ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 22


        จากตอนที่แล้ว  มโหสถกุมารรับท่อนไม้จากมือบิดา พลางคิดในใจว่า น่าแปลก เรื่องธรรมดาเพียงเท่านี้ พระราชาทรงอยากจะทราบคำตอบไปทำไม จะว่าเพื่อพระราชกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มิน่าจะใช่ เห็นทีพระองค์คงทรงอยากจะทดลองปัญญาของเราเป็นแน่ จึงได้ผูกปมปริศนานี้ส่งมา

        เพียงมโหสถได้จับท่อนไม้ตะเคียนเท่านั้น ก็รู้ได้ทันทีว่า ทางไหนเป็นโคน ทางไหนเป็นปลาย แต่เพื่อจะให้มหาชนได้ประจักษ์ด้วยสายตาของตนเอง  จึงให้คนนำภาชนะมาใบหนึ่งใส่น้ำจนเต็ม กับเชือกเส้นหนึ่ง

        ครั้นแล้วมโหสถก็เอาเชือกผูกตรงกึ่งกลางท่อนไม้ ไม่ให้ล้ำให้เหลื่อมไปข้างใด ถือปลายเชือกข้างหนึ่งไว้ จากนั้นจึงค่อยๆหย่อนท่อนไม้ลงบนผิวน้ำในถาดนั้น ไม้ท่อนนั้นแทนที่จะจมลงไปในน้ำเท่ากัน กลับกลายเป็นว่า ข้างหนึ่งจมลงไปมากกว่าอีกข้างหนึ่ง

        เมื่อเห็นดังนี้แล้ว มโหสถกุมารจึงชี้บอกมหาชนในที่นั้น ให้สังเกตดูลักษณะการจมลงของท่อนไม้ แล้วแถลงให้ทุกคนทราบว่า โดยปกติต้นไม้นั้น ส่วนโคนย่อมเกิดก่อนส่วนปลาย สิ่งที่เกิดก่อน ก็ย่อมเจริญก่อน ดังนั้น เนื้อไม้ส่วนโคนจึงมีความแน่น และแข็งกว่า จึงมีน้ำหนักมากกว่า

        พอมาถึงตอนนี้ มหาชนก็พากันร้องอ๋อ...ด้วยความยินดี ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า  ตอนนี้พวกเราก็ทราบคำตอบแล้วล่ะ ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจในการคลายปมปริศนาของมโหสถ ได้กล่าวสรรเสริญมโหสถกุมารอย่างสนั่นหวั่นไหว แล้วก็รีบส่งคนไปกราบทูลรายงานพระราชาในทันที

        ในเวลานั้น พระเจ้าวิเทหราชกำลังเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ท้องพระโรงพระที่นั่งมหาปราสาท ครั้นทรงทราบจากราชองครักษ์ประจำพระองค์ว่า มีชาวปาจีนยวมัชฌคามมาขอเข้าเฝ้าเป็นการด่วน พระองค์ก็รับสั่งให้นำตัวเข้ามาได้ทันที

        “เจ้าน่ะรึ ที่มาจากปาจีนยวมัชฌคาม” พระองค์มีพระดำรัสถาม

        บุรุษผู้เป็นตัวแทนของชาวปาจีนยวมัชฌคามรีบกราบทูลว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้ามาจากปาจีนยวมัชฌคาม พระพุทธเจ้าข้า”

        “เจ้ามีธุระอันใดกันเล่า” ท้าวเธอตรัสซัก

        “ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้าฯ ตามที่พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ชาวปาจีนยวมัชฌคาม ช่วยกันวิเคราะห์ท่อนไม้ตะเคียนนั้น บัดนี้พวกข้าพระบาททราบคำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วพระเจ้าข้า” เขาตอบด้วยท่าทีมั่นใจ

        “เออ ไหนล่ะ เจ้านำมาให้เราดูซิ”  
 
        “ขอเดชะ พระองค์ผู้สมมุติเทพ ด้านที่ได้ทำเครื่องหมายไว้นั้นเป็นโคน ส่วนด้านตรงข้ามเป็นปลาย พระพุทธเจ้าข้า”    ว่าแล้วก็ส่งท่อนไม้นั้นให้เจ้าพนักงานที่รอรับอยู่ด้านข้าง เจ้าพนักงานรับท่อนไม้มาแล้ว ก็น้อมเข้าไปถวายให้ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรใกล้ๆ
 
        พระเจ้าวิเทหราชทรงปลื้มพระทัย   ตรัสรับรองด้วยพระสุรเสียงแผ่วเบาว่า “อืมม...ใช่จริงๆด้วย” แล้วทรงรับสั่งถามเขาว่า “เจ้ารู้ปริศนานี้ได้อย่างไร”

        “หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นเพียงตัวแทนของชาวปาจีนยวมัชฌคามเท่านั้น”

        “แล้วถ้าเช่นนั้น ใครเป็นผู้ไขปริศนานี้”     
 
        “มโหสถกุมาร บุตรของท่านสิริวัฒกเศรษฐี พระพุทธเจ้าข้า” เขากราบทูลขึ้นในทันที
 
        ครั้นทรงสดับว่า มโหสถกุมารเป็นผู้ไขปริศนานี้ พระองค์ถึงกับแย้มพระสรวล ด้วยทรงพอพระราชหฤทัย

        จากนั้นจึงมีรับสั่งกับเขาว่า “เจ้าจงกลับไปบอกประชาชนชาวปาจีนยวมัชฌคามของเราว่า เราขอขอบใจสำหรับคำตอบที่ได้ในครั้งนี้ และปรารถนาจะได้ฟังคำตอบในโอกาสต่อไปอีก เอาล่ะ หมดหน้าที่ของเจ้าแล้ว เจ้ากลับไปได้”

        รับสั่งดังนี้แล้ว ก็ให้นำตัวบุรุษนั้นออกไป ทรงผันพระพักตร์ไปทางท่านเสนกะ ตรัสพลางแย้มพระสรวลไปด้วยว่า “นั่นยังไงละท่านอาจารย์ อย่างไรเสียมโหสถก็ต้องรู้”  ทรงรับสั่งเพียงเท่านี้ แล้วก็ปรึกษาหารือท่านเสนกะ ถึงแผนการที่จะทดลองปัญญาของ มโหสถในครั้งต่อไป

        นับแต่นั้นมา พระเจ้าวิเทหราชก็ได้ผูกปัญหาส่งไปทดสอบชาวปาจีนยวมัชฌคามอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด ทั้งนี้ทรงมีพระราชประสงค์จะวัดปัญญานุภาพของมโหสถบัณฑิตแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ครั้นจะทรงส่งปัญหาไปถึงมโหสถโดยตรง ก็เกรงว่าจะเป็นการจำเพาะเจาะจงจนเกินไป
 
        ดังนั้น จึงได้มอบให้เป็นภาระของชาวปาจีนยวมัชฌคามทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่นับวันปัญหานั้นก็จะยิ่งทวีความยากขึ้นไปเรื่อยๆ
 
        คราวหนึ่ง พระองค์ทรงรับสั่งให้นำกะโหลกศีรษะของบุรุษและสตรีมา แล้วส่งกะโหลกทั้งสองไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามตัดสินว่า กะโหลกไหนเป็นของบุรุษ กะโหลกไหนเป็นของสตรี หากไม่มีใครรู้ ก็จะถูกปรับสินไหม ๑,๐๐๐ กหาปณะ

        ชาวบ้านทุกคนพยายามคิดหาหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัย แต่แล้วก็จนปัญญาเช่นเคย ยังมองไม่เห็นว่ากะโหลกทั้งสองจะแตกต่างกันตรงไหน จึงพากันไปปรึกษามโหสถ

        ในที่สุดก็ได้รับคำตอบว่า กะโหลกที่มีรอยประสานตรงกลางเป็นแสก คือกะโหลกของบุรุษ ส่วนกะโหลกของสตรี จะสังเกตได้ว่ารอยแสกนั้นจะคด ไม่ตรงเหมือนอย่างกะโหลกบุรุษ
 
        ส่วนพระเจ้าวิเทหราช เมื่อได้สดับคำตอบที่ถูกต้อง และมีหลักมีเกณฑ์เช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก
 
        ต่อมา พระองค์ก็ทรงส่งงูไปอีก ๒ ตัว พร้อมกับมีพระดำรัสถามว่า งูตัวไหนตัวผู้ งูตัวไหนตัวเมีย ถ้าตอบไม่ได้ จะถูกปรับสินไหม ๑,๐๐๐ กหาปณะอีกเช่นเคย 
 
        แต่ถึงกระนั้น มโหสถก็ยังสามารถแยกแยะได้อีกว่า งูตัวผู้นัยน์ตาโต หัวและหางใหญ่ มีลวดลายบนลำตัวต่อเนื่องกัน ส่วนงูตัวเมียนั้น หัวและลำตัวเรียว หางเล็ก นัยน์ตาเล็ก ลวดลายบนลำตัวขาด ไม่ต่อเนื่องกัน
 
        จึงเป็นอันว่าชาวปาจีนยวมัชฌคามสามารถจะไขปัญหายากๆเหล่านั้นได้ เพราะอาศัยปัญญานุภาพของมโหสถนั่นเอง หลังจากผ่านพ้นปัญหาเรื่องงูไป ยังไม่ทันจะข้ามวัน ก็มีปัญหาเรื่องโค ซึ่งช่างท้าทายภูมิปัญญา และชวนให้พิศวงงงวยตามมาติดๆ  แต่มโหสถบัณฑิตจะแก้ปมปัญหาอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita022.html
เมื่อ 30 เมษายน 2567 04:22
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv