ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 15
 
  
    จากตอนที่แล้ว พระมหาชนกราชได้ครองราชย์ด้วยความสงบร่มเย็นเรื่อยมา กระทั่งพระนางสีวลีเทวีประสูติพระโอรสทรงพระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร กระทั่งกาลต่อมา เมื่อพระองค์เจริญวัยขึ้นก็ได้รับพระราชทานให้ดำรงตำแหน่งอุปราช

    คราวหนึ่งพระมหาชกราชได้ประพาสพระราชอุทยาน ทรงเก็บมะม่วงผลหนึ่งซึ่งมีรสโอชาที่หน้าอุทยานเสวย และก็ทรงคิดว่าขากลับออกมาจะเก็บเสวยอีก

    ฝ่ายข้าราชบริพารที่ตามมาภายหลัง เริ่มตั้งแต่อุปราชลงมา เมื่อรู้ว่าพระราชาเสวยผลที่มีรสเลิศแล้ว ก็พากันสอยมะม่วงนั้นตามความพอใจ กระทั่งได้ปีนขึ้นไปบนต้นหักรานกิ่งเพื่อเก็บเอาผลมะม่วง ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จกลับออกมาก็ปรากฏว่า มะม่วงต้นนั้นถูกหักกิ่งรานใบจนย่อยยับ ไม่เหลือผลให้ทรงเก็บอีกแล้ว
 
    ก็ทรงพิจารณาเห็นสัจธรรมว่า “มะม่วงต้นที่ไม่มีผลยังสดเขียวเหมือนเดิม แต่ต้นนี้ถูกหักกิ่งรานใบ เพราะอาศัยผลเป็นเหตุ แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล  ส่วนบรรพชาเป็นเช่นกับต้นไม้ที่ไร้ผล เราจะเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้ผล เราจักสละราชสมบัติออกบวช”

    เมื่อเสด็จกลับถึงพระราชนิเวศน์แล้ว ก็ทรงมอบราชกิจให้แก่มหาอำมาตย์ว่าราชการแทน ส่วนพระองค์เองนั้นเสด็จขึ้นพระตำหนักชั้นบน ทรงบำเพ็ญสมณธรรมเพียงลำพังพระองค์เดียว

    ทรงเปิดสีหบัญชรประทับยืนนมัสการไปทางทิศที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเคยเหาะมา แล้วเปล่งอุทานว่า  “นักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้ใคร่ความสุข มีปกติหลีกเร้น ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส ทั้งหนุ่มทั้งแก่   ก้าวล่วงตัณหาเสียได้ อยู่ที่ไหนหนอ...
 
    วันนี้ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
 
    ท่านผู้มีปัญญาเหล่าใด เป็นผู้ไม่ขวนขวายในโลกที่มีแต่ความขวนขวาย  ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น ตัดเสียซึ่งข่ายแห่งมัจจุราชที่ขึงไว้มั่น สามารถใช้ปัญญาญาณทำลายมายาที่ผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในโลกเสียได้  ใครหนอจะสามารถนำเราไปสู่สถานที่อยู่ของนักปราชญ์เหล่านั้น” 
 

    พระมหาชนกทรงเจริญธรรมอยู่บนปราสาท จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไป ๔ เดือน พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง เพราะรู้ว่าการบวช คือ หนทางที่จะทำให้ใจปลอดโปร่ง 

    พระราชนิเวศน์ที่งดงามดุจดาวดึงส์พิภพกลับปรากฏดุจโลกันตนรก ภพทั้งสามปรากฏแก่พระองค์เหมือนกองเพลิงใหญ่ที่กำลังลุกไหม้ ทำให้พระองค์มีพระหฤทัยเบื่อหน่าย มุ่งตรงต่อการบรรพชาอย่างแน่วแน่

ได้ทรงจินตนาการว่า  “เมื่อไรหนอ  เราจะได้ไปจากกรุงมิถิลา ซึ่งประดับตบแต่งดุจดังพิภพของท้าวสักกเทวราชนี้ แล้วจะได้เข้าป่าหิมพานต์ ทรงเพศบรรพชิต” 
 

    ครั้นทรงดำริฉะนี้แล้ว ก็เริ่มพรรณนาถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองของกรุงมิถิลาว่า “เมื่อไรหนอ  เราจึงจะได้สละกรุงมิถิลาราชธานีแห่งนี้ ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดได้จัดสร้างสถานที่ต่างๆ  แบ่งเขตออกเป็นประตูและถนน มีความเจริญมั่งคั่ง มีกำแพงและหอคอยเป็นจำนวนมาก มีป้อม และซุ้มประตูมั่นคง  มีทางหลวงตัดไว้เรียบร้อย มีร้านค้าในระหว่างถนนจัดไว้อย่างดี
 
