เป็นใหญ่ด้วยธรรม
 
 
     วิชาในโลกนี้มีอยู่มากมายและสามารถศึกษาได้ไม่มีวันหมดสิ้น ส่วนบุคคลใดจะเลือกศึกษาวิชาใด หรือจะศึกษามากน้อยแค่ไหน ก็ย่อมแล้วแต่บุคคลนั้นๆ เพราะขึ้นชื่อว่า การศึกษา ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิต วิชาโดยทั่วไปนั้นศึกษาเพียงเพื่อทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เท่านั้น แต่ยังมีสุดยอดของวิชาที่ทุกคนจำเป็นต้องศึกษา ไม่ศึกษาไม่ได้ เพราะถ้าไม่รู้วิชานี้แล้ว ชีวิตจะไม่ปลอดภัย วิชานี้คือวิชาความจริงของชีวิต ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ทำให้ชีวิตของเราปลอดภัยทั้งในภพนี้และภพหน้า เป็นวิชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ ซึ่งหากใครยังไม่ได้ศึกษาต้องถือว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมานั้น ช่างน่าเสียดายที่สุด เพราะเป็นวิชาที่ช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ไม่ว่าทะเลแห่งความทุกข์จะเวิ้งว้างน่าหวาดกลัวเพียงใด ขอเพียงเรามีวิชาของชีวิตนี้ติดตัว เราย่อมจะปลอดภัยทั้งในภพนี้และภพหน้าอย่างแน่นอน
 
มีวาระพระบาลีใน กปิชาดก ว่า
 
                             “น สาธุ พลวา พาโล  ยูถสฺส ปริหารโก
                              ธีโร จ พลวา สาธุ     ยูถสฺส ปริหารโก
 
     ผู้ปกครองหมู่คณะ ถึงจะมีกำลังอำนาจ แต่ถ้าเป็นคนโง่เขลา ก็เอาดีไม่ได้ ผู้ปกครองหมู่คณะ ถ้าเป็นคนฉลาดและมีกำลัง จึงจะได้ผลดี”
 
     การเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองที่มีอำนาจนั้น เมื่อจะตัดสินใจทำสิ่งใด ต้องคิดให้รอบคอบในทุกๆ เรื่อง เพราะการตัดสินใจของผู้นำ ย่อมมีผลกระทบต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และคนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสังคมประเทศชาติด้วย สำหรับผู้ที่มีอำนาจหรือผู้อยากจะมีอำนาจนั้น หากคิดเป็นใหญ่ ก็ขอให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม ยิ่งใหญ่ด้วยความดี มิใช่ด้วยความทะเยอทะยานจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะความยิ่งใหญ่ด้วยความดีนั้นเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชาวโลก ยิ่งหากความยิ่งใหญ่นั้นทำให้เกิดสันติสุขแก่โลกแล้ว ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญมากที่สุด
 
     ผู้ที่เป็นใหญ่มีหน้าที่ปกครองหมู่คณะ ต้องเป็นคนมีสติปัญญา ฉลาดรอบรู้ ทั้งในสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ควรเว้น ต้องมีคุณธรรม รู้จักใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนไปในการสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ความยิ่งใหญ่เช่นนี้ จึงจะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั้งหลาย แต่ถ้าไม่ทำเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมแล้ว ความเป็นใหญ่นั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะเกิดโทษ และในไม่ช้าก็ย่อมสูญเสียอำนาจนั้นไป เพราะความไม่ดีของตน ดังเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตดังนี้
 
     * เมื่อพระเทวทัตทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดความเลื่อมใสแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาลาภสักการะที่เกิดขึ้นให้ตั้งอยู่ได้นาน ลาภสักการะของพระเทวทัตได้เสื่อมไป ตั้งแต่ครั้งที่มหาชนได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงปราบช้างนาฬาคิรีที่จะมาประทุษร้ายพระองค์ เหล่าภิกษุได้ประชุมสนทนากันถึงเรื่องนั้นในโรงธรรมสภา ขณะนั้นเองพระบรมศาสดาได้เสด็จมาตรัสถามถึงเรื่องที่สนทนากัน เมื่อเหล่าภิกษุกราบทูลแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมิใช่ทำลายลาภสักการะ ที่เกิดแก่ตนให้เสื่อมไปในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ยังทำลายลาภสักการะ ให้เสื่อมไปแล้วเช่นกัน” จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า
 
     เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นปุโรหิตของพระราชา เป็นผู้จบไตรเพท และศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ รอบรู้ปฐวีวิชัยมนต์ คือมนต์กลับใจให้หลง  วันหนึ่งพระโพธิสัตว์คิดจะทบทวนมนต์ จึงนั่งสาธยายมนต์บนหินดาดที่เนินผาแห่งหนึ่ง ปกติมนต์นั้นหากผู้มีใจวอกแวก หรือความทรงจำไม่ดี ก็จะไม่สามารถทำให้มีฤทธานุภาพได้  ปุโรหิตจึงต้องไปสาธยายในที่สงบวิเวก แต่ที่หินดาดนั้นมีโพรงไม้ ซึ่งสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอาศัยอยู่ มันจึงได้ยินมนต์นั้น และสามารถท่องจำจนแคล่วคล่อง ที่เป็นอย่างนี้ เพราะในอดีตชาติสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเคยเป็นพราหมณ์ที่ทรงจำปฐวีวิชัยมนต์ได้นั่นเอง
 
     พระโพธิสัตว์สาธยายมนต์จบแล้วก็ลุกไป ส่วนสุนัขจิ้งจอกก็ออกจากโพรงไม้ แล้วกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ผู้เจริญ มนต์นี้ข้าพเจ้าท่องได้ชำนาญยิ่งกว่าท่านเสียอีก” แล้วรีบวิ่งหนีไป  พระโพธิสัตว์คิดว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้จักทำอะไรไม่ดีเป็นแน่ จึงติดตามไป สุนัขจิ้งจอกรู้ทันจึงได้หนีเข้าไปในป่า ได้ร่ายปฐวีวิชัยมนต์บังคับสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายให้อยู่ในอำนาจของตน อีกทั้งยังทำสัตว์ ๔ เท้า มีช้าง ม้า สิงโต เสือ กระต่าย เป็นต้น ให้ตกอยู่ในอำนาจของตน แล้วได้ตั้งตนเป็นพญาสัตว์ชื่อว่า สัพพทาฐะ มีนางสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเป็นภรรยา ทั้งสองได้นั่งบนหลังราชสีห์ ที่ยืนอยู่บนหลังช้าง ๒ เชือก คอยคุ้มกัน นับเป็นยศอันยิ่งใหญ่ที่มันได้รับในครั้งนั้น
 
     พญาสุนัขจิ้งจอกมัวเมาด้วยลาภยศ เกิดมานะคิดจะชิงราชสมบัติจากพระเจ้ากรุงพาราณสี จึงนำหมู่สัตว์จตุบาทมากมายขบวนยาวถึง ๑๒ โยชน์ ไปกรุงพาราณสี แล้วพญาสุนัขจิ้งจอกได้ส่งสาสน์ไปถึงพระราชาว่า “จะมอบราชสมบัติให้แต่โดยดี หรือว่าจะรบกัน” ชาวกรุงพาราณสีต่างสะดุ้งหวาดกลัว พากันปิดประตูเมืองทั้งหมด
 
     พระโพธิสัตว์ได้ไปเข้าเฝ้าพระราชาพลางกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่ากลัวเลย การต่อสู้ด้วยการรบกับสุนัขจิ้งจอก เป็นภาระของข้าพระองค์เอง เว้นข้าพระองค์แล้ว ไม่มีผู้อื่นรบกับมันได้” จากนั้นท่านได้ขึ้นไปบนป้อมที่ประตูเมืองถามว่า “ดูก่อนสัพพทาฐะผู้สหาย ท่านจักทำประการใดจึงจะชิงราชสมบัตินี้ได้” สัพพทาฐะตอบว่า “เราจะให้ราชสีห์เปล่งสีหนาททำให้มหาชนสะดุ้งตกใจกลัว แล้วจักยึดเอาราชสมบัติ” พระโพธิสัตว์เห็นอุบายที่จะแก้ไข ท่านรีบแล้วลงจากป้อมให้เที่ยวตีกลองประกาศให้ชาวเมืองทุกคนเอาแป้งถั่วพันสำลีแล้วอุดหูทั้งสองข้าง
 
     มหาชนต่างพากันปิดหูของตน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงทั้งหมดด้วย เพื่อไม่ให้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงได้ยินเสียงของราชสีห์ จากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ขึ้นไปบนป้อมแล้วกล่าวว่า “สัพพทาฐะ ท่านจะทำอย่างไรอีก จึงจะชิงราชสมบัตินี้ได้” สัพพทาฐะตอบว่า “ข้าพเจ้าจะให้ราชสีห์เปล่งสีหนาทให้พวกมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงตกใจกลัว ให้ถึงแก่ความตายแล้วจึงจะยึดเอาราชสมบัติ” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “ท่านไม่อาจให้ราชสีห์เปล่งสีหนาทได้ เพราะพญาไกรสรสีหราช มีเท้าหน้าเท้าหลังแดงงาม สมบูรณ์ด้วยชาติ จักไม่ยอมทำตามคำสั่งของสุนัขจิ้งจอกอย่างท่าน”
 
     สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ดื้อด้านอวดดีจึงกล่าวว่า “เรานั่งอยู่บนหลังราชสีห์ตัวใด จักให้ตัวนั้นแหละแผดเสียง” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น จงให้แผดเสียงเถิด ถ้าท่านสามารถทำได้” สุนัขจิ้งจอกจึงให้สัญญาณด้วยการสะกิดราชสีห์ตัวที่ตนนั่งอยู่พลางกล่าวว่า “เจ้าจงแผดเสียง” ราชสีห์จึงบันลือสีหนาทขึ้น ๓ ครั้งบนกะพองช้าง เสียงดังสนั่นหวั่นไหวทำให้ช้างต่างพากันสะดุ้งตกใจกลัว รีบสลัดสุนัขจิ้งจอกให้ตกไปที่โคนเท้า และใช้เท้าเหยียบหัวสุนัขจิ้งจอกจนแหลกละเอียด ทำให้สุนัขจิ้งจอกถึงแก่ความตายทันที พวกช้างต่างพากันวิ่งหนีกันชุละมุนวุ่นวาย เอางาแทงกันตายมากมายในที่นั้นเอง
 
     สัตว์ ๔ เท้าทั้งหมดที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นสุกร กระต่าย เป็นต้น ยกเว้นราชสีห์ทั้งหมดที่ได้วิ่งหนีเข้าป่าไปแล้ว พากันถึงแก่ความตาย กองเนื้อสัตว์เกลื่อนไปถึง ๑๒ โยชน์ พระโพธิสัตว์ลงจากป้อมแล้วให้เปิดประตูเมือง และให้ตีกลองเที่ยวประกาศไปทั่วเมืองให้ชาวเมืองเอาแป้งที่อุดหูของตนออก ส่วนผู้ใดที่ต้องการเนื้อก็จงไปเก็บเอามาทำเป็นอาหาร มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคเนื้อสด ที่เหลือก็ตากทำเป็นเนื้อแห้ง เนื้อแห้งจึงได้เกิดขึ้นในครั้งนั้นนั่นเอง
 
     ครั้นพระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มากล่าวแล้วจึงตรัสว่า “สุนัขจิ้งจอกที่มากด้วยทิฐิมานะ มีความต้องการด้วยบริวาร ได้บรรลุถึงสมบัติใหญ่ ได้เป็นราชาแห่งสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ผู้ใดมีบริวารมาก ผู้นั้นชื่อว่าเป็นใหญ่ในบริวารเหล่านั้น ดุจสุนัขจิ้งจอกได้เป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงาฉันนั้น แต่ถ้าตั้งอยู่ในความประมาท ก็ย่อมถึงความพินาศ เพราะบริวารนั้นเอง” แล้วทรงประชุมชาดกว่า “สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ พระราชาได้เป็นสารีบุตร ส่วนปุโรหิตคือเราตถาคต”
 
     เราจะเห็นว่า บุคคลถ้าเป็นผู้นำแล้ว หากไม่มีปัญญา และไม่ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในการทำความดีเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อำนาจหน้าที่นั้นก็ไม่มีความหมาย ยิ่งถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ดีแล้ว มีแต่จะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและหมู่คณะ อันที่จริง หากคนเราจะแสวงหาความเป็นใหญ่ที่แท้จริง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน หาได้ที่ใจของเราเอง ด้วยการหมั่นทำความดี มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้มีธรรมะอยู่ในใจ ใจของเราย่อมจะยิ่งใหญ่ด้วยธรรม และมีพลังใจที่เข้มแข็ง กล้าเผชิญหน้ากับอุปสรรคทุกอย่าง และจะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง เรามาเป็นใหญ่ด้วยธรรมความดี ด้วยบุญบารมีกันดีกว่า จะเป็นความยิ่งใหญ่ที่มั่นคงถาวร ฉะนั้นให้เริ่มทำความดี ด้วยการทำใจของเราให้หยุดนิ่ง มีจิตประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ไปทั่วโลกทั่วจักรวาลกันทุกคน

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๗ หน้า ๔๗๔
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/dhamma_for_people/เป็นใหญ่ด้วยธรรม.html
เมื่อ 29 มีนาคม 2567 07:15
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv