ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒

     การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา คือการทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อกลั่นใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส จะเป็นใจที่มีคุณภาพ มีความละเอียดนุ่มนวลควรแก่การงาน โดยเราจะต้องนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลาง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในซึ่งเป็นที่ระลึกที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เมื่อเข้าถึงได้แล้ว ความสุขที่ไม่มีประมาณเป็นเอกันตบรมสุขย่อมบังเกิดขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้น เป็นชีวิตที่ปลอดภัยจากภัยทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

* มีวาระพระบาลีใน ปทกุสลมาณวชาดก ความว่า

“เยน สิญฺจนฺติ ทุกฺขิตํ     เยน สิญฺจนฺติ อาตุรํ
ตสฺส มชฺเฌ มริสฺสามิ   ชาตํ สรณโต ภยํ

     ชนทั้งหลาย ย่อมรดผู้ที่มีความทุกข์ด้วยน้ำใด ชนทั้งหลายย่อมรดผู้ที่เร่าร้อนด้วยน้ำใด เราจักตายในท่ามกลางน้ำนั้น ภัยเกิดแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     สิ่งที่เราใช้ประโยชน์อยู่ทุกๆ วันนั้น หากใช้สอยโดยไม่มีสติพินิจพิจารณา ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ เหมือนน้ำที่เราดื่มกินดับกระหายทุกวันนั้น สามารถให้โทษแก่เราได้เช่นกัน ในยามที่เราเกิดกระหายน้ำอย่างมาก หากดื่มด้วยความเร่งรีบ โดยไม่ระมัดระวังก็อาจสำลัก หรือดื่มมากเกินไปจนเกิดอาการจุกเสียด หรือบางครั้งน้ำอาจท่วมปอดตายได้เช่นกัน

     เรื่องราวเกี่ยวกับความอัศจรรย์แห่งมนต์ของพระโพธิสัตว์ ซึ่งท่านได้เรียนมาจากมารดาผู้เป็นยักษิณี แล้วได้เดินทางเข้ารับราชการในเมืองพาราณสี โดยมีบิดาเป็นผู้แนะนำ เมื่อรับราชการแล้ว ปุโรหิตยังไม่เคยเห็นพระโพธิสัตว์แสดงอานุภาพของมนต์ให้ประจักษ์ จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทดสอบอานุภาพแห่งมนต์ พระราชาทรงเห็นด้วย ทั้งสองจึงถือดวงแก้วดวงที่สำคัญและมีค่ามากลงจากปราสาท พากันเดินวนเวียนอยู่ในพระราชนิเวศน์ ๓ ครั้ง แล้วพาดบันไดปีนขึ้นไปนอกกำแพง เข้าไปในศาลยุติธรรม นั่งพักที่นั่นสักครู่หนึ่งก็เดินกลับออกมา พาดบันไดที่ใหม่ตรงบริเวณปลายกำแพงอีกด้านหนึ่ง จากนั้นได้เดินวนรอบสระโบกขรณี ๓ รอบ แล้วลงไปในสระโบกขรณีวางแก้วมณีไว้ในสระนั้น หลังจากนั้นทั้งสองพากันเดินขึ้นปราสาทเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     รุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้พระโพธิสัตว์เข้าเฝ้า พลางตรัสว่า “ดูก่อนเจ้าพราหมณ์ แก้วที่ถูกลักไปมีค่าควรเมืองทีเดียว ท่านจงติดตามกลับมาให้ได้” พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลด้วยความมั่นใจว่า “ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงเบาพระทัยเถิด ของที่โจรลักไปถึง ๑๒ ปี ข้าพระองค์ยังสามารถติดตามมาได้ ฉะนั้นสิ่งของที่หายเมื่อคืนนี้ จะได้กลับมาในคืนวันนี้แหละพระเจ้าข้า”

     พระโพธิสัตว์ระลึกถึงมารดา แล้วร่ายมนต์จินดามณีทันที ท่านสามารถเห็นรอยเท้าของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน จึงเดินตามรอยเท้านั้นทุกย่างก้าว จนมาถึงบริเวณสระโบกขรณี พระโพธิสัตว์เห็นรอยเท้าในน้ำ จึงเดินลงไปที่สระ แล้วหยิบแก้วมณีมาถวายพระราชา พร้อมกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช โจรสองคนนี้ พระองค์ทรงรู้จักดีพระเจ้าข้า” มหาชนที่เห็นเหตุการณ์ต่างปรบมือด้วยความชื่นชมยินดี

     พระราชาทรงดำริว่า มาณพนี้เดินตามรอยเท้าได้ ไม่ว่าจะอยู่บนบก ในอากาศหรือในน้ำ เขาอาจจะรู้เพียงตำแหน่งสิ่งของเท่านั้น แต่คงจับโจรไม่ได้หรอก จึงตรัสว่า “ดูก่อนมาณพ เจ้าจงนำโจรทั้งสองมามอบให้เราด้วย” พระโพธิสัตว์รู้ดีว่า โจรสองคนนี้เป็นใคร แต่ไม่ปรารถนาเปิดเผยแก่มหาชน จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช โจรอยู่ไม่ไกลจากที่นี้เลย ผู้ใดที่อยากจะได้ ผู้นั้นนั่นแหละเป็นโจร สิ่งของนั้นพระองค์ได้กลับมาคืนแล้ว จะมีประโยชน์อะไรกับพวกโจรเล่าพระเจ้าข้า”

     แม้ได้ฟังดังนั้น  พระราชาก็ยังไม่ทันได้คิด ปรารถนาที่จะทดสอบอีก จึงรับสั่งว่า “เจ้ารับราชการ ได้ทรัพย์จากเราวันละพัน จงนำโจรนั้นมาให้เราให้ได้ ให้สมกับเงินที่เราให้เจ้าไปเถิด” พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ไม่ขอกราบทูลว่า ใครเป็นโจร แต่ข้าพระองค์จะเล่าเรื่องถวาย” พระโพธิสัตว์ได้ยกตัวอย่างเพื่ออุปมาอุปไมยว่า

     ในอดีตกาลมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีอาชีพเป็นนักฟ้อน วันหนึ่งสามีได้ซื้อสุรามากมายถือกลับบ้านมาด้วย เมื่อเดินมาถึงฝั่งแม่น้ำ เขานั่งดื่มจนเมามาย เอาพิณห้อยคอแล้วจับมือภรรยากล่าวว่า “มาเถิดน้องรัก เราจะพากันกลับบ้าน” จากนั้นทั้งสองได้ว่ายน้ำข้ามฝั่ง ขณะอยู่กลางแม่น้ำ สามีที่เมาบวกกับพิณที่หนักถ่วงคอ ทำให้เขาจมน้ำไป ภรรยาไม่อาจช่วยสามีได้ จึงสลัดสามีทิ้ง แล้วว่ายไปถึงฝั่งก่อน นางได้แต่ยืนดูสามีที่กำลังจมน้ำพลางคิดว่า สามีของเรากำลังจะจมน้ำตาย เราจะขอฟังเพลงที่สามีร้องเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงขอให้สามีร้องเพลงขับให้ฟังด้วย

     สามีกล่าวว่า “น้องรัก เจ้าจะให้พี่ขับเพลงได้อย่างไรเล่า ขณะนี้น้ำอันเป็นที่พึ่งของมหาชนกำลังจะฆ่าพี่ ภัยเกิดจากสิ่งที่เป็นที่พึ่งของมหาชนแท้ๆ” เมื่อพระโพธิสัตว์เล่าเรื่องนี้ถวาย พร้อมทูลเตือนสติว่า “มหาราช น้ำเป็นที่พึ่งแก่มหาชนฉันใด พระราชาก็เป็นที่พึ่งของมหาชนฉันนั้น เมื่อภัยเกิดขึ้นจากสำนักของพระราชา ใครเล่าจะป้องกันภัยนั้นได้ เรื่องโจรที่พระองค์ปรารถนาจะรู้ตัวนั้นเป็นความลับ ข้าพระองค์ทูลอย่างบัณฑิต ขอพระองค์อย่าเอาโทษกับโจรทั้งสองนั้นเลย”

     แม้พระราชาได้สดับดังนั้นก็ตาม พระองค์ยังปรารถนาที่จะทดสอบต่อไปอีก จึงตรัสย้ำว่า “เจ้าจะรู้เรื่องที่ลี้ลับเช่นนี้ได้อย่างไร จงรีบนำโจรมามอบให้เราโดยเร็ว” พระโพธิสัตว์เล่าเรื่องถวายอีกว่า “ในกาลก่อนมีบ้านใกล้ประตูเมืองพาราณสี เป็นบ้านนายช่างหม้อ เมื่อเขาจะนำดินมาปั้นหม้อ ได้ขุดดินเหนียวมาปั้น วันหนึ่งในขณะที่ช่างปั้นหม้อกำลังขุดดินอยู่ มหาเมฆผิดฤดูได้ตั้งเค้า และฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำไหลท่วมเจิ่งนองไปทั่วอาณาบริเวณ กระแสน้ำได้ท่วมหลุม กองดินได้ไหลมากระทบศีรษะของนายช่างหม้อแตกเป็นแผลสาหัส ช่างหม้อร้องคร่ำครวญว่า พืชทั้งหลายงอกงามบนแผ่นดิน สัตว์ทั้งหลายอยู่อาศัยบนแผ่นดิน แต่บัดนี้ แผ่นดินพังทับศีรษะเราแตก ภัยเกิดจากที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     เมื่อพระโพธิสัตว์เล่าถวายดังนี้ ได้แล้วสรุปว่า “แผ่นดินเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ พระราชาเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ ขอพระองค์โปรดรับรู้ว่า ข้าพระองค์ปกปิดว่าใครเป็นโจร ด้วยข้ออุปมาที่เล่าถวายเถิดพระเจ้าข้า” แม้พระราชาจะทรงรู้ว่า พระโพธิสัตว์หวังดีกับตน แต่ด้วยมานะของกษัตริย์ พระองค์ได้บังคับให้พระโพธิสัตว์ชี้โจรให้พระองค์ทอดพระเนตร พระโพธิสัตว์ได้ประกาศท่ามกลางมหาชนว่า “ข้าแต่มหาราช เหล่าโจรที่ลักขโมยแก้วมณี คือพระองค์กับปุโรหิตนั่นแหละพระเจ้าข้า” พระราชาและมหาชนฟังดังนี้ ต่างอัศจรรย์ในมนต์ของพระโพธิสัตว์ พากันยินดีปรีดาถ้วนหน้า ต่อมาหลังจากพระราชาสวรรคต มหาชนจึงพร้อมใจกันสถาปนาพระโพธิสัตว์ขึ้นครองราชย์สืบไป

     เราจะเห็นได้ว่า ความอัศจรรย์แห่งมนต์ในอดีตนั้นน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะมีมนต์วิเศษเช่นนี้ ก็ไม่อาจนำเราให้พ้นจากกองทุกข์ได้ มีมนต์ชนิดเดียวเท่านั้น คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะนำพาเราและสรรพสัตว์ผู้ปฏิบัติตามคำสอนให้พ้นจากทุกข์ได้จริง มนต์บทนี้น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง เป็นพุทธมนต์ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่จะนำเราไปสู่สวรรค์สู่นิพพานได้ ซึ่งเราจะเรียนรู้ได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ฉะนั้นให้ตั้งใจฝึกฝนอบรมใจของเราให้หยุดนิ่ง แล้วเราจะได้เรียนมนต์วิเศษอย่างนี้กันทุกคน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๖๕๙
 


บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/ความอัศจรรย์แห่งมนต์-2.html
เมื่อ 20 เมษายน 2567 12:21
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv