ความปรารถนาของบัณฑิต
 
 
 
     ในการเดินทางไกล นักเดินทางจำเป็นต้องมีเข็มทิศนำทาง และต้องศึกษาเส้นทางให้ดีก่อนออกเดินทาง เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ การเดินทางไกลในวัฏสงสาร เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต คือพระนิพพานก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องรู้จักเส้นทางที่ถูกต้องที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น เส้นทางแห่งความบริสุทธิ์นั้นคือเส้นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางเอกสายเดียวที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย ไปถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สัพภิสูตร ความว่า
 
                           “สพฺภิเรว สมาเสถ       สพฺภิ กุพฺเพถ สนฺถวํ
                            สตํ สทฺธมฺมมญฺญาย    สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
 
     บุคคลควรคบหากับสัตบุรุษ ควรทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะเมื่อบุคคลรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”
 
     การประคับประคองนาวาชีวิต ให้ดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทาง จำเป็นต้องคบหาคนดี ผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิต ซึ่งจะคอยแนะนำให้เราประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ให้มีความบริสุทธิ์กายวาจาใจ การคบบัณฑิตทำให้เราได้ซึมซาบคุณธรรมจากบัณฑิต ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     ธรรมดาของบัณฑิตย่อมไม่อยู่ร่วมกับคนพาล และเมื่อได้ทำความดีแล้วจะตั้งจิตปรารถนาให้ห่างไกลจากคนพาล เพราะการอยู่ใกล้คนพาลแม้ในช่วงเวลาอันสั้นอาจทำให้ชีวิตมัวหมองได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การได้คบบัณฑิต เป็นมงคลอันสูงสุด
 
     * ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมหาเศรษฐี มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ชื่อ อกิตติ ท่านมีน้องสาวชื่อ ยสวดี  เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ท่านไปเรียนศิลปะที่เมืองตักสิลาจนจบ แล้วเดินทางกลับบ้าน เมื่อรู้ว่าบิดามารดาเสียชีวิตแล้ว จึงทำการสำรวจทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน แทนที่ท่านจะดีใจ กลับสลดใจคิดว่า บิดามารดาและบรรพบุรุษ ได้สะสมเงินทองเอาไว้มากมาย แต่ครั้นละโลกไปแล้ว ไม่เห็นมีใครเอาสมบัติติดตัวไปได้เลย ท่านเป็นผู้มีปัญญา จึงบอกกับน้องสาวว่า "เราต้องเปลี่ยนทรัพย์เหล่านี้ให้เป็นบุญติดตัวไปในภายภาคหน้า ด้วยการนำออกให้ทาน"
 
     ท่านนำทรัพย์ทั้งหมดออกบำเพ็ญมหาทานตลอด ๗ วัน ทรัพย์ก็ยังไม่หมด จึงคิดว่า ในขณะที่เรากำลังให้ทานอยู่นี้ สังขารได้เสื่อมไปทุกอนุวินาที เพราะฉะนั้น ใครอยากได้อะไรก็เอาไปเถอะ แล้วท่านก็สละทุกอย่าง ออกบวชเป็นดาบสพร้อมกับน้องสาว มหาชนได้ตามท่านออกบวชกันเป็นจำนวนมากจนเป็นหมู่คณะใหญ่ มีผู้เลื่อมใสศรัทธา นำเครื่องสักการบูชามาถวายอยู่เสมอมิได้ขาด บริวารมาถามปัญหาธรรมะ มาขอคำแนะนำปรึกษาอยู่เป็นประจำ ทำให้ท่านมีเวลาบำเพ็ญภาวนาน้อย ท่านจึงคิดที่จะหลีกออกเร้นอยู่ตามลำพัง
 
     ตกกลางคืน ท่านจึงปลีกตัวออกจากหมู่คณะ ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่เกาะร้างแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้บอกใคร ได้ตั้งใจทำความเพียรไม่ประมาทจนได้ฌานสมาบัติ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวดจนมีตบะแก่กล้า เป็นผู้มักน้อยสันโดษ มีใบหมากเม่าเป็นอาหาร เวลาที่ต้นหมากเม่ามีผล ท่านก็ฉันผล เวลาที่ไม่มีผลท่านก็ฉันแต่ใบ โดยไม่ไปแสวงหาอาหารที่อื่นเลย พระอินทร์อยากจะลองใจพระโพธิสัตว์ จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์เข้าไปหาท่าน พระโพธิสัตว์กำลังนึ่งใบหมากเม่าอยู่ เมื่อมองเห็นพราหมณ์เดินมา ก็มีความปีติยินดีว่า เป็นบุญลาภอันประเสริฐของเราแล้ว ที่วันนี้มีผู้มาเป็นเนื้อนาบุญแก่เรา ท่านให้ใบหมากเม่าแก่พราหมณ์จนหมดเกลี้ยงโดยไม่มีความรู้สึกตระหนี่แม้แต่น้อย
 
     ครั้นให้ทานแล้วท่านก็ไม่ไปแสวงหาอาหารมาใหม่ นั่งเจริญสมาธิภาวนาต่อไป มีปีติเป็นภักษาหาร พระอินทร์มาลองใจพระโพธิสัตว์อยู่ถึง ๓ วัน ท่านก็ให้ทานทุกวัน พระอินทร์สงสัยมาก จึงตรัสถามว่า “ท่านให้ทานด้วยจิตใจที่มั่นคงอย่างนี้ เพราะปรารถนาจะได้อะไร” พระดาบสตอบว่า “ที่ให้ทานและบำเพ็ญตบะอยู่นี้ ไม่ได้ปรารถนาสมบัติหรือความเป็นใหญ่ในสวรรค์ แต่ปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ อยากหลุดพ้นจากวัฏสงสาร เพราะการเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์”
 
     พระอินทร์ฟังแล้วชอบใจ ตรัสว่า “ถ้อยคำของท่านดาบสเป็นวาจาสุภาษิต เป็นถ้อยคำของบัณฑิต เราเลื่อมใสท่าน เราจะให้พรแก่ท่าน ท่านจงขอพรมาเถอะ” พระโพธิสัตว์บอกว่า “ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร ก็ขอให้อาตมาภาพอย่าได้เห็นคนพาล อย่าได้ฟัง อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล และอย่าได้ชอบใจในการเจรจากับคนพาลเลย”
 
     พระอินทร์ถามอีกว่า “คนพาลทำอะไรให้ท่านไม่ชอบใจหรือ ทำไมท่านถึงไม่ปรารถนาจะเห็นคนพาล”
 
     พระโพธิสัตว์ตอบว่า “คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมแนะนำแต่สิ่งที่ไม่ควรทำ ชักชวนให้ไปยุ่งเกี่ยวในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ ชอบแนะนำผิดๆ แม้พูดด้วยดีๆ ก็โกรธ และเป็นคนไม่มีวินัย การไม่เห็นคนพาลถือเป็นความดี” พระอินทร์ชื่นชมวาจาสุภาษิต จึงให้ท่านขอพรได้อีก  
 
     พระโพธิสัตว์ขอพรว่า “ขอให้พบเห็นแต่นักปราชญ์บัณฑิต ได้ฟัง ได้อยู่ร่วมกับนักปราชญ์บัณฑิต และให้พอใจในการเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์บัณฑิต เพราะบัณฑิตย่อมแนะนำแต่สิ่งที่ควร ไม่ชักชวนให้ไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำในทางที่ถูกต้องเป็นความดีของบัณฑิต ปกติของนักปราชญ์บัณฑิตนั้น ไม่มักโกรธ รู้จักวินัย การคบหาสมาคมกับนักปราชญ์บัณฑิตเป็นความดี”
 
     พระอินทร์มีความเลื่อมใส อยากให้พรอีก ท่านดาบสจึงขอพรว่า “ถ้ามหาบพิตรจะทรงประทานพร ขอมหาบพิตรอย่ามาที่นี่อีกเลย” พระอินทร์แปลกใจ ตรัสถามว่า “คนทั่วไปต่างปรารถนาจะเห็นเทพบุตร เทพธิดา อยากเห็นชาวสวรรค์ และอยากเป็นสหายของเทวดา ทำไมท่านถึงไม่อยากเห็นเรา” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “ถ้าหากเห็นเหล่าเทวดาผู้พรั่งพร้อมด้วยทิพยสมบัติ จะทำให้เกิดความประมาทในการทำที่สุดแห่งทุกข์  ดังนั้น การไม่เห็นท่านจึงเป็นการดี”  
 
     คนมีปัญญาจะไม่ประมาท จะเร่งรีบทำความเพียรเพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ และจะคบหานักปราชญ์บัณฑิต เพราะทำให้มีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง ทำให้ชีวิตสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นนักปราชญ์บัณฑิตที่สมบูรณ์ บัณฑิตที่แท้จริงหมายถึงผู้ที่มีคุณธรรมภายใน ซึ่งมีหลายระดับถึง ๑๘ ชั้นด้วยกัน ตั้งแต่กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภู กายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมพระสกทาคามี กายธรรมพระสกทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัต และกายธรรมพระอรหัตละเอียด
 
     ทั้งหมดนี้ เป็นบัณฑิตที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไป มีความฉลาดรอบรู้เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ถ้าเข้าถึงกายธรรมอรหัตละเอียด จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง 
 
     เพราะฉะนั้น ถ้าอยากรู้ว่าบัณฑิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร ต้องทำใจให้หยุดนิ่งให้ได้ ใจหยุดนิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าไปถึงความเป็นบัณฑิตที่แท้จริง  ดังนั้น ควรอย่างยิ่งที่เราจะฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายกันทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๒๘๔
 

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/ความปรารถนาของบัณฑิต.html
เมื่อ 25 เมษายน 2567 07:51
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv