ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 4 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 นักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยว
  • Members
  • 2378 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:รู้สึกว่าจะไม่ค่อยได้อยู่กะที่อ่ะ มาดูอารายกานอ่ะ
  • Interests:มาสร้างบารมีตามติดหมู่คณะดีกว่า

โพสต์เมื่อ 18 September 2006 - 10:19 PM

พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา ดุจเดียวกับคัมภีร์ไบเบิลของคริสตศาสนา คัมภีร์อัลกุรอาน ของศาสนาอิสลาม และไตรเพท ของศาสนาพราหมณ์

ตามรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" (บาลี-ติปิฏกํ หรือเตปิฏกํ) มาจาก พระ (คำยกย่อง แปลว่า ประเสริฐ) + ไตร (สาม) + ปิฎก (ปิฏก) รวมแล้วแปลว่า ปิฎกสามอันประเสริฐ

เฉพาะคำว่า "ปิฎก" (บาลี - ปิฏกํ) พระอรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ 2 ประการ คือ

1. ปิฎก หมายถึง คัมภีร์หรือตำรา ดังประโยคบาลีว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อถือโดยการอ้างตำรา

2. ปิฎก หมายถึง ภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ดังประโยคบาลีว่า อถ ปุริโส อาคจฺเฉยํย กุทฺทาลปิฏกมาทาย ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งถือจอบและตะกร้าเดินมา

ดังนั้น พระไตรปิฎก จึงหมายถึงคัมภีร์หรือตำราที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า (และของพระสาวกสำคัญบางรูป) รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ดุจเดียวกับตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ ไว้

ปิฎกทั้ง 3 คือ

1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง คำบรรยายธรรมบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป

3. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยาและอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา

การจัดรูปแบบพุทธวจนะในสมัยพุทธกาล

สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น หลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระองค์ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่หรือเป็นระเบียบแบบแผนแต่อย่างใด ยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึกคำสอนดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันสมัยนั้น 2 อย่างคือ

(1) เรียก พรฺหฺมจริย (พรหมจรรย์) ดังพุทธวจนะที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันต์สาวก 60 รูป ไปเผยแผ่พระศาสนาครั้งแรกว่า

จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย
อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ
มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ
ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อxxxลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อxxxล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง

(2) เรียกว่า ธมฺมวินย (ธรรมวินัย) ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชาก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ มยา เทสิโต
ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา

ดูก่อนอานนท์ ธรรม และ วินัย ใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว
บัญญัติไว้แล้ว ธรรม และ วินัย นั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว

มีหลักฐานบางประการบ่งชี้ว่า
ได้มีการแบ่งพุทธวจนะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งบ้างแล้ว เช่น

1. แบ่งเป็น นวังคสัตถุสาสน์ (สัตถุสาสน์ 9 ประการ) คือ

(1) สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน อรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่อุภโตวิภังค์ (ปาติโมกข์ทั้งสองฝ่าย) ขันธกะ บริวาร นิเทศ และพระสูตรในสุตตนิบาตรวมทั้งสูตรอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร" ด้วย

(2) เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมดโดยเฉพาะสคาถวรรคสังยุตตนิกาย
(3) เวยยากรณะ คำสอนประเภทที่เป็นอรรถาธิบายโดยละเอียดเป็นร้อยแก้วล้วนๆ เช่น อภิธรรมปิฎก พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นที่ไม่นับเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ

(4) คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อกำกับว่า "สูตร"

(5) อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้า และพระสาวก ส่วนมากจะเป็นบทร้อยกรอง

(6) อิติวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิงที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาอ้างเป็นตอนๆ ได้แก่ พระสูตรสั้นๆ 110 สูตรที่ขึ้นต้นด้วยว่า "วุตฺตํ เหตํ ภควตา"

(7) ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดกหรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้าขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่

(8) อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย เช่น พระพุทธองค์สมัยอยู่ในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา นั่งสมาธิผินพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าพระอุทร ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรภ์เหมือนทารกธรรมดาทั่วไป นี้เป็นเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ เป็นต้น

(9) เวทัลละ คำสอนประเภทคำถาม-คำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึง ผู้ถามได้ความรู้และความปลื้มใจแล้วก็ถามต่อไปเรื่อยๆ

การแบ่งพุทธวจนะเป็น 9 หมวดนี้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก่อนที่จะมีพระไตรปิฎก เป็นการจัดรูปแบบหรือการแบ่งหมวดหมู่ที่เก่าแก่มากเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ


--------------------------------------------------------------------------------
2. แบ่งเป็นวรรค

นอกจากแบ่งเป็นนวังคสัตถุสาสน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีเค้าส่อให้เห็นว่า พระพุทธวจนะได้ถูกรวบรวมเป็น "วรรค" แล้ว ส่วนจะมีกี่วรรคนั้นสืบไม่ได้ มีหลักฐานอยู่แห่งเดียวคือ ในพระวินัยปิฎกเล่าไว้ว่า พระโสณกุฏิกัณณะ ลัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะถูกพระอุปัชฌายะส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงลดหย่อนสิกขาบทบางข้อ พระโสณกุฏิกัณณะพักอยู่ที่เดียวกับพระพุทธเจ้า ได้สวดพระพุทธวจนะส่วนที่เรียกว่า "อัฏฐกวรรค" โดยทำนองสรภัญญะ ให้พระพุทธเจ้าฟัง

อัฏฐกวรรค ที่ว่านี้มีบันทึกอยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เป็นสูตรสั้นๆ รวม 16 สูตร

3. แบ่งเป็นหมวด 1 หมวด 10

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุสงฆ์จบแล้ว ครั้นทรงเห็นว่าพวกเธอยังมีฉันทะจะฟังธรรมต่อ จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรอัครสาวกแสดงธรรมให้พวกเธอฟังต่อ พระสารีบุตรเถระ ได้ปรารภเหตุที่พวกนิครนถ์ (พระในศาสนาเชน สาวกของมหาวีระหรือนิครนถ์ นาฏบุตร) แตกแยกความคิดเห็นกันรุนแรงหลังจากศาสดาของพวกตนล่วงลับไปไม่นาน พระเถระชี้ว่า เพราะเหตุที่ศาสดามหาวีระมิได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ จึงทำให้สาวกถกเถียงกัน ไม่ลงรอยกัน จึงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลาย "สังคายนา" (รวบรวม) ธรรมวินัยไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ยืนนานสืบไป
ธรรมะทั้ง 10 หมวดนี้ มีปรากฏอยู่ใน "สังคีติสูตร" พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 11 ทั้ง 221-263 หน้า 222-287

การแบ่งพุทธวจนะเป็นพระไตรปิฎกหลังพุทธปรินิพพาน

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียง "เค้า" ส่อให้เห็นว่าพระพุทธวจนะได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่บ้างแล้ว ในสมัยพุทธกาล แต่ยังมิได้แบ่งไว้ชัดเจนว่า หมวดนี้เป็นวินัย หมวดนี้เป็นพระสูตร หมวดนี้เป็นอภิธรรม จึงยังไม่มีคำว่า "พระไตรปิฎก" หากเรียกขานกันในนามว่า "ธรรมและวินัย" และการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบและแน่นอน ซึ่งเรียกว่า "การทำสังคายนา" นั้น เริ่มมีขึ้นหลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน และทำติดต่อกันมาเป็นช่วงๆ ทั้งหมดถึง 5 ครั้งกว่าพระพุทธวจนะจะได้รับการจารเป็นลายลักษณ์อักษร ดังจะกล่าวโดยสังเขปต่อไป

คำว่า "สังคายนา" มีความหมายทั้งกว้างและแคบ แล้วแต่ความประสงค์ของผู้ใช้และกรณีที่ใช้ (ที่กล่าวนี้มิได้รวมความหมายที่รับรู้กันในภาษาไทยทั่วไปด้วย) สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ให้ความหมายไว้ชัดเจนและครอบคลุมดังนี้

ส่วนการสังคายนานั้น แปลตามศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์ จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธ วจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้น ว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อๆ กันมา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ในครั้งต่อๆ มา ปรากฏมีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยที่ถือผิดความหมายผิดนั้นชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วทำการสังคายนาโดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลังๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลานก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดเข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริงเมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ ปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่ง เหมือนการทำความสะอาดการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย

การทำสังคายนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา การทำสังคายนาได้กระทำสืบต่อกันมาหลายครั้ง การนับจำนวนสังคายนาก็ไม่เป็นที่ยุติ เพราะพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 นิกายใหญ่ๆ (เถรวาทกับมหายาน)

แต่ละนิกายนับการทำสังคายนาไม่ตรงกัน เพราะต่างฝ่ายก็ไม่ยอมรับการทำสังคายนาของอีกฝ่ายหนึ่ง ในที่นี้จะขอยกการทำสังคายนาของสายเถรวาทเป็นหลัก

สังคายนาครั้งที่ 1 จัดทำหลังจากพุทธปรินิพพาน 3 เดือน สาเหตุเนื่องมาจากพระภิกษุบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ กล่าวดูหมิ่นพระธรรมวินัย พระมหากัสสปะเกรงว่า พระธรรมวินัยจะเสื่อมสูญ จึงเรียกประชุมสงฆ์อรหันต์ 500 รูป ทำสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเวภารพบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธานซักถามพระธรรมวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม พระอุบาลี เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์กระทำอยู่ 7 เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพาน 100 ปี สาเหตุเนื่องมาจากพระภิกษุวัชชี บุตรกลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติย่อหย่อนทางพระวินัย 10 ประการ เช่น เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อนำมาผสมอาหารไว้สำหรับฉันได้ตลอดไป เมื่อตะวันชายเกินเที่ยงวันไปแล้วประมาณสององคุลีฉันอาหารได้ รับเงินและทองได้ ฉันสุราอ่อนๆ ได้ เป็นต้น พระเถระผู้ใหญ่ร่วมมือกันกระทำการครั้งนี้ 8 รูป คือ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ พระเรวตะ พระสัมภูต สาณวาสี พระยศกากัณฑบุตร และพระสุมนะ ในการนี้พระเรวตะเป็นผู้ซักถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบ วินิจฉัยเรื่องทั้ง 10 ประการท่ามกลางประชุมสงฆ์ 700 รูป การสังคายนาครั้งนี้กระทำที่ วาลุการาม เมืองไพศาลี มีพระเจ้ากาฬาโสก เป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ 8 เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 3 กระทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 235 ปี (บางแห่งว่า 234 ปี) สาเหตุเนื่องมาจากเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น แสดงธรรมวินัยผิดแผกไปจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ด้วยความร่วมมือจาก พระเจ้าอโศกมหาราช เรียกประชุมสงฆ์จำนวน 1,000 รูป สอบสวนชำระสะสางพระธรรมวินัย กำจัดเดียรถีย์เหล่านั้น การสังคายนาครั้งนี้กระทำที่อโศการาม เมืองปาตลีบุตร ทำอยู่ 9 เดือนจึงสำเร็จ


มีข้อน่าสังเกตคือ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในจำนวนพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ และมีการส่งคณะสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังต่างประเทศด้วย ว่ากันว่าประเทศไทยได้รับสืบทอดพระพุทธศาสนามาจาก พระโสณะ และ พระอุตตระ ที่ถูกส่งมาเผยแผ่ศาสนา ณ ภูมิภาคแถบนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สังคายนาครั้งที่ 4 ทำเมื่อพุทธศักราช 238 พระมหินทเถระ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ที่ประเทศศรีลังกา มีพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นผู้อุปถัมภ์

สังคายนาครั้งที่ 5 ทำเมื่อพุทธศักราช 450 (บางแห่งว่า 433) เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะ เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเกรงว่าการถ่ายทอดโดยระบบท่องจำอาจวิปริตคลาดเคลื่อน สังคายนาครั้งนี้ทำที่อาโลกเลณสถานมตเลชนบท ซึ่งชาวไทยเรียกว่า มลัยชนบทประเทศศรีลังกา พระรักขิตมหาเถระ เป็นประธาน ทำอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัญหาการนับสังคายนา

น่าสังเกตว่า แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทด้วยกันโดยเฉพาะไทย พม่า และลังกา ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน เนื่องจากการสังคายนาบางครั้งไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น สรุปการนับสังคายนาของประเทศต่างๆ ดังนี้

(1) ประเทศศรีลังกา ยอมรับการสังคายนา 3 ครั้งที่ประเทศอินเดีย และนับจากสังคายนาที่ประเทศของตนต่อมาอีก 3 ครั้ง ครั้งที่ 6 หรือครั้งสุดท้ายของลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. 2406 ที่รัตนปุระ ประเทศศรีลังกา พระหิกขทุเว สิริสุมังคละ เป็นประธาน กระทำอยู่ 4 เดือนจึงสำเร็จ การสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รับรู้กันเฉพาะในศรีลังกาเท่านั้น

(2) ประเทศพม่า นับสังคายนาที่ทำที่อินเดีย 3 ครั้ง แล้วนับครั้งที่ 2 ที่ทำที่ศรีลังกา (สังคายนาครั้งที่ 5 พ.ศ. 450 หรือ 433) เป็นครั้งที่ 4 และมีเพิ่มครั้งที่ 5 และ 6 ที่ประเทศพม่า คือ

สังคายนาครั้งที่ 5 ทำให้รัชสมัยพระเจ้ามินตง พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิชชะ และพระสุมังคลสามี ผลัดกันเป็นประธาน ท่ามกลางที่ประชุมพระ และคฤหัสถ์ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก 2400 ท่าน กระทำอยู่ 5 เดือนจึงสำเร็จ สังคายนาครั้งนี้มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414

สังคายนาครั้งที่ 6 เนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษของพม่า รัฐบาลพม่าได้เชิญผู้นำชาวพุทธต่างประเทศ โดยเฉพาะสายเถรวาทเข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของการสังคายนาครั้งนี้เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมอรรถถถาและคำแปลเป็นภาษาพม่า ได้ทำอยู่ 2 ปี คือระหว่าง 17 พฤษภาคม 2497-24 พฤษภาคม 2499 เสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปยังประเทศต่างๆ ด้วย

(3) ประเทศไทย ยอมรับการสังคายนาตามลำดับที่ทำในลังกา 5 ครั้ง ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย แต่หนังสือสังคีติยวงศ์ รจนาเป็นภาษาบาลี โดยสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ (รจนาเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม) ในรัชกาลที่ 1 ได้จัดลำดับสังคายนาไว้ 7 ครั้งคือ

สังคายนาครั้งที่ 1-2-3 ทำในประเทศอินเดียดังกล่าวแล้ว

สังคายนาครั้งที่ 4-5 ทำในประเทศลังกา

สังคายนาครั้งที่ 6 ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. 956 พระพุทธโฆสาจารย์ ชาวอินเดีย ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม การสังคายนาครั้งนี้มิได้ชำระพระไตรปิฎก หากแต่ชำระอรรถกถา ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา

สังคายนาครั้งที่ 7 ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. 1587 พระกัสสปเถระ เป็นประธาน ได้รจนาและชำระคัมภีร์ฎีกาต่างๆ ร่วมกับภิกษุผู้เชี่ยวชาญพุทธธรรมกว่า 1,000 รูป

พระไตรปิฎกเกิดขึ้นเมื่อไร

ถ้าอ่านประวัติการทำสังคายนามาตั้งแต่ต้น จะสังเกตได้ว่าสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เท่านั้น มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎก คือมีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 7 ข้อ 614-664 หน้า 379-423 วินัยปิฎก จุลวรรค นอกนั้นไม่มีกล่าวถึงและการพูดถึงสังคายนาทั้ง 2 ครั้งนี้ไม่ได้พูดถึง "พระไตรปิฎก" ใช้คำว่า ธมฺมวินยสงฺคีติ (การสังคายนาพระธรรมและวินัย) แสดงว่า พระพุทธวจนะ นั้นยังไม่มีการจัดแบ่งเป็น "ปิฎก" หากเรียกรวมๆ ว่า "ธรรมวินัย" เท่านั้น ต่อมาธรรมวินัยได้แยกออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนเรียกกันว่า "ปิฎก" คือ ธรรม แยกเป็น สุตตันตปิฎก กับอภิธรรมปิฎก ส่วนวินัยคงเป็น วินัยปิฎก

คำถามต่อมาก็คือ พระพุทธวจนะหรือพระธรรมวินัยถูกจัดเป็นรูปแบบ และประเภทดังกล่าวนี้เมื่อใด

ในศิลาจารึกที่ค้นพบที่สาญจิสถูป (ซึ่งจารึกไว้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 3 ก่อนสมัยพระเจ้าอโศก) มีรายนามผู้สร้างส่วนต่างๆ ของพระสถูปปรากฏอยู่ พร้อมกับคุณศัพท์แสดงคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆ เช่น

ธมฺมกถิกา ผู้กล่าวธรรมทั้งหลาย
เปฏกินฺ ผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย
สุตฺตนฺติกา ผู้ทรงจำพระสูตร
สุตฺตนฺตินี สตรีผู้ทรงจำพระสูตร
ปญฺจเนกายิกา ผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5

ในศิลาจารึกพระเจ้าอโศกที่ค้นพบที่ ภาบรา มีข้อความอ้างถึงพระสูตรต่างๆ ที่พระเจ้าอโศกทรงพิจารณาเห็นว่าดีและทรงแนะนำให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หมั่นสดับตรับฟังและพิจารณาใคร่ครวญเสมอๆ เช่น

อริยวํสานิ วงศ์แห่งพระอริยะทั้งหลาย
อนาคตภยานิ ภัยในอนาคตทั้งหลาย
มุนิคาถา คาถาของพระมุนี
โมเนยฺยสุตฺต สูตรว่าด้วยความเป็นมุนี
อุปติสฺสปสิน ปัญหาของพระอุปติสสะ

คำแรกปรากฏอยู่ในทีฆนิกาย สังคีติสูตร คำที่สองมีอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต คำที่สามปรากฏใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต คำที่สี่มีอยู่ทั้งใน อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ คำสุดท้ายหมายถึง ปัญหาของพระสารีบุตร มีทั่วไปในพระสูตรต่างๆไม่ทราบว่าพระเจ้าอโศกทรงเจาะจงเรื่องใด

จากหลักฐานทั้งสองแห่งนี้ พอสรุปได้คร่าวๆ ว่า หลังจากสังคายนาครั้งที่สองเป็นต้นมา พระพุทธวจนะหรือพระธรรมวินัยถูกจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ในชื่อว่า "ปิฎก" และ "นิกายทั้งห้า" (ทีฆนิกาย) มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย) แล้ว ระยะแห่งพัฒนาการของพระไตรปิฎกคงกินเวลายาวนานเกือบศตวรรษกว่าจะลงตัวเป็นพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์ และเชื่อว่าพอตกถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศก พระไตรปิฎกคงสมบูรณ์ทุกคัมภีร์แล้ว ด้วยปรากฏหลักฐานบางแห่ง (อาทิ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก) บอกว่าคัมภีร์ กถาวัตถุ หนึ่งในจำนวน พระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ได้ถูกรจนาและผนวกเข้าไว้ในอภิธรรมปิฎก โดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่สาม เหตุผลสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือ ในพระไตรปิฎกไม่มีข้อความใดกล่าวถึงพระเจ้าอโศกเลย แสดงว่าพระไตรปิฎกสำเร็จเป็นรูปร่างสมบูรณ์แล้วก่อนสมัยพระเจ้าอโศก

พระไตรปิฎกเป็นพุทธพจน์มากน้อยเพียงใด

ถ้าจะถามว่าพระไตรปิฎกเป็นพระพุทธพจน์มากน้อยเพียงใด ตอบได้ทันที (เช่นเดียวกับกรณีพระอภิธรรมปิฎก) ว่า พระไตรปิฎกไม่ใช่พระพุทธพจน์ทั้งหมด แต่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

ผู้ศึกษาย่อมทราบดีว่าพระไตรปิฎกมิใช่ "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด มีหลายสูตรที่เป็นเทศนาของพระเถระผู้ใหญ่บางรูป บางส่วนเป็นภาษิตของเทวดาที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต เฉพาะสูตรในทีฆนิกาย 34 สูตร มีสูตรที่เป็น "คำพูด" ของสาวกไม่น้อยกว่า 5 สูตร ไม่จำต้องพูดถึงนิกายอื่นๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

แม้พระสูตรซึ่งเป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีถ้อยคำของผู้รวบรวมประหัว ประท้ายด้วย เช่น พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหน มีเนื้อหาว่าอย่างไร หลังจากแสดงธรรมจบแล้วได้ผลอย่างไร ส่วนที่ถือว่าเป็น "คำพูด" ของพระองค์ก็คือตรงที่เนื้อหาสาระของพระสูตร แม้กระนั้นก็ตามก็เป็นการ quote ข้อความซึ่งผู้ที่ "โควต" อาจจำมาผิดพลาดจากที่ตรัสจริงๆ ก็ได้ แต่ "สาระ" ยังคงอยู่ครบ เฉพาะพระอภิธรรมปิฎกนั้น หลักฐานแบ่งชัดแล้วว่ามิใช่ "คำพูด" ของพระพุทธเจ้า

ถ้าคำว่า "พระพุทธพจน์" หมายถึง "คำพูดจริงๆ" ของพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็มิใช่พระพุทธพจน์ทั้งหมดดังกล่าวมา แต่ถ้าหมายถึงว่า เป็น "คำสอน" ของพระพุทธองค์หรือไม่ ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ เพราะวิธีตัดสินพระพุทธเจ้าทรงวางหลักการตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการไว้แล้ว

หลักตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการคือ

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ

1. วิราคะ ความคลายกำหนัด, ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ การเสริมให้ติด

2. วิสังโยค ความหมดเครื่องผูกรัด, ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์

3. อปจยะ ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส

4. อัปปิจฉตา ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก

5. สันตุฎฐี ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

6. ปวิเวก ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

7. วิริยารัมภะ การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

8. สุภรตา ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา) ตรงข้ามจากนี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์

แสง จันทร์งาม ให้เหตุผลที่พระไตรปิฎกยังคงเป็นพระพุทธพจน์ไว้ 4 ประการดังนี้

1. ตามธรรมเนียมอินเดียนั้น การถ่ายทอดเรื่องราวทางศาสนาด้วยปาก มิใช่ทำอย่างสุกเอาเผากิน แต่กระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และด้วยความเคารพอย่างสูง มิให้ข้อความใดๆ ผิดแผกไปจากเดิม ไม่เฉพาะข้อความเท่านั้นที่ต้องระมัดระวัง แม้การออกเสียงคำต่างๆ ก็ต้องให้ถูกต้องตามอักขร-ฐานกรณ์อย่างเคร่งครัด ต้องจำได้ขึ้นใจอย่างถูกต้องทั้ง "อรรถ" และ "พยัญชนะ" เฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาฮินดูนั้น การออกเสียงคำว่า "โอม" คำเดียวอาจารย์อาจใช้เวลาหลายวันในการสอนศิษย์ให้ว่าได้ถูกต้อง วิธีการศึกษาทางพุทธศาสนาซึ่งได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมพราหมณ์ ก็คงจะเอาใจใส่ในการศึกษาถ่ายทอดอย่างระมัดระวังเช่นกัน

2. ข้อที่ว่าอาจารย์บางท่านอาจแทรกมติของตนลงในสูตรบางสูตร แล้วอ้างว่าเป็นพุทธพจน์นั้นอาจเป็นไปได้ แต่คงมีน้อยที่สุด เพราะพระสาวกผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ย่อมมีความเคารพบูชาในคำสอนดั้งเดิมอย่างสูง ไม่กล้าอ้างคำพูดของตนว่าเป็นพุทธพจน์ ไม่กล้าถอนพุทธพจน์ดั้งเดิม ดังเราจะเห็นได้ว่า พระสูตรส่วนมากมีสาระสำคัญหรือเนื้อหาแท้ๆ เพียงเล็กน้อย แต่มีคำบรรยายซ้ำๆ ซากๆ มากมาย ตามสำนวนนิยมสมัยนั้น พระสูตรที่มีความยาว 3-4 หน้า ถ้าจะสรุปเอาเฉพาะเนื้อหาแท้ๆ จะเหลือเพียงครึ่งหน้าเท่านั้น แม้กระนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าตัดทอนคงจำสืบๆ กันมาอย่างนั้นด้วยความเคารพ
3. ตามประวัติการสืบอายุพระพุทธศาสนานั้น ปรากฏว่าได้มีการทำสังคายนาชำระพระธรรมวินัยเป็นครั้งคราว การสังคายนาก็หมายถึงการประชุมพระเถระผู้จำพระธรรมวินัยได้ แล้วให้พระเถระรูปใดรูปหนึ่งสวดพระธรรมวินัยเท่าที่ตนจำได้ต่อที่ประชุม ขณะนั่งฟัง พระเถระอื่นๆ ก็คิดเทียบเคียงกับข้อที่ตนจำได้ ถ้าได้ฟังข้อความใดผิดแผกออกไปก็ทักท้วงขึ้น เมื่อมีผู้ทักท้วงประธานในที่ประชุมก็ขอให้องค์อื่นๆ สวดสูตรนั้นตามที่ตนได้เรียนมา ที่ประชุมจะพิจารณาถกเถียงกันหลายแง่หลายมุม ในที่สุดก็มีการลงมติเสียงข้างมากว่าข้อความนั้นถูกต้อง ข้อความนี้ผิด ขอให้พระสงฆ์ทั้งปวงยึดถือตามข้อความที่ถูก ตัดข้อความที่ผิดออกเสีย แล้วสงฆ์ทั้งหมดก็สวดขึ้นพร้อมกัน (สังคายนา : สํ = พร้อมกัน + คายนา = การสวด) เพื่อยืนยันข้อความที่ถูกต้องนั้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการทำสังคายนานั้นแล้ว พระเถระทั้งหลายก็นำเอาข้อความซึ่งที่ประชุมรับรองนั้นไปสอนศิษย์ต่อไป วิธีสังคายนาจึงจัดเป็นการกำจัดมติของเกจิอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

4. เหตุผลประการสุดท้ายยืนยันว่า พระไตรปิฎกส่วนใหญ่เป็นพุทธพจน์ คือ เนื้อของพระไตรปิฎกลงรอยกันเป็นอย่างดี มีจุดประสงค์แน่นอน มีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นั้นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน แม้จะมีความคิดบางอย่างซึ่งส่อแสดงว่ามิใช่พุทธพจน์แทรกอยู่บ้าง ก็หาทำให้พระไตรปิฎกเสียเอกภาพแต่อย่างใดไม่ คุณสมบัติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คำสอนส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกมีแหล่งกำเนิดมาจากบุคคลคนเดียวกันคือ พระพุทธเจ้า แม้จะมีวาทะของพระสาวกหรือมติของอาจารย์รุ่นหลัง แทรกอยู่อย่างแนบเนียน ก็เป็นแต่เพียงคำอธิบายขยายความของพระพุทธพจน์ให้แจ่มแจ้งขึ้น ไม่มีวาทะใดเลยที่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจไขว้เขวไปจากจุดมุ่งหมายและวิธีการปฏิบัติแบบพุทธแท้และดั้งเดิม

ในเทศนาเรื่อง "เพชรในพระไตรปิฎก" พุทธทาสภิกขุ มองเห็นว่าในพระไตรปิฎกยังมีส่วนที่มิใช่พุทธพจน์อีกมาก ถ้าคิดเทียบเปอร์เซ็นต์ของส่วนที่ควรตัดออก สำหรับนักศึกษาทั่วไปควรตัดออก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่ 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาโบราณคดี ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศแล้ว ควรตัดออกได้อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ควรตัดออกคือเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เช่น เรื่องราหูจับอาทิตย์ ราหูจับจันทร์ ข้อความที่เป็นไปในลักษณะสัสสตทิฐิ เป็นตัวเป็นตน เป็นคนคนเดียวเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นลักษณะทิฐินอกพุทธศาสนา และในขั้นสุดท้าย พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดควรตัดออกด้วย "ทีนี้ที่เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็มาเลือกเฟ้นได้โดยง่าย พบเครื่องขุดเพชรแล้วก็ขุดเพชร พบเพชรที่เรียกว่าหัวใจของพระไตรปิฎก คือเพชรเม็ดเดียว ได้แก่หลักคำสอนและวิธีการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

สำหรับพุทธทาสภิกขุ เครื่องชี้บ่งว่าเป็นพุทธพจน์หรือไม่ของพระไตรปิฎก มิได้อยู่ที่ "ข้อความ" นั้นๆ เป็น "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หากอยู่ที่ "สาระ" ของคำสอนนั้นๆ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้จริงหรือไม่

การถ่ายทอดพระไตรปิฎก

ดังที่ทราบกันแล้วว่า สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระองค์เสด็จไปแสดงธรรมที่ไหน หรือทรงบัญญัติพระวินัยข้อไหน เมื่อใด สาวกที่ได้ยินได้ฟังก็ช่วยกันจดจำไว้ แล้วถ่ายทอดให้ศิษย์ด้วยวาจา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการจารคำสอนลงเป็นลายลักษณ์อักษร

เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สมัยพุทธกาลคนยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรืออย่างไร จึงไม่ปรากฏว่า มีตำรับตำราจารึกไว้เป็นหลักฐาน แม้บริขารของพระภิกษุก็ไม่ระบุหนังสือไว้ด้วย

พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือ ภาษาศาสตร์ อะไร คือบาลี ว่า

ความจริง การเขียนหนังสือน่าจะมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ในพระไตรปิฎกเองก็มีข้อความเอ่ยถึงการขีดเขียนเป็นครั้งคราว เช่น ตอนหนึ่งห้ามภิกษุเล่นเกม "อักขริกา" (ซึ่งพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ การเล่นทายอักษรในอากาศหรือบนหลังของเพื่อนภิกษุ) วิชาเขียนหนังสือ (เลขา) ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่ง สิกขาบทบางข้อห้าม ภิกษุณีเรียนศิลปะทางโลก หนึ่งในศิลปะเหล่านี้มีวิชาเขียนหนังสือด้วย ในบทสนทนาภายในครอบครัว พ่อปรารภว่าจะให้บุตรเรียนวิชาอะไรดี ถ้าจะให้เรียนเขียนหนังสือ บุตรอาจยังชีพอยู่ได้สบายแต่อาจเจ็บนิ้วมือ (เพราะเขียนหนังสือ) ถ้าภิกษุเขียนหนังสือพรรณนาคุณของอัตวินิบาตกรรม ปรับอาบัติทุกกฎทุกตัวอักษร ถ้ามีผู้อ่านพบข้อความนั้นเข้าเห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว ฆ่าตัวตายตามนั้นปรับอาบัติปาราชิก หลักฐานเหล่านี้แสดงว่าอักษรหรือการเขียนหนังสือมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ทีพระพุทธองค์ไม่นิยมใช้หันมาใช้วิธีมุขปาฐแทน น่าจะทรงเห็นประโยชน์อานิสงส์บางสิ่งบางอย่างกระมัง หรือว่าระบบการขีดเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์การขีดเขียนเพียงพอก็ยากจะทราบได้ แต่ที่น่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง วิธีเรียนด้วยมุขปาฐนี้

นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนและผู้สอนแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิฝึกจิตของผู้เรียนไปในตัวด้วย นักปราชญ์ยุคก่อนมีความคิดเช่นนี้ก็มีไม่น้อย เปลโต เคยกล่าวไว้ว่า "การคิดอักษรขึ้นใช้แทนการท่องจำ ทำให้มนุษย์ขาดอานุภาพแห่งความทรงจำ คือแทนที่จะจดจำจากอินทรีย์ภายใน ต้องอาศัยสัญลักษณ์ภายนอกเข้าช่วย

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  880880.jpg   24.5K   19 ดาวน์โหลด

กายธรรมควรเทิดไว้ ในใจ
เป็นสรณะภายใน เทียงแท้
กว่านี้ บ่ มีใด เทียบได้
น้อบนบท่านไว้แล ค่ำเช้าสุขเสมอ


เอาบุญมาฝากจ้า นั่งสมาธิเยี่ยมไปเลย แถมไปติดจานมาอีกด้วย เด็กชาวเขานี้น่ารักนะแม้คุยไม่รู้เรื่องก็ตามล่ะ สนุกดี

#2 iMac24

iMac24
  • Members
  • 437 โพสต์
  • Location:Dmoc
  • Interests:เกิดมาสร้างบารมี

โพสต์เมื่อ 18 September 2006 - 10:51 PM

ยาวดีจังอืมแต่มีสาระ
จงสู้และอย่าท้อ ลูกเอย
ต้องถึงธรรมอย่างเสบย แน่แท้
ให้ทำอย่างที่เคย สอนสั่ง
นั่ง บ่ มีข้อแม้ จักได้ธรรมครอง

สุนทรพ่อ

มาร่วมกันสร้างสันติสุขให้กับโลกกันเถอะ

#3 คนรักวัด

คนรักวัด
  • Members
  • 626 โพสต์

โพสต์เมื่อ 21 September 2006 - 07:03 PM

อนุโมทนาบุญครับ
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน
นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ . . . ฯ ๑๖๐ ฯ

เราต้องพึ่งตัวเราเอง
คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้แสนยาก

Oneself indeed is master of oneself,
Who else could other master be?
With oneself perfectly trained,
One obtains a refuge hard to gain

#4 ศูนย์กลางกาย

ศูนย์กลางกาย
  • Members
  • 94 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 October 2006 - 04:11 PM

ดีมากเลยครับ โมทนาบุญด้วย

#5 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 27 March 2007 - 11:06 AM

อัดแน่นด้วยสาระ สาธุครับ