 
    เมื่อไหร่หนอเราจึงจะได้ละกรุงมิถิลา ซึ่งเบียดเสียดไปด้วยรถเทียมโคและรถม้า มีอุทยาน พุ่มไม้  และปราสาทที่จัดไว้เป็นระเบียบสวยงาม มีปราการ ๔ ชั้น พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งพระเจ้าวิเทหรัฐผู้ทรงยศใหญ่ พระนามว่าโสมนัสทรงสร้างไว้  เราอยากออกบรรพชาเป็นอนาคาริกมุนี

เมื่อไรหนอ เราจะได้สละกรุงมิถิลาราชธานี ที่หมู่ปัจจามิตรผจญไม่ได้  มีพระราชมณเฑียรสถานอันน่ารื่นรมย์ ฉาบทาด้วยปูนขาว  มีกลิ่นหอมฟุ้ง  มีพระตำหนักยอดที่เรียงรายสวยงาม ทาสีสวยสด ลาดรดประพรมด้วยแก่นจันทน์

    เราปรารถนาที่จะสละบัลลังก์ทอง ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโค เราปรารถนาจะสละบัลลังก์แก้วมณี ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังสัตว์  จะละผ้าฝ้ายผ้าไหม ละสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งหมู่สกุณาร่ำร้องขับขาน ดารดาษไปด้วยพรรณไม้น้ำ ทั้งปทุมและอุบล แล้วออกบวช เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เมื่อไรหนอ ความปรารถนาของเราจะสำเร็จ”

    แต่เนื่องจากการที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีปจะเสด็จออกผนวช  ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ต้องคำนึงถึงผู้ที่จะมาสืบทอดราชบัลลังก์ คำนึงถึงเหล่าพสกนิกรอีกมากมาย   มีภาษิตที่บัณฑิตทั้งกลายกล่าวไว้ว่า “ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต  มีใจยินดีแล้วในการอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน  ชนเหล่านั้น  ย่อมได้ในสิ่งที่คนทั้งหลายได้โดยยาก”

    สิ่งที่ได้โดยยากที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่มีเพียงลาภ ยศ สรรเสริญสุขเท่านั้น  เพราะผู้รู้ทั้งหลายต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสุขที่อิงวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นของชั่วคราว ได้มาแล้วก็อยู่กับเราไม่นาน ในไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากไป

    แม้สิ่งอันเป็นที่รักนั้นไม่จากเราไปก่อน แต่ตัวเรานั่นแหละจะต้องจากสิ่งนั้นไป จะหาความสุขที่เที่ยงแท้จากวัตถุสิ่งของ ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้เลย 

    สิ่งที่ได้ยากที่สุดกลับเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สัมผัสได้ด้วยใจ นั่นก็คือความสุขที่แท้จริงที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง  เป็นสิ่งที่ชาวโลกมักมองข้ามกัน เพราะมัวเอาใจไปติดอยู่กับสิ่งของนอกตัวซึ่งเป็นเครื่องล่อให้ติดอยู่ในภพทั้งสาม

    ชาวโลกจึงพบความสุขที่แท้จริงกันได้ยาก  แต่ไม่ว่าจะยากเพียงใด ขอให้ดูอย่างพระโพธิสัตว์ผู้ทรงบำเพ็ญตนเป็นต้นบุญและต้นแบบให้กับพวกเราทั้งหลาย สมควรที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติตาม ดังเรื่องการเสด็จออกผนวช เพื่อออกจากเบญจกามคุณของพระมหาชนกบรมโพธิสัตว์
 
    พระมหาชนกราช หลังจากที่ทรงเจริญสมณธรรมอยู่บนปราสาทแล้ว พระราชหฤทัยไม่ทรงยินดีในเบญจกามคุณอีกเลย ทรงคิดหาทางที่จะออกผนวชตลอดเวลา  แต่เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชา การที่จะเสด็จออกผนวช  ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ  พระองค์จะต้องถูกคัดค้านจากพระอัครมเหสี จากเสนาบดีและเหล่าอำมาตย์ จากพสกนิกรและหมู่อาณาประชาราษฎร์อีกมากมาย  ดังนั้น พระองค์จึงทรงไตร่ตรองอยู่นานจนวันคืนล่วงไป
 
    แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน พระมหาชนกราชก็ยังหาทางหลุดพ้นจากภาระอันยิ่งใหญ่คือความเป็นพระราชาไม่ได้ เพราะพระประยูรญาติกับทั้งเหล่าบริวารทั้งหลาย ก็ล้วนยินดีในกามคุณทั้งสิ้น การพูดเรื่องออกบวชกับผู้ที่ยินดีในกามคุณเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เมื่อไร้ที่ปรึกษา  จึงได้แต่ทรงรำพึงอยู่เพียงพระองค์เดียว ส่วนว่าพระองค์จะทรงพบทางออกได้อย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahajanaka15.html
เมื่อ 18 พฤษภาคม 2567 01:26
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv