หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 

คำถาม: หลวงพ่อคิดว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมครับ?

 
คำตอบ: พระพุทธศาสนาไม่มีวันเสื่อม มีแต่คนเรานี่แหละที่เสื่อมจากพระพุทธศาสนา สาเหตุสำคัญที่ทำให้เสื่อมก็คือ คนพาล ทั้งพาลภายนอกและพาลภายใน
 
        1) พาลภายนอก ได้แก่ คนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา เขาจะนับถือศาสนาอื่นหรือไม่ก็ตาม แต่เขามีจิตมุ่งร้ายคอยจ้องทำลายพระพุทธศาสนา ในยามปกติก็พยายามกล่าวร้ายป้ายสีพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ว่าเลวอย่างนั้นอย่างนี้ หากเขามีโอกาส ก็จะบิดเบือนคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้คนอื่นเข้าใจไขว้เขว คนพาลประเภทนี้ คอยจ้องหาโอกาสทำลายพระพุทะศาสนาอยู่แทบจะทุกวันไป และก็มีจำนวนมากด้วย
 
คนพาลที่มีจิตมุ่งร้ายคอยจ้องทำลายพระพุทธศาสนา
คนพาลที่มีจิตมุ่งร้ายคอยจ้องทำลายพระพุทธศาสนา
 
        2) พาลภายใน ได้แก่ ชาวพุทธที่ไม่เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความคลางแคลงสงสัยในการตรัสรู้ของพระองค์ ไม่เคารพในพระธรรม คือไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างจริงจัง ไม่เคารพในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่เคารพในการฝึกสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบ เมื่อขาดความเคารพอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทุกประการดังกล่าวนี้ เขาก็จะเป็นคนพาลภายในของพระพุทธศาสนา ตัวเขาเองก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการเป็นชาวพุทธเลย
 
        เมื่อเป็นเช่นนี้นานไป เขาก็จะไม่เห็นคุณค่าในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น เมื่อคนพาลภายนอกเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีการต่างๆ ก็จะไม่สามารถปกป้องพระพุทธศาสนาได้ เพราะตัวเองก็ขาดความเคารพในพระศาสนาอยู่แล้ว เมื่อขาดความเคารพก็จะไม่มีใจในการศึกษาหาความรู้ให้ถ่องแท้ ดีไม่ดีตกเป็นเครื่องมือของคนพาลภายนอกมาบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเสียเอง
 
        เราลองมาพิจารณาตนเองดูเถอะว่า ตัวเรานั้นบัดนี้ยังเป็นคนพาลอยู่หรือเปล่า และเราได้ทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้วหรือยัง
 

คำถาม: ดิฉันรู้จักกับคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ แต่เขามักเข้าไปร่วมกิจกรรมของศาสนาอื่นอยู่เสมอ บุญเขาก็ทำบาปก็ทำบ้าง มีความคิดแปลกๆ เขาเป็นพุทธแบบไหนกันคะ?

 
คำตอบ: ชาวพุทธที่แท้จริง จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติต่อไปนี้
 
        1) มีศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และเป็นผู้มีคุณธรรมวิเศษสูงสุด ไม่ระแวงสงสัยในพระปัญญาธิคุณอันเลิศของพระองค์
 
        2) มีศีลบริสุทธิ์ คือพยายามรักษาศีล 5 ให้ได้เป็นอย่างน้อย เพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย
 
        3) เชื่อกรรม ไม่ถือมงคลตื่นข่าว แต่เชื่อถือมงคลตื่นตัว คือมีความเข้าใจถูกในเรื่องโลกและชีวิต ตื่นตัวอยู่เสมอว่าบุคคลเมื่อทำดีย่อมได้ดีจริง ทำชั่วย่อมได้ชั่วจริง ไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงใดๆ ทั้งสิ้น เลือกทำแต่ความดีให้เต็มตามความสามารถของตน
 
       4) ไม่แสวงบุญนอกพระพุทธศาสนา คือไม่เที่ยวแสวงบุญโดยเข้าร่วมพิธีกรรมในศาสนาอื่นด้วยความเต็มใจ เพราะคิดว่าจะได้บุญ ทั้งไม่กราบไหว้รูปเคารพของศาสนาอื่น แต่ก็ต้องไม่ล่วงเกิน ไม่วิจารณ์วัตถุอันเป็นที่เคารพของลัทธิศาสนาอื่นด้วย ตลอดชีวิตต้องขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
 
        5) ตั้งใจทำจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาให้ถูกวิธีของพระพุทธศาสนาโดยแท้
 
หน้าที่ชาวพุทธที่แท้จริง
หน้าที่ชาวพุทธที่แท้จริง
 
        ขอให้เราลองถามตัวเองกันดีกว่าว่า เราเองนั้นได้ทำตัวให้สมกับเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้วหรือยัง ถ้ายังก็รีบปรับปรุงแก้ไข อย่าให้เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาก็แล้วกัน
 
คำถาม: เมื่อเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หาผู้ที่ให้คำแนะนำปรึกษาไม่ได้ เราควรช่วยตัวเองอย่างไรคะ?
 
คำตอบ: เมื่อยังหาใครแนะนำช่วยเหลือไม่ได้ ก็ต้องช่วยตัวเอง ในยามที่ท้อแท้สิ้นหวังหมดฝีมืออย่างนี้ บุญเท่านั้นที่จะช่วยเราได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
 
“ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฐา โหนฺติ ปาณินํ”
“บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย”
 
ในยามที่ท้อแท้สิ้นหวัง
ในยามที่ท้อแท้สิ้นหวัง
 
        บุญเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพราะฉะนั้นให้ทำ 3 อย่างนี้ คือ
 
        1. รักษาศีลของเราให้มั่นคง ไม่ให้ถลำไปในทางชั่ว
 
       2. เมื่อมีโอกาสพยายามทำทาน หรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ตามกำลังความสามารถ
 
        3. หมั่นนั่งสมาธิมากๆ เมื่อใจสงบ ความท้อแท้สิ้นหวัง ความหดหู่จะจางหายไป แล้วเราจะเห็นช่องทางแก้ไขได้เอง
 
        หรือถ้าทำอย่างนี้ แล้วก็ยังหาช่องทางแก้ไขไม่ได้ ก็ลองไปวัด ไปขอคำแนะนำช่วยเหลือจากหลวงพ่อองค์ใดองค์หนึ่ง หรือจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในชีวิตมาก ท่านพอจะช่วยเหลือให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้นะ
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//ภัยของพระศาสนา-หลวงพ่อตอบปัญหา.html
เมื่อ 18 เมษายน 2567 21:27
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv