ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 168
 
 

    จากตอนที่แล้ว มโหสถยังสั่งให้ขุดอุโมงค์เล็ก เป็นทางลับใต้ดินอีกทางหนึ่ง ตั้งต้นขุดจากพระนครแห่งนี้ไปจนถึงปัญจาลนคร โดยปากอุโมงค์ไปโผล่ตรงเชิงบันไดพระมหาปราสาทของพระเจ้าจุลนี ภายในอุโมงค์นั้น มโหสถบัณฑิตยังได้สร้างห้องบรรทมมากถึงร้อยเอ็ดห้อง เรียงรายตลอดสองข้างอุโมงค์ เพื่อเตรียมไว้สำหรับพระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ โดยในแต่ละห้องได้ตกแต่งที่ประทับไว้อย่างสมพระเกียรติ ภายในอุโมงค์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ประณีตงดงาม วิจิตรตระการตาจนสุดจะพรรณนา ราวกับชะลอสุธรรมาเทวสภาให้มาปรากฏเหนือผนังอุโมงค์โดยแท้

    ขณะที่งานตกแต่งภายในอุโมงค์ กำลังจะสำเร็จลง มโหสถก็ได้ทราบข่าวดีจากอานันทอำมาตย์ว่า บัดนี้ได้บรรทุกไม้ที่ต้องการ ลงเรือ 300ลำ ล่องมาตามแม่น้ำคงคา

    ครั้นมาถึงท่าแล้ว มโหสถก็ให้ช่างเริ่มลงมือประกอบไม้ขึ้นเป็นพระตำหนักทันที ส่วนเรือทั้ง 300ลำนั้น มโหสถได้สั่งให้นำไปซ่อนไว้ในที่ปลอดภัย พร้อมกำชับว่า “พวกท่านจงอยู่ที่นี่เพื่อรอฟังคำสั่งของเรา เมื่อใดที่เราสั่งให้นำเรือมา พวกท่านก็จงอย่ารอช้า รีบนำมาให้เราทันที”

    การก่อสร้างนครแห่งนี้ ได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4เดือนเต็ม เมื่อภารกิจทุกอย่างสำเร็จแล้ว มโหสถจึงได้ส่งทูตไปทูลเชิญพระเจ้าวิเทหราชให้เสด็จมาสู่ปัญจาลนคร

    ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช เมื่อทรงสดับคำทูลเชิญของมโหสถ ทรงมีพระหทัยโสมนัสเป็นล้นพ้น พระองค์มิได้ทรงรอช้า มีพระกระแสรับสั่งให้จัดขบวนเสด็จให้พร้อมที่จะเคลื่อนขบวนได้ทันที เมื่อทรงเห็นว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว พระองค์จึงเสด็จพระดำเนินออกจากมิถิลานครด้วยขบวนช้าง ขบวนม้า ขบวนรถ และขบวนราบเต็มอัตรา พร้อมเหล่าข้าราชบริพารตามเสด็จอีกมากมาย รวมทั้งอาจารย์เสนกะและอาจารย์ที่เหลือ ต่างก็ปลื้มปีติยินดีที่ได้ตามเสด็จพระเจ้าวิเทหราชไปในครั้งนี้ โดยที่ไม่มีผู้ใดทราบมาก่อนเลยว่า การไปในครั้งนี้นับเป็นการเหยียบย่ำเข้าสู่แดนของศัตรูโดยแท้ ทั้งไม่มีใครอาจประกันได้ว่า พระเจ้าวิเทหราชจะทรงรอดพ้นจากเงื้อมมือของศัตรู ยกเว้นเสียแต่มโหสถบัณฑิตเท่านั้น

    เมื่อพระเจ้าวิเทหราช เหล่าจตุรงคเสนา และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ เดินทางไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว มโหสถซึ่งคอยรอรับเสด็จอยู่ในที่นั้น ก็นำเสด็จท้าวเธอและคณะเข้าสู่พระนครที่สร้างถวาย

    พระเจ้าวิเทหราชเสด็จขึ้นสู่พระมหาปราสาทแล้ว ก็ทรงสนานพระกาย เสวยเสร็จแล้ว ก็ประทับพักผ่อนอยู่ภายในพระราชนิเวศน์นานพอควร ครั้นถึงเวลาเย็น พระองค์จึงส่งราชทูต นำพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าจุลนีว่า “ข้าแต่มหาราช บัดนี้หม่อมฉันมาถึงปัญจาลนครแล้ว ปรารถนาจะถวายบังคมแทบพระยุคลบาทของพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงพระราชทานพระราชธิดาให้แก่หม่อมฉันในบัดนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่หม่อมฉันสืบไป”

    การที่พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีพระราชสาสน์ไปเช่นนั้น ด้วยทรงสำคัญพระองค์ว่าทรงอยู่ในฐานะว่าที่ราชบุตรเขยของพระเจ้าจุลนี ควรแล้วที่พระองค์จะถวายบังคมพระเจ้าจุลนีซึ่งมีฐานะเป็นพ่อตา ทั้งที่ความจริงแล้ว พระเจ้าจุลนีนั้นทรงมีพระชนมายุน้อยกว่าพระองค์หลายสิบพระชันษา ไม่พอที่เรียกว่าเป็นโอรสของพระเจ้าวิเทหราชด้วยซ้ำไป แต่ที่ทรงยอมเช่นนั้นก็เพราะความที่พระองค์ทรงตกอยู่ในอำนาจกิเลสนั่นเอง
 
