ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 11
 

        จากตอนที่แล้ว พระโพธิสัตว์ถูกประเล้าประโลมด้วยเหล่าสาวงามนักฟ้อนรำ แต่พระองค์กับพิจารณาว่า เป็นเพียงเนื้อเลือดกระดูกหนังที่ประกอบกันเป็นโครงขึ้น มีความสวยงามแต่เพียงภายนอก จึงทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า “ขออานุภาพแห่งบุญบารมีที่ข้าพเจ้าสั่งสมมาดีแล้วนับภพชาตินับชาติมิถ้วน จงบันดาลให้หญิงเหล่านี้ อย่าได้แตะต้องสรีระของข้าพเจ้าเลย”

อธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ทรงกลั้นลมหายใจ ทันใดนั้นพระสรีระของพระโพธิสัตว์ก็กลับแข็งกระด้างขึ้น หญิงงามทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าที่จะแตะต้องพระสรีระของพระองค์ พากันคิดว่า  “พระราชกุมารนี้  เห็นทีคงจะเป็นยักษ์จำแลงมาเป็นแน่”  จึงพากันวิ่งหนีพระราชกุมารไปด้วยความตื่นกลัว

        พระเจ้ากาสิกราชทรงทดลองมาตลอดระยะเวลายาวนาน เมื่อไม่เห็นทางว่าจะสำเร็จได้ จึงทรงโทมนัสยิ่งนัก และยิ่งทรงนึกถึงคำทำนายของโหราจารย์ว่า พระราชกุมารจะได้ครองความเป็นใหญ่เหนือทวีปทั้งสี่ ก็ให้ยิ่งทรงขัดเคืองพระหฤทัย จึงทรงรับสั่งให้เรียกตัวพราหมณ์ปุโรหิตเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า “เหตุใดเตมิยกุมารลูกเรา จึงมิได้เป็นไปตามคำทำนายของท่าน พวกท่านพากันทำนายส่งเดชไปกระนั้นหรือ”เหล่าโหราจารย์ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ต่างก็นิ่งอึ้งไป เพราะที่พวกตนได้ถวายคำพยากรณ์นั้น ก็เป็นไปตามตำราที่ได้ร่ำเรียนมา มิได้มีประสงค์อย่างอื่น แต่เมื่อไม่เป็นไปตามตำราก็สุดวิสัยที่จะรู้ได้  ในที่สุด โหราจารย์คนหนึ่งผู้มีปฏิภาณว่องไว จึงได้กราบทูลเพื่อเอาตัวรอดว่า พระราชกุมารนี้เป็นกาลกิณี ที่พวกข้าพระองค์ไม่กราบทูลเสียแต่แรกเพราะกลัวพระองค์จะเสียพระทัย...แต่มาบัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องขจัดพระราชกุมาร เพราะถ้าพระองค์ยังทรงเลี้ยงพระราชกุมารไว้ต่อไป ไม่ช้าประเทศชาติก็จะเกิดอาเพศ อันตรายอย่างใหญ่หลวงจะบังเกิดขึ้นต่อพระชนม์ชีพของพระองค์เอง รวมถึงพระราชบัลลังก์และพระอัครมเหสี หากพระองค์ยังทรงลังเลพระหฤทัย ไม่ทรงรีบกำจัดพระราชกุมารเสียโดยไว ก็จะไม่ทันการณ์ พระเจ้าข้า”

    ความกลัวไม่ว่าจะกลัวในรูปแบบใดก็ตาม ย่อมเป็นเหตุให้คนเราทำความผิดได้ทุกอย่าง แม้จะต้องเสียสัจจะก็ตาม โหราจารย์ก็เช่นกัน แม้ในตอนแรก จะยังคงยืนยันในคำพยากรณ์ของตน แต่ครั้นเกิดเหตุการณ์คับขันเข้า ก็เกรงว่าพวกตนจะต้องพระราชอาญา จึงจงใจกล่าวเท็จต่อพระราชาทั้งๆที่รู้  ซึ่งนอกจากจะถือว่าเสียสัจจะต่อตนเองแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า ขาดความจงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัวของตน และที่สำคัญยังเป็นการทำบาปกรรมไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคงไม่แคล้วที่จะต้องพลัดไปสู่อบาย

    ฝ่ายพระราชา ครั้นทรงสดับคำทูลของโหราจารย์นั้นแล้ว ก็ให้ทรงหวาดหวั่นต่อภยันตรายที่จะบังเกิดขึ้นยิ่งนัก จึงรีบตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เราควรทำอย่างไรกันดีละ ท่านอาจารย์”โหราจารย์เห็นว่า บัดนี้พระราชาทรงเชื่อถือถ้อยคำของตนแล้วโดยไม่ต้องสงสัย จึงดำริในใจว่า “พวกเราเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ก็เพราะอาศัยพระราชกุมารนี่แหละ เป็นต้นเหตุสำคัญ หากไม่มีพระกุมารเสียแล้ว พวกเราก็คงไม่ต้องประสบกับความลำบากเช่นนี้”

    โหราจารย์นั้น แต่เดิมก็เป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง แต่บัดนี้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกลับหมดสิ้นไปเสียแล้ว ด้วยลืมความจริงข้อหนึ่งไปว่า “ไม่ว่าใครก็ล้วนแต่รักตน และขวนขวายเพื่อให้ตนได้รับความสุขความปลอดภัยทั้งสิ้น ความรู้สึกรักตนนี้ย่อมมีแก่สัตว์ทุกจำพวก เมื่อทุกคนรักตนเอง แล้วมุ่งแสวงหาความปลอดภัย ด้วยการโยนความทุกข์ไปให้ผู้อื่น โดยไม่คำนึงว่าเขาก็รักตัวของเขาเองเช่นกัน การกระทำเช่นนี้ชื่อว่าไม่เป็นธรรมเลย”
 

     โหราจารย์เมื่อมิได้คำนึงถึงจิตใจของพระกุมาร จึงกราบทูลพระราชาไปว่า “ขอเดชะ พระอาญามิพ้นเกล้า ข้าพระบาทขอพระมหากรุณาเป็นที่พึ่ง แม้นว่าสิ่งที่ข้าพระบาทจะกราบบังคมทูลต่อไปอาจเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษแก่ข้าพระบาทด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
 
     “ไม่เป็นไรท่านอาจารย์ เชิญท่านกล่าวเถิด เราใคร่จะทราบอยู่แล้ว” พระองค์ตรัสเร่งเร้า “ขอเดชะ ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าฯว่า พระองค์อย่าทรงรีรออยู่เลย โปรดสั่งให้นำพระเตมิยกุมาร ผู้เป็นกาลกิณี ขึ้นบรรทมบนรถเทียมด้วยม้าอัปมงคล มอบหมายให้สารถีขับรถอัปมงคลนั้น ออกไปทางประตูด้านทิศตะวันตก  แล้วนำพระกุมารไปฝังทั้งเป็น ในสถานที่อันเป็นอัปมงคลคือป่าช้าผีดิบนอกเมืองหากทำได้สำเร็จดังนี้ สวัสดิมงคลทั้งปวงก็จะบังเกิดขึ้นแด่พระองค์ แม้ภยันตรายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นกับ พระเศวตฉัตร และพระมเหสี ก็จะอันตรธานสิ้นไป พระเจ้าข้า”

    ครั้นพระราชาได้ทรงสดับเช่นนั้นก็ทรงสะเทือนพระหฤทัยอยู่ไม่น้อย เพราะหากทรงตัดสินเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าพระองค์ทรงยอมให้เขาฆ่าพระโอรสของพระองค์เอง ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นบิดาจะพึงกระทำต่อบุตรของตน  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงลังเลพระหฤทัยอยู่ แต่ครั้นทรงดำริถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองของพระองค์ ก็ให้ทรงหวาดผวายิ่งนัก     จึงทรงใคร่ครวญถึงคำกราบทูลของโหราจารย์ที่ยังคงก้องกังวานอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ตลอดเวลา

    
โหราจารย์เห็นพระองค์ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง จึงชำเลืองสายตาดูพระพักตร์พระราชาของตนซึ่งส่อเค้าว่าทรงเสียพระหฤทัยยิ่งนัก จนสังเกตเห็นได้ชัดว่าพระพักตร์ของพระองค์หมองเศร้า และดวงพระเนตรก็แดงก่ำไปในทันที

     โหราจารย์เห็นว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไป พระองค์อาจจะทรงสงสารพระโอรสจนไม่อาจรับสั่งอะไรให้เด็ดขาดลงไปได้ จึงรีบถวายบังคมทูลพระราชาว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์จะเห็นควรอย่างไรพระเจ้าข้า” พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ทรงกลับตั้งสติ ลุกขึ้นจากพระแท่นบัลลังก์ เสด็จประทับยืนอย่างองอาจผึ่งผายสมกับเป็นยอดกษัตริย์ แล้วตรัสกับโหราจารย์ด้วยพระสุรเสียงอันห้าวหาญว่า “ท่านอาจารย์ ความสงบสุขของบ้านเมืองย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอท่านอาจารย์จงทำตามที่ท่านเห็นสมควรเถิด” เมื่อพระองค์ทรงตกลงพระหฤทัยเช่นนั้นแล้ว  ก็ไม่รับสั่งอะไรอีก จากนั้นก็ทรงก้าวพระบาทเสด็จออกไปจากท้องพระโรง กลับคืนสู่พระตำหนักของพระองค์ทันที

     เหล่าโหราจารย์เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสของพระองค์แล้ว ต่างก็พากันกล่าวสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระองค์ว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงเห็นแก่ประโยชน์อันไพบูลย์ของทวยราษฎร์ ยิ่งกว่าที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์ จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับไป
 
 
 
ส่วนโหราจารย์และเสนาบดีที่เหลือ ต่างก็มาปรึกษาหารือกัน เพื่อดำเนินการตามรับสั่งของพระราชาให้สำเร็จโดยเร็ว ทันทีที่พระนางจันทาเทวีได้ทรงสดับเรื่องนั้น ก็ทรงตกพระทัยจนแทบสิ้นสติ รีบเสด็จขึ้นสู่พระมหาปราสาท เข้าเฝ้าพระสวามีแต่เพียงพระองค์เดียว ถวายบังคมแล้วจึงกราบทูลทั้งน้ำตาว่า “ข้าแต่ฝ่าพระบาท ขอทรงโปรดยับยั้งเรื่องนั้นไว้ก่อนเถิดเพคะ”

    พระเจ้ากาสิกราชผู้ทรงสิ้นหวังในพระโอรสแล้ว จึงทรงปฏิเสธในทันทีว่า “ไม่ได้หรอกพระเทวี เราเป็นกษัตริย์ ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ” พระนางทรงต่อรองพระสวามีว่า “ทูลกระหม่อม ขอพระองค์ทรงตรองดูก่อน ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระโอรสไม่เคยทำความเดือดร้อนให้แก่ใครเลย มีแต่พวกเราต่างหากที่ทำความทุกข์ร้อนให้แก่พระกุมาร ทำไมถึงจะต้องรับสั่งให้ฝังเธอทั้งเป็นอย่างนั้น ขอพระองค์จงรอดูก่อนเถิด หม่อมฉันจะเลี้ยงดูพระโอรสเอง จะมิให้เกิดความเดือดร้อน หรือระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์เลย”

    พระราชาแม้จะทรงสดับเหตุผลและคำขอร้องของพระเทวีอย่างไร ก็ทรงยืนกรานเช่นเดิมว่า “ไม่ได้ เราตรัสคำใดไปแล้ว จะต้องเป็นคำนั้น มิเช่นนั้น คนทั้งหลายจะเชื่อถือถ้อยคำของเราหรือ” เมื่อพระราชาผู้เป็นที่สุดของรัฐตรัสยืนยันคำสั่งเดิมเช่นนั้น ก็คงยากที่จะทูลขอให้เป็นอย่างอื่นไปได้ แต่พระเทวีจะทรงมีวิธีการของพระองค์อย่างไรอีกนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/temiraja11.html
เมื่อ 1 มิถุนายน 2567 20:58
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv