ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 66


        จากตอนที่แล้ว  แม่อมราธิดาสาวของตระกูลตกยากเห็นมโหสถนิ่งไป ไม่กล่าวอะไรอีก ได้แต่จ้องมองเธอเช่นนั้น จึงกล่าวเชื้อเชิญให้มโหสถดื่มข้าวต้มที่นางนำมา

        เมื่อมโหสถดื่มข้าวต้มจนอิ่มแล้ว ก็คิดว่า “นางมีความเฉลียวฉลาด  เปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติของกุลสตรี ควรแท้ที่จะเป็นคู่ครองของเรา” จึงเอ่ยถามนางว่า “ฉันอยากจะไปสู่เรือนของเธอ หากว่าไม่รังเกียจ ขอเธอจงบอกหนทางให้กับฉันด้วยเถิด”

        นางจึงบอกหนทางด้วยปริศนาที่ชวนให้ขบคิด แล้วก็ขอตัวนำหม้อข้าวต้มไปส่งให้บิดาต่อไป ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับมโหสถ เมื่อเดินไปตามทางแห่งปริศนานั้นไม่นานก็ไปถึงเรือนของนาง

        มารดาของนางซึ่งเฝ้าเรือนอยู่ตามลำพัง    เห็นมโหสถมายืนอยู่ที่หน้าบ้าน ก็รู้สึกถูกชะตาอย่างประหลาด จึงเชื้อเชิญให้นั่ง และออกปากชวนให้ดื่มข้าวต้ม มโหสถก็ตอบด้วยความคารวะว่า “ฉันดื่มข้าวต้มของน้องอมรามาแล้ว”

        มโหสถมองดูภายในเรือนแล้ว ก็ทราบว่าสกุลนี้กำลังตกยาก จึงบอกให้นางนำเสื้อผ้าที่เก่าชำรุดออกมา แล้วก็ทำการเย็บชุนให้ เพียงครู่เดียวผ้ากองโตก็ได้รับการปะชุนเสร็จเรียบร้อย มารดาของอมรา ครั้นได้เห็นงานเย็บชุนผ้าเสร็จเร็วอย่างอัศจรรย์เช่นนั้น ก็พิศวงยิ่งนัก

        ส่วนมโหสถครั้นส่งคืนผ้าที่ซ่อมแซมเหล่านั้นแล้ว ก็บอกกับนางว่า“คุณแม่ครับ ขอคุณแม่ช่วยเป็นธุระ นำข่าวไปแจ้งให้พวกชาวบ้านทราบทีเถิดว่า วันนี้มีช่างชุนฝีมือดีมารับจ้างเย็บชุนผ้าถึงที่นี่”

        นางก็ยินดีรับเป็นธุระให้ด้วยความเต็มใจ แล้วก็เที่ยวป่าวร้องตามถนนหนทางไปจนทั่วละแวกบ้านชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างพากันหอบผ้าผ่อนเก่าๆ ที่ชำรุดมายังบ้านของนาง  แล้ววางกองลงต่อหน้ามโหสถเป็นจำนวนมาก จนกองผ้านั้นสูงเทียมศีรษะ

        มโหสถไม่รอช้า รีบเร่งทำการปะชุนด้วยความชำนิชำนาญ  ใช้เวลาเพียงชั่ววันเดียวเท่านั้น แต่กลับได้รับค่าจ้างมากถึงพันกหาปณะ ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นคือ ผ้าแต่ละชิ้นสำเร็จรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น แลดูประณีตสวยงามเกินกว่าที่ฝีมือช่างชุนธรรมดาจะทำได้

        พวกชาวบ้านเห็นฝีมือของช่างชุนหนุ่มแล้ว ก็พากันประหลาดใจ ต่างคุยกันไปปากต่อปาก จนชื่อเสียงของช่างชุนหนุ่มเลื่องลือไปทั่วหมู่บ้าน

        มารดาของนางอมราเห็นความสามารถของช่างชุนหนุ่มแล้ว ก็คิดในใจว่า “หากตระกูลของเรา ได้ช่างชุนผู้มีความสามารถเช่นนี้ มาเป็นบุตรเขย ก็คงจะดีไม่น้อย”

        ครั้นแล้วนางจึงคอยเอาใจใส่ หุงหาอาหารมาบำรุงเลี้ยงมโหสถอย่างดี และยังอนุญาตให้เขาพำนักอยู่ในเรือนได้ตามความปรารถนา เสมือนหนึ่งว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในเรือนของนาง

        ตกเย็น นางอมราก็กลับมาจากนาพร้อมกับฟืนและผักที่ตนเก็บมาจากป่า มโหสถได้อาศัยอยู่ในเรือนนั้น เฝ้าสังเกตกิริยามารยาทของนางอมราอยู่ ๒-๓ วัน แต่ก็ยังมองไม่เห็นข้อบกพร่องใดๆของนางเลย ตรงข้ามกลับมองเห็นคุณธรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจของนางมากขึ้นทุกที

        แม้แต่ในเวลาทานอาหาร ทุกครั้งนางจะต้องเตรียมสำรับให้บิดามารดาได้บริโภคก่อน แล้วนางจึงค่อยบริโภคในภายหลัง จากนั้นจึงชำระเท้าให้บิดามารดารวมทั้งมโหสถด้วย
 
        แม้มโหสถจะพึงพอใจในตัวนางมากเพียงใด แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจมั่นใจได้ว่า จิตใจของนางจะหนักแน่นมั่นคง สมกับที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของตนหรือไม่ และเพื่อให้มั่นใจ มโหสถจึงได้คิดหาอุบายที่จะทดสอบนางดูให้รู้แน่ แล้ววันหนึ่ง  มโหสถก็ได้เรียกนางมา มอบข้าวสารให้ครึ่งทะนาน เพื่อให้นางนำไปปรุงเป็นอาหาร ๓ อย่าง คือ ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงเป็นข้าวสวย

        นางอมรารับเอาข้าวสารนั้นมาแล้ว ก็คัดแยกเมล็ดข้าวออกเป็น ๓ ส่วน คือ เมล็ดข้าวที่ยังไม่หักมากนัก นางก็นำมาต้มเป็นข้าวต้ม, เมล็ดข้าวที่หักครึ่งๆกลางๆ นางก็ได้นำมาหุงเป็นข้าวสวย, ส่วนปลายข้าวที่เกือบจะแหลกละเอียดแล้ว นางก็นำมาทำขนม  พร้อมกันนั้นก็ได้ทำกับข้าวเพื่อรับประทานพร้อมข้าวต้มและข้าวสวย  ครั้นปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางจึงยกถาดอาหารเหล่านั้นไปให้มโหสถได้บริโภคในทันที

        มโหสถเห็นอาหารทั้งสามถาดแล้ว ก็รับเอาข้าวต้มมาชิมดูก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อตักข้าวต้มเข้าปากได้เพียงช้อนเดียวเท่านั้น โอชารสของข้าวต้มก็แผ่ซ่านไปทั่วประสาทรับรส ชวนให้ต้องลิ้มลองอีก

        แต่เพื่อที่จะทดลองนางดู มโหสถจึงแกล้งพูดขึ้นว่า “นี่อะไรกัน เธอต้มข้าวต้มไม่เป็นหรือไร เหตุใดถึงทำข้าวสารดีๆ ให้เสียไปเปล่าๆ เล่า” ว่าแล้วก็คายข้าวต้มที่เหลือในปากทิ้งลงดิน

        นางอมราเห็นเช่นนั้น ก็มิได้ถือโกรธ กลับเอ่ยถามด้วยอาการปกติว่า “นายเจ้าคะ หากว่าข้าวต้มไม่อร่อย จะลองรับประทานขนมไหมคะ” แล้วนางก็เลื่อนถาดขนมเข้าไปใกล้     

        มโหสถหยิบขนมมารับประทานก้อนหนึ่ง แล้วก็รีบถ่มลงดิน แกล้งตินางเหมือนเช่นครั้งก่อน 

        นางอมราถึงจะถูกตำหนิแรงๆเช่นนั้น แต่ก็ยังคงมีสีหน้าปกติ โดยปราศจากอาการขุ่นเคืองแม้แต่น้อย นางกล่าวว่า “นายเจ้าขา ถ้าขนมไม่ถูกปาก ก็ขอเชิญรับประทานข้าวสวยเถิด” แล้วนางก็ยกถาดข้าวสวยเข้าไปใกล้

        มโหสถก็ยังคงทำกิริยาเหมือนเดิม แต่คราวนี้นอกจากจะคายข้าวสวยทิ้งแล้ว มโหสถยังแกล้งทำเป็นเคืองจัด แสดงอาการฮึดฮัดกระฟัดกระเฟียด ถึงกับเอาอาหารทั้ง ๓ ถาดมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ขยำแล้วละเลงทาตัวนางตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า จากนั้นก็ไล่ให้นางไปยืนอยู่ที่ประตูเรือน

        ถึงมโหสถจะแสดงอาการโกรธเกรี้ยวนางอย่างไร แต่นางก็หาได้โกรธตอบไม่  นางรีบยกมือไหว้ แล้วรีบทำตามด้วยความเต็มใจ ราวกับเป็นเทวโองการที่ไม่อาจขัดขืนได้  โดยไม่รอให้มโหสถต้องกล่าวซ้ำเป็นครั้งที่สอง

        การที่นางอดทนไม่แสดงอาการขุ่นเคืองแม้แต่น้อย ก็ด้วยคิดว่า  “บุรุษผู้นี้ เมื่อดูจากบุคลิก สติปัญญาและความสามารถแล้ว คาดว่าเขาต้องเป็นคนที่มียศศักดิ์สูงส่งอย่างแน่นอน หากว่าตนต้องทำหน้าที่ภรรยา ก็จะอยู่ในฐานะทาสีภรรยา  ต้องอยู่ในโอวาท ปรนนิบัติรับใช้เขาแต่โดยดี จึงมิได้แสดงอาการโกรธตอบออกมาเลย  เพราะภรรยาที่ดีนั้น มีอยู่ ๔ ประเภท คือ
        เมื่อคิดดังนี้ นางจึงได้แต่ประนมมือยืนนิ่งอยู่ที่ข้างประตู   ส่วนมโหสถ เมื่อเห็นว่านางอดทนต่อโอวาทได้เช่นนั้น แล้วยังจะทดสอบอะไรอีกหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป  
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita066.html
เมื่อ 1 มิถุนายน 2567 23:46
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv