Case study
ไปดีนะก๋ง
เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ทาง DMC
ออกอากาศครั้งแรก วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546
 

        ก๋งอายุ ๘๐ ปี เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖  ท่านเป็นชาวนา ช่วงแรกของชีวิตมีฐานะยากจน ผักและปลาที่หาในแม่น้ำคืออาหารเลี้ยงชีวิต  มีลูก ๗ คน ท่านให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยปลูกข้าวหมดทุกคน  รวมทั้งคุณแม่ของลูกด้วย   ก๋งเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต รักครอบครัว อดทน ขยันหมั่นเพียร ทำงานเก่งทำให้สามารถตั้งตัวได้ในเวลาต่อมา 

        ก๋งไม่ค่อยเชื่อเรื่องบุญบาป  ท่านจะทำบุญตามประสาชาวบ้านนานๆ สักครั้ง  แต่ภายหลังก๋งทำบุญมากขึ้นเพราะคุณแม่ได้ชักชวนให้ท่านทำทุกบุญของวัดพระธรรมกาย  ถึงแม้ว่าก๋งมีเงินไม่มากแต่ไม่เคยปฏิเสธบุญที่แม่บอก  ทุกครั้งที่คุณแม่ชวนทำบุญท่านก็ทำด้วยดี แต่พอลับหลังแม่ ก๋งชอบพูดว่านรกสวรรค์ไม่มีจริงและด่าว่าพระเป็นประจำ 

        บั้นปลายชีวิตก๋งป่วยด้วยโรคชรา รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ หลงลืม ก่อนเสียชีวิตแม่ของข้าพเจ้าเดินทางไปหาท่าน คิดว่าจะเอาเงินให้ก๋งอธิษฐานเพื่อไปทำบุญสร้างพระธรรมกายถวายพระสังฆาธิการ  แต่ท่านก็สิ้นใจเสียก่อน

คำถาม

        ก๋งตายแล้วไปอยู่ภพภูมิใด มีสภาพเป็นอย่างไร

ฝันในฝัน

        บุพกรรมของก๋งในอดีตชาติ ท่านเคยเป็นคนรวยมีฐานะดี แต่มีความตระหนี่ไม่ค่อยทำทาน แต่ถ้ามีใครมาชวนก็ทำอย่างเสียไม่ได้ นานๆ ครั้งก็นึกปลื้มเหมือนกัน  บุพกรรมนี้ทำให้ท่านเกิดมามีชีวิตที่ลำบากยากจน
        แม่ของลูกชวนก๋งทำบุญที่วัดพระธรรมกาย ท่านก็ทำเพราะรักลูกสาวไม่อยากขัดใจ  แต่ใจท่านไม่ได้เชื่อเรื่องบุญบาป ลับหลังก็ด่าว่าพระ  ก่อนท่านละโลกได้เห็นภาพตนเองทำปาณาติบาต และด่าว่าพระสลับกับบุญเล็กน้อยที่ทำตามประสาชาวบ้าน  

        ก๋งตายแล้ววนเวียนอยู่ในบ้าน ๗ วัน  แล้วเจ้าหน้าที่เขตพาไปอยู่ในหมู่บ้านเวมาณิกเปรต   คือเปรตที่มีวิมาน บางพวกกลางวันเป็นเปรตกลางคืนเป็นเทวดาสลับกัน  แต่ของก๋งกลางคืนเป็นเปรตกลางวันเป็นเทวดา มีวิมานเป็นเงินหลังไม่ใหญ่อยู่ระดับยอดไม้ ด้วยบุญที่ทำไปตามประสาชาวบ้านและบุญที่ทำเพราะรักลูก   พอพลบค่ำด้วยกรรมที่ไม่เชื่อเรื่องบุญบาปและด่าพระ ทำให้อยู่ในวิมานไม่ได้ต้องตะเกียกตะกายออกมา  พอพ้นวิมานก็กลายร่างเป็นเปรตตัวสูงใหญ่ สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นและหมู่หนอน เหม็นเน่าเฟอะ

        จุดเด่น คือ ตรงปากจะเน่า หนอนกัดกินยั้วเยี้ยเพราะว่าด่าพระ ตอนนี้ร้องว่าเชื่อแล้วๆ  แต่เชื่อในระดับภูมิปัญญาของเวมาณิกเปรต  เวมานิกเปรตมีอายุยืนตั้งแต่ ๑๐๐ ปีถึงล้านปี
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/casestudy/2546-02-22.html
เมื่อ 15 มิถุนายน 2567 08:36
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv