สัญญาแห่งความเลื่อมใส

     พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เมื่อนึกถึงแล้วจะทำให้ใจบริสุทธิ์ มีความสุข สดชื่น เบิกบาน เป็นสรณะของมวลมนุษยชาติ เพราะการที่เราต้องเกิดในมาแต่ละภพแต่ละชาติ ก็เพื่อแสวงหารัตนะทั้งสามนี้เท่านั้น แต่ถ้าเรามัวไปแสวงหาจากนอกตัวก็จะไม่มีวันพบ เพราะฉะนั้น ให้เราได้นึกน้อมใจกลับมาเพื่อแสวงหาสรณะ อันเป็นพึ่งที่แท้จริง ที่อยู่ภายในตัวของเราทุกคน

     ในการเจริญพุทธานุสติ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ มีพระแก้วใสเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ปิดประตูอบายภูมิทีเดียว เพราะอานุภาพแห่งการเจริญพุทธานุสติ ระลึกถึงผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว อย่างเป็นชีวิตจิตใจ ในทุกอิริยาบถทั้งยืน เดิน นั่ง นอน จนกระทั่งท่านมาปรากฏอยู่ในกลางใจของเรา และติดอยู่ตลอดเวลา มีอานุภาพที่ไม่มีประมาณ ปิดประตูอบายได้ เพราะใจจะผ่องใส ไม่เศร้าหมอง มีสุคติเป็นที่ไป หลังจากละโลกไปแล้ว เราจะมีกายใหม่ เป็นกายทิพย์ที่สวยงาม มีรัศมีสว่างไสว มีสมบัติอันเป็นทิพย์ มีวิมานอยู่ในสวรรค์ มีบริวารเกิดขึ้นมากมาย หรือถ้าปรารถนาจะไปบังเกิดในพรหมโลก  ก็สามารถไปได้

มีพุทธภาษิตที่ปรากฏใน สุภูติเถราปทาน ตอนหนึ่งว่า

     “ท่านจงเจริญพุทธานุสติ อันยอดเยี่ยมกว่าภาวนาทั้งหลาย ท่านเจริญพุทธานุสตินี้แล้ว จักยังใจให้เต็มได้”

     ในอดีต มีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อ รโหสัญญิกเถระ ท่านเป็นพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ ๗ ขวบ เป็นสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา คือผู้ที่ปฏิบัติได้สะดวก ตรัสรู้ได้รวดเร็ว แม้มีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น ก็ได้บรรลุคุณวิเศษ มีอภิญญา ๖ คือ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้วาระจิต มีอิทธิฤทธิ์ ทำอาสวะให้สิ้นได้ และถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ มีปัญญาแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และในปฏิภาณไหวพริบ

     เป็นธรรมดาของพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านจะระลึกชาติหนหลัง ที่เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนไปดูประวัติการสร้างบารมีของท่านเอง เมื่อพบเห็นว่าแต่ละภพ แต่ละชาติ  ท่านได้ทุ่มเทสร้างบารมีอย่างเต็มที่ ก็จะเกิดความปีติปราโมทย์ใจ  

     * พระรโหสัญญิกะ ได้เล่าเรื่องในอดีตชาติของท่านไว้ว่า ทุกชาติที่ผ่านมา ท่านได้บำเพ็ญกุศลไว้มากมาย ได้พบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายพระองค์  อีกทั้งมีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธองค์  ท่านจะระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อยู่เสมอ มีใจผูกพันกับพระรัตนตรัยตลอดเวลา ได้สั่งสมมหากุศลด้วยการเจริญพุทธานุสติ ทำให้ท่านมีอุปนิสัยแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน  

     ในชาติหนึ่ง ท่านได้ไปเกิดในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นที่เรียกว่า “กาลวิบัติ” คือช่วงเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติในโลก มนุษย์ในยุคนั้นจึงหมดโอกาสได้รู้จักพระพุทธศาสนา มิได้รับรสแห่งพระสัทธรรม ถ้าใครไปเกิดในยุคนั้น ก็เท่ากับว่าเกิดมาเปล่าประโยชน์ หาแก่นสารสาระอันแท้จริงในชีวิตไม่ได้

     ในสมัยนั้น ท่านได้เกิดในตระกูลของพราหมณ์ ในเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองแห่งหนึ่ง ครั้นเจริญวัยขึ้นก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาจนประสบความสำเร็จ แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่สั่งสมบุญเก่ามาดี จึงมีดวงปัญญามองเห็นว่าความรู้ที่ตนมีอยู่นั้น หาแก่นสารอะไรไม่ได้ แล้วยังเป็นทางมาแห่งบาปอกุศล ยากที่จะประกอบอาชีพให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้

     ท่านจึงได้สละเพศฆราวาส ออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ เมื่อบวชแล้ว ก็เป็นผู้มักน้อยสันโดษ ประพฤติพรหมจรรย์ จนมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมาขอเป็นลูกศิษย์ มีบริวารถึง ๓,๐๐๐ คน ออกบวชตามเป็นฤาษีอยู่ในสำนักของท่าน ตั้งอาศรมอยู่ใกล้ภูเขาวสภะ เป็นยอดเขาที่สูงรองมาจากภูเขาหิมวันต์ ซึ่งนักพรตในยุคนั้น ถือว่าเป็นภูเขาที่เป็นสัปปายะที่สุด

     ท่านฤๅษีได้สั่งสอนศิษย์เหล่านั้นอยู่นานถึง ๓,๐๐๐ ปี แต่ก็ยังไม่ทราบถึง สรณะอันแท้จริง ท่านจึงคิดว่า “เราเป็นอาจารย์ของศิษย์เหล่านี้ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ แต่น่าเสียใจที่เราไม่มีอาจารย์ แม้ที่พึ่งที่แท้จริงของเราก็ไม่มี”

     คิดดังนี้แล้ว ก็เกิดความละอายใจ จึงได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด แล้วกล่าวกับศิษย์ทั้ง ๓,๐๐๐ ว่า “ท่านทั้งหลายอาศัยเราเป็นอาจารย์ แต่เราไม่อาจแนะนำหนทางหลุดพ้นให้แก่ท่านทั้งหลาย เราไม่ทราบถึงการบรรลุอมตธรรมอันสูงสุด ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าได้เป็นผู้ประมาท” แล้วท่านก็รู้สึกละอายใจตนเอง ที่ชีวิตไม่มีแก่นสาร แม้ศิษย์ทั้งหลายก็ไม่มีใครรู้ ว่าอะไรคือสาระที่แท้จริง ดังนั้นท่านจึงปลีกวิเวก โดยหาที่สงัดเพื่อปรารภความเพียรอยู่เพียงลำพัง  

     ในขณะนั้นเองบุญเก่าส่งตามมาทัน ได้กระตุ้นเตือนจิตสำนึกของท่านให้ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเนื่องจากในอดีตชาติ ท่านได้เคยเจริญพุทธานุสติเนืองนิจ แม้มาเกิดในยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้าก็ตาม  แต่ท่านก็นึกขึ้นมาได้ แล้วทำจิตของตนให้เลื่อมใสในพระญาณของพระทศพล เกิดความปีติ มีใจผ่องใส นึกถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ในใจ โดยทำความรู้สึกคล้ายกับว่า ได้นั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา ท่านนั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์ อยู่บนอาสนะที่ปูลาดด้วยใบไม้ ทำความเพียรไม่เลิกรา จนกระทั่งสิ้นชีวิตอยู่ในอิริยาบถนั้นเอง

     ด้วยอานุภาพแห่งใจที่ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง เมื่อละโลกแล้ว จึงไปบังเกิดในพรหมโลก สมกับที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

“จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา”  
เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง บุคคลพึงหวังสุคติได้

     ด้วยอานิสงส์ที่ท่านได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้ ไม่เคยรู้จักทุคติเลย คือไม่เคยตกไปสู่อบายภูมิ ไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน ในกัปที่ ๒๗ ที่ผ่านมา ท่านได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการทีเดียว

     ในภพชาติสุดท้าย ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านเกิดในตระกูลสูง ที่มีความพรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติ พออายุได้ ๗ ขวบ บุญเก่าก็มาเตือนและสอนตัวเองได้ว่า สิ่งทั้งหลายในโลกล้วนไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร เกิดความเบื่อหน่ายในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จึงได้ออกบวช และในขณะที่พระอุปัชฌาย์เอามีดโกนจรดที่ปลายผม พระรโหสัญญิกก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที

     ดังนั้น การเจริญพุทธานุสติจึงมีอานิสงส์มาก เป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลนิพพานตั้งแต่เยาว์วัย ถ้าหากใครระลึกถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ในใจอยู่เสมอ ใจจะผ่องใส ปิดประตูอบายภูมิได้ ละโลกก็ไปสู่สุคติ เมื่อถึงคราวต้องมาเกิดในเมืองมนุษย์ จะเกิดในตระกูลที่ดี มีโภคทรัพย์สมบัติเพียบพร้อมบริบูรณ์ ดังนี้

     การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ จึงมีอานิสงส์มาก มีผลอันไพบูลย์ ทำให้เรามีความสุข สดชื่น เบิกบาน ผ่องใสขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นให้หมั่นประคับประคองใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกวัน เพื่อใจของเราจะได้สะอาด บริสุทธิ์ และเข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๔๖๐

 

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/สัญญาแห่งความเลื่อมใส.html
เมื่อ 28 มีนาคม 2567 23:03
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv