หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 

คำถาม: ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้มีราตรีเดียว” นั้นแปลว่าอะไรครับ?

 
คำตอบ: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “บุคคลพึงทำความเพียรเสียในวันนี้ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยงกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีเดียว
 
        ในเชิงปฏิบัติ ผู้มีราตรีเดียวหมายถึงบุคคลใดก็ตามเมื่อมีงานในหน้าที่มาถึงแล้ว จะไม่ยอมผัดวันประกันพรุ่ง รอเวลาไว้เมื่อนั่นเมื่อนี่ ปล่อยให้งานการคั่งค้างเสียหาย เหมือนคนเกียจคร้าน แต่จะรีบตั้งหน้าทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว แทบจะเรียกว่าไม่ให้ข้ามคืน
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นว่า ไม่ว่าเราจะทำงานในทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม จะต้องไม่เป็นคนที่ห่วงหน้าพะวงหลัง คือ จะไม่เอาเรื่องความสำเร็จในอดีตมายึดถือให้เกิดความประมาทลำพองใจหรือเอาความล้มเหลวในอดีตมาทำให้ท้อถอย เพราะเรื่องที่ผ่านไปแล้วย่อมไม่มีทางเรียกกลับคืนมาอีก และสถานการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปแล้ว
 
ผู้มีราตรีเดียว
ผู้มีราตรีเดียว
 
        ในเวลาเดียวกันก็ไม่เอาเรื่องในอนาคตมาด่วนวิตกกังวลจนเกินเหตุ ทำให้กลายเป็นทุกข์กินเปล่า เพราะเรื่องต่างๆ อาจจะไม่หนักหนาสาหัสอย่างที่เราหลงกังวลก็ได้ และเราก็ไม่ควรคิดเพ้อฝันมากเกินไปจนกลาย เป็นคนเพ้อเจ้อ ความจริงแล้วเรื่องในอนาคตที่เราสร้างมโนภาพไว้มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้
 
        เพราะฉะนั้น เมื่อกิจธุระใดๆ มาถึง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กใหญ่เพียงใดก็ตาม ถ้าได้วางแผนรัดกุมพอสมควรแล้ว ให้ลงมือทำด้วยความรอบคอบ ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ราวกับว่าเราจะมีเวลาของชีวิตเหลืออยู่เพียงอีกคืนเดียวเท่านั้น คือจะทำงานทุกอย่างแบบฝากฝีมือ เอาชีวิตเป็นเดิมพันไม่มีเวลากลับมาแก้ตัว แล้วงานนั้นจะสำเร็จอย่างดีเลิศโดยอัตโนมัติ
 
        ถ้าเป็นงานทางโลกก็จะได้รับผลสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เป็นงานชิ้นโบแดง เป็นอนุสรณ์ให้แก่คนรุ่นหลัง ที่จะเล่าขานกล่าวขวัญถึงไปอีกนานแสนนาน ถ้าเป็นงานทางธรรม งานนั้นก็จะผลักดันให้ผู้ปฏิบัติสามารถฝึกตัวจนเข้าถึงธรรมกายในตัวได้อย่างรวดเร็ว บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่ายดาย
 

คำถาม: หลวงพ่อกรุณาแนะนำบททดสอบตัวเอง ก่อนจะปวารณาตัวประพฤติพรหมจรรย์ให้ลูกด้วย กราบขอบพระคุณค่ะ?

 
คำตอบ: สำหรับลูกสาว หลวงพ่อขอยกตัวอย่างจากอุบาสิกาที่มาช่วยงานวัดแล้วกัน มีอยู่หลายคน ที่หลวงพ่อเคยเรียกมาถามว่า ตั้งแต่เขาจบการศึกษากันมาแล้วมาอยู่วัด ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ประจำที่วัดมาแล้วคนละ 7-8 ปี บางคนอยู่สิบกว่าปี หลวงพ่อถามเขาง่ายๆ ว่า
 
        ลูกเอ๊ย..ตั้งแต่เป็นนิสิตปีหนึ่งถึงปีสี่ใช้ลิปสติกหมดไปกี่แท่ง? เขาบอกว่า “ยังไม่หมดแท่งเลยค่ะหลวงพ่อ” อ้าว..ไม่อยากแต่งหน้ากับเขาบ้างหรือ? “ไม่อยากแต่ง เพราะรู้สึกมันเลอะๆ ค่ะหลวงพ่อ เพื่อนบางคนเขาก็บอกว่าแต่งแล้วสวยออก แต่ตัวเองรู้สึกมันเลอะๆ” ก็ถามเขาอีกว่า เลิกใช้จริงจังมานานเท่าไหร่แล้ว เขาก็บอก “จริงๆ แล้วเคยใช้ลิปสติกเมื่อตอนเรียนปีหนึ่ง แต่พอขึ้นปี 2 ถึงปี 4 ไม่ได้ใช้เลย มาใช้อยู่ครั้งสุดท้าย เมื่อวันรับพระราชทานปริญญา เพราะว่าอยากจะให้มันเข้ากับชุดเสื้อครุยสักหน่อยตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งจบมาได้ถึง 6-7 ปีแล้ว ไม่เคยใช้สักที”
 
ประพฤติพรหมจรรย์
ประพฤติพรหมจรรย์
 
        ถ้าตอบแบบนี้ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้แล้ว เพราะฉะนั้นลองถามตัวเองดูอย่างที่หลวงพ่อถามก็แล้วกัน เป็นวิธีทดสอบตัวเองง่ายๆ ถ้าหนูไม่ใช้ลิปสติก ไม่ใช้แป้งเลย สัก 1 ปี แล้วรักษาศีล 8 อย่างเคร่งครัด นั่งสมาธิไม่ขาดสักวัน นั่นแหละมีแววพอจะประพฤติพรหมจรรย์ได้แล้วลูกเอ๊ย...
 
คำถาม: หลวงพ่อคะ เราควรมีหลักยึดมั่นอย่างไร เพื่อเป็นการเตรียมตัวเผชิญกับความทุกข์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน?
 
คำตอบ: ความทุกข์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาได้ ก็เนื่องจากตัวของเราเองคนโดยมากทั้งๆ ที่ตัวเองมีความทุกข์ประจำชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยอยู่ 3 ประการ คือมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว ยังไม่พอ ยังตะเกียกตะกายไขว่คว้า แสวงหาสมบัตินอกกายอันได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง บุตร ภรรยา สามีเอามาเป็นของตัวอีก เพราะหลงเข้าใจผิดคิดว่าจะทำให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป
 
        แต่เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ในตัวของเราก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดาเช่นกัน เพราะฉะนั้นทันทีที่ได้สิ่งนั้นมาอย่างหนึ่งเขาก็ได้พบได้เผชิญความทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ของสิ่งที่ตนรักใคร่ผูกพันเพิ่มอีกเท่าตัว และถ้าสิ่งที่หลงยึดมั่นหวงแหนนั้น มีอันต้องถึงความพินาศย่อยยับไป โดยไม่คาดฝัน เขาจึงต้องประสบกับความทุกข์เป็นทับทวี
 
        คนที่จะเผชิญกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันได้ ต้องรู้จักเตรียมตัวเตรียมใจ โดยสร้างคุณสมบัติเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในตน คือ
 
        1) รู้จักเป้าหมายของชีวิต คือรู้ว่าที่เราเกิดมานี้ ไม่ใช่เพื่อมาสนุกสนานเฮฮา แต่เกิดมาเพื่อสั่งสมบุญบารมี แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ จึงไม่ควรเสียเวลาไปสะสมสมบัตินอกกาย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เข้ามาไว้จนเกินความจำเป็น ควรมุ่งสั่งสมความดีให้ถึงที่สุดจะได้หมดกิเลส ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย พ้นจากความทุกข์ในวัฏฏสงสาร ได้เข้านิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปในที่สุด
 
        2) รู้จักเตือนตนเอง คือหมั่นเจริญมรณานุสติเป็นประจำว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ยิ่งกว่านั้นระหว่างที่ยังไม่ตายก็ยังต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจอีกด้วย
 
ความทุกข์ประจำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มีอยู่ 3 ประการ คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ความทุกข์ประจำที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มีอยู่ 3 ประการ คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย
 
        การพิจารณาถึงความตาย และความพลัดพรากนี้ เมื่อทำบ่อยๆ เป็นประจำทุกคืนก่อนนอน จะทำให้เกิดสติและเจริญสมาธิภาวนาได้ดีเยี่ยม กลายเป็นคนไม่ประมาท รู้จักเตรียมตัวก่อนตาย ไม่สร้างภาระผูกพันทั้งต่อบุคคลและสิ่งของ ตั้งใจมุ่งมั่นเร่งรีบทำความดีไม่กลัวเกรงความเหนื่อยยาก เพราะรู้แน่แก่ใจแล้วว่าความตายนั้นได้ย่างกรายเข้ามาเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่แรกเกิด และรอจังหวะจู่โจมอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
 
        บุคคลที่รู้จักเป้าหมายของชีวิต และหมั่นเจริญมรณานุสติเช่นนี้ จะไม่มีความทุกข์ใดๆ เข้ามากล้ำกรายได้เลย
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/good_QA/ผู้มีราตรีเดียว-หลวงพ่อตอบปัญหา.html
เมื่อ 30 มีนาคม 2567 09:30
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv