ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 110
 
    จากตอนที่แล้ว พระเจ้าวิเทหราชทรงเลื่อมใสในมโหสถบัณฑิต ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีปัญญา มีอัธยาศัยกว้างใหญ่ ให้อภัยได้แม้ต่อผู้ที่มุ่งร้ายหมายชีวิต จึงทรงแต่งตั้งให้มโหสถบัณฑิตเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งวิเทหรัฐ เพื่อจะได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่แว่นแคว้นสืบไป

   มโหสถบัณฑิต ครั้นรับมอบตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการวิเทหรัฐแล้ว ก็ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาของตน ด้วยมองเห็นการณ์ไกลว่า “ในวันข้างหน้า จะเกิดศึกสงครามอย่างแน่นอน เราต้องทำพระนครให้มั่นคงเสียก่อน” จึงได้ดำเนินการให้สร้างกำแพงขึ้นหลายชั้น แต่ละชั้นถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างมั่นคง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

    ต่อมาก็จัดการปรับปรุงภายในพระนคร ซ่อมแซมอาคารที่เริ่มเก่าชำรุด ให้ขุดสระบัวขนาดใหญ่ และให้ฝังท่อน้ำเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำเข้ามาใช้ภายในพระนคร

    เมื่อภายในพระนครเรียบร้อยแล้ว ก็ให้พัฒนาภายนอกพระนคร  โดยให้สร้างศาลาพักริมทางให้เป็นที่พักของพ่อค้าและคนเดินทาง เป็นเหตุให้ชื่อเสียงของมิถิลานครเลื่องลือไปไกลทั่วทุกสารทิศ 

   ในกาลต่อมา มโหสถบัณฑิตดำริว่า “พระนครใหญ่ๆในดินแดนชมพูทวีป มิใช่มีแต่เพียงวิเทหรัฐนี้เท่านั้น แต่ทว่ายังมีมหานครอยู่อีกมากมายถึง ๑๐๑ พระนคร แต่ละนครก็ล้วนมีพระราชาปกครองเป็นอิสระทั้งสิ้น การเตรียมการป้องกันพระนครให้เข้มแข็งอย่างที่เรากระทำมาแล้วนี้ ก็นับเป็นความไม่ประมาท เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันภัยสงครามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็เป็นเพียงการเตรียมการอยู่ภายใน ถึงอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเราก็ยังไม่อาจทราบได้เลยว่า เหตุร้ายเหล่านั้นจะมาถึงมิถิลานครเมื่อไร และจะมาจากทิศทางใด

    แต่ ณ เวลานี้ หากเราได้ทราบความเป็นไปของพระนครเหล่านั้นเสียก่อน ก็จะเป็นการดี เพราะเมื่อรู้ว่ามีแคว้นใดกำลังคิดเป็นปรปักษ์ต่อมิถิลานคร หรือว่าพระราชาพระองค์ใดปรารถนาจะช่วงชิงบัลลังก์ของเจ้าเหนือหัวของเรา เราก็สามารถคิดอ่านป้องกันได้ทันท่วงที”

    เมื่อใคร่ครวญด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมแล้ว มโหสถจึงถือโอกาสเข้าไปพบปะพูดคุยเพื่อไต่ถามข่าวคราวจากบรรดาพ่อค้าพาณิชที่มาจากต่างเมืองอยู่เสมอ

    พ่อค้าเหล่านั้นต่างก็ทราบเกียรติคุณของมโหสถบัณฑิตอยู่แล้ว จึงมีความยินดียิ่ง ด้วยปรารถนาจะได้รู้จักและสนทนากับมโหสถเช่นกัน เมื่อมโหสถได้มีโอกาสสนทนาพูดคุยกับพ่อค้าเหล่านั้นบ่อยเข้าก็เริ่มสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น ทำให้มโหสถได้ทราบข่าวคราวและความเป็นไปของแคว้นต่างๆ โดยละเอียด และรู้แม้กระทั่งว่าพระราชาของแคว้นนั้นๆ ทรงโปรดปรานอะไร สิ่งของใดเป็นที่ต้องพระทัยของพระราชาแต่ละพระองค์

   เมื่อได้ทราบถึงสิ่งของอันเป็นที่ต้องพระทัยของพระราชาทั้ง ๑๐๑ พระองค์แล้ว มโหสถบัณฑิตจึงได้มอบหมายให้ช่างวังหลวงทำเครื่องราชูปโภคต่างๆขึ้นมา เป็นกุณฑลบ้าง ฉลองพระบาทบ้าง พระขรรค์บ้าง สุวรรณมาลาบ้าง ตามแต่พระราชาเหล่านั้นจะทรงโปรดปราน

    แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ มโหสถจะสั่งให้ช่างจารึกชื่อของตนลงในเครื่องราชูปโภคทุกชิ้นไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้มิถิลานครเป็นที่รู้จักของพระราชาทั่วทุกแคว้น

    ในขณะเดียวกัน ตนในฐานะผู้สำเร็จราชการแห่งวิเทหรัฐ ก็จะได้เป็นที่รัก เป็นที่คุ้นเคยชอบพอของบรรดากษัตริย์เหล่านั้น และหากวันใดที่บ้านเมืองถึงคราวคับขัน ก็จะได้พึ่งพาอาศัย ทั้งนี้เพื่อให้วิเทหรัฐรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวงเป็นสำคัญ

    เมื่อเครื่องราชูปโภคสำเร็จตามที่ต้องการแล้ว มโหสถบัณฑิตจึงคัดเลือกสหาย ๑๐๑ คนซึ่งล้วนเป็นสหชาติที่เกิดในวันเดียวกับตน มาประชุมลับเพื่อชี้แจงภารกิจสำคัญ

   “สหายทั้งหลาย ที่เราเชิญทุกคนมาประชุมพร้อมกันในครั้งนี้ ก็เพื่อจะแจ้งให้ทราบว่า เราปรารถนาจะส่งท่านทั้งหลายไปยังราชสำนักต่างๆ ทั้ง ๑๐๑ พระนคร เพื่อนำเครื่องบรรณาการที่เราได้เตรียมไว้นี้ ไปถวายแก่พระราชาแต่ละเมือง เมื่อท่านทั้งหลายไปถึงแล้ว ก็จงพำนักอาศัยอยู่ในเมืองนั้นในฐานะทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีจนกว่าเราจะมีคำสั่งให้เรียกกลับ ในระหว่างนั้นก็ให้ท่านเฝ้าสังเกตดูความเคลื่อนไหวในทางการเมืองว่าเป็นอย่างไร ครั้นทราบข่าวอันใดที่เป็นประโยชน์ก็ขอให้ส่งข่าวมาถึงเราทันที”

    มโหสถบัณฑิตตระหนักดีว่า ภารกิจสำคัญในครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความเสียสละและทุ่มเทเพื่อบ้านเมือง จึงได้ให้กำลังใจสหายเหล่านั้นว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายจงไปทำหน้าที่แทนพี่น้องชาววิเทหรัฐเถิด อย่าได้ห่วงพะวงสิ่งใดเลย ส่วนบุตรและภรรยาของทุกท่านนั้น ข้าพเจ้าจะรับเลี้ยงดูเป็นอย่างดีมิให้ต้องเดือนร้อน ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนสุดความสามารถ ให้สมกับที่เราได้ไว้วางใจเถิด”

    สหายเหล่านั้นรับคำสั่งจากมโหสถบัณฑิตแล้ว ก็ได้ให้คำมั่นสัญญา ยืนยันหนักแน่นที่จะทำภารกิจที่ตนได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด และทุกคนต่างก็มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับหน้าที่อันสำคัญนี้
 
   เมื่อพร้อมกันแล้ว สหายทั้งหลายต่างก็รับเอาเครื่องบรรณาการไว้ จากนั้นก็แยกย้ายกันออกเดินทางไปยังเมืองที่ตนได้รับมอบหมาย โดยมีมโหสถบัณฑิตคอยให้กำลังใจและอำนวยอวยชัยให้ทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ

   การที่มโหสถผูกมิตรต่างเมืองด้วยการส่งเครื่องบรรณาการไปมอบให้นี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้องดีงามอย่างยิ่ง เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับเสมอ และย่อมรักษาน้ำใจกันไว้ได้ ถึงคราวเดือดร้อนก็จะได้พึ่งพาอาศัยกัน

    บุคคลใดแม้มีฐานะมั่นคง มีเกียรติยศชื่อเสียงพรั่งพร้อม แต่หากบุคคลนั้นมองข้ามการผูกมิตรไมตรี โดยคิดเสียว่า “เราพึ่งตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปงอนง้อใคร”  นั่นนับว่าเป็นความคิดที่ผิด ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะโลกตั้งอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน หากขาดการให้และการแบ่งปันเสียแล้ว โลกก็ตั้งอยู่ไม่ได้

    หากเราพบกับอุปสรรคของชีวิต ประสบภาวะขาดแคลน เราก็สามารถกู้หนี้ได้ ถือว่าเป็นการสร้างสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราเป็นที่รักของเจ้าหนี้ โดยที่เขาจะไม่คิดทำร้ายลูกหนี้เลย เมื่อเราตั้งหลักสร้างฐานะได้แล้ว จึงค่อยมอบของขวัญรางวัลตอบแทนเป็นการผูกไมตรีเอาไว้ เพราะการเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน เป็นความงามของโลกและจักรวาล ส่วนเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita110.html
เมื่อ 4 พฤษภาคม 2567 01:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv