มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
ผลแห่งการถวายดอกปทุม

พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระตรัสว่า
 
ผู้ใดได้ถวายดอกปทุมอันอุดม เป็นที่ปรารถนา เป็นที่ใคร่ในโลกนี้แก่เรา
ผู้นั้นทำกรรมที่ทำได้ยากนัก
ผู้ใดได้บูชาดอกไม้ และได้ถวายข้าวชั้นดีแก่เรา
เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
ผู้นั้นจักได้เสวยเทวรัชสมบัติ ๑๘ ครั้ง ดอกอุบล ดอกปทุม และดอกมะลิซ้อน
จะมีในเบื้องบนผู้นั้น ด้วยผลแห่งบุญนั้น

        จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต คือ การหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน โดยอาศัยกายธรรมอรหัตที่ละเอียด อันเกิดจากการทำใจหยุดนิ่งเข้าไปให้ถึงที่สุดแห่งความบริสุทธิ์ที่ไม่มีกิเลสเหลืออยู่  เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของพญามาร  การเพิ่มพูนความบริสุทธิ์ให้กับตัวเราเองทุกๆ วันนั้น เป็นวัตถุประสงค์หลักของนักสร้างบารมี และกว่าที่เราจะเข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดนี้ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ อีกทั้งความเพียรอันกลั่นกล้า และไม่ท้อถอยในการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้นเมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ของชีวิตเช่นนี้แล้ว ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดีกันทุกคน

มีวาระแห่งภาษิตใน กาฬุทายีเถราปทาน ความว่า
 
        "พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระตรัสว่า ผู้ใดได้ถวายดอกปทุมอันอุดม เป็นที่ปรารถนา เป็นที่ใคร่ในโลกนี้แก่เรา ผู้นั้นทำกรรมที่ทำได้ยากนัก ผู้ใดได้บูชาดอกไม้ และได้ถวายข้าวชั้นดีแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักได้เสวยเทวรัชสมบัติ ๑๘ ครั้ง ดอกอุบล ดอกปทุม และดอกมะลิซ้อน จะมีในเบื้องบนผู้นั้นด้วย ผลแห่งบุญนั้น ผู้นั้นจักสร้างหลังคาอันประกอบด้วยของหอม อันเป็นทิพย์ไว้ในอากาศ  ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ครั้ง จักได้เป็นพระราชาในแผ่นดินครอบครองพสุธา ๕๐๐ ครั้ง"   
 
        บุคคลใดทำกรรมอันใดไว้ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ผลแห่งบุญจะบังเกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอดีกับบุญที่ทำไว้ เหมือนพุทธดำรัสที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้น เป็นเรื่องราวการสร้างบารมีของพระกาฬุทายีเถระ ซึ่งเป็นสหชาติกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ที่เรียกว่าสหชาติเพราะเกิด วันเดียวกัน สหชาติทั้งเจ็ดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่   ต้นโพธิพฤกษ์ มารดาของพระราหุล ขุมทรัพย์ทั้งสี่ ม้ากัณฐกะ พระอานนท์ นายฉันนะ และพระกาฬุทายี
 
        *ในอดีตพระกาฬุทายีเถระได้บำเพ็ญบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ไม่เคยขาด จนกระทั่งในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านบังเกิดในหังสวดีนคร ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธามาก และได้เห็นพระบรมศาสดาทรงแต่งตั้งภิกษุ   รูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้ยังสกุลให้เลื่อมใส ท่านจึงตั้งความปรารถนาจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง

        ครั้งหนึ่ง ท่านได้สร้างบุญพิเศษที่ทำให้เกิดมหาปีติไม่เสื่อมคลาย คือ วันหนึ่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปโปรดสัตวโลก ครั้งนั้น ท่านได้เอาดอกปทุม ดอกอุบล ดอกมะลิซ้อนที่กำลังบานสวยงาม และข้าวสุกอย่างดีมาถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับด้วยหวังจะอนุเคราะห์ท่าน จึงตรัสอนุโมทนา และพยากรณ์ว่า


        "ด้วยผลแห่งบุญที่มาณพนี้ได้ทำกับเรา เธอจักมีหลังคาอันประกอบด้วยของหอมอันเป็นทิพย์ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ครั้ง จักได้เป็นพระราชาในแผ่นดินครอบครองพสุธา ๕๐๐ ครั้ง และในกัปที่แสน พระศาสดาพระนามว่า โคดม จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพผู้มีความปรารถนาที่ตั้งไว้ดีแล้วนี้ จะถูกบุญเก่าตักเตือน จักเป็นบุตรผู้มีชื่อเสียง ทำความเพลิดเพลินแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย ภายหลังจะออกบวช จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง ไม่มีอาสวะ ได้เข้าถึงพระนิพพาน มีนามว่า อุทายี"     
 
        เมื่อได้ฟังคำพยากรณ์เช่นนั้น ท่านยิ่งเกิดมหาปีติ และเชื่อมั่นในผลบุญที่ท่านได้ทำไปแล้ว จึงตั้งใจบำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นละโลก ท่านได้ท่องเที่ยวเฉพาะในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น มาภพชาตินี้ ท่านเกิดในตระกูลอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ และเกิดวันเดียวกับพระบรมโพธิสัตว์ หมู่ญาติ ตั้งชื่อให้ว่า อุทายี เพราะทำให้เมืองเกิดความเบิกบานใจ แต่เรา จะรู้จักท่านในนาม กาฬุทายี เพราะว่ามีผิวดำ ท่านเป็นสหายของพระบรมโพธิสัตว์ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเจริญวัย
 
        เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว และกำลังเสด็จประกาศพระสัทธรรมอยู่ที่กรุงราชคฤห์ พระราชบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับข่าว จึงส่งคณะอำมาตย์ไปหลายคณะเพื่อนิมนต์พระบรมศาสดา แต่ทุกๆ คนที่ไปล้วนได้บรรลุธรรมและไม่มีผู้ใดกลับมาแจ้งข่าว ทำให้พระราชาดำริว่า เราส่งคนไปมากมาย แต่ไม่ได้ฟังข่าวคราว  ลูกของเราเลย ส่วนอุทายีเป็นเพื่อนกับลูกเรา มีความรักเรา เห็นทีเราต้องส่งอุทายีนี้ไป  พระองค์รับสั่งให้เรียกท่านมาเข้าเฝ้า พลางตรัสว่า "พ่อจงนำบุรุษ ๑,๐๐๐ คนเป็นบริวารไปยังกรุงราชคฤห์ และนำลูกของเรากลับมาให้ได้"
 
        กาฬุทายีทูลว่า "ถ้าหม่อมฉันได้บวช หม่อมฉันก็จักทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ มาที่นี่"   
 
        เมื่อได้รับอนุญาต กาฬุทายีรีบไปยังกรุงราชคฤห์ ท่านไปยืนฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า และหลังจากฟังธรรมก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมบริวารทั้งหมด จากนั้นจึงทูลขอบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานการบวชให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อบวชแล้ว ท่านก็รอคอยเวลาที่จะกราบทูลให้เสด็จกลับยังเมืองกบิลพัสดุ์ จนกระทั่งใกล้ฤดูฝน ท่านได้พรรณนาถึงการเสด็จกลับสู่พระนครแห่งตระกูลว่า

        "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกและใบสีแดงดังถ่านเพลิง ได้ออกผลผลัดใบเก่าร่วงหล่นไป หมู่ไม้เหล่านั้นงามรุ่งเรืองดังถ่านเพลิง  ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรใหญ่ เวลานี้เป็นเวลาที่สมควรอนุเคราะห์หมู่พระญาติ ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกบานสะพรั่งน่ารื่นรมย์ใจ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทั่วทิศ ต่างผลัดใบเก่า ผลิดอกออกผล เวลานี้เป็นเวลาอันควรที่จะไปโปรดพระญาติ ขอเชิญพระผู้พิชิตมารเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์เถิด
 
        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวนาไถนาด้วยหวังผล หว่านพืชด้วยหวังผล พ่อค้าผู้เที่ยวหาทรัพย์ ย่อมไปสู่สมุทรด้วยหวังทรัพย์ สำหรับข้าพระองค์หวังผลอันใด ขอความหวังผลอันนั้นจงสำเร็จแก่ข้าพระองค์เถิด ชาวนาหว่านพืชบ่อยๆ  ฝนตกบ่อยๆ  ชาวนาไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อยๆ  พวกยาจกเที่ยวขอบ่อยๆ ผู้เป็นทานบดีให้ทานบ่อยๆ ครั้นให้บ่อยๆ แล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ บุรุษผู้มีความเพียรมีปัญญา  กว้างขวาง เกิดในตระกูลใด ย่อมยังตระกูลนั้นให้บริสุทธิ์ สะอาดตลอด ๗ ชั่วคน พระองค์ผู้เป็นเทพเจ้าประเสริฐกว่าทวยเทพทั้งหลาย ย่อมทำให้สกุลบริสุทธิ์ได้ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติเป็นนักปราชญ์ ขอพระองค์โปรดรับนิมนต์ไปโปรดหมู่พระญาติด้วยเถิด"   
 
        พระศาสดาฟังพระกาฬุทายีเถรเจ้าแล้ว ทรงรับอาราธนา และได้เสด็จกลับไปโปรดหมู่พระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ยังพระญาติทั้งหลายให้ดื่มด่ำในรสพระธรรม เกิดศรัทธาในพระศาสนา สมเด็จพระบิดาก็ได้บรรลุพระอรหันต์ แสงแห่งธรรมได้เอิบอาบทั่วกรุงกบิลพัสดุ์  เพราะวาทะของพระเถระกาฬุทายี ผู้ที่สามารถ อาราธนานิมนต์พระศาสดา มหาชนต่างยินดีปรีดาในพระเถระยิ่งนัก ท่านเป็นประดุจนักการทูตชั้นเยี่ยมที่กราบทูลเชิญได้สำเร็จ และทั้งหมดก็เป็นไปตามพุทธพยากรณ์ของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่พระเถระได้สร้างไว้ดีแล้วในอดีต
  
       เราจะเห็นว่า บุญเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา บุญจะปรุงแต่งทุกสิ่งให้พอเหมาะพอดีกับเรา ไม่ว่าจะเป็นความคิด คำพูด หรือการกระทำให้เหมาะสมกับบุคคล กระทั่งทำให้เกิดความสำเร็จในทุกสิ่งที่เราปรารถนา ผลแห่งบุญนี้ยังยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ จะทับทวีเกินควรเกินคาด ยิ่งถ้าได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญแล้ว ยิ่งมีอานิสงส์ใหญ่เป็นอสงไขยอัปปมาณัง ดังนั้นเราควรจะสั่งสมบุญทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ให้ลมหายใจของเราเป็นลมหายใจแห่งการสร้างบารมี สักวันหนึ่ง เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม เราจะเป็นผู้สมปรารถนาในทุกสิ่ง
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. กาฬุทายีเถราปทาน เล่ม ๗๑ หน้า ๑๓๘
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/mongkol03-36.html
เมื่อ 19 เมษายน 2567 11:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv