ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 13
 

    จากตอนที่แล้ว พระโพธิสัตว์ได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพ ทั้งกำลังกาย และกำลังสติปัญญาให้เป็นที่ปรากฏ ด้วยการทรงยกสหัสสถามธนูนั้นขึ้นอย่างง่ายดายเป็นอัศจรรย์

    ต่อมาก็ทรงสามารถไขปริศนาแห่งขุมทรัพย์ และนำขุมทรัพย์ทั้ง ๑๖ แห่ง คือขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ดวงอาทิตย์นั้นทรงหมายเอาพระปัจเจกพุทธเจ้า โดยทรงให้ขุดตรงที่พระราชาประทับยืนต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า และสถานที่ประทับยืนส่ง ก็ได้นำขุมทรัพย์นั้นออกมาได้ 

    จนมาถึงปริศนาข้อสุดท้าย คือขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ หมายถึง ขุมทรัพย์ภายในเงาไม้รังต้นใหญ่ มีปริมณฑลเท่ากับเงาตะวันในเวลาเที่ยงวัน ภายในพระราชอุทยาน  เหล่าราชบุรุษได้ไปขุดขุมทรัพย์ตามคำเฉลยของพระราชา ก็พบขุมทรัพย์ตามที่ตรัสบอกทุกประการ

    เมื่อพระมหาชนกสามารถเปิดเผยปริศนาขุมทรัพย์ทั้ง ๑๖ แห่งได้แล้ว ได้ตรัสถามว่า “ยังมีปัญหาอื่นอีกไหม”  เหล่าอำมาตย์ก็กราบทูลว่า “ไม่มีแล้ว พระเจ้าข้า”

    มหาชนเมื่อเห็นอานุภาพของพระราชาองค์ใหม่ ที่สามารถทำให้พระราชธิดาสีวลีทรงพอพระทัย สามารถยกสหัสสถามธนูได้อย่างง่ายดาย  และเปิดเผยขุมทรัพย์ทั้ง ๑๖ ได้หมด ต่างก็ร่าเริงยินดี แซ่ซ้องสาธุการว่า  “น่าอัศจรรย์จริงหนอ  พระราชาองค์นี้เป็นบัณฑิตผู้ประเสริฐโดยแท้”
 
    หลังจากนั้นพระมหาชนกก็ได้ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ และก็ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงสีวลีเป็นพระมเหสีปกครองแผ่นดินโดยธรรมสืบมา
 
    พระมหาชนกเมื่อได้ครองราชย์แล้ว ก็มิได้ทรงประมาทในชีวิต ทรงคำนึงว่า “สมบัติที่เราได้มานี้  เพราะอานุภาพแห่งบุญที่เราได้เคยทำเอาไว้ในปางก่อน  เราไม่ควรประมาทในสมบัติเหล่านี้ เพราะสมบัติเป็นของกลางของโลก ใครมีบุญก็ได้ครอบครอง  ถ้าหมดบุญก็ต้องกลายเป็นของคนอื่นไป”

    ก็ทรงมีดำริที่จะเริ่มบริจาคทาน เป็นการเพิ่มเติมมหาทานบารมี โดยทรงโปรดให้สร้างศาลาโรงทาน ๖ แห่ง  คือ  ท่ามกลางพระนครหนึ่งแห่ง ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ ทิศละแห่ง  และที่ประตูพระราชนิเวศน์อีก ๑ แห่ง โปรดให้เริ่มตั้งทานวัตรเป็นประจำ ไม่ให้ขาดแม้แต่เพียงวันเดียว 

    จากนั้นด้วยความที่ พระองค์ทรงเป็นลูกยอดกตัญญู ทรงโปรดให้อัญเชิญพระมารดาและพราหมณ์มาจากกาลจัมปากนคร ทรงทำพิธีต้อนรับด้วยสักการะอย่างสมพระเกียรติ

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระราชาก็ทรงเคร่งครัดในการฝึกฝนพระองค์เอง ให้เป็นผู้มีศรัทธาในการสมาทานอุโบสถศีลทุกวันอุโบสถ ทั้ง ๗ คํ่า  ๘ คํ่า ๑๔ คํ่า และ๑๕ คํ่า
 
    ทรงบำเพ็ญพระจริยาวัตรด้วยพระเมตตาต่อไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ของพระองค์เป็นปกติ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้พระเกียรติคุณของพระองค์ทรงขจรขจายไปทั่วแว่นแคว้นวิเทหรัฐ

    การเป็นพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีอานุภาพแผ่ไปทั่วชมพูทวีป และเป็นที่รักของเหล่าพสกนิกรทั่วหล้า มิใช่ว่าจะได้มาโดยบังเอิญ แต่ได้มาเพราะบุญเก่าในอดีต และการทำความดีในปัจจุบัน
 

    ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “บุคคลผู้ประกอบด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล  เพียบพร้อมด้วยยศและโภคะ เมื่อไปสู่สถานที่ใดๆ  ย่อมได้รับการบูชาในสถานที่นั้นๆ”

    คนมีศีลมีธรรมอยู่ที่ไหน ใครๆ ก็รัก  เพราะได้นำความสุขความเจริญมาให้สถานที่แห่งนั้น หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าเป็นบุคคลนำโชค ทำให้ได้รับการต้อนรับและความเคารพนอบน้อมเป็นอย่างดี   แม้เทวดาก็ลงปกปักรักษา ใครได้เข้าใกล้คบหา ก็เย็นอกเย็นใจมีชีวิตที่เจริญขึ้นด้วยอำนาจแห่งศีลธรรมของบุคคลนั้น

ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็น ธัมมิกมหาราช ทรงเป็นบัณฑิตผู้เฉลียวฉลาด ทำให้ชาวเมืองทั้งใกล้และไกล ประสงค์อยากจะเข้าเฝ้าและได้เห็นบุญลักษณะของพระองค์อย่างใกล้ชิด จึงพร้อมใจกันนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเป็นประจำมิได้ขาด

    ผู้ปกครองหัวเมืองต่างๆ ได้นำมหรสพขนาดใหญ่มาแสดงในพระนคร นำเครื่องลาดที่วิจิตรงดงาม และมีราคาแพงมาปูลาดในพระราชนิเวศน์  ช่วยกันห้อยพวงของหอม พวงดอกไม้เป็นต้น  ทำเครื่องอุปกรณ์ดอกไม้  เครื่องอบธูปและเครื่องหอมมาถวาย เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำ

    พระมหาชนกโพธิสัตว์ได้ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรมเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระองค์ได้เสด็จประทับบนพระราชอาสน์ ภายใต้มหาเศวตฉัตรทอดพระเนตรพระราชสมบัติอันสิริวิลาสยิ่งใหญ่ เพียงดังสิริสมบัติของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงคำนึงถึงความพยายาม ที่พระองค์ได้ทรงทำในมหาสมุทร 

    เมื่อทรงระลึกนึกถึงความพยายามเช่นนั้นแล้ว จึงดำริอย่างแยบคายว่า  “ขึ้นชื่อว่าความเพียร ควรทำโดยแท้  ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร   เราก็จะไม่ได้สมบัติใหญ่ถึงเพียงนี้” 
 
 
    เมื่อทรงคำนึงถึงความเพียรนั้น  ก็เกิดพระปีติโสมนัส ทรงเปล่งอุทานว่า “บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย  เราเห็นว่าการที่เราได้เป็นพระราชาสมปรารถนานั้น ก็เพราะความเพียรพยายามอย่างเดียวเท่านั้น
 
    ...บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย  เราเห็นตัวเราขึ้นจากน้ำเข้าถึงฝั่งได้ เพราะความเพียรพยายามโดยแท้
 
    ...นรชนผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์แล้ว ก็ไม่พึงตัดความหวังที่จะเข้าถึงความสุข  จริงอยู่ คนเป็นอันมาก เมื่อประสบทุกข์ ก็ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เมื่อได้รับความสุข จึงค่อยทำสิ่งที่มีประโยชน์  คนเหล่านั้นไม่ตระหนักถึงประโยชน์ จึงเข้าถึงความตาย 
 
    ...สิ่งที่มิได้คิดไว้ อาจเกิดขึ้นก็ได้  ส่วนสิ่งที่ได้คิดไว้ อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้  โภคทรัพย์ทั้งหลายของหญิงและชาย  มิได้สำเร็จด้วยเหตุเพียงความคิดเท่านั้น แต่สำเร็จได้ด้วยความเพียรพยายาม”
 
    ตั้งแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ทรงถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และทำการสงเคราะห์พสกนิกรที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้กรุงมิถิลานครเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งและมั่นคง  เรื่องของพระมหาชนกยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่อีก แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป  
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahajanaka13.html
เมื่อ 18 พฤษภาคม 2567 02:30
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv