ฐานที่ ๗ ใสบริสุทธิ์ดุจตะวันแก้ว

     เมื่อถึงวันพระ เราควรรู้จักชำระกาย วาจา ใจ ของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เช่นบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยายของเราได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นประเพณีอันดีงาม ท่านถือว่าวันพระเป็นวันแห่งความบริสุทธิ์ ที่จะได้มาตามระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเราทั้งหลาย สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมภาษิตไว้บทหนึ่งว่า

“เนลงฺโค เสตปจฺฉาโท    เอกาโร วตฺตตี รโถ
อนีฆํ ปสฺส อายนฺตํ       ฉินฺนโสตํ อพนฺธนํ

     เธอจงดูรถอันไม่มีโทษ มีหลังคาสีขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์ แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกิเลสเครื่องผูกพัน”

     คำว่า “รถ” หมายถึงสรีระร่างกายของเรา ซึ่งเคลื่อนไหวไปมาได้เหมือนรถ คำว่า “ไม่มีโทษ” เป็นชื่อของศีล เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้ว การงานใดๆ ที่กระทำลงไป จัดเป็นงานที่ไม่มีโทษ คำว่า “หลังคาสีขาว” คือใจที่ขาวใสบริสุทธิ์ เป็นใจที่หลุดพ้น เหมือนหลังคาที่มุงดีแล้ว กิเลสย่อมไม่รั่วรดเข้ามาในใจ คำว่า “มีเพลาเดียว” เป็นชื่อของสติ เมื่อใจบริสุทธิ์หยุดนิ่งแล้ว สติจะตั้งมั่นเป็นสัมมาสติ เป็นมหาสติ เพลารถจึงเป็นเหมือนสติที่จะหมุนไปในทางที่ชอบ สู่ทางสายกลาง ทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด จิตเข้าไปสู่แหล่งแห่งความสุขอันไม่มีประมาณ และมุ่งตรงไปถึงจุดหมายปลายทางได้

     คำว่า “ถึงที่หมาย” ท่านหมายเอาบุคคลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต คือได้บรรลุธรรมกายอรหัตแล้ว ได้ดำเนินจิตผ่านดวงธรรม ผ่านกายภายในเข้าไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัต จิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงหมดสิ้น คือตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ละได้หมด สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ตัดขาดเหมือนตาลยอดด้วน ไม่มีงอกขึ้นมาอีก ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หมดความทะยานอยากในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ ไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด ปลดพันธนาการของชีวิตได้แล้ว จิตอยู่ในกระแสพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตเป็นอิสระอย่างแท้จริง ได้เข้าถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต คือบรรลุพระนิพพานนั่นเอง

     ก่อนที่จะดำเนินจิตเข้าสู่ภายใน เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางนั้น ในเบื้องต้นเราต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน เพราะศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง ถ้าศีลของเราบริสุทธิ์ จะเป็นเหตุให้สมาธิตั้งมั่น เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว จะก่อให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว จะรู้เห็นไปตามความเป็นจริง สามารถกำจัดอาสวกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ ดังนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือไตรสิกขานี้จึงเป็นหลักที่สำคัญยิ่งของการศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนา ทุกท่านควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามพุทธประสงค์ต่อไป

     ต่อจากนี้ไป ขอเรียนเชิญท่านทั้งหลาย ได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ สบายๆ คล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตาและอย่ากดลูกนัยน์ตา แล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ทำใจของเราให้ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย ให้แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส ให้สะอาดบริสุทธิ์

     นึกให้ใส บริสุทธิ์ ดุจตะวันแก้วก็ได้ เราลองนึกย้อนหลังถึงวันแห่งมหาปีติ วันที่ ๖ กันยายน ที่ผ่านมา เราได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า เห็นดวงตะวันแก้วพร้อมๆ กันนับหมื่นคน ซึ่งปกติเราจะมองดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าไม่ได้ แต่วันนั้นดูได้โดยไม่แสบตา ดวงตะวันเหมือนถูกดูดหายไป แล้วมีดวงธรรมเหมือนดวงแก้วใสๆ ปรากฏขึ้นมาแทนที่ดวงอาทิตย์ คล้ายดวงธรรมผุดซ้อนขึ้นมาเป็นดวงแก้วใสๆ เลื่อนเข้าเลื่อนออก เหมือนการซูมภาพของกล้องถ่ายรูป ผุดเกิดขึ้นซ้อนๆ กัน ใสเกินใส เย็นตาเย็นใจ เป็นดั่ง “ดวงธรรมตะวันแก้ว” แล้วก็เกิดเป็นวงแหวนรอบนอกของดวงตะวันแก้ว หมุนวนไปทางขวา เปล่งฉัพพรรณรังสีออกมาเป็นแสงสีต่างๆ สดใสสวยงามยิ่งนัก เหมือนสีรุ้งเกิดขึ้นมาทีละสี สุดท้ายก็เป็นรัศมีสีทองอร่ามทาบทาบนท้องฟ้า บนมหาธรรมกายเจดีย์ จนพวกเราต่างเป็นสีทองไปหมด

     สักครู่ก็เห็นสีเหลืองทองปรากฏเป็นองค์หลวงปู่วัดปากน้ำเหมือนห่มจีวรสีทองอร่าม ค่อยๆ ขยายขึ้นจนเต็มองค์ ตะวันแก้วลอยเด่นอยู่ในกลางกายของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในที่สุดน้ำตาแห่งความปลื้มปีติก็ได้เอ่อล้นออกมา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส เชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยอย่างเปี่ยมล้น สุดที่จะพรรณนาได้หมดสิ้นทีเดียว

     เราจะนึกถึงดวงแก้วเป็นบริกรรมนิมิตก็ได้ นึกอย่างสบายๆ มีความสุข ให้ใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ฐานที่ ๗ นี้อยู่ที่ไหน ให้เราสมมติขึงเส้นด้ายจากสะดือทะลุไปด้านหลัง จากข้างขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ คือ เอานิ้วชี้มือและนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน ทาบตรงจุดตัดนี้ จุดนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางกาย เป็นฐานที่ตั้งถาวรของใจของเราอย่างแท้จริง เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ตลอดเวลา

     ท่านใดรู้สึกอยากทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ ก็ให้ทำใจนิ่งๆ สบายๆ ไปเรื่อยๆ สำหรับท่านที่ชอบเผลอไปนึกถึงเรื่องอื่น ก็ให้เรานึกถึงบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ ควบคู่ไปกับการนึกบริกรรมนิมิตก็ได้ หรืออาจจะนึกถึงความดีที่เราเคยทำผ่านมา นึกแล้วจิตเป็นกุศล อารมณ์ดี เบิกบาน ผ่องใส หรือจะนึกถึงอำนาจแห่งศีล ท่านที่เคยรักษาศีล ๕ เป็นปกติอยู่แล้ว รักษาศีล ๘ ในวันพระวันโกน หรือเคยอยู่ธุดงค์สุดสัปดาห์ หรืออาจจะนึกถึงบุญที่เราเคยทำมาในอดีต เช่น การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี สร้างสภาธรรมกายสากล การสร้างพระธรรมกายประจำตัว ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติก็ดี นึกแล้วจะบังเกิดความปลื้มปีติ แช่มชื่น เบิกบานใจ เป็นสุขอย่างไม่มีประมาณ

     เพราะมหาธรรมกายเจดีย์ ที่เราทุกคนได้ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจสร้างกันขึ้นมาด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้นในพระรัตนตรัย เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของมวลมนุษยชาติทั่วโลกนี้ จะเป็นแหล่งสร้างจิตใจที่ดีงามของมวลมนุษย์ จิตใจที่ดีงามนี้จะสร้างคนดีที่โลกต้องการให้บังเกิดขึ้น และคนดีเหล่านี้จะช่วยกันสร้างสรรค์โลกนี้ให้เป็นโลกแห่งสันติสุขอย่างแท้จริง และเมื่อมนุษย์ทุกคนมาสู่สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แล้ว จะเกิดการปรองดองกันเหมือนหมู่ญาติอันเป็นที่รัก ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ จะชักชวนกันมาทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มาปฏิบัติธรรม ในที่สุดจะเข้าถึงแหล่งแห่งสันติสุขที่แท้จริง และสันติสุขภายในนี้จะค่อยๆ แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ เป็นพลังมวลแห่งสันติสุขที่จะก่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง แผ่ออกไปอย่างไม่มีประมาณ จนครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก

     ดังนั้น มหาธรรมกายเจดีย์ เจดีย์แห่งพระรัตนตรัยที่พวกเราได้ร่วมใจสร้างกันขึ้นมา จึงเป็นมหัคคตกุศล เป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ควรที่เราจะระลึกนึกถึงบุญนี้ด้วยความปลื้มปีติกันทุกๆ คน ให้น้อมใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อหยุดถูกส่วน เราจะเห็นดวงธรรมใสบริสุทธิ์ เป็นดวงธรรมเบื้องต้น ที่เรียกว่าดวงปฐมมรรค หรือเรียกว่า ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดนิ่งต่อไป จะเห็นดวงศีล ที่ชัด ใส สว่างยิ่งขึ้นอยู่ภายใน ยิ่งเราหยุดนิ่งได้สนิทมาก ดวงศีลในกลางตัวก็จะชัดมาก เป็น “ศีลเห็น” คือเห็นเป็นดวง ใสยิ่งกว่าเพชร ใสบริสุทธิ์ดุจดวงตะวันแก้ว สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ความบริสุทธิ์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นๆ ยิ่งบริสุทธิ์ยิ่งมีความสุขเพิ่มมากขึ้น พอเราหยุดใจเบาๆ สบายๆ ในกลางดวงศีล แนบแน่นจนกระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดวงศีลที่เราเข้าถึงนั้น จะเป็นอธิศีล เป็นศีลที่ยิ่งกว่าศีลอื่นใด เพราะเป็นศีลที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เราจะเหมือนแช่อิ่มอยู่ในกลางดวงศีล เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศีลดวงนั้น

     หยุดนิ่งในกลางดวงศีลต่อไป จะเข้าถึงดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ไปตามลำดับ จนเข้าถึงกายในกายเป็นลำดับ ในที่สุดจะเข้าถึงพระธรรมกาย มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแก้วใสบริสุทธิ์ นี่เป็นเครื่องยืนยันว่า ศีลของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เราจะรู้สึกอบอุ่นใจ ปีติและเป็นสุข ปลอดภัยเหมือนมีเกราะแก้วคุ้มกันภัยอันตรายให้แก่เราได้เป็นอย่างดี

     * ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่ง กำลังนั่งฟังธรรมในเวลากลางคืน ขณะนั้นมีงูพิษเลื้อยออกมาจากที่อยู่ของมัน แล้วมากัดที่ขาของท่าน พอท่านรู้ว่าถูกงูกัด จึงรีบตั้งสติมั่น เพื่อระงับความเจ็บปวด พิษงูได้แผ่ซ่านไปตามกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ท่านไม่รู้จะไปหายาที่ไหนมารักษาได้ทันท่วงที จึงนึกสอนตนเองว่า หากเราจะต้องมรณภาพในตอนนี้จริงๆ เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส  อย่างน้อยก็จะได้ไปสู่สุคติ

     ท่านจึงได้นึกถึงศีล ๒๒๗ ข้อ ที่ได้รักษามาอย่างดีแล้ว ตั้งแต่ออกบวชได้ตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบเรื่อยมา จนกระทั่งถึงบัดนี้ ไม่เคยล่วงละเมิดศีลข้อใดเลย ศีลของท่านสะอาดบริสุทธิ์มาก พอนึกถึงก็เกิดความปีติปราโมทย์ใจ ความปีติได้เอิบอาบ ซึมซาบ แผ่ซ่านไปทั่วเรือนร่าง จนสามารถข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ เมื่อกายสงบ ท่านจึงทำใจให้เป็นสมาธิ ดำเนินจิตหยุดนิ่งเข้าสู่ภายใน มีใจรวมเป็นหนึ่ง จนกระทั่งเข้าถึงดวงธรรม แล้วเห็นดวงศีล ที่ชัด ใส สว่าง อยู่ในกลางตัว

     ท่านบังเกิดความปีติเป็นอย่างมาก จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่ข้าพเจ้าตั้งใจรักษามาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีด่างพร้อย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษร้ายจงพลันมลายหายสูญไปด้วยเถิด”

     พอสิ้นคำอธิษฐานของท่าน ความมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น พิษร้ายได้ไหลย้อนออกจากร่างกายท่าน ชำแรกลงสู่แผ่นดินทันที ทำให้ท่านหายจากความทุกข์ทรมาน พ้นจากเงื้อมมือของพญามัจจุราชมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยอำนาจแห่งศีลนั่นเอง

     เมื่อท่านเห็นอานุภาพแห่งศีลเช่นนั้น จึงเกิดความปีติ จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เดียว ไม่วอกแวกเลย ใจก็ยิ่งหยุดนิ่ง แล่นเข้าไปสู่ภายใน เห็นดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ และเข้าถึงกายภายในไปตามลำดับ ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ในค่ำคืนนั้นนั่นเอง

     ดังนั้นความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้ มีคุณอันยิ่งใหญ่ มีอานิสงส์อันไพศาลสุดจะนับจะประมาณได้ทีเดียว ในเบื้องต้นย่อมส่งผลให้มีความสุขกายสุขใจในปัจจุบันชาตินี้ ในท่ามกลางหลังจากหลับตาลาโลกไปแล้ว ย่อมไปเสวยบุญต่อในสุคติโลกสวรรค์ ในเบื้องปลายจะส่งผลให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย เข้าสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน

     ท่านสาธุชนทั้งหลาย จึงควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใช้วันเวลาที่มีอยู่เพียงน้อยนิดให้คุ้มค่า ได้รับประโยชน์สูงสุดสมกับการมาเกิดเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ควรรักษาศีล กลั่นใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าเราจะประกอบภารกิจหน้าที่การงานอันใดก็ตาม ให้ฝึกใจหยุดนิ่งควบคู่ไปด้วย เมื่อใจหยุดนิ่งภายในดีแล้ว ศีลของเราก็จะบริสุทธิ์ ก็จะส่งผลให้วาจาบริสุทธิ์ การกระทำจะบริสุทธิ์ตามไปด้วย เมื่อกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุข สดชื่น เบิกบาน สมกับการเป็นยอดนักสร้างบารมี ผู้เกิดมาสร้างบารมีอย่างแท้จริง

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* วิสุทธิมรรค

 

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/ฐานที่-7-ใสบริสุทธิ์ดุจตะวันแก้ว.html
เมื่อ 27 เมษายน 2567 04:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv