วันอัฏฐมีบูชา ประวัติความสำคัญธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน https://dmc.tv/a10772

บทความธรรมะ Dhamma Articles > พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา
[ 2 พ.ค. 2565 ] - [ ผู้อ่าน : 18264 ]
วันอัฏฐมีบูชา วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
 
วันอัฏฐมีบูชา ประวัติ ความสำคัญ และธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
ในปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์
ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2566
 

วันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา


     วันอัฏฐมีบูชา  เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส วันอัฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ ๘ วัน คือหลังจากวันวิสาขบูชาแล้ว ๘ วัน เป็นที่น่าเสียดายว่า วันอัฏฐมีบูชานี้ ในเมืองไทยเรามักลืมเลือนกันไปแล้ว จะมีเพียงบางวัดเท่านั้น ที่จัดให้มีการประกอบกุศลพิธีในวันนี้
 
     วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ  (เผาศพพระพุทธเจ้า) วันนี้จึงเรียกว่า “วันอัฏฐมีบูชา” ซึ่งประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา คือ เมื่อวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ในพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าได้ทรงประชวรหนัก ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ทรงปลงมายุสังขาร โดยพระพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

           “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ” 
 (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๐๐/๑๐๘)
 
วันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชาคือวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๗ วัน มัลลกษัตริย์ แห่งนคร กุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์ อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ และภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์และ ผู้ครองแคว้นต่าง ๆ
รวม ๗ แคว้น ได้แก่

       (๑.) พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองมคธ
       (๒.) กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี   
       (๓.) กษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์
       (๔.) กษัตริย์ถูลี เมืองอัลกัปปะ   
       (๕.) กษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม 
       (๖.) มหาพราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ และ
       (๗.) กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา

     ได้ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ตอนแรกพวกเจ้ามัลละ แห่งนครกุสินารา ไม่ยอมแบ่งให้จนเกือบจะเป็นชนวน ให้เกิดสงครามระหว่างพวกเจ้ามัลละกับกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง ๗ แคว้นที่มาขอส่วนแบ่ง
แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งก็ระงับลงได้โดยมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ “โทณะ” เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์ และพราหมณ์เหล่านั้น ความว่า “ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำอันเอกของข้าพเจ้าพระพุทธเจ้าของเรา ทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ การจะสับประหารกันเพราะส่วนพระสรีระ ของ พระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคลเช่นนี้ไม่ดีเลย ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอมพร้อมใจยินดีแบ่งพระสรีระออกเป็นแปดส่วนเถิด ขอพระสถูปจงแพร่หลายไป ในทิศทั้งหลาย ชนผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุมีอยู่มาก ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๕๘/๑๓๒)
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ
 
    ด้วยวาทะของโทณะพราหมณ์ ทำให้มัลละกษัตริย์ยอมปรองดองกับกษัตริย์และพราหมณ์ โดยตกลงกันให้โทณะพราหม์เป็นผู้จัดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่แคว้นต่าง ๆ โดยเท่ากัน ซึ่งโทณะพราหมณ์ด้รับทะนานทองที่ใช้ในการตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่ระลึก
 
     ในวันอัฏฐมีบูชาหรือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนั้น นับเป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธมีความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียประทีปที่นำทางให้มวลมนุษย์ก้าวล่วงสังสารวัฏ ดังนั้นเมื่อวันอัฏฐมีบูชาเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาในแต่ละวัด จะได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นการเฉพาะภายในวัด แต่วิถีการปฏิบัติกัน มาแต่เมื่อใดนั้น ไม่พบหลักฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่

ประวัติความเป็นมา

     พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ใน เมืองกุสินาราตลอด ๗ วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๘ คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวาย พระเพลิง

     พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะพระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ก็เทวดา เหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี

     ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระและหมู่ภิกษุเดินทางจากเมืองปาวา หมายจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ระหว่างทาง ได้พบกับพราหมณ์คนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพสวนทางมา พระมหากัสสปะได้เห็นดอกมณฑารพก็ทราบว่า มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ดอกไม้นี้มีเพียงในทิพย์โลก ไม่มีในเมืองมนุษย์ การที่มีดอกมณฑารพอยู่ แสดงว่าจะต้องมีอะไร เกิดขึ้นกับพระศาสดา พระมหากัสสปะถามพราหมณ์นั้นว่า ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระศาสดาบ้างหรือไม่ พราหมณ์นั้นตอบว่า พระสมณโคดมได้ปรินิพพานไปล่วงเจ็ดวันแล้ว "พระศาสดาปรินิพพานแล้ว" คำนี้เสียดแทงใจของพระภิกษุปุถุชนยิ่งนัก พระภิกษุศิษย์ของพระมหากัสสปะบางรูป ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็กลิ้งเกลือกไปบนพื้น บ้างก็คร่ำครวญร่ำไห้ ว่า "พระศาสดาปรินิพพานเสียเร็วนัก" ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว ย่อมเกิดธรรมสังเวชว่า "แม้พระศาสดา ผู้เป็นดวงตาของโลก ยังต้องปรินิพพาน สังขารธรรมไม่เที่ยงแท้เสียจริงหนอ"
 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
 

     แต่ในหมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น เสียงของสุภัททะวุฑฒบรรพชิตก็ดังขึ้น "ท่านทั้งหลายอย่าไปเสียใจเลย พระสมณโคดมนิพพานไปซะได้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่าสิ่งนี้สมควรกับเรา สิ่งนี้ไม่สมควรกับเรา" คำพูดของหลวงตาสุภัททะ เป็นที่สังเวชต่อพระมหากัสสปะยิ่งนัก ท่านคิดว่า "พระผู้มีพระภาคยังนิพพานไปได้ไม่นาน ก็มีภิกษุบาปชนกล่าวจาบจ้วงพระศาสดา จาบจ้วงพระธรรมวินัยเช่นนี้ ถ้าเวลาผ่านไป ก็คงมีภิกษุบาปชนเช่นนี้ กล่าวจาบจวงพระธรรมวินัยเกิดขึ้นเป็นอันมาก" แต่ท่านก็ยั้งความคิดเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะกระทำสิ่งใดๆ นอกจากจะต้องจัดการ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสียก่อน

     เมื่อพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า "ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆฟุ้งขึ้นเลย เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น เหล่าเจ้ามัลละก็ปะพรมพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยของ หอม ๔ ชนิด รอบๆบริเวณ ก็โปรยข้าวตอกเป็นต้น แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก) เพื่อป้องกันภัย แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน ห้อยพวง ของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน ตลอดทางติดธง ๕ สีโดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย พวกเจ้ามัลละนำพระธาตุทั้งหลายวางลงในรางทองแล้ว อัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระธาตุเข้าพระนครประดิษฐานไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ อย่าง กั้นเศวตร ฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขาอย่างนี้คือ "จัดเหล่าทหารถือหอกล้อมพระธาตุไว้ จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้ พ้นจากเหล่าช้างก็เป็น เหล่า ม้าเรียงลำดับคอต่อกัน จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบรอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่" พวกเจ้ามัลละจะจัดฉลองพระบรมธาตุตคลอด ๗ วัน ต้องการความมั่นใจว่า ๗ วัน นี้แม้จะมีการละเล่นก็เป็นการละเล่นที่ไม่ประมาท
 
วันอัฏฐมีบูชาเกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
การปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      หลังจากนั้น เมื่อข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสรีระกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุแล้ว เหล่ากษัตริยน์ในนครต่างๆ เมื่อทราบข่าวก็ปรารถนาจะได้พระบรมธาตุไปบูชา จึงส่งสาสน์ ส่งฑูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคของเรา" "พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น กษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราจึงมีส่วนที่จะได้พระบรมธาตุบ้าง" เหล่ามัลละกษัตริย์ก็ไม่ยอมยกให้ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานในเมืองของเรา" ดังนั้น กษัตริย์ในพระนครต่างๆ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แคว้นมคธ และกษัตริย์เหล่าอื่นๆ จึงยกกองทัพมาด้วยหวังว่า จะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อยกกองทัพ มาถึงหน้าประตูเมือง ทำท่าจะเกิดศึกสงครามแย่งชิงพระบรมธาตุ ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ โทณพราหมณ์ หวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จึงขึ้นไปยืนบนป้อมประตูเมือง ประกาศว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น ๘ ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะ ผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก"

     ในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุว่าหมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่านนั่นแหละจงแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อย เถิด โทณพราหมณ์ รับคำของหมู่คณะเหล่านั้นแล้ว แบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าวกับหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่าน จงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ

     พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้ เราก็เป็นกษัตริย์เราควรจะได้ส่วนพระสรีระ พระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้น นำพระอังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ
 
วันสลายพระสรีระ
มกุฏพันธนเจดีย์สถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ

     ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในพระนครราชคฤห์ พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลอง พระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองอัลกัปปะ พวกกษัตริย์ โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้ กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและ การฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและ การฉลองตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะ เมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการ ฉลองพระอังคารในเมือง ปิปผลิวัน ฯ พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะเป็นสิบแห่ง ทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและการก่อ พระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ

     พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนานหนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ใน คันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ใน แคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ฯ ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้านั้นแหละ แผ่นดินนี้ชื่อว่า ทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลาย จงประนมมือ ถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระพุทธเจ้า ทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ ๔๐ องค์บริบูรณ์ พระเกศาและ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ  ( พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อที่ ๑๕๙-๑๖๒)
 
 
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
 
 
   การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม แม้สมัยก่อนอาจจะมีงานฉลองในพิธีวันอัฏฐมีบูชาบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกราไปมากแล้ว คงมีไม่กี่วัด  ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ บางวัดในบางจังหวัด ยังมีการนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฎฐมีบูชานี้อยู่บ้าง บางแห่งถึงกับจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลด้วย เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์
 
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับวันอัฏฐมีบูชา
 

http://goo.gl/V4SOX


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      วันวิสาขบูชา 2566 ประวัติวันวิสาขบูชา
      วันมหาปูชนียาจารย์ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี
      วันออกพรรษา 2566 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันสมาธิโลก 2566 World Meditation Day
      วันอาสาฬหบูชา 2566 ประวัติความเป็นมาความสำคัญและธรรมเนียมปฏิบัติ
      วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร
      วันคุ้มครองโลก EarthDay ประวัติและความเป็นมาของวันคุ้มครองโลก
      วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
      วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
      ทอดกฐินทุกวัดทั่วไทย สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน
      เวียนเทียนวันวิสาขบูชา
      ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