    ฝ่ายพระเจ้าจุลนี เมื่อทราบความในพระราชสาสน์แล้ว ก็ทรงมีพระหทัยโสมนัสเปรมปรีดิ์ แย้มพระโอษฐ์ออกมาอย่างชัดแจ้ง ด้วยทรงดำริว่า “วิเทหราชดิ้นรนมาถึงจนได้ คราวนี้ล่ะเราจะไม่มีวันปล่อยให้มันรอดพ้นไปได้อีกเป็นอันขาด เราจักบั่นหัวของมันพร้อมด้วยมโหสถนั่น สับให้แหลกเป็นจุณแล้วจึงจะดื่มฉลองชัยชนะให้สำราญทีเดียว”
 
    พระอาการที่พระเจ้าจุลนีแสดงออกมาให้ปรากฏนั้น ดูเผินๆคล้ายกับว่าพระองค์ทรงยินดียิ่งนัก ที่จะได้พระราชทานพระราชธิดาปัญจาลจันทีให้กับพระเจ้าวิเทหราช แต่เบื้องหลังฉากที่สวยงามนั้นได้ซุกซ่อนแผนการอันร้ายกาจไว้ ยากนักที่ใครจะรู้ทัน เพราะแม้แต่ราชทูตของพระเจ้าวิเทหราชเอง ต่างก็เข้าใจไปว่า “พระเจ้าจุลนีคงจะไม่อาจระงับความปีติปราโมทย์ไว้ได้ ถึงกับแย้มพระโอษฐ์ออกมาให้ปรากฏ”

    พระเจ้าจุลนีทรงพระราชทานรางวัล ให้แก่ทูตเหล่านั้น พร้อมกับฝากพระราชสาสน์กลับไปถวายพระเจ้าวิเทหราชว่า “หม่อมฉันรู้สึกเป็นเกียรติเหลือเกินที่พระองค์เสด็จมาเยือนถึงที่นี่ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว ทรงนำความสุขสวัสดิมงคลมาสู่ปัญจาลนครของหม่อมฉัน ขอพระองค์ทรงประทับให้ทรงพระเกษมสำราญเถิด และอย่าได้ทรงกังวลพระทัยไปเลย บัดนี้หม่อมฉันพร้อมแล้วที่จะถวายพระราชธิดาแด่พระองค์ ขอเพียงพระองค์ทรงกำหนดฤกษ์ยามที่เหมาะสม เพื่อศุภวาระแห่งพระราชพิธีอาวาหมงคลในครั้งนี้เถิด”

    พระเจ้าวิเทหราชทรงทราบความประสงค์ของพระเจ้าจุลนีแล้ว ก็รับสั่งให้อำมาตย์ของตนคำนวณหาพระฤกษ์ทันที โดยมีพระกระแสรับสั่งว่า “ท่านอำมาตย์ ท่านจงหาฤกษ์งานมงคลอภิเษกโดยเร็ว จงตรวจดูฤกษ์งามยามดีที่ดีที่สุด เราจักรีบส่งไปถวายแด่พระเจ้าจุลนีโดยด่วน”

    อำมาตย์ผู้นั้น หยั่งถึงพระหทัยของพระราชาดีว่า ท้าวเธอทรงมีพระประสงค์อย่างไร ดังนั้น จึงมิได้ใส่ใจหลักวิชาคำนวณนักษัตรของตนเลย เพียงแต่ลงเลขผานาทีพอเป็นพิธี แล้วก็ทูลสนองท้าวเธอว่า “ยามนี้เป็นศุภฤกษ์มงคลดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
 
    เมื่อได้พระฤกษ์ตามที่ทรงพอพระทัยแล้ว พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงเร่งรัดวันอภิเษกสมรส โดยให้ทูตส่งพระราชสาสน์ไปทูลพระเจ้าจุลนีว่า “วันนี้แหละฤกษ์ดี ขอพระองค์จงส่งพระราชธิดามาเถิด”

    พระเจ้าจุลนีก็ทรงตรัสตอบกลับไปว่า “หม่อมฉันจะส่งไปเดี๋ยวนี้”
 
    จากนั้น ก็คอยถ่วงเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมของกองทัพทั้งหมด ในระหว่างที่พระเจ้าวิเทหราชทรงรอคอยอยู่นั้น พระเจ้าจุลนีทรงมีพระราชบัญชาให้เหล่าเสนาตระเตรียมกองทัพใหญ่ 18กองทัพ พร้อมกับให้สัญญาณแก่พระราชาทั้งร้อยเอ็ดพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลาย ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะร่วมใจกันเด็ดหัวศัตรูผู้ขลาดเขลา หากว่าทุกท่านพร้อมกันแล้ว ก็จงยกทัพออกไปในทันที เมื่อเผด็จศึกได้แล้ว เราถึงจะกลับมาดื่มฉลองชัยบานกันให้มโหฬารทีเดียว”
 
    สิ้นพระกระแสรับสั่งของพระเจ้าจุลนี กองทัพทั้งหมดก็เคลื่อนพลออกจากปัญจาลนครทันที ส่วนว่าเมื่อพระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็นกองทัพอันมหึมาของพระเจ้าจุลนีแล้ว จะทรงมีพระหทัยโสมนัสปีติยินดีกับการที่พระองค์ทรงตัดสินใจเสด็จมาในครั้งนี้ อีกหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita168.html
เมื่อ 5 พฤษภาคม 2567 04:12
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv