ของจริงต้องคู่กับคนจริงนั้นเป็นอย่างไร

ข้อความที่ว่า “ของจริงต้องคู่กับคนจริง” นั้นเป็นอย่างไร? ทำไมบางคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม สวดมนต์นั่งสมาธิไม่เคยขาด แต่ยังไม่เข้าถึงพระธรรมกายบางคนกว่าจะชวนเข้าวัดได้ก็แสนยาก แต่พอมานั่งสมาธิกลับเข้าถึงพระธรรมกายได้ง่าย ๆ https://dmc.tv/a20299

บทความธรรมะ Dhamma Articles > หลวงพ่อตอบปัญหา
[ 11 ก.ค. 2558 ] - [ ผู้อ่าน : 18256 ]
ของจริงต้องคู่กับคนจริงนั้นเป็นอย่างไร

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
 
 
    ข้อความที่ว่า “ของจริงต้องคู่กับคนจริง” นั้นเป็นอย่างไร? ทำไมบางคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม สวดมนต์นั่งสมาธิไม่เคยขาด แต่ยังไม่เข้าถึงพระธรรมกายบางคนกว่าจะชวนเข้าวัดได้ก็แสนยาก แต่พอมานั่งสมาธิกลับเข้าถึงพระธรรมกายได้ง่าย ๆ

    เรามาทบทวนกันก่อนว่า เราปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร ระดับแรกคือเพื่อฝึกให้ใจหยุดนิ่งระดับที่สองคือเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายในตัว และระดับที่สามคือด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกายจึงเห็นอริยสัจ ๔ นั่นคือเห็นและกำจัดกิเลสได้

    จากเส้นทางการปฏิบัตินี้ จึงทำให้เรามองออกว่า อริยสัจ ๔ ไม่ใช่เรื่องห่างไกลจากตัวเราเลย

   เพราะเป้าหมายชีวิตจริง ๆ ของพวกเรา คือการปฏิบัติธรรมเพื่อจะเข้าถึงธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว เข้าถึงแล้ว ไปเห็นมาแล้ว ซึ่งก็คือการตรัสรู้อริยสัจ ๔

   อริยสัจ ๔ เป็นความประเสริฐอันแสนวิเศษ เพราะใครที่ได้รู้เรื่องความจริงนี้ แม้เพียงรู้จักจากคำบอกเล่าของพระพุทธองค์ ก็จะเริ่มค้นหาทางออกจากทุกข์ที่วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร เมื่อหาทางออกเจอแล้ว ก็จะพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารได้ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ สรุปได้ว่า

         ๑. ชีวิตนี้เป็นทุกข์
         ๒. ทุกข์นี้เกิดจากกิเลสที่ฝังอยู่ในใจ
         ๓. ทุกข์ทั้งหลายแก้ได้ กำจัดได้
         ๔. ข้อปฏิบัติในการกำจัดทุกข์กำจัดกิเลส คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการ

    ความจริง ๔ ประการนี้ต้องรีบรู้ แล้วลงมือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ใจจึงจะหยุดจะนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว ก็จะเข้าถึงพระธรรมกายในตัว

     แต่การจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ แล้วเข้าถึงพระธรรมกายได้นั้น มีทางเดียวคือ ต้องมีสัจจะคือ ต้องจริง

    ถ้าคุณปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้จริง คุณก็จะเข้าถึงพระธรรมกายจริง แล้วคุณก็จะได้เห็นอริยสัจ ๔ จริง แล้วคุณก็จะปราบกิเลสได้จริง มันจริงเป็นชั้น ๆ เป็นขั้นตอนการฝึกตัวไปตามลำดับอย่างนี้

    การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะต้องมีสัจจะทำจริงใน ๕ สถาน คือ ปฏิบัติให้สมกับหน้าที่ให้สมกับการงาน ให้สมต่อวาจา ให้สมต่อบุคคลทุกคนที่เราต้องเกี่ยวข้อง และให้สมต่อความดี

ปฏิบัติจริง ๕ สถาน ชื่อว่าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จริง

       ๑. จริงต่อหน้าที่
       ๒. จริงต่อการงาน
       ๓. จริงต่อบุคคล
       ๔. จริงต่อวาจา
       ๕. จริงต่อความดีหรือธรรมะ

      สิ่งที่ขาดตกบกพร่องไปในการนั่งสมาธิของเรา ทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้าก็อยู่ตรงนี้เอง ตรงที่การจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะขณะที่เรานั่งสมาธิ แต่ต้องต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงขณะปฏิบัติหน้าที่การงานอื่นๆ ด้วย

๑-๒. สัจจะต่อหน้าที่และการงาน

     หน้าที่ คือ ภารกิจที่ต้องรับทั้งผิดทั้งชอบ โอนให้ใครไม่ได้

      การงาน คือ สิ่งที่ต้องทำตามหน้าที่ที่เรารับผิดชอบทันทีที่เกิดมา เราก็ต้องมีหน้าที่แล้ว ตั้งแต่หน้าที่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ถ้าเราไม่ใช่คนโตก็ต้องเป็นน้องที่ดีของพี่เขาด้วย แล้วก็ต้องเป็นหลานที่ดีของปู่ย่า ตายาย ของลุงป้า น้าอา อีกด้วยเมื่อโตขึ้นมาอีกนิดไปโรงเรียนก็มีหน้าที่เป็นลูกศิษย์ที่ดี ไปที่โรงเรียนมีเพื่อนก็เลยต้องมีหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดี

   เมื่อโตขึ้นมาก็มีหน้าที่เป็นประชาชนที่ดี ต่อมาแต่งงานแต่งการก็มีหน้าที่เป็นสามีที่ดี เป็นภรรยาที่ดี ต่อมามีลูกมีเต้าก็ต้องเป็นพ่อที่ดีเป็นแม่ที่ดี ครั้นเมื่อมาบวชเป็นพระก็มีหน้าที่ตามที่พุทธองค์ทรงสั่งไว้ ต้องเป็นพระที่ดีเมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ต่างก็มีหน้าที่ติดตัวมา บางอย่าง เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ บางอย่างก็เป็น หน้าที่ที่เกิดตามความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง แต่ละหน้าที่ก็มีการงานที่ต้องทำตื่นเช้าขึ้นมา หน้าที่หลักของชีวิตคือเราจะต้องไปปราบกิเลสให้หมดไปให้ได้ด้วยการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เราก็ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติธรรมบ่มเพาะ สัมมาทิฐิ สัมมาสมาธิ

     ตั้งแต่เช้ามืด เราก็สวดมนต์ทำวัตรนั่งภาวนาไปกับคุณครูไม่ใหญ่ กลางวันก็แบ่งเวลาทุกชั่วโมงขอ ๑ นาที เพื่อหยุดใจนึกถึงดวง นึกถึงองค์พระ หรือทำใจนิ่ง ๆ ว่าง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอตกกลางคืนถึงเวลามาศึกษาธรรมะ มาดู DMC ฟังธรรมะจากคุณครูไม่ใหญ่ คุณครูไม่เล็ก หรือจากพระอาจารย์ พอเสร็จเรียบร้อยก็ต้องทำภาวนาตามเทปของคุณครูไม่ใหญ่

     การที่พวกเราปฏิบัติกันอย่างนี้ได้ทุกวันทุกคืน กลายเป็น สัจจะต่อหน้าที่นักสร้างบารมีที่ดีอย่างนี้เขาเรียกว่ามีสัจจะต่อหน้าที่ มีสัจจะต่อการงาน

     นอกจากนี้เรายังมีหน้าที่จะต้องรักษากายนี้ให้ดี ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เพราะจะต้องใช้กายนี้ไปสู้กับกิเลส มีการงานต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ บ้างเป็นผู้ผลิต บ้างทำธุรกิจ บ้างรับราชการบ้างทำงานเอกชน ต่างก็ทำเพื่อจะได้มีปัจจัย ๔ เอามาเลี้ยงตัวทั้งเรื่องกินเรื่องใช้

     ยิ่งคนมีครอบครัว ตื่นขึ้นมาแม่บ้านมีการงานที่จะต้องทำในการดูแลพ่อบ้าน พ่อบ้านก็มีหน้าที่การงานที่ต้องทำต่อแม่บ้านเช่นกัน

     สัจจะต่อหน้าที่และการงาน ในเชิงปฏิบัติท่านใช้คำว่าต้อง จริงจัง จึงจะถือว่ามีสัจจะ ไม่ทำอะไรเป็นเล่น ไม่เป็นสามีภรรยากันเล่น ๆ ไม่เลี้ยงลูกแบบเล่น ๆ อย่างกับเล่นตุ๊กตา มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ทำการงานอะไรแล้ว ต้องเสร็จ ต้องทันเวลา และต้องดี

๓-๔. สัจจะต่อบุคคลและต่อวาจา

     หน้าที่การงานทั้งหมดนี้เราต้องทำกับคนอื่น จึงต้องมีสัจจะต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย และแน่นอนว่ารวมถึงมีสัจวาจาด้วยสัจจะต่อหน้าที่ผูกพันมาถึงสัจจะต่อการงาน เช่นเดียวกับที่สัจจะต่อบุคคลก็จะต้องมีสัจจะต่อวาจาด้วย

     สัจจะต่อวาจาและสัจจะต่อบุคคล โบราณาจารย์ท่านสรุปว่านี้เป็นลักษณะของ ความจริงใจก่อนจะพูดจาอะไรกับใครให้คิดแล้วคิดอีก ยิ่งถึงกับตกลงสัญญากับใครไว้แล้ว ห้ามเบี้ยว ห้ามบิดห้ามพลิ้ว ทำงานกับใครก็ถนอมใจกันบ้าง เห็นใจกันบ้าง เป็นตายก็ไม่ทิ้งกัน นี้คือลักษณะของความจริงใจทั้งต่อบุคคล ทั้งต่อวาจาคำพูดของเรา

     วันใดขาดความจริงใจ ขณะที่มานั่งปฏิบัติธรรมจึงมีอะไรคอยผุดมากวนเรา องค์พระทำท่าจะชัด เรื่องบางอย่างกลับโผล่ขึ้นมากวนจิตใจเมื่อจริงใจต่อวาจาทุกคำที่พูด ต่อทุกคนที่เราคบค้าสมาคม สิ่งนั้นจะเป็นเหตุให้เราทำใจหยุดทำใจนิ่งหรือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้ครบบริบูรณ์เร็ว

๕. สัจจะต่อความดี

     จริงต่อหน้าที่ จริงต่อการงาน จริงต่อบุคคล จริงต่อคำพูดแล้ว ยิ่งไปกว่านี้ยังต้องจริงแสนจริงต่อความดีอีกด้วย

     จริงต่อความดี คือ รู้ว่าอะไรดี รู้ว่าอะไรชั่ว อะไรที่ชั่วแล้วไม่ต้องรอให้ใครมาเตือน พอรู้ว่าชั่วหยุดทันที หยุดกึกหักดิบ รู้ว่าอะไรดีทุ่มชีวิตทำไป รู้ว่านิสัยอันนี้มีกับเราแล้วจะดีก็บ่มเพาะเข้าไป ธาตุทรหดดีก็เพิ่มเข้าไป รู้ว่านิสัยงอแงขี้แยน้อยใจไม่ดีก็หักดิบเลิกให้ได้ นี้คือคำว่าจริงต่อความดี

    จริงต่อความดีนี้เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะเรียกว่าจริงจัง เกินกว่าจะเรียกว่าจริงใจ เขาจึงเรียกว่าจริงแสนจริงต่อความดี เมื่อจริงแสนจริงต่อความดีอย่างนี้ ใจก็หยุดก็นิ่ง แล้วนิ่งเร็วด้วยของจริงคู่กับคนจริงของจริง ก็คือ พระธรรมกายที่อยู่ภายในตัว เข้าถึงได้ด้วยใจหยุดใจนิ่งจริง เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จริง

     คนจริง หมายถึง ผู้ที่มีทั้งความจริงจัง จริงใจ และจริงแสนดี สมบูรณ์อยู่ในตัวการที่เราพาเพื่อนเข้าวัด กว่าจะเอาตัวมาได้ว่ายากนัก แต่พอเขามาถึงปุ๊บ วันนั้นเขากับเราก็นั่งสมาธิพร้อม ๆ กัน ปรากฏว่า เพื่อนเข้าถึงองค์พระแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นบอกได้เลยว่า เพื่อนของคุณคนนั้นเขาเป็น คนจริง เขาได้ฝึกสัจจะ ๕ ประการนี้ผ่านหน้าที่การงาน ผ่านบุคคลผ่านคำพูด และการแก้ไขนิสัยใจคอมาตลอดชีวิตของเขา เขาทำอย่างนี้มานาน เขาเลยเป็นคนที่ใจนิ่งได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

     บุคคลประเภทนี้เป็นบุคคลประเภทนิ่งจริง ไม่ว่าอะไรที่มาถึงเขา เขาทำดีเยี่ยมเลยเกิดอุปสรรคอะไรขึ้นมาไม่เคยโวยวายสักคำ นิ่งหาช่องทางแก้ไขอยู่ตลอดเวลา แล้วเขาก็ประสบความสำเร็จในชีวิตมาตามลำดับ ๆ

     บุคคลประเภทนี้มาถึงวัดเมื่อใด นั่งเดี๋ยวเดียวเขาก็ใจหยุดใจนิ่งเข้าถึงพระธรรมกายในตัวได้ส่วนใครที่ยังไม่ได้ฝึกตัวทั้ง ๕ ประการนี้มาดีพอ เข้าวัดมาแล้วก็ต้องใช้เวลาฝึกก่อนถึงจะมีโอกาสเข้าถึงธรรม แต่ถ้าวัดก็ไม่เข้า ฝึกก็ไม่ฝึก แบบนี้คงต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะเข้าถึงธรรม

     ดังนั้น การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในการปฏิบัติจริง ๆ แล้ว กลับเหลือเพียงการฝึกสัจจะ ๕ สถาน โดยมีวิธีวัดง่าย ๆ ว่า สัจจะ ๕ ประการของเราสมบูรณ์ดีไหม ถ้าสัจจะทั้ง ๕ ประการของเรานี้สมบูรณ์ เราต้องสว่าง ถ้ายังมืดอยู่ก็แสดงว่าทั้ง ๕ ประการนี้ยังไม่ครบเมื่อ ๕ ประการนี้ไม่ครบ มรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่ครบ ก็ให้ไปทบทวนสัจจะ ๕ สถานของตัวเองให้ดี ว่าหน้าที่การงานทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ความจริงใจที่มีต่อทุกคน เคยพูดเคยจาอะไรกันไว้อย่างไร ก็ไปทบทวนดูว่า เราขาดตกบกพร่องอะไรบ้าง ประการสุดท้าย ตรวจสอบนิสัยตัวเองว่า ความไม่เข้าท่าทั้งหลายที่เราเคยแก้ไขไปแล้วก็อย่าให้มันย้อนกลับมาอีกสำรวจตรวจสอบสัจจะทั้ง ๕ ประการของตัวเองได้ละเอียดเท่าไร ก็จะกลายเป็นพรที่ให้แก่ตัวเอง “ให้เราได้เป็นคนจริงเพื่อจะได้พบของจริง” ขอให้ทุกท่านทุกคนสามารถแก้ไขปรับปรุงสัจจะทั้ง ๕ สถานนี้ได้ แล้วเข้าถึงพระธรรมกายเป็นอัศจรรย์เทอญ





พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน
      สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
      "สังคมเปลี่ยนไป" แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร ?
      หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
      คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาหรือไม่
      อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก
      การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร
      ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง
      เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
      เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
      เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
      การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร
      การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related