ประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 2

ประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน รูปภาพพระพุทธเจ้า การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน สรุปประวัติพระพุทธเจ้า https://dmc.tv/a16444

บทความธรรมะ Dhamma Articles > พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
[ 20 ส.ค. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18258 ]
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 1  ประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 2 ช่วงมัชฌิมกาล

      มัชฌิมกาล เป็นระยะเวลาช่วงกลางของพุทธประวัติในชาติสุดท้าย ที่ดำเนินต่อจากช่วงปฐมกาลเป็นรอยต่อที่สำคัญที่ พระโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยจะได้แสดงถึงการบำเพ็ญเพียรที่ทำให้พระองค์ได้ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบทบาทของพระองค์ที่ทำหน้าที่เป็นครูของโลก ที่ตรัสสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตลอดพระชนมชีพของพระองค์จนกระทั่งถึงช่วงที่พระองค์ได้ทำการปลงอายุสังขาร เป็นลำดับไปดังที่จะได้แสดงต่อไป

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ


       เมื่ออุปมาทั้ง 3 ข้อนี้เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญเพียร ด้วยการทรมานตนตาม แบบอย่างการบำเพ็ญเพียรในยุคนั้น เพื่อแสวงหาแนวทางตรัสรู้ แต่หลังจากที่ได้บำเพ็ญเพียรอย่างหนักตลอด 6 ปี ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมตามที่ปรารถนาได้ กลับได้รับแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว พระองค์จึงเกิดความคิดว่า การปฏิบัติอย่างนี้คงจะไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางตรัสรู้น่าจะเป็นอย่างอื่น และในขณะนั้นพระองค์ก็ได้หวน ระลึกถึงเมื่อครั้งงานแรกนาขวัญที่ประทับอยู่ใต้ต้นหว้าว่า การบำเพ็ญเพียรทางจิตนั้น อาจจะเป็นหนทางตรัสรู้ได้ และก็พลันได้ยินเสียงพิณ 3 สายแว่วมา ทรงระลึกได้ว่า สายที่ขึงตึงเกินไป ดีดไปได้ไม่นานก็ขาด สายที่ 2 ขึงหย่อนเกินไปดีดเท่าไรก็ไม่มีเสียง สายที่ 3 ดีดได้ไพเราะจับใจ ทำให้นึกได้ว่าความพอดีคือทางสายกลางเท่า นั้นที่จะเป็นหนทางนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ทรงพิจารณาได้ดังนี้แล้ว จึงเลิกการทรมานตนเอง หันกลับมาเสวย พระกระยาหารและทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้เฝ้าคอยอุปัฏฐากมาตลอด 6 ปีที่ทรงทรมานพระวรกาย หวังเพียงเพื่อจะได้บรรลุธรรมตามอย่างสมณะนี้ แต่บัดนี้ สมณะนี้กลับเลิกล้มความเพียร กลับไปมักมากในกามคุณ จึงเสื่อมศรัทธาหนีกลับไปยังป่าอิสิปปตนมฤคทายวัน

      ในรุ่งเช้าของวันที่จะตรัสรู้ นางสุชาดาธิดาของคหบดีในอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวปายาสใส่ลงใน ถาดทองมาถวายพระโพธิสัตว์ หลังจากที่พระองค์ทรงเสวยข้าวปายาสอันประณีตของนางสุชาดาแล้ว ทรง นำถาดทองมาลอยในแม่น้ำและทรงอธิษฐานจิตว่า “ ถ้าเราจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้ ขอถาดทองใบ นี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป” ถาดนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำไป เมื่อพระองค์เห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ทรงมีความ มั่นใจว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างแน่นอน จึงได้เสด็จไปประทับยังป่าสาลวัน จนกระทั่งเวลาเย็น จึงได้เสด็จกลับมาที่ต้นโพธิ์ ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ และได้รับหญ้าคาจำนวน 8 กำ จาก โสตถิยพราหมณ์นำมาปูลาดเป็นที่ประทับนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และทรงประทับนั่งอธิษฐานจิตว่า เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งเหือดไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามทีถ้าเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้1) เทวดาในหมื่นจักรวาลต่างแซ่ซ้องสาธุการกล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์

ประวัติพระพุทธเจ้า

พญามารพาไพร่พลยกทัพมาขัดขวางการตรัสรู้ของพระองค์
แต่พระองค์ไม่ทรงหวาดหวั่น


      ในขณะนั้น พญามารพร้อมกองทัพมารได้มาปรากฏตัวขึ้น เพื่อคิดที่จะทำลายพระโพธิสัตว์ เหล่าเทวดาจึงหนีหายไปอยู่ขอบจักรวาล ทำให้พระโพธิสัตว์ต้องอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว แต่พระองค์ก็มิได้ หวั่นไหวต่อกองทัพมารที่มาแต่อย่างใด ก็ยังคงนั่งคู้บังลังก์อยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ นึกถึงบารมีทั้ง 30 ทัศที่ พระองค์ได้สั่งสมมาตลอด 20 อสงไขยกับแสนมหากัปอย่างไม่หวาดกลัวต่อพญามารและกองทัพมาร จนในที่สุดพญามารและกองทัพมารก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรพระองค์ได้ ก็ต้องถอยทัพกลับไปยังที่อยู่ของตน จากนั้นก็ทรงทำความเพียรต่อไปโดยไม่ย่อท้อ

หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วทรงมีพระราชหฤทัยเบิกบานอย่างสูงสุด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถึงกับอุทานว่า

      “ เราเมื่อแสวงหานายช่างคือตัณหา ผู้กระทำเรือน เมื่อไม่ประสบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสงสาร มิใช่น้อย ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนนายช่างผู้กระทำเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักทำเรือนไม่ได้อีก ต่อไป ซี่โครงทั้งปวงของท่าน เราหักแล้ว ยอดเรือนเรากำจัดแล้ว จิตของเราถึงวิสังขารคือนิพพานแล้ว เราได้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว”2) จากนั้นพระองค์ก็ทรงนั่งปฏิบัติธรรมและพิจารณาธรรมตามที่ต่างๆ ดังนี้


     สัปดาห์ที่ 1 พระพุทธเจ้าหลังจากประทับนั่งเปล่งพระอุทานแล้ว ก็ทรงดำริว่า

      “ เราแล่นไปถึงสี่ อสงไขยกับแสนกัป ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เราตัดศีรษะอันประดับแล้วที่ลำคอแล้วให้ทานไปตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เราควักนัยน์ตาที่หยอดดีแล้ว และควักเนื้อหัวใจให้ไป ให้บุตร เช่น ชาลีกุมาร ให้ธิดาเช่นกับกัณหาชินากุมารี และให้ภรรยา เช่น พระมัทรีเทวี เพื่อเป็นทาสของคนอื่นๆ เพราะเหตุบัลลังก์นี้ บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ชัย เป็นบัลลังก์ประเสริฐของเรา ความดำริของเราผู้นั่งบนบัลลังก์นี้ ยังไม่บริบูรณ์เพียงใด เราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เพียงนั้น”3) จากนั้นพระองค์ทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียวเป็นเวลา 7 วัน สถานที่นี้จึงชื่อว่า “ โพธิบัลลังก์”

      สัปดาห์ที่ 2 ทรงนั่งปฏิบัติธรรมต่อไปอีก 7 วัน พอครบ 7 วัน ก็เสด็จลงจากรัตนะบัลลังก์ไปประทับ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้ทอดพระเนตรดูต้นโพธิใหญ่ถึง 7 วัน สถานที่นี้เรียกว่า อนิมิสเจดีย์

      สัปดาห์ที่ 3 พระองค์ทรงเนรมิตรัตนะจงกรมในระหว่างกลางแห่งต้นศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสสเจดีย์ แล้วเสด็จเดินจงกรมหันหน้าไปทางทิศเหนือของต้นโพธิใหญ่ ทรงเดินจงกรมอยู่ที่นี่ 7 วัน สถานที่นี้เรียกว่า รัตนจงกรม

     สัปดาห์ที่ 4 เสด็จจากรัตนจงกรมมาประทับนั่งพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกอยู่ที่เรือนแก้วที่เทวดา ทั้งหลายเนรมิตถวายอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิใหญ่นั้น ทรงพิจารณาธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เป็นเวลา 7 วัน สถานที่นี้เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

     สัปดาห์ที่ 5 เสด็จจากรัตนฆรเจดีย์มาที่ต้นอชปาลนิโครธ4) ประทับนั่งสมาธิในที่นี้เป็นเวลา 7 วัน ในที่ นี้เองที่พระองค์ได้เจอพราหมณ์ผู้หนึ่งที่มักตวาดผู้อื่นด้วยคำว่า “ หึ หึ” ได้เข้ามาทูลถามพระองค์ถึงธรรม ที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์ พระองค์ก็ได้เอาธรรมะที่ทำให้บุคคลให้เป็นพราหมณ์มาตรัสตอบแก่พราหมณ์

     สัปดาห์ที่ 6 เสด็จจากต้นอชปาลนิโครธมาประทับนั่งสมาธิภายใต้ต้นมุจลินท์ ซึ่งขณะนั้นมีเมฆฝน ดำใหญ่ก่อตัว พระยามุจลินทนาคราชได้ขดตัวล้อมรอบแผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้าด้วย หวังในใจว่า ความร้อน ฝน แดด ลมอย่าได้เบียดเบียนพระพุทธเจ้า พอเวลาผ่านไป 7 วัน มุจลินทนาคราช ได้แปลงกายเป็นมาณพหนุ่มกราบนมัสการเบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้า

     สัปดาห์ที่ 7 เสด็จจากต้นมุจลินท์เข้าไปยังต้นราชายตนะ ประทับนั่งบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข อีก 7 วัน พอครบ 49 วัน ท้าวสักกะเทวราชได้นำผลสมอ อันเป็นสมุนไพรมาถวาย

     ในที่นี้ท้าวมหาราชทั้ง 4 ได้นำบาตรศิลามาถวาย และได้มีอุบาสกเกิดขึ้นคู่แรกของโลก คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ เนื่องจากทั้งสองพี่น้องเป็นพ่อค้า ได้มาถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงแก่พระพุทธเจ้า และได้ปวารณาตนเองเป็นอุบาสกขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ (สมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์)

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน ปฐมเทศนา

ครั้นเมื่อผ่านไป 7 วัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจากควงไม้ราชายตนะเข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธนั้นอีก ทรงปริวิตกว่า

       “ ธรรมที่พระองค์บรรลุนั้นสุขุมลุ่มลึกเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เพราะเป็นธรรมที่สงบ ประณีต ละเอียด เป็นวิสัยของบัณฑิตเท่านั้นที่จะพึงรู้แจ้ง ก็ถ้าเราจะแสดงธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”


      ครั้นเมื่อพระองค์ทรงอธิษฐานจิต เพื่อที่จะแสดงพระธรรมเทศนาเช่นนั้นแล้ว จึงทรงดำริหาผู้ที่สมควรจะได้รับพระธรรมเทศนาครั้งแรก ซึ่งพระองค์ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร ผู้เป็นบัณฑิตที่จะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้เร็วพลัน เมื่อตรวจดูอีก ทรงทราบว่าอาฬารดาบสนั้นได้เสียชีวิตได้ 7 วันแล้ว จึงทรงระลึกถึงอุททกดาบสรามบุตร ก็ทรงทราบว่า แม้อุททกดาบสก็ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อพลบค่ำเย็นวานนี้ จึงทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์และได้ตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์

ประวัติพระพุทธเจ้า - ใครปฏิบัติตามคำสอนก็จะบรรลุธรรมได้

วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ทรงแสดงปฐมเทศนาชื่อ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
พราหมณ์โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมและได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
วันนี้จึงเป็นวันที่พระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นคือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเรียกวันนี้ว่า “วันอาสาฬหบูชา”


      หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภที่จะแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ในรุ่งเช้า พระองค์ก็ทรงเสด็จดำเนินไปยังป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่อาศัยอยู่ของพวกปัญจวัคคีย์ โดยในระหว่างทางพระองค์ก็ได้พบอุปกาชีวก ผู้ไม่เชื่อความที่พระองค์ตรัสรู้เอง และหลังจากนั้นพระองค์ก็เดินทางมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์แล้ว ไม่ได้ให้การต้อนรับ เนื่องจากยังผิดหวังกับพระองค์ที่เลิกการทำทุกกรกิริยา แต่ด้วยบุญบารมีที่เคยสร้างด้วยกันมากับพระพุทธเจ้า ประกอบกับบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ในกาลก่อน จึงทำให้ปัญจวัคคีย์ทำการดูแลต้อนรับอย่างดี ยอมเชื่อฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกอย่าง


       จากนั้นพระองค์จึงได้แสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ มีชื่อว่า “ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”6) ซึ่งตรงกับ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ (เดือนอาสาฬหะ) ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงถึงทางสุดโต่ง 2 สายที่บุคคลไม่ควรเสพ แต่ให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ 8 ก็จะเห็นถึงความจริงของชีวิตทั้งหมดที่เรียกว่า อริยสัจ 4 ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนี้ ทำให้โกณฑัญญะพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นโสดาปัตติมรรค เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “ อญญาสิ วต โภ โกณฺฑญโญ” และประทานการบวช แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ เธอจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติ พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ต่อมาปัญจวัคคีย์ 4 คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นกัน จากนั้นทรงแสดง “ อนัตตลักขณสูตร”7) ซึ่งมีเนื้อความที่แสดงถึงว่า ขันธ์ 5 เป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น ก็จะทำให้ใจพ้นจากอาสวะได้ ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องนี้ ทำให้ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นเอง

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน ประกาศพระศาสนา

แสดงธรรมโปรดยสกุลบุตร

      ในครั้งนั้น มีกุลบุตรเศรษฐี ชื่อว่า ยสะ ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่ประทับของพระพุทธเจ้า เกิดความเบื่อหน่ายในการครองเรือน จึงเดินมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมเปล่งอุทานว่า “ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

      เมื่อเดินมาถึงยังที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์เมื่อได้ยินเสียงนั้นจึงตรัสตอบไปว่า

     “ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน”

เมื่อยสกุลบุตรได้ยินเช่นนั้นจึงเข้าไป ยังที่ประทับของพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอนุปุพพิกถา8) แก่ยสกุลบุตร จากนั้นก็แสดงอริยสัจ 4 เมื่อจบพระธรรมเทศนายสกุลบุตรได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

       การที่ยสกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผลดีกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่าง มาก เพราะพระยสะมีสหายมาก เมื่อท่านเข้ามาบวชแล้ว สหายเหล่านั้นก็ได้พากันบวชตามเข้ามา อีกเป็น จำนวนมาก ทำให้มีพระสาวกเพิ่มมากขึ้น เป็นกำลังในการประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่กระจายได้มากขึ้นด้วย เมื่อมีจำนวนของพระสาวกมากถึง 60 รูป ซึ่งพอที่จะเป็นกำลังในการเผยแผ่พระศาสนาเพื่อ ประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงได้ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนายังที่ต่างๆ ทั่วแผ่นดิน ซึ่งก่อนที่จะออกไปประกาศพระศาสนา พระพุทธองค์ก็ได้ให้โอวาทแก่พระสาวกเหล่านั้นว่า

ประวัติพระพุทธเจ้า - ประกาศพระศาสนา

ประกาศพระศาสนานำพาสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์


      “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง อรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี”9)

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน ประกาศศาสนา ณ อุรุเวลาเสนานิคม

     การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมายังอุรุเวลาเสนานิคมนี้ ก็ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ เพื่อจะทรงเปลื้องปฏิญญา ที่ได้ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่เมื่อครั้งที่เสด็จออกทรงผนวช11) และเพื่อจะปดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรในเมืองราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ทั้งยังเป็นที่รวมอยู่ของนักบวชเจ้าลัทธิ มากมายในยุคนั้น แต่การที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรอยู่ในราชคฤห์ซึ่งมีศาสนาอื่นอยู่ก่อน นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประชาชนในเมืองล้วนนับถือเจ้าลัทธิต่างๆ กันมาก ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเทศนา สั่งสอนพวกเจ้าลัทธิเหล่านั้นให้เกิดความเลื่อมใสพระพุทธองค์ก่อน โดยเฉพาะอุรุเวลกัสสปะซึ่งถือว่า เป็นอาจารย์ใหญ่ที่สุด แม้กระทั่งพระเจ้าพิมพิสารยังให้ความเคารพนับถือ

ประวัติพระพุทธเจ้า - เวฬุวันมหาวิหาร..วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงราชคฤห์ทรงเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
และประชาชนจนได้ดวงตาเห็นธรรมกว่าแสนคนพระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุโสดาปัตติผลประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
ทรงถวาย อุทยานเวฬุวัน ให้เป็น วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาและเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกล
จนกระทั่งมนุษย์และเทวดาบรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมากเป็นพยานยืนยันว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้มีจริงสามารถเข้าถึงได้จริง และเป็นของดีจริง


     ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปโปรดอุรุเวลกัสสปะให้เลื่อมใสก่อน ก็จะทำให้พระพุทธศาสนา สามารถประดิษฐานในเมืองราชคฤห์ได้สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น เพราะเมื่ออุรุเวลกัสสปะให้ความเคารพ เลื่อมใสนับถือพระองค์แล้ว เหล่าศิษยานุศิษย์ของอุรุเวลกัสสปะซึ่งรวมถึงพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นกษัตริย์ แห่งเมืองราชคฤห์ ก็ย่อมที่จะมานับถือพระองค์ตามอุรุเวลกัสสปะอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระพุทธศาสนาสามารถที่จะเผยแผ่ยังเมืองราชคฤห์ได้ และยังทำให้การประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ทำได้ง่ายขึ้นและยังรวดเร็วไปทั่วแผ่นดินได้ง่าย เนื่องจากราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการค้าขายและมีผู้คนเข้าออกเมืองมาก ก็ทำให้คนที่เข้ามาเมืองนี้ได้รู้ข่าวการบังเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะพากันไปบอกกล่าวกันต่อ เมื่อผู้ที่ทราบข่าวก็จะมาหาพระพุทธองค์และมาศึกษาพระพุทธศาสนาต่อไป

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน พบอัครสาวก


     หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนายังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ทำให้ในสถานที่ที่พระสาวกได้เดินทางไปถึงก็ทำให้มีผู้คนมานับถือพระพุทธศาสนากันมากเพิ่มขึ้น และยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยากที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนากัน เหมือนอย่างที่พระอัสสชิได้ทำให้พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งในขณะนั้นท่าน ทั้งสองเป็นปริพาชก มีชื่อเดิมว่า อุปติสสะและโกลิตะ ท่านทั้งสองเป็นสหายกัน ต่างมีบริวาร 250 คนอาศัย อยู่ที่กรุงราชคฤห์ และออกบวชเป็นศิษย์ของท่านสัญชัยปริพาชกเรียนจนจบความรู้ของอาจารย์ก็ยังไม่พบสิ่งที่ตนเองต้องการ

      วันหนึ่งท่านทั้งสองต่างก็สัญญาว่าจะไปค้นหาอาจารย์เพื่อที่จะหาวิชาความจริงของชีวิต และถ้าใครพบเจอก่อนก็ให้มาบอกกับอีกคนให้ทราบด้วย ในที่สุดอุปติสสะก็ได้มาพบพระอัสสชิ จึงเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ได้เข้าไปกราบเรียนถามพระอัสสชิว่า

“ ใครเป็นศาสดาของท่าน ศาสดาของท่านสอนเช่นไร”

พระอัสสชิทราบว่าอุปติสสะเป็นนักบวชที่มีปัญญามากจึงกล่าวไปว่า

“ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดา ของเราทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระองค์ทรงมีปกติสั่งสอนอย่างนี้”12)


     ด้วยปัญญาของอุปติสสะที่เคยฝึกฝนมาในอดีตชาติ จึงทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม จากนั้นจึงรีบกลับไปหา โกลิตะและบอกเรื่องราวที่ตนเองได้ไปเจอมา หลังจากโกลิตะฟังจบก็เกิดดวงตาเห็นธรรม

      ท่านทั้งสองได้พากันไปบอกข่าวนี้แก่พระอาจารย์สัญชัยปริพาชก แต่พระอาจารย์กลับไม่เชื่อ ทั้งสองจึงได้เดินทางไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับบริวารจำนวนหนึ่ง และได้รับประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังท่านทั้งสองก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และทรงประทานนามของท่านทั้งสองตามนาม ของพระมารดาว่า สารีบุตรแก่อุปติสสะ เพราะเป็นบุตรของนางสารี และประทานนามว่า โมคคัลลานะ แก่โกลิตะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคัลลี นอกจากนี้ยังได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวก
แสดงโอวาทปาฏิโมกข์

     เมื่อเหล่าพระสาวกได้ออกจาริกไปเผยแผ่พระศาสนากันทั่วประเทศ ก็ไม่ได้มารวมกันหรือประชุมกันเลย ต่างก็แยกย้ายกันออกไปทำหน้าที่ในการเผยแผ่ตามเส้นทางที่ตนได้เดินทางไป ซึ่งทุกรูปที่จาริกไปก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด จึงไม่ได้มีการเรียกประชุมกัน ด้วยเหตุนี้ จึงมีเรื่องอันเป็นเหตุน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา คือ ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ได้มีพระภิกษุสาวกจำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมายที่พระวิหารเวฬุวันสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในขณะนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เพราะประกอบพร้อมด้วยองค์ 4 ประการ คือ

1. เป็นวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

2. ภิกษุสาวกจำนวน 1,250 รูป เดินทางมาจากทิศทั้ง 4 มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย

3. ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งหมด ไม่มีภิกษุผู้เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแม้สักรูปเดียวมาประชุมในครั้งนี้

4. ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ทั้งหมด

ประวัติพระพุทธเจ้า - ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

เมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3ของปีถัดมานับจากวันตรัสรู้ พระสงฆ์สาวก 1,250 รูป ที่เผยแผ่พระศาสนา
อยู่ในที่ต่างๆได้เดินทางกลับมาประชุมกัน ณ วัดเวฬุวัน โดยมิได้นัดหมาย
ในวันนี้พระพุทธองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์หลักธรรมซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
โดยทรงสอนพุทธบริษัท 4 ให้ละเว้นความชั่วให้ทำความดี และทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส วันนี้จึงเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เรียกว่า “วันมาฆบูชา”



      ในการประชุมครั้งนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทพระปาฏิโมกข์ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ 1,250 รูป ซึ่งถือว่าเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และเป็นนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้คณะสงฆ์ยึดเป็นหลักปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1. อุดมการณ์หรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ ความอดทน พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง และบรรพชิตผู้ทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

2. หลักการดำเนินชีวิตของชาวพุทธ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส

3. วิธีการที่จะนำไปสู่การบรรลุถึงอุดมการณ์และหลักการดำเนินชีวิต คือ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณใน ภัตตาหาร อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด และประกอบความเพียรในอธิจิต

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน เสด็จโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

     ตั้งแต่วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตในขณะที่ทรงมี พระชนมายุ 29 พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาทรงติดตามสดับข่าวของพระองค์อยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่ทรงบำเพ็ญทุกกิริยาอยู่นั้น เทวดาจะนำข่าวมาแจ้งให้ทรงทราบเป็นระยะๆ ต่อมาพระเจ้า สุทโธทนะทรงทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ในขณะนี้ประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ จึงส่งอำมาตย์ 1 คนพร้อมบริวาร 1,000 คน ส่งสาส์นไปกราบนิมนต์พระพุทธเจ้า 9 ครั้ง ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่พระองค์กำลังทรงแสดงธรรม และได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์ออกบวชกันหมดทำให้ไม่ได้ยื่นสาสน์ที่พระเจ้าสุทโธทนะฝากไป ในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะได้ขอร้องให้กาฬุทายีอำมาตย์ผู้ ใกล้ชิดถือสาสน์ไปกราบนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยกำชับว่า ไม่ว่ากาฬุทายีจะออกบวชหรือไม่ก็ตามต้องกลับมาส่งข่าวให้พระองค์ทราบ กาฬุทายีและบริวาร 1,000 คนได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ขณะที่พระองค์กำลังแสดงธรรมอยู่ ทำให้กาฬุทายีพร้อมกับบริวารได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

     พระกาฬุทายีรอเวลาที่สมควรจึงได้กราบทูลว่า
 
     “ ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าสุทโธทนะมีพระประสงค์จะพบเห็นพระองค์ ขอพระองค์จงทำการสงเคราะห์แก่พระญาติทั้งหลายด้วยเถิดพระเจ้าข้า”

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับคำของพระกาฬุทายีแล้ว จึงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน 20,000 รูปเสด็จออกจากเมืองราชคฤห์ใช้เวลา 2 เดือนก็ถึงเมืองกบิลพัสดุ์

      เมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว ทรงเห็นกิริยาอาการของเหล่าประยูรญาติผู้ใหญ่ที่ไม่เคารพนบน้อมพระองค์และเหล่าภิกษุสงฆ์ จึงได้แสดงยมกปาฏิหาริย์ เพื่อทำลายมานะทิฏฐิของพวกศากยะ พระเจ้าสุทโธทนะเห็นความอัศจรรย์ครั้งนี้ จึงก้มลงกราบพระพุทธเจ้า ทำให้พระประยูรญาติทั้งหลายหมดสิ้นทิฏฐิมานะได้ ก้มลงกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันหมด และในขณะ ที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาประทับนั่ง ได้มีฝนโบกขรพรรษ14) ตกลงมา พระพุทธองค์จึงอาศัยเหตุนี้ตรัส เวสสันดรชาดก

      รุ่งขึ้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดประชาชน ให้ได้ทำบุญ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบจึงรีบเสด็จมากล่าวยับยั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอ้างถึงความเป็นราชวงศ์ ไม่ควรทำอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสตอบด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า

       “ ตอนนี้อาตมามิใช่วงศ์กษัตริย์อีกต่อไปแล้ว อาตมาออกบวชสละราชสมบัติเพื่อเดินตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ อาตมาเป็นพุทธวงศ์ อาตมาเดินบิณฑบาตนั้นก็เป็นประเพณีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ ที่ทรงกระทำมา”

      แล้วได้ทรงแสดง ธรรมแก่พระพุทธบิดา เมื่อตรัสจบแล้ว ทำให้พระพุทธบิดาตั้งอยู่ในสกทาคามิผล พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงรับบาตรและนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันตสาวกฉันภัตตาหาร

       หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะจนตั้งอยู่ในสกทาคามิผลแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้ไปโปรดพระนางยโสธราและราหุลกุมาร ในการเสด็จโปรดครั้งนี้ พระพุทธองค์ก็ได้มอบอริยทรัพย์ให้แก่พระราหุลกุมารด้วยการให้บรรพชาเป็นสามเณร และได้ให้นันทศากยบุตรได้บวชในพระพุทธศาสนา หลัง จากที่ทำอุบายให้นันทะตามเสด็จพระองค์กลับไปราชคฤห์

      หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์แล้ว ในระหว่างทางที่เสด็จประทับพักแรมอยู่ที่อนุปิยนิคมของแคว้นมัลละ มีเจ้าศากยะ 6 องค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภคุ กิมพิละ เทวทัต พร้อมด้วยช่างกัลบกหนึ่งคน ชื่อว่า อุบาลี ได้มาทูลขอพระพุทธองค์บรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงให้บรรพชาอุปสมบท จากนั้นพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุ ก็เสด็จออกจากอนุปิยนิคมไปเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่เวฬุวัน โดยลำดับ และหลังจากเหตุการณ์นี้จึงทำให้พระพุทธองค์ทรงได้อุปัฏฐากประจำตัว คือ พระอานนท์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐากดูแลตลอดพระชนมชีพของพระพุทธองค์

      นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป พระพุทธศาสนาก็ได้เจริญแพร่หลายออกไปสู่แคว้นต่างๆ มากยิ่งขึ้นโดยลำดับ พระมหากษัตริย์และประชาชนชาวเมืองต่างๆ ก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ดังเช่น สุทัตตเศรษฐี หรือที่ชาวเมืองรู้จักกันในชื่อว่า อนาถปิณฑิกเศรษฐี ได้มาพบพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์ ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส และได้สร้างวิหารพระเชตวันที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ในที่นี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในแคว้นโกศลเป็นต้นมา

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน กำเนิดภิกษุณี

      พระนางมหาปชาบดีผู้เป็นพระน้านางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความตั้งใจปรารถนาที่จะออกบวช ได้เข้าไปกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทถึง 3 ครั้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่อนุญาต พระนางเกิดความน้อยพระทัย จึงได้ปลงพระเกศา ทรงครองผ้ากาสาวะ ถือเพศบรรพชิตพร้อมด้วยนางกษัตริย์เมืองต่างๆ เป็นจำนวนมาก และได้พากันออกเดินทางด้วยเท้าเปล่าไปยังกูฏาคารศาลาเพื่อทูลขอบรรพชาอีกครั้ง จนกระทั่งมาถึงที่ซุ้มประตูกูฏาคารศาลา พระอานนท์ออกมาต้อนรับ เห็นใบหน้าของพระนางนองไปด้วยน้ำตา จึงได้ถามถึงเหตุที่ทำให้พระนางร้องไห้ พอทราบความแล้วก็อาสาจะไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      จากนั้น พระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ทรงอนุญาตสตรีได้บวชเป็นบรรพชิต พระอานนท์ทูลขอถึง 3 ครั้ง พระพุทธองค์ก็ยังไม่ทรงอนุญาต พระอานนท์จึงทูลถามว่า

     “ ถ้าผู้หญิงปฏิบัติตนเป็นนักบวช ปฏิบัติธรรมเข้าถึงธรรมะภายใน เรียนรู้ธรรมะของพระองค์ได้อย่างแจ่มแจ้ง หญิงนั้นสามารถ ออกบวชได้ไหม พระเจ้าข้า”

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า “ ได้สิอานนท์”

     พระอานนท์ได้กราบทูลขอว่า “ ถ้าเช่นนั้นโปรดประทานการบวชแก่พระนางปชาบดีโคตมีได้ไหม พระเจ้าข้า”

     พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ อานนท์ เหตุที่เราไม่อนุญาตก็เพราะเห็นว่า หากอนุญาตให้สตรีบวช พระธรรมวินัยจะตั้งอยู่ได้ไม่นาน แต่เราจักบัญญัติครุธรรม 8 ประการนี้ เสมือนกั้นคันสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลออก หากพระนางยอมรับครุธรรม นี้ได้ ข้อนั้นจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง”

      พระอานนท์เรียนครุธรรม 8 ประการ15) นี้แล้ว ออกมาชี้แจงแก่พระนางตามที่พระพุทธองค์ทรง บัญญัติไว้ พระนางดีใจมาก ชื่นชมยินดี และขอน้อมรับครุธรรมทั้ง 8 ประการ พระอานนท์จึงกล่าวครุธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแล้วอย่างนี้

1. ภิกษุณีแม้จะบวชได้ 100 พรรษา ก็ต้องกราบภิกษุผู้บวชแม้เพียงวันเดียว
2. ภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
3. ภิกษุณีต้องหวังธรรม 2 ประการ คือ ถามวันอุโบสถ และเข้าไปฟังคำสั่งสอนจากภิกษุสงฆ์ ทุกกึ่งเดือน
4. ภิกษุณีเมื่อออกพรรษาแล้ว ต้องปวารณา คือ ยอมรับคำตักเตือนในภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์
5. ภิกษุณีต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัต16) ในภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์
6. ภิกษุณีที่ต้องแสวงหาอุปสมบทให้แก่สิกขมานา ผู้ศึกษาในธรรม 6 สิ้น 2 ปีแล้ว ในภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์
7. ภิกษุณีห้ามว่าร้ายภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
8. ภิกษุณีห้ามสอนภิกษุ แต่ให้ภิกษุกล่าวสอนภิกษุณี

     จากนั้น ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุอุปสมบทให้ภิกษุณีได้ ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็เกิดขึ้นในโลก และมีมาบวชอีกเรื่อยๆ จึงทำให้บรรพชิตในพระพุทธศาสนา คือ ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคนั้นจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน โปรดพระพุทธมารดา

      หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงยมกปฏิหาริย์ เพื่อปราบเดียรถีย์และยังความเลื่อมใสแก่มหาชนชาวเมืองสาวัตถีแล้ว ทรงเสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อจำพรรษาและโปรดพุทธมารดา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปแล้ว ได้ประทับนั่งอยู่บนแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ท้าวสักกเทวราชเทวดา ผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลายได้มาเข้าเฝ้า พระพุทธมารดา ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ประทับนั่งเป็นประธานในท่ามกลางเหล่าเทวดาทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรม 7 คัมภีร์แก่พระพุทธมารดา และเหล่าเทวดาที่มาเข้าเฝ้าทั้งหมด

ประวัติพระพุทธเจ้า- โปรดพุทธบิดา และพุทธมารดา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างเรื่องความกตัญญูทรงเทศน์โปรดพุทธบิดา จนได้เป็นพระอรหันต์
และเสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา จนกระทั่งได้เป็นพระโสดาบัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบแทนคุณบิดามารดาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ด้วยการให้อริยทรัพย์
ทำให้พุทธบิดาไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ส่วนพุทธมารดาก็ได้เป็นพระอริยบุคคลมีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยอีกไม่เกิน 7 ชาติก็จะบรรลุธรรมเป็นอรหันต์


      พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมตลอด 3 เดือน ในเวลาจบเทศนา พระพุทธมารดา ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เมื่อออกพรรษาพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ ในวันมหาปวารณา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยมีมหาชนจำนวนมากที่ได้ทราบข่าวการเสด็จลงมาจากพระมหาโมคคัลลานะ ได้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่เมืองสังกัสสะ และการเสด็จลงมาในครั้งนี้ พระพุทธองค์ได้เปิดภพทั้ง 3 ให้เห็นกัน ได้หมด เพื่อแสดงปาฏิหาริย์แก่มหาชน ทำให้มหาชนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และบางพวก ที่เห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ได้ทำการปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตพระองค์หนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ ปัจจุบันนี้ ในวันออกพรรษาของทุกๆ ปี ณ บริเวณแม่น้ำโขงได้มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพญานาคส่วนใหญ่ได้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วย จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระลึกนึกถึงในวันที่พระพุทธองค์ได้เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ จึงทำการพ่นบั้งไฟออกมาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

      จากเหตุการณ์ที่ยกมากล่าวไว้ข้างต้นนี้ ก็เป็นเหตุการณ์เพียงบางส่วนเท่านั้นที่พระพุทธศาสนาได้แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วพื้นแผ่นดินชมพูทวีป ซึ่งตลอด 45 พรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปนั้น ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ด้วยบารมีที่ทรงสั่งสมมา และพระปัญญาของพระพุทธองค์ ก็สามารถทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และบางคนที่ไม่เห็นด้วยก็ได้กลับใจหันมา นับถือพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน
ปลงอายุสังขาร

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างหนักมาตลอดจนถึงพรรษาที่ 45 ท่ามกลาง ความเชื่อที่หลากหลายในประเทศอินเดีย ทำให้พระพุทธองค์ทรงประชวรอย่างหนัก อีกทั้งพระชนมายุของพระพุทธองค์ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 80 ซึ่งนับว่าทรงพระชราภาพมากแล้ว แต่พระพุทธองค์ก็ทรงใช้ความอดทน ต่อความเจ็บป่วยและยังทรง ทำหน้าที่ของบรมครูสืบต่อไปจนถึงวินาที่สุดท้ายของลมหายใจ

      ในพรรษานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เพื่อประทับอยู่ที่หมู่บ้านเวฬุวคาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี หลังจากนั้น พระพุทธองค์เสด็จไปประทับที่ปาวาลเจดีย์ โดยมีพระอานนท์ติดตาม ไปด้วย ในที่นี้ พระพุทธองค์ได้ทรงทำนิมิตโอภาส เพื่อเปิดโอกาสให้พระอานนท์ได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์อยู่ต่อไปว่า

      “ ดูก่อนอานนท์ นครเวสาลีเป็นที่รื่นรมย์ อุเทนเจดีย์ก็เป็นที่รื่นรมย์ โคตมกเจดีย์ก็เป็นที่รื่มรมย์ สัตตัมพเจดีย์ ก็เป็นที่รื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์ก็เป็นที่รื่นรมย์ สารันททเจดีย์ก็เป็นที่รื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์ก็เป็นที่รื่นรมย์ ดูก่อนอานนท์ ผู้หนึ่งผู้ใดเจริญอิทธิบาท 4 ทำให้มาก ทำให้เป็นประหนึ่งยาน ทำให้เป็นประหนึ่งวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งไว้เนืองๆ อบรมไว้ ปรารภด้วยดี โดยชอบ ดูก่อนอานนท์ ผู้นั้น เมื่อปรารถนา ก็พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป เกินกว่ากัป ดูก่อนอานนท์ ตถาคตแลได้เจริญอิทธิบาท 4 แล้ว ได้ทำให้มากแล้ว ได้ทำให้เป็นประหนึ่งยานแล้ว ได้ทำให้เป็นประหนึ่งวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งไว้เนืองๆ แล้วอบรมแล้ว ปรารภด้วยดี โดยชอบแล้ว ดูก่อนอานนท์ ตถาคตนั้น เมื่อปรารถนา ก็พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป”18)

      เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำนิมิตโอภาสเช่นนี้อีก 2 ครั้ง พระอานนท์ก็ไม่สามารถจะเข้าใจ ไม่ทราบว่าพระพุทธองค์ทรงหมายถึงอะไร เพราะในขณะนั้นท่านได้ถูกมารดลใจไว้ ดังนั้น จึงไม่ได้กราบทูลอาราธนาขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป พระพุทธองค์จึงให้พระอานนท์ไปเจริญฌานสมาบัติ เมื่อพระอานนท์ออกไปแล้ว มารก็เข้ามาทูลให้พระองค์เสด็จปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงรับ แล้วทรงกำหนดพระทัยว่า จักปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อทรงกำหนดว่าจะปรินิพพานแล้ว แผ่นดินก็ได้เกิดอาการไหวขึ้น

สรุปประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 2

      พุทธประวัติในช่วงมัชฌิมกาลนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาเพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงทำความเพียรอย่างหนักเพื่อหาทางหลุดพ้น แม้จะต้องทนทำทุกรกิริยานานถึง 6 ปี พระองค์ก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด ยังคงค้นหาทางหลุดพ้นให้ได้ และในที่สุดพระองค์ก็ทรงค้นพบทางที่จะทำให้หลุดพ้นได้ แต่กว่าที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้นั้น พระองค์ก็ทรงมีความตั้งใจมั่น แม้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะก็ยอมทำ

     ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น แม้พญามารจะยกทัพมามากเพียงใด ก็ยังตั้งใจมั่นทำความเพียรต่อไป จนกระทั่งพญามารต้องถอยทัพกลับไป และพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด สมความปรารถนาที่ตั้งไว้ตั้งแต่พระชาติที่เกิดเป็นมาณพหนุ่ม แบกมารดาอยู่กลางทะเล

     นอกจากนี้ ด้วยความเมตตาของพระพุทธองค์ที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายตั้งแต่ครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ จึงไม่ได้ย่อท้อต่อการสั่งสอน เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ฟังคำสอนอันประเสริฐ รู้ความจริงของชีวิต จะได้หลุดพ้นอย่างเช่นพระองค์ โดยตลอด 45 พรรษา พระองค์ไม่ได้ทรงอยู่นิ่งเฉย ทรงเสด็จพุทธดำเนินจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนา แม้หนทางจะยากลำบากเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยหยุดที่จะทำหน้าที่เป็นครูของโลก สั่งสอนสรรพสัตว์ตลอดพระชนม์ชีพ จนทำให้มีผู้เลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และสามารถหักล้างความเชื่อที่มีอยู่ดั้งเดิมได้ พระพุทธศาสนาจึง มั่นคงอยู่ในชมพูทวีปได้ และคงอยู่ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

      ฉะนั้น พระธรรมคำสอนที่พระองค์ได้จากการตรัสรู้นั้น จึงเป็นถ้อยคำอันทรงคุณค่า มีอานุภาพอันไม่มีประมาณ เมื่อผู้ใดได้ปฏิบัติตามย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญในชีวิต และหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ในที่สุด เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง และไม่จำกัดด้วยกาลเวลา จะมาพิสูจน์เวลาไหนก็ย่อมได้ ดังภาษาบาลีที่ว่า

“ สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัตจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ”




1) อวิทูเรนิทานกถา, ขุททกนิกาย อปทาน, มก. เล่ม 70 หน้า 143.
2) อปัณณกวรรค อวิทูเรนิทาน ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 55 หน้า 123.
3) อปัณณกววรค อวิทูเรนิทาน, ขุททกนิกาย, มก. เล่ม 55 หน้า 124.
4) ต้นอชปาลนิโครธ คือ ต้นไทรซึ่งเป็นที่พักของคนเลี้ยงแพะ
5) ในประเด็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อการแสดงธรรมนั้น ในหนังสือคุณานันทเถระ
(มูลนิธิธรรมกาย. คุณนันทเถระ ผู้กอบกู้พระพุทธศาสนาในศรีลังกา. กรุงเทพฯ : หจก. เอส.พี.เค. เปเปอร์ แอนด์ ฟอร์ม, 2548. หน้า 114.
6) ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก.เล่ม 6 หน้า 44.
7) อนันตลักขณสูตร, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 หน้า 52.
8) อนุปุพพิกถา คือ กถาที่กล่าวแสดงเป็นลำดับสืบต่อกันไป มี 5 ลำดับ ได้แก่ ทานกถา แสดงเรื่องการให้ สีลกถา แสดง เรื่องการรักษา สัคคกถา แสดงเรื่องสวรรค์
กามาทีนวกถา แสดงถึงโทษของกาม ความเศร้าหมองของกาม และเนกขัมมานิสังสกถา แสดงถึงอานิสงค์ในการหลีกออกจากกาม.
9) เรื่องพ้นจากบ่วง,พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 หน้า 72.
10) อาทิตตปริยายสูตร, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 หน้า 105.
11) ปัพพชาสูตรที่ 1, ขุททกนิกาย สุตตนิบาต, มก. เล่ม 47 หน้า 392.
12) พระอัสสชิเถระ, พระวินัยปิฎก มหาขันธกะ, มก. เล่ม 6 หน้า 123.
13) มหาปทานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค. เล่ม 10 ข้อ 7 หน้า 4.
14) ฝนโบกขรพรรษ คือ ฝนที่ตกลงมาแล้ว ถ้าใครปรารถนาจะให้เปียกก็เปียก แต่ถ้าผู้ใดไม่ปรารถนาให้เปียกก็ไม่เปียก
15) ครุธรรม 8 ประการ, พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์, มก. เล่ม 4 หน้า 363.
16) ปักขมานัต ได้แก่ มานัตกึ่งเดือนที่สงฆ์ให้แก่นางภิกษุณี เพื่อเปลื้องอาบัติที่ตนปกปิดไว้หรือไม่ได้ปกปิดไว้
17) พระพุทธนิรมิต คือ กายของพระองค์ที่พุทธเจ้าทรงเนรมิตขึ้นมาอีก 1 พระองค์ เพื่อให้แสดงธรรมแทนพระองค์
18) มหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 หน้า 276.

พุทธประวัติ ตอน ประสูติพุทธประวัติ ตอน ตรัสรู้พุทธประวัติ ตอน ประกาศพระศาสนาพุทธประวัติ ตอน ปรินิพพาน

ประสูติ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _

 

   ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  สละชีวิตเป็นเดิมพันสร้างบารมี
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  เลือกเกิดได้ด้วยพระบารมี
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  นั่งขัดสมาธิอยู่ในครรภ์พระมารดา
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ได้ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ได้รับพยากรณ์
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน : พระราชบิดาทำความเคารพด้วยความเลื่อมใส
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน : 7 ขวบ เรียนจบ 18 สาขา ภายใน 7 วัน
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ชีวิตสุขสบายดังอยู่ในสรวงสวรรค์
 
ตรัสรู้ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _


   ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  มีทุกอย่างที่ชาวโลกต้องการ แต่สละเพื่อเสด็จออกผนวช
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ออกบวชช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  อธิษฐานเป็นบรรพชิต
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  เรียนจบสุดความรู้ของอาจารย์
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  แสวงหาทางพ้นทุกข์
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  บำเพ็ญเพียรทางจิต
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ชนะมารตั้งแต่ยังไม่ตรัสรู้
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยการทำสมาธิภาวนา
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ค้นพบสุดยอดแห่งความรู้
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  บรมครูผู้ยิ่งใหญ่

 

ประกาศพระศาสนา _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ 


  ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ใครปฏิบัติตามคำสอนก็จะบรรลุธรรมได้
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ประกาศพระศาสนานำพาสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   เวฬุวันมหาวิหาร..วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   สอนได้ทุกระดับชั้น ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหม
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   โอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนา
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  โปรดพุทธบิดา พุทธมารดา
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   เปิดโลกทั้งสามด้วยพุทธานุภาพ
 
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ไปโปรดยักษ์

ปรินิพพาน _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ 


   ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ทรงปลงอายุสังขาร
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ทำหน้าที่ครูเป็นครั้งสุดท้าย
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  เสด็จดับขันธปรินิพพาน
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน : แบ่งพระพรมสารีริกธาตุ
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับพุทธประวัติ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

 
   ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ม้ากัณฐกะ มีความสำคัญอย่างไร ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ถวายภัตตาหารครั้งใด มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ที่สุด ?
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ต้นพระศรีมหาโพธิ์เดิมชื่อว่าต้นอะไร ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ทำไมพราหมณ์โกณฑัญะบรรลุธรรมก่อนใครๆ ?
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  พรหมมีชีวิตเป็นอมตะจริงหรือ..
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  รู้ไหมว่า.. 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   กว่าใครสักคนจะมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น.. 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ต้องอดทนสร้างบารมีมานานสักเท่าใด ?
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  คนเราเลือกเกิดได้รึเปล่า ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ไก่งามเพราะขน แล้วคนงาม..งามได้อย่างไร ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ไขข้อข้องใจ ศิลปศาสตร์ 18 ประการคืออะไร ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   วัดใดเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาและเกิดขึ้นเมื่อไร ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  หลักธรรมใด ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  รู้ไหมเอ่ยว่า...
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ทำไม? พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์ 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  องคุลิมาลตัดนิ้วคนมาคล้องคอเพราะอะไร ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  ใครรู้วันตายของตัวเองบ้าง ? พระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ทรงรู้ 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ใคร คือพระภิกษุผู้เป็นเลิศถึง 5 ประการ ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  อ๊ะ อ๊ะ ตาวิเศษเห็นนะ ตาทิพย์.. (เหลือเชื่อ แต่เป็นเรื่องจริง) 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :  พระบรมสารีริกธาตุไปไหน ? 
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการมีอะไรบ้าง รู้ไหมเอ่ย?
  
ประวัติพระพุทธเจ้า ตอน :   พระเจ้าจักรพรรดิคือใคร..?


http://goo.gl/cR56wb


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      วันวิสาขบูชา 2566 ประวัติวันวิสาขบูชา
      วันมหาปูชนียาจารย์ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี
      วันออกพรรษา 2566 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันสมาธิโลก 2566 World Meditation Day
      วันอาสาฬหบูชา 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติ
      วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความสำคัญธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
      วันคุ้มครองโลก EarthDay ประวัติและความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก
      วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
      วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
      ทอดกฐินทุกวัดทั่วไทย สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน
      เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
      ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