หัวใจพระพุทธศาสนา
ในแดนพุทธภูมิ
 


      “อีกไม่ช้านาน ความทรงจำในประวัติศาสตร์กำลังจะกลับมา  เมื่อชาวพุทธอินเดียจะสร้างอดีตขึ้นมาใหม่ จากความรู้และแรงศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า”   วันนี้ การมาถึงของโครงการใหญ่เพื่อส่งต่อคำสอนดั้งเดิมสู่อ้อมอกแผ่นดินแม้ได้ช่วยให้ชาวพุทธอินเดียจำนวนน้อยนิด มีฐานรากในการสร้างพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองดังอดีตได้อีกครั้ง  งานดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อ “โครงการบวชอุบาสก อุบาสิกาแก้ว” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองมุมไบและกัลยันของอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 19-26 กรกฎาคม  2553   ที่ผ่านมา    
โซภา กัสเวียร์  ดูเผินๆ คือผู้เข้าอบรมคนหนึ่ง เพียงแต่เธอมาทั้งๆที่ไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนอื่น   “ฉันมีปัญหากับขา หัวเข่าเจ็บ เป็นเบาหวาน  ถ้าลืมกินยาไปวันหนึ่ง  อาจจะล้มที่ไหนก็ได้” เธอช่างมีใจเด็ดเดี่ยว  แม้คนข้างหลังไม่เห็นด้วย “ยังไงๆ ดิฉันก็ยืนยันว่าจะมา  ถ้าลมขึ้นแล้วดิฉันเป็นอะไรไป ก็แค่มาแบกศพฉันกลับบ้านเท่านั้นเอง” เป็นเสียงหนึ่งของผู้รอคอยคำสอนดั้งเดิมมาทั้งชีวิต
 
 
      แม้ที่นี่จะเป็นพุทธภูมิแต่ต้องไม่ลืมว่า พุทธภูมิเวลานี้ไม่เหมือนครั้งพุทธกาล    นับจากวันที่ ดร.อัมเบดก้าร์ นำชาวอินเดียกว่า 5 แสนคนประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ในปี พ.ศ. 2499ก็ยังไม่มีการเรียนรู้คำสอนและวัฒนธรรมชาวพุทธอย่างลึกซึ้ง  มีเพียงภาพพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ทุกฝาบ้านกับการสวดมนต์บูชาเพื่อบ่งบอกความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นชาวพุทธ  ถึงวันนี้ ทุกคนต่างรอคอยอย่างใจจดจ่อและแสดงอาการดีใจโดยไม่ปิดบังเมื่อทราบว่า พระภิกษุจากแดนไทยจะเดินทางไปถึงชุมชมชาวพุทธของพวกเขา และการมาถึงของพระอาจารย์ก็เกิดขึ้นด้วยความเมตตาของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และด้วยความร่วมมือของ คุณกัลปน่า สาโรช  ชาวอินเดียผู้มองเห็นความสำเร็จในกิจกรรมเผยแผ่ของวัดพระธรรมกาย เธอกำลังเป็นแม่งานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 
 


     “ตอนที่หลวงพ่อ มอบหมายให้ดิฉันจัดงานนี้ ตอนนั้นมีคำถามกับตัวเองว่า จะทำสำเร็จได้อย่างไร  เพราะงานนี้ต้องจัดถึง 7 วัน และดิฉันเป็นนักธุรกิจด้วย มีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบอยู่ จึงต้องแบ่งเวลาดูแลทั้ง 2 ที่ ในตอนแรกที่ไปชวนคนมาอบรม ก็คิดว่าจะชวนสำเร็จไหม คิดไปถึงแม่บ้านที่ต้องตื่นเช้ามากขึ้น ต้องรีบทำอาหาร ทำงานบ้านส่งลูกไปโรงเรียน ทำให้คิดว่าพวกเขายังจะมาอบรมกันไหม”  ในเมื่อไม่มีใครเคยเห็นงานลักษณะนี้ในอินเดีย  จึงไม่แปลกที่เสียงรำพึงของคุณกัลปน่า จะเป็นเช่นนั้น
      การอบรมจัดในลักษณะไป-กลับ ไม่มีค้างคืน แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มขึ้น กลับปรากฏว่า ชาวพุทธอินเดียตั้งใจกับงานนี้มากเข้าขั้นพิเศษ  หลายคนอยู่ไกลกว่า 800 กิโลเมตรก็ไม่ใช่ปัญหา  บางคนตาบอดยังชวนคนตาดีบวชได้ถึง 5 คน  ทำให้มีผู้เข้าร่วม วันละไม่ต่ำกว่า300 เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมชาวพุทธแบบเต็มขั้น ตั้งแต่การกราบ การไหว้ การสวดมนต์  รวมไปถึงการทำความสะอาดและขัดวิมาน (ขัดห้องสุขา) แม้เพิ่งเริ่มต้นพวกเขาก็ทำได้อย่างน่าทึ่ง แต่สิ่งที่ต้องทึ่งยิ่งกว่าคือ มาเป็นร้อยๆ ก็ทำได้พร้อมเพรียงเป็นร้อยๆ  และกำลังยอมรับสิ่งเหล่านี้ไว้ในวิถีชีวิตของพวกเขา     
     กำแพงอันแข็งแกร่ง ยังก่อร่างจากอิฐแต่ละก้อนที่เรียงตัวกันเป็นระเบียบฉันใด  พระศาสนาจะเข้มแข็งย่อมเกิดจากมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราที่ช่วยกันปฏิบัติกิจได้พร้อมเพรียงและเป็นหนึ่งฉันนั้น นี่คือ พลังหมู่ แม้จะไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่มีความหมายต่อพระศาสนามาก
 
 

    ทั้งหมดเป็นหลักประพฤติที่คงอยู่เพื่อควบคู่กับหลักธรรมอันเป็นแก่นสาระของการเดินทางมาครั้งนี้  อาจกล่าวได้ว่า ชาวพุทธอินเดียกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปชีวิตครั้งใหม่ เพราะสิ่งที่ฟังจากพระอาจารย์ ทั้งการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ ล้วนไม่เคยรู้มาก่อนอย่างลึกซึ้ง ที่ผ่านมา พวกเขาจึงปฏิบัติอย่างผิวเผิน แต่ขณะนี้ มีชาวพุทธอินเดียปวารณาถือศีล 8 ตลอดพรรษา
     หลังจากพระอาจารย์นำทางถึงจุดสำคัญ  คือการสอนสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย  แม้พวกเขาเพิ่งทำความรู้จักกับวิธีการเหล่านี้ แต่การหัดทำสมาธิให้เหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายกลับได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ  บีน่า อิสวา จันดระ สุวอร์ก้า  เล่าผลพิสูจน์ที่ได้จากตัวเองว่า “เป็นครั้งแรกที่ดิฉันนั่งสมาธิด้วยวิธีเข้าถึงพระธรรมกาย แต่กลับได้ผลดีมากๆค่ะ และจะไม่ลืมไปตลอดชีวิต  เพราะนั่งแล้วสบายจนไม่อยากออกจากสมาธิเลย  ดิฉันมีความรู้สึกว่า ภายในร่างกายมีบางอย่างอยู่  เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่ ก็ได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวง    ดิฉันคิดว่านี่เป็นอีกโลกหนึ่งที่มีความสุขมากๆ ทำให้ตัวเองลืมปัญหา ลืมความทุกข์ อยู่ในอารมณ์สุขตลอดเวลา”  ความสุขที่ปรากฏขึ้นทำให้เธอบอกตัวเองได้แล้วว่า พระพุทธศาสนาที่เฝ้าหวงแหนมาตลอดนั้นดีเพียงใด แถมให้เราคิดต่อไปได้ว่า วันหลัง ถ้าอยากลืมทุกข์อย่างเธอ  ไม่ต้องไปกินเหล้า แต่ให้เข้าสมาธิ
      โครงการนี้ ไม่ต่างจากงานรวมรุ่นของหนุ่มสาว ต่างเพศ หลากวัยแต่วางใจไว้ที่เดียวกัน ซึ่งสมาธิกำลังมอบความสุขให้ทุกคนอย่างเสมอภาค ขอเพียงแค่ยอมทำ  “ดิฉันนั่งสมาธิได้ดีมากเลยค่ะ ทีแรก นั่งขัดสมาธิแล้วเจ็บมาก แต่ก็ไม่ใช้เก้าอี้เลย พยายามจะนั่ง  จนตอนนี้รู้สึกดี สบาย เหมือนมีพลังพิเศษที่ทำให้ชีวิตสดชื่นมากๆ  อยากนั่งสมาธิต่อ อยากให้โครงการมีต่ออีกสัก 10 วัน ”  ทรูปาตี กรักกาเรอะ ในวัย 65  คือผู้ที่ต้องออกมาร้องสุขด้วยอีกคน 
     ตราบใดที่ใจของมนุษย์ยังคงเป็นที่เก็บทั้งของหอมจากบุญและของเหม็นจากบาป  มนุษย์ก็ยังต้องหันมามองใจตัวเองทุกวันเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดไว้ในใจ   ชาวพุทธอินเดียกำลังตระหนักดีถึงสิ่งเหล่านี้ และในเมื่อเป็นการพบประสบการณ์ด้วยตัวเองมิใช่อ่านและจำ  ฝึกวิถีพุทธด้วยตนเองมิได้มาจากจินตนาการในหนังเรื่องใด  สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ จึงเป็นพลังเผยแผ่ที่จะกินใจเพื่อนร่วมชาติอีกนับพันล้านคน เพื่อนำไปสู่การค้นพบความสุขที่หายไป
     “พวกเราได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว เรียกว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้ว” เด็กหญิงชายในวัยน่ารัก พยายามประสานสำทับก่อนจะได้กลับบ้าน  ซึ่งอาจเป็นข้อสรุปที่ดีที่สุดของการอบรมครั้งนี้
       ภายใต้เรื่องราวของสมาธิ หลักธรรม และวัฒนธรรมชาวพุทธ ยังมีความจริงอีกมาก รอการพิสูจน์จากนักปฏิบัติทั่วโลก  ถือเป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นประสบการณ์ของคนใจถึงที่กล้าพาตัวเองมาพบเจอ เรียนรู้ และนำไปสู่การค้นพบความสุขบนทางที่เลือกเอง   นี่จะเป็นแบบอย่างให้อีกหลายเชื้อชาติเกิดความรู้สึกว่า ศาสนาจะไม่โรยรา ถ้าการปฏิบัติไม่โรยแรง และจะเกิดกำลังใจฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่  แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่รู้ๆขณะนี้ก็คือ คนอินเดียอีกมากในยุคหลังพุทธกาลกว่าพันปี กำลังจะพบเรื่องราวแห่งความสุขดุจเดียวกัน ผ่านการทำหน้าที่ของอุบาสก - อุบาสิกาแก้วจบใหม่เหล่านี้

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//หัวใจพระพุทธศาสนาในแดนพุทธภูมิ.html
เมื่อ 2 มิถุนายน 2567 03:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv