีจดหมายขอโทษจากบุคคลต่างๆ ที่เคยเข้าใจผิดมากมาย
 
    ผู้ที่คิดจะทำประโยชน์เพื่อชนหมู่มาก จึงต้องเตรียมใจไว้แต่ต้น และต้องอดทน ขอให้พวกเราชาวพุทธ คลายความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในรูปแบบเก่าๆ เราต้องใช้ความเคารพรักในการรักษาธรรมเนียม แต่ก็ให้ถือแก่นเป็นหลักมากกว่าติดที่เปลือกกระพี้ คือ หาทางปรับปรุงรูปแบบ วิธีการเผยแผ่ธรรมะ ปลูกฝังศีลธรรมในใจคนให้ได้ผล ให้คนในยุคปัจจุบันรับได้เข้าใจได้ โดยรักษาแก่นคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้อย่างมั่นคง
 
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำไมต้องก่อสร้างศาสนสถานใหญ่ๆด้วย พระพุทธศาสนาสอนให้สมถะ ทำอะไรเล็กๆไม่ใช่หรือ
 
ตอบ:เราชาวพุทธเป็นลูกพระพุทธเจ้า การทำงานก็ควรดูแบบอย่างจากพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำอย่างไร จึงประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคง เป็นปึกแผ่นสืบทอดมาถึงเราได้ถึง 2,500กว่าปีแล้ว
 
    ในแง่ศาสนสถาน เราพบว่า วัดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่นานที่สุดถึง 20กว่าพรรษา คือ พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย สิ้นทรัพย์ถึง 54โกฏิกหาปณะ คือ เท่ากับ 540ล้านกหาปณะ ซึ่ง 1กหาปณะนั้น เทียบค่าของเงินปัจจุบันแล้ว มีค่ามากกว่าดอลลาร์หลายเท่า ดังนั้นเมื่อเทียบค่าเงินปัจจุบัน การสร้างวัดพระเชตวันมหาวิหาร จึงสิ้นค่าใช้จ่ายหลายหมื่นล้านบาท อาจถึงแสนล้านบาท และพระเชตวันมหาวิหารนี่เอง ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการวางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในครั้งพุทธกาล และสืบทอดมาถึงเราในปัจจุบัน
 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุเป็นผู้อยู่ง่ายเลี้ยงง่าย ตั้งใจปฏิบัติธรรม ฝึกฝนอบรมตนเอง แต่ในแง่ศาสนสถาน การสร้างวัดซึ่งเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมแก่ประชาชนแล้ว พระองค์กลับทรงชื่นชมอนุโมทนา สนับสนุนการสร้างวัดใหญ่ๆจำนวนมาก นอกจาก เชตวันมหาวิหารแล้ว ก็ยังมีอีกมากมาย เช่น วัดบุพพาราม ซึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างถวาย เป็นโลหะปราสาท สิ้นทรัพย์นับเป็นค่าเงินเป็นหมื่นๆล้านบาทเช่นกัน พระองค์ถึงขนาดทรงให้พระมหาโมคคัลลนะ อัครสาวกเบื้องซ้าย ไปเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างตามคำของนางวิสาขา เพราะวัดใหญ่ๆ เมื่อสร้างขึ้นโดยมีการใช้ประโยชน์จริง ก็จะสามารถรองรับ ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งแผ่นดิน ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ก็คือประชาชนนั่นเอง
 
    วัดพระธรรมกาย...เราเริ่มสร้างขึ้นจากวัดเล็กๆ มีศาลาปฏิบัติธรรมจุคนได้เพียง 450คน แต่เพราะการตั้งใจเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ประชาชนที่มาวัดจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นหลักหมื่นหลักแสน จึงจำเป็นต้องสร้างศาลาอาคารมารองรับ
 
    มหาธรรมกายเจดีย์...สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมใจปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์จำนวน 1หมื่นรูป สาธุชนจำนวน 1ล้านคน แม้ขณะกำลังก่อสร้างอยู่ ก็มีคนมาปฏิบัติธรรมกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ครั้งละกว่าแสนคนแล้ว
 
    สิ่งก่อสร้างในวัดพระธรรมกาย จึงสร้างขึ้นเพื่อการใช้งานจริง งบประมาณในการก่อสร้างก็มาจากประชาชนทำบุญ ผู้ใช้ก็คือประชาชน ประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับชาวพุทธทั้งแผ่นดิน
 
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:แทนที่จะสร้างวัด เอาเงินไปสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ไม่ดีกว่าหรือ
 
ตอบ:การสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ก็ควรทำ สร้างโรงเรียนทำให้คนฉลาดมีความรู้ สร้างโรงพยาบาลทำให้คนมีสุขภาพแข็งแรง หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ทว่า...ผู้มีสุขภาพแข็งแรง ฉลาดมีความรู้มาก หากไม่มีศีลธรรมแล้ว ก็จะสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมได้มาก เราจึงจำเป็นต้องสร้างวัด เพื่อเป็นที่ปลูกฝังคุณธรรมแก่ประชาชนด้วย

    ขอให้ดูที่ความจริงอย่างหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป คือ คนในสังคมเมื่อทำงาน เกิดความเครียดขึ้นแล้ว ก็มักหาทางคลายเครียด พักผ่อนหย่อนใจกันด้วยวิธีการต่างๆ บ้างก็ดื่มเหล้า บ้างก็สูบบุหรี่ บ้างก็ไปดูภาพยนตร์ บ้างก็ไปเที่ยว บ้างก็ไปวัด

    ผู้ที่ชอบดื่มเหล้า ก็จะใช้ทรัพย์เพื่อการซื้อเหล้า ทำให้เกิดโรงงานผลิตเหล้า เกิดบาร์ คลับ ผับ ขึ้นมารองรับ ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่ ก็จะใช้จ่ายทรัพย์เพื่อบุหรี่ ทำให้เกิดโรงงานบุหรี่ และเครือข่ายขึ้นมารองรับ ผู้ที่ชอบดูภาพยนตร์ ก็จะใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการนี้ ทำให้เกิดการผลิตภาพยนตร์ โรงงานภาพยนตร์มารองรับ ผู้ที่ชอบเที่ยว ก็จะใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการท่องเที่ยว ทำให้เกิดบริษัท ทัวร์ ดิสนีย์แลนด์ สถานท่องเที่ยวต่างๆขึ้นมารองรับ ผู้ที่ชอบเข้าวัด เขาก็จะนำงบหย่อนใจตรงนี้ ไปทำบุญแทนและก็เกิดเป็นวิหาร เจดีย์ โบสถ์ ศาลา มารองรับ

    เราไม่สามารถบอกให้คนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ให้เลิกดื่ม เลิกสูบ แล้วเอาเงินไปสร้าง โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสร้างวัดได้ มันเป็นความสมัครใจของเขา เราบังคับไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราผลักดันให้คนเลิกทำบุญ เลิกเข้าวัด งบหย่อนใจของเขาตรงนี้ ก็อาจจะกลายเป็นโรงเรียน โรงพยาบาลก็ได้ หรืองบตรงนี้ของเขาอาจกลายเป็นโรงเหล้า โรงบุหรี่ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะเราบังคับเขาไม่ได้ เป็นเรื่องความสมัครใจของแต่ละคน
 
    ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าขณะนี้ผู้คนในสังคมมีศีลธรรมมากเกินไป เข้าวัดมากเกินไป ก็ควรจะช่วยกันรณรงค์ให้คนเลิกเข้าวัด แต่ถ้าคิดว่าผู้คนในสังคม ยังมีศีลธรรมน้อยเกินไป ก็ควรจะช่วยกันรณรงค์ให้เข้าวัด ทำความดีให้มากขึ้น พิจารณาดูสิว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร

    บ้านเมืองใด หากมีโรงเหล้า โรงบุหรี่ สถานเริงรมย์ มากมายใหญ่โต แต่มีศาสนสถานเล็กๆ ไม่มีคนสนใจ บ้านเมืองนั้นก็น่าเป็นห่วง แต่บ้านเมืองใดหากมีวัดใหญ่ๆ ศาสนสถานใหญ่ๆ ผู้คนเข้าวัดเข้าวากันมากมาย ก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็น ถึงความเจริญของศีลธรรมของผู้คนในสังคมนั้นๆ ศาสนสถานที่สร้างขึ้น หากสร้างขึ้นเพื่อใช้งานจริง มีประชาชนมาอาศัยใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมกันอย่างเนืองแน่น จึงเป็นที่ควรสนับสนุนมิใช่หรือ


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำไม วัดพระธรรมกายจึงมักมีการบอกอานิสงส์ของการทำบุญ แบบเอาสวรรค์มาล่อ
 
ตอบ:การทำให้เกิดฉันทะ ความรัก ความสนใจ พอใจที่จะทำสิ่งใด ท่านบอกว่าจะต้องให้เห็นประโยชน์ว่าทำแล้ว ได้อะไร การเห็นประโยชน์ทำให้เกิดฉันทะ ฉันทะทำให้เกิดวิริยะ วิริยะทำให้เกิดจิตตะ จิตตะทำให้เกิดวิมังสา รวมเป็น อิทธิบาทสี่ ธรรมอันยังความสำเร็จให้เกิดขึ้น
 
    แนวทางการแสดงธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้อยู่เสมอ คือ หลักอนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นการแสดงธรรมไปตามลำดับหัวข้อ มีเนื้อหาลุ่มลึกไปตามลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นขั้นๆ คือ
 
1.ทานกถา ทรงแนะนำสั่งสอนให้ทุกคนให้ทาน มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน เสียสละแบ่งปันกัน
 
2.ศีลกถา ทรงแนะนำสั่งสอนให้ทุกคนรักษาศีล มีความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม
 
3.สัคคกถา ทรงพรรณนาซึ่งสวรรค์ ทรงชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ตั้งใจให้ทาน รักษาศีล ดังที่กล่าวแล้วใน 2ข้อข้างต้น จะได้รับอานิสงส์ คือ การเข้าถึงโลกสวรรค์ ซึ่งมีความสุข ความเจริญ อย่างไร
 
4.กามาทีนพ หากบุคคลผู้ฟังธรรมมีอัธยาศัยที่จะออกบวชได้ พระองค์ก็จะทรงแสดงถึงโทษของกามว่า มีทุกข์มาก มีโทษมาก มีสุขน้อย อย่างไร
 
5.เนกขัมมานิสงส์ เมื่อทรงแสดงถึงโทษของกามหมดแล้ว ก็จะทรงแสดงถึงอานิสงส์ของการออกบวช เสร็จแล้วผู้ฟังธรรมนั้นก็มักทูลขอบวช และได้บรรลุธรรมไปตามลำดับ

    หลักอนุปุพพิกถานี้ เป็นแนวทางสำคัญในการสั่งสอนประชาชนมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล วัดพระธรรมกายได้ใช้แนวทางนี้ในการอบรมสั่งสอนประชาชน ตามหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้แล้วนั่นเอง


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:การทำบุญแล้วมีการมอบพระบูชา เช่น พระมหาสิริราชธาตุ เป็นการทำให้คนติดในวัตถุมงคลหรือไม่
 
ตอบ:ผู้คนในโลกมีจริตอัธยาศัยต่างๆกัน บางคนก็พุทธิจริต เอาปัญญานำหน้าไม่สนใจเรื่องอื่นๆ จะเอาเนื้อหาธรรมะคำสอนเป็นหลัก พระพุทธรูปต่างๆก็ไม่สนใจ ไม่มีความจำเป็น แต่คนประเภทนี้มีน้อย คนส่วนใหญ่ยังต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ต้องการกำลังใจในการทำความดี แล้วค่อยๆยกระดับใจสูงขึ้นเป็นชั้นๆ เมื่อใดเข้าถึงธรรมหมดกิเลส วัตถุเครื่องยึดเหนี่ยวใจภายนอกก็หมดความจำเป็น ปู่ย่าตายายของเรา ท่านเข้าใจธรรมชาติของคนตรงนี้ดี จึงมีการสร้างพระเครื่อง มอบให้ชาวพุทธได้ติดตัวไว้บูชา เป็นเครื่องระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย เตือนสติไม่ให้ทำชั่ว แต่ให้มีกำลังใจในการทำความดี
 
    พระเครื่องที่สร้างโดยพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ได้รับความเชื่อถือกันว่า มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองผู้ที่ตั้งใจบูชา ก็ยิ่งเป็นกำลังใจในการสร้างความดีของผู้ที่มีไว้ครอบครอง
 
    หากผู้ใดได้พระเครื่องไปบูชาแล้ว เชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เช่น หนังเหนียวแล้วไปอวดเบ่งเป็นนักเลง ตีรันฟันแทง ผู้นั้นทำผิด แต่ผู้ใดได้พระเครื่องไปบูชาแล้ว เชื่อมั่นในอำนาจพุทธคุณ พระเครื่องนั้นเป็นประดุจสัญลักษณ์ตัวแทนของพระรัตนตรัย ที่อยู่ประจำตน ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ มีกำลังใจ ในการทำความดียิ่งๆขึ้นไป การบูชาพระพุทธรูปอย่างนั้น จึงเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ เปรียบเหมือนคนลงน้ำใหม่ๆยังว่ายน้ำไม่เป็น ก็ต้องใช้ขอนไม้เกาะไว้ก่อน เพื่อพยุงตัวไม่ให้จม ต่อเมื่อว่ายน้ำแข็งแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยวัตถุอื่นมาพยุงตัวต่อไป สามารถว่ายน้ำตัดตรงขึ้นฝั่งได้เลย
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:พูดกันมาก โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ว่า การบอกบุญทำบุญของวัดพระธรรมกายเป็นแบบ Direct Sales หรือขายตรง ความจริงเป็นอย่างไร
 
ตอบ:ผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการตลาดอย่าง คุณมานิต รัตนสุวรรณ อดีตนายกสมาคมนักการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เคยให้ความรู้ หรือแม้ออกรายการโทรทัศน์ วิทยุ ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้วง่ายๆสั้นๆ โดยหลักของการขายตรงมีอยู่ว่า ต้องมีค่าตอบแทนเป็นรายได้ แล้วมักจะเป็นรายได้อย่างงาม เท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เท่านี้เปอร์เซ็นต์ ที่เรียกกันว่า Commission หลักพื้นฐานอย่างนี้ ผู้ที่เรียนวิชาบริหารธุรกิจมาบ้าง ก็น่าจะพอทราบเหมือนกัน
 
    ดังนั้น ก็มาเปรียบเทียบกับการบอกบุญของวัดพระธรรมกาย ได้ชัดเจนเลยว่าต่างกัน ใครก็ได้ที่เห็นคุณค่างานพระพุทธศาสนา อยากสนับสนุนกิจกรรมอบรมศีลธรรม สร้างคนดีในสังคม ก็สามารถที่จะบอกต่อ เชิญชวน คนโน้นคนนี้มาร่วมบุญ ทำบุญในโอกาสต่างๆได้ จะทำบุญภัตตาหารก็ได้ บุญซื้อที่ บุญสร้างองค์พระ บุญสร้างศาลา ฯลฯ ก็ได้ทั้งนั้น
 
    ก็เหมือนๆวัดทั่วไป คือ ทำหน้าที่ชักชวนกันมาทำความดี หรือชวนคนมาทำบุญ จะชวนคนมาทำบุญร้อยบาท ล้านบาท ก็ไม่มีส่วนแบ่ง ไม่มีเปอร์เซ็นต์ ทุกคนทำด้วยความศรัทธา ทั้งยังต้องเสียสละ เช่น เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบ เสียค่าโทรศัพท์พูดคุย หรือต้องเสียเวลาพามาวัด มาดูสถานที่ มาดูกิจกรรมเสียก่อนด้วยซ้ำ ฉะนั้น ไม่ใช่การขายตรงอย่างแน่นอน

    ในกรณีการสร้างพระธรรมกายประจำตัว ทางวัดพระธรรมกายได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆขึ้น เพียงเพื่อมอบให้เป็นของขวัญกำลังใจ ในการทำความดี แก่ผู้นำบุญผู้เสียสละ ชักชวนบุคคลอื่นมาทำความดีเท่านั้น ไม่มีผลตอบแทนในรูปตัวเงินใดๆทั้งสิ้น


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำบุญควรหวังผลหรือไม่
 
ตอบ:การทำความดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา ทำแล้วก็เกิดบุญ ผู้ที่ทำความดีแล้วก็หวังจะได้บุญ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำโดยรู้วัตถุประสงค์ รู้เป้าหมาย จากนั้นก็พยายามสร้างบุญที่ประณีตขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่บุญจากการให้ทาน ต่อมาเป็นบุญจากการรักษาศีล และบุญจากการเจริญสมาธิภาวนา จากบุญระดับโลกียะ เป็นบุญระดับโลกุตตระ จนกระทั่งหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ นี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำบุญแล้วหวังบุญก็เหมือนนักเรียนเรียนหนังสือแล้วหวังจะได้ความรู้ ซึ่งยอมได้ผลแห่งการศึกษาดีกว่าผู้ที่เรียนโดยไม่หวังความรู้

วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ทำบุญมาก ได้บุญมาก จริงหรือ
 
ตอบ:การทำทานให้ได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มีองค์ประกอบ 3ประการ คือ
 
1.วัตถุบริสุทธิ์ คือ สิ่งที่ให้ทานได้มาด้วยความสุจริตถูกต้อง
 
2.เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีความเลื่อมใสศรัทธา ให้เพื่อหวังบุญจริงๆ ไม่ได้หวังผลตอบแทน หรือไม่มีเจตนาแอบแฝงหวังประโยชน์ และเมื่อให้แล้วก็ไม่นึกเสียดายภายหลัง
 
3.บุคคลบริสุทธิ์ คือ ผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีคุณธรรม ยิ่งมีคุณธรรมมากเท่าใด บุญก็ยิ่งได้มากไปตามส่วน เช่น ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ก็ได้บุญมากกว่าทำบุญกับบุคคลทั่วไป และยิ่งผู้ให้มีศีลบริสุทธิ์ด้วยแล้ว บุญก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก
 
    ถ้าเงื่อนไขดังกล่าว คือ วัตถุ เจตนา และบุคคลผู้ให้-ผู้รับ มีความบริสุทธิ์เท่ากันแล้ว แน่นอนว่าผู้ที่ให้ทานเป็นจำนวนมากกว่าก็ย่อมได้รับผลมากกว่า เหมือนคนทำนา 100ไร่ ย่อมได้ผลมากกว่าคนทำนา 1ไร่
 
    แต่หากผู้ที่ให้ทานด้วยทรัพย์แม้เป็นจำนวนน้อยกว่า แต่มีความตั้งใจ มีความเลื่อมใสศรัทธาเต็มเปี่ยม และได้ให้ทานกับคนที่มีคุณธรรมสูง ก็อาจได้บุญมากยิ่งกว่าผู้ทำด้วยทรัพย์มากยิ่งกว่าเป็นร้อยๆเท่าก็ได้ ดังตัวอย่างของมหาทุคตะในครั้งพุทธกาล ถวายข้าวเพียงมื้อเดียวแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทำด้วยความเลื่อมใส ศรัทธาเต็มที่ ก็ได้อานิสงส์ผลบุญทันตาเห็น กลายเป็นมหาเศรษฐีประจำเมือง

 


วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:ได้ข่าวว่า วัดพระธรรมกายนำมาซึ่งการถกเถียงขัดแย้งในบางครอบครัว จะอธิบายอย่างไร
 
ตอบ:ผู้ที่มาวัดพระธรรมกายมีเป็นจำนวนมากหลายแสนคน และส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็มีชีวิตที่ดีขึ้น มีครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุขขึ้น มีหลายคนมาเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนพ่อบ้านชอบดื่มเหล้า เมามาแล้วอาละวาด ทะเลาะทุบตีแม่บ้านเสมอ หลังจากเข้าวัดแล้วก็เลิกเหล้า รักลูกรักเมีย ตั้งใจทำงาน ครอบครัวอบอุ่นมีความสุข บางทีเคยเจ้าชู้ก็เลิก บางครอบครัว ลูกที่เคยเกเร หลังจากได้รับการอบรมจากวัด ก็ได้คิดรู้ถึงคุณของพ่อแม่ จึงกลับตัวกลับใจ ตั้งใจเรียนหนังสือ เป็นเด็กดี พ่อแม่ก็ดีใจมาก มีตัวอย่างทำนองนี้มากมาย
 
    มีบางส่วน ที่สื่อมวลชนยกกรณีครอบครัวมีปัญหาเพราะวัด ขึ้นมากล่าวนั้น สามีภรรยาคู่นั้นอาจจะมีความขัดแย้งกันอยู่แล้วในหลายๆเรื่อง แล้วก็เลยโทษว่าเป็นเพราะวัดเป็นต้นเหตุ ก็คงจะเป็นข้อสรุปที่บิดเบือนไม่ตรงกับความเป็นจริง ต้องดูภาพรวมด้วยใจที่เป็นธรรม
 
    ยกตัวอย่าง ถ้าครอบครัวใดเกิด พ่อบ้าน-แม่บ้านมีความเห็นขัดกันว่า จะให้ลูกเรียนต่อดีไหม ฝ่ายหนึ่งบอกว่า น่าจะกัดฟันส่งเสียให้เรียนให้จบ ไหนๆก็เรียนมาขนาดนี้แล้ว ลำบากตอนนี้อนาคตจะได้สบาย อีกฝ่ายบอกว่า เศรษฐกิจอย่างนี้เงินทองไม่พอใช้ ให้ลาออกมาทำมาหากินดีกว่า จึงเป็นสาเหตุให้ทะเลาะกัน เราจะมาสรุปว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่ดี นำมาซึ่งการถกเถียงขัดแย้งแตกแยกในครอบครัวก็คงไม่ถูก ต้องดูภาพรวม อย่านำจุดย่อยเพียงบางจุดมาขยายภาพให้ใหญ่โต กลบทับภาพแห่งความจริงในส่วนใหญ่
 
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:มีการถกเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา ไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร
 
ตอบ:การถกเถียงว่า พระนิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา นี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทยเราเท่านั้น แต่ในต่างประเทศทั้งในยุโรปและในประเทศทางตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ก็มีการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว มีทั้งผู้ที่คิดว่า นิพพานเป็นอัตตา และที่คิดว่า นิพพานเป็นอนัตตา แต่ละฝ่ายล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งนั้น ต่างฝ่ายต่างก็ได้หยิบยกหลักฐานในพระไตรปิฎก และอรรถกถาฎีกา ขึ้นมาสนับสนุนความเห็นของตน
 
    หลักฐานที่หยิบยกนำขึ้นกล่าวในประเทศไทยของเรา ความจริงในต่างประเทศเขาก็ได้หยิบยกขึ้นมาอ้างกันก่อนแล้วเป็นส่วนใหญ่ และยังวิเคราะห์กันอย่างละเอียด เป็นผลงานวิจัยเล่มโตๆ ฝ่ายละหลายๆเล่มด้วยกัน แต่สุดท้ายก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตน
 
    เรื่องอายตนนิพพานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า มีอยู่จริง และทรงอธิบายด้วยการปฏิเสธว่าไม่ใช่สิ่งนี้ เพราะอายตนนิพพานเป็นสิ่งที่เกินกว่าวิสัย และประสบการณ์ในโลกของปุถุชนใดๆ จะสามารถเข้าใจได้ ดังความในพระไตรปิฎกเล่มที่25 ข้อที่158 ปฐมนิพพานสูตร ความว่า...
 
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ โลกนี้โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ ทั้งสองย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
 
    ดังนั้นสิ่งที่เราชาวพุทธพึงเชื่อมั่นก็คือ อายตนนิพพานนั้นมีอยู่ และเป็นที่สุดแห่งทุกข์ เป็นเป้าหมายสูงสุดในการสร้างความดีของชาวพุทธทั้งหลาย
 
    เมื่อทราบดังนั้นแล้ว ก็ขอให้ขวนขวายทำความดี ด้วยการเจริญมรรคมีองค์แปด ปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถเข้าถึงอายตนนิพพานนั้นได้แล้ว เราย่อมตระหนักชัดด้วยตัวเราเองว่า นิพพานนั้นเป็นอัตตา หรืออนัตตา ดีกว่าการมานั่งทะเลาะกันโดยไม่ลงมือปฏิบัติ
วัดพระธรรมกาย กับคำถามที่ถามบ่อย (FAQs)
ถาม:คำว่า ธรรมกาย มีในพระไตรปิฎกหรือไม่
 
ตอบ:คำว่า ธรรมกาย มีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกอยู่ 4แห่ง และในคัมภีร์อรรถกถา และฎีกาอีกหลายสิบแห่ง ดังรายละเอียดในหัวข้อเรื่องหลักฐานวิชชาธรรมกาย นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์พระไตรปิฎกจีนในส่วนที่เป็นเนื้อหาของหินยาน มีการกล่าวถึงคำว่า ธรรมกาย ในหลายๆแห่งระบุถึงความหมายของคำว่า พระธรรมกาย และแนวทางการเข้าถึงไว้อย่างน่าสนใจ แต่เนื้อหาในพระไตรปิฎก ฉบับบาลี ตกหล่นไป
 
    คำว่า ธรรมกาย นี้จึงมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน โดยไม่มีข้อสงสัย และโต้แย้งใดๆ ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันก็คือ ความหมายของคำว่า ธรรมกาย บ้างก็กล่าวว่า หมายถึงโลกุตรธรรมเก้า บ้างก็กล่าวว่าหมายถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า บ้างก็กล่าวว่าหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งที่สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถอาศัยหลักฐานทางคัมภีร์ เท่าที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน มาเป็นเครื่องยืนยันว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น ความคิดอันใดอันหนึ่งถูกต้องอย่างปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ
 
    ดังนั้น สิ่งที่ชาวพุทธควรจะกระทำก็คือ ตั้งใจปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์แปด และตั้งใจทำความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ลด ละ เลิก อบายมุข สมัครสมานสามัคคีกัน การถกเถียงกันด้วยเรื่องที่ไม่อาจได้ข้อสรุป ด้วยคำพูด และตัวหนังสือ เป็นสิ่งที่ไม่ให้ประโยชน์ กลับอาจนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และการแตกแยก
 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์จะไม่ทรงพยากรณ์ในเรื่องที่เกินวิสัยของปุถุชนคนธรรมดาจะเข้าใจได้ด้วยคำพูด เช่น ไม่ทรงตอบเรื่องโลกนี้โลกหน้าว่า มีจริงไหม โลกมีที่สิ้นสุดหรือไม่ เป็นต้น เพราะตอบไปแล้ว ถ้าเขาไม่เชื่อก็หาข้อสรุปไม่ได้ สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำก็คือ แนะนำให้เขาปฏิบัติธรรม ทำความดีและเมื่อปฏิบัติไปถึงจุดแล้ว เขาก็จะรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน

    ดังนั้น สิ่งที่ชาวไทยชาวพุทธ ผู้รู้ ผู้มีความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา และสังคมไทยทุกคน ควรทำภารกิจเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ ทำอย่างไร จึงจะยกระดับศีลธรรมของคนในสังคมได้ ทำอย่างไร เราจึงจะดึงคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ให้ชาวพุทธทุกคนเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่สงบร่มเย็นเป็นสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 
 
วัดพระธรรมกาย ชมวัดพระธรรมกาย แผนที่วัดพระธรรมกาย

http://goo.gl/vehsz


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      พิธีทอดกฐินสามัคคีปีที่ 11 ณ ธุดงคสถานนครธรรม
      ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และธุดงคสถานร้อยเอ็ด มอบถุงยังชีพที่แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจ.ร้อยเอ็ด
      วัดพระธรรมกายโอซาก้า จัดพิธีบุพเปตพลี
      วัดพระธรรมกายมินเนโซตา จัดสวดมนต์ข้ามปี
      ชี้แจงวัดพระธรรมกายสอนถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
      การเดินทางมาวัดพระธรรมกายโดยระบบขนส่งมวลชน
      จุดออกรถมาวัดพระธรรมกาย
      กรณีแนวหน้าออนไลน์ คอลัมน์จับได้ไล่ทัน โดย ส.วิภาวดี
      วิธีการสมัคร webboard DMC.TV ปัญหาและการแก้ไข
      กฎแห่งกรรม
      ทำบุญอะไรจึงจะได้ไปสวรรค์ในแต่ละชั้น?
      รวมสื่อประกาศขอขมาต่อวัดพระธรรมกาย




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related