ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 161
 
 
 
    จากตอนที่แล้ว มโหสถบัณฑิตได้ขอพระราชทานไพร่พลและพาหนะ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นในการก่อสร้าง อีกทั้งได้ขอพระกรุณาโปรดให้เปิดเรือนจำทั้ง 4แห่ง โดยขอให้นักโทษทั้งหลายเหล่านั้น ได้เดินทางไปด้วย เพื่อเป็นกำลังในการสร้างพระราชวัง พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงอนุญาตให้มโหสถทำตามความปรารถนาได้ทุกประการ หลังจากรวบรวมไพร่พลพาหนะ และผู้ช่ำชองในศิลปะนั้นๆ เป็นกองพลใหญ่ตามที่ต้องการแล้ว มโหสถจึงได้ยกขบวนนั้นออกจากมิถิลานคร แล้วมุ่งหน้าสู่ปัญจาลนครในทันที
 
    ในระหว่างทาง มโหสถบัณฑิตได้ให้ช่างที่ติดตามขบวน มาช่วยกันสร้างพลับพลาที่ประทับรายทางไว้เป็นระยะๆ ทุกๆหนึ่งโยชน์ แล้วจัดสรรอำมาตย์ให้เฝ้าประจำอยู่แต่ละพลับพลา พร้อมสั่งกำชับด้วยว่า “ในเวลาที่พระราชาของพวกเราเสด็จกลับมิถิลานครพร้อมด้วยพระนางปัญจาลจันที ขอพวกท่านจงถวายการปรนนิบัติแด่ทั้งสองพระองค์ โดยการเตรียมจัดช้างม้าและรถไว้ให้พร้อม ทั้งคอยระวังป้องกันมิให้กองกำลังของฝ่ายปัญจาลนครติดตามมาได้ เพื่อให้พระองค์เสด็จถึงมิถิลานครโดยเร็วที่สุด”
 
    เมื่อเดินทางถึงฝั่งแม่น้ำคงคา มโหสถได้สั่งการว่า ให้อานันทะพาช่างไม้ 300คนไปเตรียมต่อเรือขนาดใหญ่ไว้ 300ลำ แล้วหาไม้ที่จะใช้สร้างพระนคร คัดเอาเฉพาะไม้ชนิดเบา แล้วบรรทุกเรือที่เตรียมไว้ ล่องเรือมาส่งให้โดยเร็ว จากนั้นมโหสถพร้อมกองกำลังที่เหลือ ก็พากันลงเรือข้ามฟากไปอีกฝั่งหนึ่ง
 
    ทันทีที่เหยียบเท้าก้าวแรกลงบนดินแดนของฝ่ายศัตรู มโหสถก็ได้เริ่มต้นกำหนดแผนการไว้ในใจ คำนวณนับระยะทางที่ก้าวเดิน เป็นการวัดระยะทางเพื่อให้ทราบว่ามีระยะทางจากนี้ถึงนี้ใกล้ไกลเพียงใด ทางใดสะดวกปลอดภัย บริเวณใดควรสร้างอุโมงค์ บริเวณใดควรเป็นที่ตั้งของพระนคร และบริเวณใดควรเป็นที่ตั้งของพระราชนิเวศน์หลังใหม่ ครั้นกำหนดที่ตั้งพระนครเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว มโหสถจึงขึ้นรถม้าเร่งเดินทางเข้าสู่พระราชวังเพื่อถวายบังคมพระเจ้าจุลนี
 
    ข่าวการเดินทางมาของมโหสถบัณฑิต และคณะชาวมิถิลานคร เลื่องลือไปทั่วปัญจาลนคร ชาวเมืองทั้งหลายเคยได้ยินกิตติศัพท์ของมโหสถบัณฑิตมานาน ก็ใคร่จะได้เห็นตัวจริงของมโหสถให้เต็มตา จึงต่างชักชวนกันมารอดูขบวนของมโหสถแน่นขนัดตลอดสองข้างทาง
 
    ขณะที่ขบวนของมโหสถบัณฑิตผ่านประตูเมืองเข้ามา เสียงกึกก้องเกรียวกราวของมหาชนก็ยิ่งดังสนั่นหวั่นไหว ต่างก็พูดคุยกันว่า “นี่หรือมโหสถแห่งมิถิลานคร ที่ขับไล่กองทัพใหญ่ของเหนือหัวเรา พร้อมกับกองทัพของพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์แตกกระจัดกระจาย เหมือนขว้างก้อนดินไล่กา ช่างรูปงามจริงๆ ดูท่าทางองอาจยิ่งนัก สมแล้วที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตแห่งมิถิลานคร”
 
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทรงสนพระทัยติดตามข่าวคราวของมโหสถอยู่ทุกระยะ เมื่อทรงสดับว่า บัดนี้_ขบวนของมโหสถบัณฑิตเข้าสู่ภายในเมืองแล้ว ท้าวเธอก็ยิ่งทรงโสมนัสยินดี พระพักตร์ผ่องใสด้วยทรงดำริว่า “มโหสถเอย เจ้าดิ้นรนมาหาคมดาบของข้าแท้ๆ อีกไม่ช้าข้าก็จะได้เห็นหลังของเจ้าล่ะ เมื่อเจ้ามา วิเทหราชก็ต้องมาแน่ คราวนี้ล่ะ เจ้าสองคนอย่าได้หวังเลยว่าจะรอดพ้นเงื้อมมือของข้าไปได้ ข้าจะประหารเสียทั้งคู่ ถึงตอนนั้นความปรารถนาของข้าจักเต็มเปี่ยม ราชสมบัติในสกลชมพูทวีปก็จะต้องตกเป็นของข้าทั้งหมด” ทรงรำพึงด้วยพระมนัสอันปลาบปลื้ม
 
    เมื่อขบวนของมโหสถบัณฑิต เข้ามาถึงเขตประตูพระราชวังแล้ว มโหสถจึงให้หยุดขบวน แล้วบอกให้นายทวารบาลไปกราบทูลแด่พระเจ้าจุลนี ถึงการมาเข้าเฝ้าของตน
 
    ครั้นแล้ว พระเจ้าจุลนีจึงทรงประทานพระบรมราชานุญาตให้มโหสถและคณะเข้าเฝ้า ณ ท้องพระโรง มโหสถและคณะได้เข้าเฝ้าถวายบังคมยืนอยู่ ณ ที่อันสมควร
 
    ลำดับนั้น พระเจ้าจุลนีทรงปฏิสันถารมโหสถตามสมควร แล้วก็ทรงมีพระดำรัสถามถึงพระเจ้าวิเทหราชว่า “พ่อบัณฑิต พระราชาของเธอจะเสด็จมาเมื่อไหร่ล่ะ”
 
    มโหสถกราบทูลอย่างนอบน้อมว่า “พระองค์จะเสด็จมา ก็ต่อเมื่อข้าพระองค์ส่งข่าวไปทูลเชิญเสด็จ พระเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีไม่ทรงทราบมาก่อนว่า พระเจ้าวิเทหราชจะเสด็จตามมาในภายหลัง พระองค์จึงตรัสถามมโหสถตรงๆว่า “เหตุใดเธอถึงล่วงหน้ามาก่อน ไม่นำเสด็จพระองค์มาด้วยกันเล่า”
 
    “ขอเดชะ ข้าพระองค์ได้รับพระบรมราชโองการจากเจ้าเหนือหัว ให้มาสร้างพระราชนิเวศน์ เตรียมไว้เป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อเสด็จมาสู่ปัญจาลนคร พระเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าจุลนีทรงทราบเช่นนั้น ก็ตรัสชื่นชมมโหสถว่า “ดีแล้วพ่อบัณฑิต เธอจงอย่ารอช้าอยู่เลย รีบเร่งเตรียมการต้อนรับพระราชาของเธอให้เต็มที่ แม้เธอเองก็จงพำนักอยู่ในที่นี่ให้สุขสำราญเถิด และจงรอคอยไปจนกว่าเจ้าเหนือหัวของเธอจักเสด็จมาถึงก็แล้วกัน”
 
    พระองค์ตรัสดังนี้แล้ว ก็รับสั่งให้เจ้าพนักงานจัดเรือนที่พักรับรองให้แก่มโหสถและคณะผู้ติดตาม พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้อีกเป็นอันมาก และยังได้รับสั่งกับมโหสถต่อไปอีกว่า “พ่อมโหสถ ถ้าเธอไม่ลำบากใจ เราจะขอให้เธอจงช่วยดูแลกระทำภารกิจที่เห็นว่าสมควรแก่เราบ้าง สิ่งใดที่ควรจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทะนุบำรุงให้แข็งแรง เราขอให้เธอใช้ความเป็นบัณฑิตมาช่วยพัฒนาบ้านเมืองของเราที จนกว่าพระราชาของเธอจะเสด็จมา”
 
    ทั้งนี้ เป็นการแสดงให้มโหสถบัณฑิตตายใจว่า ทั้งสองเมืองจะเป็นทองแผ่นเดียวกันจริงๆ จึงเปิดโอกาสให้มโหสถบัณฑิตได้ช่วยดูแลพัฒนาเมือง ในช่วงเวลาสั้นๆ และอีกประการหนึ่ง ก็มีความมั่นใจว่าแผนการทั้งหมดที่หลอกให้พระเจ้าวิเทหราชและมโหสถเข้ามาสู่เมืองแล้วประหารชีวิตนั้น ไม่มีใครรู้อย่างแน่นอน
 
    แต่ว่า...บัณฑิตก็คือบัณฑิต ย่อมล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าอยู่เสมอ ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะได้รับข้อมูลอย่างแท้จริง ดังเช่น มโหสถบัณฑิตที่สามารถล่วงรู้แผนการอันชั่วช้าของพระเจ้าจุลนีและพราหมณ์เกวัฏ อย่างทะลุปรุโปร่ง ส่วนว่ามโหสถเมื่อได้โอกาสทองแล้วจะมีแผนการอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita161.html
เมื่อ 7 พฤษภาคม 2567 21:53
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv