มงคลที่ ๗

เป็นพหูสูต - สั่งสมปัญญาบารมี
 
บรรดาความอิ่มทั้งหลาย
ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด
เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น
ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย
ตัณหาย่อมไม่สามารถกระทำบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญา
ให้อยู่ในอำนาจได้


        ผู้ใดปรารถนาจะไปสู่อายตนนิพพาน ต้องเป็นผู้ที่มีบุญมหาศาล รักในการสั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ อยู่ที่ไหนก็สามารถหาโอกาสสร้างบุญบารมี และคิดเสมอว่า จะใช้วันเวลาทุกอนุวินาที ให้มีคุณค่าสูงสุด ด้วยรู้ว่าชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเสมือนผู้กำลังเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดาร ที่เต็มไปด้วยเพลิงกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเผาลนจิตใจให้รุ่มร้อนอยู่เป็นประจำ จึงจำเป็นที่จะต้องมีเสบียง คือ บุญติดตัวไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน กามชาดก ว่า

"ปญฺญาย ติตฺตีนํ เสฏฺฐ        น โส กาเมหิ ตปฺปติ
ปญฺญาย ติตฺตํ ปุริสํ        ตณฺหา น กุรุเต วสํ

        "บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย ตัณหาย่อมไม่สามารถกระทำบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญาให้อยู่ในอำนาจได้"

        เมื่อเราเกิดมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ได้รับการอบรม  เลี้ยงดู ได้รับการศึกษา จากที่ไม่รู้เรื่องอะไร ก็ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น ที่เราต้องลงทุน เสียทรัพย์สินเงินทองมากมาย เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ให้จบปริญญาหรือจบดอกเตอร์นั้น ก็หวังว่า จะได้ปัญญา ได้ความรู้มาเป็นอุปกรณ์ในการทำมาหากิน ให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข โบราณท่านได้กล่าวไว้ว่า มีปัญญาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน เพราะปัญญาเป็นรัตนะของนรชน ทั้งหลาย เราจึงจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ใส่ตัวให้ได้มากที่สุด
 
        โดยเฉพาะความรู้ประเภทที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากอาสวกิเลสนั้น เป็นสิ่งที่ทุกท่านควรศึกษา จะได้นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง และบังเกิดผลคือปฏิเวธ ความรู้ในพระไตรปิฎก เป็นมหาสมุทรแห่งปัญญา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ทรงจำคำสอนเหล่านั้น และมีการถ่ายทอดสืบๆ กันมา เป็นเวลายาวนานถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว

         ความรู้ในพระไตรปิฎกนั้น ยิ่งศึกษายิ่งแตกฉาน ทำให้เราเข้าใจและรู้หนทางไปสู่อายตนนิพพานเพิ่มมากขึ้น เสมือนได้นั่งอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระบรมศาสดา กาย วาจา ใจ ของเราจะบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาตามพระองค์ไปด้วย เพราะฉะนั้นทุกท่านควรหาโอกาสมาศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นสุดยอดของคัมภีร์ใดๆ ในโลก ที่จะชี้ทางสวรรค์นิพพาน ให้กับผู้ได้ศึกษาได้พบความสว่างไสวในชีวิต อย่างน้อยถือว่าเป็นการเพิ่มปัญญาบารมีให้กับตนเอง

       *พระพุทธวจนะได้จัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ มีอยู่ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อสะดวกในการศึกษาและนำไปปฏิบัติของอนุชนรุ่นหลัง พระอรรถกถาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ไว้  เป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก หมายถึงพระคัมภีร์  ๓ อย่าง ที่เก็บรักษาเป็นคลังแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา ประกอบด้วยพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

      ในบรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คือ มีการเชื่อมความในเรื่องเดียวกัน จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยการเชื่อมเนื้อความในแต่ละคาถา หากเป็นเรื่องที่มีการถามปัญหา คำถามปัญหาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ คำวิสัชนาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์

       ส่วนในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละประเภท และการจำแนกวาระจิต แต่ละวาระจิตจัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติ มีอนาบัติ มีกำหนดติกะ ส่วนหนึ่งๆ รวมเป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ ฟังดูแล้วอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ถ้าหากทุกท่านได้ทดลองอ่านดู จะเข้าใจว่า ท่านผู้รู้ได้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ มีความเข้าใจง่ายและลึกซึ้งไปตามลำดับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้ เหมือนเดินเข้าไปสู่มหาสมุทรแห่งปัญญา

        พระพุทธวจนะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรสเดียวกัน คือ วิมุตติรส เป็นรสแห่งความหลุดพ้น มีประโยชน์สูงสุดจากการศึกษา คือการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ถ้าพูดถึงความต่างกัน มี ๒ ประเภท คือ แบ่งเป็นพระธรรมและพระวินัย ถ้าแบ่งเป็น ๓ คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม หากแบ่งเป็น ๕ หมายถึง พระพุทธพจน์มี ๕ นิกาย คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายและขุททกนิกาย

        ทีฆนิกาย คือ นิกายที่เป็นพระสูตรยาว มีเนื้อหาสาระมาก มีอยู่ด้วยกัน ๓๔ สูตร เช่น พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร 
 
        มัชฌิมนิกายมี ๑๕๒ สูตร เป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระขนาดกลางๆ สังยุตตนิกายมี ๗,๗๖๒ สูตร
 
        อังคุตตรนิกายมี ๙,๕๕๗ สูตร เนื้อหาไม่ค่อยมาก ใช้เวลาอ่านเพียงไม่นานก็จบแล้ว  ส่วนนิกายสุดท้าย คือ ขุททกนิกายมี ๑๕ ประเภท ซึ่งมีเนื้อความ สั้นๆ ย่อๆ อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ล้วนเป็นสิ่งที่น่าศึกษาทั้งนั้น

        ถ้าแบ่งออกเป็นนวังคสัตถุศาสน์ หมายถึง คำสอนของพระบรมศาสดา ประกอบด้วยองค์ ๙ มีตั้งแต่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ

        สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร รวมไปถึงพระสูตรต่างๆ เช่น มงคลสูตร รตนสูตร ซึ่งพระสงฆ์ท่านนิยมใช้เป็นบทสวดมนต์ ท่องบ่นกันเป็นกิจวัตรจนคล่องปากขึ้นใจ

        เคยยะ คือ พระสูตรที่ประกอบไปด้วยคาถาล้วนๆ

        เวยยากรณะ คือ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด อีกทั้ง  พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธวจนะที่ไม่ได้จัดเข้าในองค์ ๘

        คาถา คือ ธรรมบทที่เป็นหลักสูตรใช้ในการศึกษา เล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ในสุตตนิบาต

        อุทาน คือ พระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ เช่นทรงเปล่งอุทานในสมัยตรัสรู้ธรรมใหม่ๆ ว่า  "เมื่อใดแลธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่  เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ"     อิติวุตตกะ หมายถึง พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ท่านเรียกว่า อิติวุตตกะ เป็นการยกพระดำรัสของพระบรมศาสดา มากล่าวอ้าง ว่าพระองค์ได้เคยตรัสเรื่องนั้นไว้แล้ว

        ชาดก เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติการสร้างบารมีในอดีตของพระบรมศาสดาของเรา มีอยู่ด้วยกัน ๕๕๐ เรื่อง เช่น พระเวสสันดรชาดก ภูริทัตตชาดก อปัณณกชาดก ซึ่งหลายๆ ท่านคงเคยได้ศึกษามาบ้างแล้ว

        อัพภูตธรรม หมายถึง พระสูตรที่ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด เป็นลักษณะกล่าวถึงธรรมที่น่าอัศจรรย์ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

        สำหรับพระสูตรที่มีผู้ถาม แล้วได้ความรู้ได้ความยินดีทุกๆ สูตร เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการถามตอบ เรียกว่า เวทัลละ

      กว่าจะจัดรวบรวมเรียบเรียงเป็นหมวดเป็นหมู่ได้อย่างนี้ พระอรหันตขีณาสพ ๕๐๐ รูป ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ช่ำชองในปฏิสัมภิทา ท่านได้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนนี้ไว้อีกทีหนึ่ง ท่านต้องประชุมกันเพื่อทำสังคายนา ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน จึงสำเร็จ นับเป็นบุญลาภของพวกเรา ที่ได้ศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์นี้

        เพราะฉะนั้น จึงอยากแนะนำให้ทุกท่านได้หันมาศึกษาพระไตรปิฎก ให้ปลูกฉันทะ ใคร่ในการศึกษาเหมือนพระราหุล ที่ท่านปรารถนาจะได้ความรู้จากพระอาจารย์ทุกๆ วัน ซึ่งอาจเริ่มอ่านจากพระสูตร มีเนื้อหาสาระที่เข้าใจง่าย จากนั้นค่อยขยับมาอ่านพระวินัยและพระอภิธรรม ซึ่งอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ไม่เหลือวิสัยของพวกเรา สงสัยอะไรก็ไปสอบถามจากผู้รู้ที่ท่านศึกษามาก่อนก็ได้  เมื่อรู้แล้วจะได้ทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร ถ่ายทอดความรู้ให้กับอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป และถ้าให้ดี ต้องลงมือปฏิบัติควบคู่ไปด้วย จะได้ตรองตามธรรมะที่เราอ่านได้ง่ายขึ้น ปริยัติ ปฏิบัติต้องให้ควบคู่กันไป ใจของเราจะได้บริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาตามที่ได้ศึกษามา เมื่อนั้นเราจะเป็นผู้สมบูรณ์ ทั้งศีล สมาธิและปัญญากันทุกคน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อรรกถาพรหมชาลสูตร เล่ม ๑๑ หน้า ๑๐๘
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/mongkol02-32.html
เมื่อ 20 เมษายน 2567 01:49
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv