การรักษาสมดุลโครงสร้างของร่างกายให้ติดเป็นนิสัย

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการรักษาสมดุลโครงสร้างของร่างกายให้ติดเป็นนิสัย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนิสัย และอานิสงส์ของการสร้างนิสัยดี

การรักษาสมดุลโครงสร้างของร่างกาย
ให้ติดเป็นนิสัย
 
 นิสัย

          ความรู้ในแต่ละบทที่ผ่านมา ถือได้ถือว่า เป็นทั้งหลักการและวิธีปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้โครงสร้างของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลเป็นปกติเสมอ แต่ทว่าความรู้ดังกล่าวนี้จะเกิดประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านมากน้อยเพียงใดหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับตัวท่านเองว่าได้นำไปปฏิบัติอย่างไร
 
          หากรู้และเข้าใจทฤษฎี แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ประโยชน์ย่อมไม่เกิดแก่ตัวท่านแน่นอน หรือได้ลงมือปฏิบัติแต่ไม่ต่อเนื่อง ประโยชน์ก็จะไม่เกิดแก่ตัวท่านเช่นกัน ต่อเมื่อใด ท่านได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัย เมื่อนั้นประโยชน์จะเกิดแก่ตัวท่านตลอดชีวิต
 
          โดยสรุปก็คือ ถ้าท่านขยันปฏิบัติตามหลักการ และวิธีการรักษาสมดุลโครงสร้างของร่างกายได้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัย ท่านก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ โรคภัยไข้เจ็บใดๆ ไม่กล้ามารบกวน
 
นิสัย คืออะไร
 
นิสัยรักการให้ทาน
 
          นิสัย คือ พฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเกิดจากการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ่อยๆ จนติด เมื่อติดแล้ว ถ้าไม่ได้ทำอีกก็จะรู้สึกหงุดหงิด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ นิสัยเป็นเสมือนโปรแกรมประจำตัวที่กำหนดพฤติกรรมทางกาย วาจาและใจของแต่ละบุคคล ใครมีนิสัยอย่างไรก็จะทำตามความเคยชินอย่างนั้นโดยอัตโนมัติ
 
          บุคคลที่มีนิสัยดี ย่อมเลือกคิด พูด และทำ แต่สิ่งที่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่น หรือรวมทั้งตนเองและผู้อื่น ได้รับความเย็นกาย เย็นใจอยู่เสมอ เช่น นิสัยตรงต่อเวลา นิสัยรักความสะอาด นิสัยชอบให้ทาน นิสัยชอบฟังธรรม ฯลฯ นิสัยดีๆ เหล่านี้ย่อมเป็นคุณต่อทั้งตนเองและผู้อื่น
 
          บุคคลที่นิสัยไม่ดี ย่อมเลือกคิด พูด และทำ แต่สิ่งที่ทำให้ตนเองหรือผู้อื่น หรือทั้งตนเองและผู้อื่น ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ เช่น นิสัยติดอบายมุข นิสัยเกียจคร้าน นิสัยเอาเปรียบเกี่ยงงาน นิสัยพยาบาท นิสัยตามใจตัวเอง ฯลฯ นิสัยไม่ดีเหล่านี้ มีแต่จะก่อโทษให้แก่ทั้งตนเอง ผู้อื่น และสังคม
 
อานิสงส์ของการสร้างนิสัยดี
 
นิสัยรักการปฏิบัติธรรม

          คนเราทุกคนล้วนประกอบด้วยกายกับใจ แต่ทั้งกายกับใจล้วนมีโรคติดมาตั้งแต่วันที่คลอด โรคที่ติดมากับร่างกายย่อมพร้อมที่จะแสดงอาการให้ปรากฏในทันทีที่ร่างกายอ่อนแอลง ส่วนโรคร้ายที่แอบแฝงอยู่ในใจคน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “กิเลส” ถ้าสบโอกาสเมื่อใด กิเลสก็จะกำเริบออกฤทธิ์เช่นกัน คือ ทั้งกัดกร่อน ทั้งบีบคั้น ทั้งหมักดองใจให้เสื่อมคุณภาพลง แล้วส่งผลให้บุคคลคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดีตามมา หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ นานวันเข้าก็จะกลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัว

          บุคคลที่มีนิสัยไม่ดีติดตัว ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะก่อกรรมชั่วบ่อยๆ เมื่อก่อกรรมชั่วบ่อยๆ ย่อมได้บาปบ่อยๆ บาปนั้นย่อมเผาผลาญใจของเขาให้เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ จนขาดปัญญาตรอง ไม่เห็นคุณค่าของความดี แม้จะมีผู้หวังดี หรือกัลยาณมิตรมาชักนำส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างแต่กรรมดี เขาก็จะทำกรรมดีอย่างเหยาะแหยะ เพราะการทำกรรมดีแต่ละครั้ง ต้องสวนกระแสกิเลสที่ฝังแน่นอยู่ในใจของเขาอย่างแรง
 
          ด้วยเหตุนี้การสร้างนิสัยดีให้เกิดขึ้นในแต่ละคน จึงจำเป็นต้องมีการปลูกฝังกันตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่จิตใจจะตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส เมื่อนิสัยดีเกิดขึ้นในใจอย่างมั่นคงแล้ว คนเราย่อมมีปัญญา ตรองเห็นคุณประโยชน์อย่างแท้จริงของกรรมดี ตรองเห็นอันตรายของกรรมชั่ว จึงพากเพียรทำกรรมดีบ่อยๆ
 
          เมื่อทำกรรมดีบ่อยๆ ก็ได้บุญบ่อยๆ บุญนั้นย่อมส่งผลให้มีความสุขและความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ชีวิตจึงประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง นี่คืออานิสงส์ของการสร้างนิสัยดี
 
จาก...หนังสือสุขภาพนักสร้างบารมี

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//นิสัย คืออะไร.html
เมื่อ 3 มิถุนายน 2567 15:55
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv