ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  สุวรรณสาม   ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี  ตอนที่ 6
 
 
        จากตอนที่แล้ว ทุกูลกุมารเมื่ออายุได้ 16 ปี ก็ถูกพ่อและแม่รบเร้าให้แต่งงาน แต่เขามิได้มีความปรารถนาในเรื่องกามราคะเลย เพราะก่อนมาเกิดเขามาจากพรหมโลก จึงมิได้ยินดีในเรื่องเช่นนั้น

        ฝ่ายปาริกาบุตรสาวของหัวหน้าพรานไพร ที่บ้านฝั่งตรงข้ามก็ถูกพ่อแม่รบเร้าให้แต่งงานกับทุกูลเช่นเดียวกัน แม้นางก็ไม่ต้องการครองเรือน ทั้งสองจึงแอบเขียนจดหมายถึงกัน บอกถึงความประสงค์ของตนว่า ไม่ต้องการแต่งงาน ถ้าอยากมีคู่ครองก็ขอให้เลือกคนอื่นเถิด อย่าเลือกฉันเลย

        แต่เพราะความเห็นชอบของบิดามารดาของทั้งสองฝ่าย เมื่อถึงวันกำหนด พิธีอาวาหมงคลของทั้งสองจึงถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมฐานะ ท่ามกลางความปรีดาปราโมทย์ของญาติมิตรทั้งสองฝ่าย
        แม้ทั้งคู่จะอยู่ในห้องเดียวกัน นอนร่วมบนเตียงเดียวกัน แต่ทั้งสองคนต่างอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง ประหนึ่งมหาพรหมผู้มีพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์สององค์อยู่ร่วมกันฉะนั้น

        เมื่อพิธีแต่งงานผ่านไปแล้ว นายพรานใหญ่ผู้เป็นบิดา ได้เคี่ยวเข็ญให้ทุกูลฝึกฝนวิธีการล่าสัตว์ แต่ก็ถูกเขาปฏิเสธเรื่อยมา นายพรานใหญ่จึงพูดกับบุตรชายว่า “ทุกูละ เจ้าเกิดในตระกูลพรานป่า   เจ้าก็ต้องเป็นนายพรานผู้เก่งกล้า แต่เจ้ากลับขลาดกลัว  อย่างนี้เจ้าจะครองเรือนได้อย่างไร” 

        เขาจึงตอบบิดาว่า“พ่อครับ ลูกมิได้ขลาดกลัวดังที่ท่านคิด แต่ลูกทำใจไม่ได้ที่จะคร่าเอาชีวิตของผู้อื่นเพื่อมาเลี้ยงชีวิตของตน   พ่อครับ..ชีวิตของใคร ใครก็รัก  เพียงแค่เราถูกเสี้ยนตำที่เท้า เราก็ยังรู้สึกเจ็บปวด ต้องรีบนำเสี้ยนนั้นออก สัตว์พวกนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากเรา มันก็รู้สึกหวาดกลัว รู้สึกเจ็บปวดเหมือนอย่างเรา ลูกสงสารพวกมัน ไม่อยากจะทำร้ายพวกมัน”

        “ลูกเอย มันเป็นวิถีโลก ต้นตระกูลพวกเรา นับแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ทำกันมาอย่างนี้ ไม่เห็นจะผิดจะชั่วที่ตรงไหน เจ้าเกิดในตระกูลของนายพรานที่ต้องล่าสัตว์ เลี้ยงชีวิตด้วยการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร หากเจ้าไม่ทำแล้วเจ้าจะทำอะไร”   

         “ลูกคงไม่อาจอยู่ครองเรือน ดำเนินชีวิตเช่นพรานทั้งหลายได้ พ่อครับ แม่ครับ หากท่านทั้งสองอนุญาต ลูกและปาริกาก็จะขอออกบวช ให้ลูกบวชเถอะนะ”
 
        บิดามารดาได้ฟังถ้อยคำของบุตรแล้วก็จนใจ นึกถึงอุปนิสัยของลูกที่ใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่เล็ก ไม่เห็นหนทางที่ลูกจะอยู่ครองเรือนอย่างคนทั้งหลายได้  จึงกล่าวอนุญาตอย่างจำยอมว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งสองก็จงออกบวชเถิด”

        ทั้งสองได้ยินบิดามารดากล่าวอนุญาตเช่นนี้แล้ว ก็ดีใจอย่างสุดประมาณ น้อมตนลงกราบขอบพระคุณบิดามารดาด้วยความซาบซึ้ง

        เมื่อร่ำลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงพากันเดินทางออกจากหมู่บ้าน มุ่งสู่หิมวันตประเทศ   ทั้งสองออกเดินทางรอนแรมไปบนเส้นทางคนเดิน ซึ่งลัดเลาะไปตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาโดยมีจุดหมายปลายทาง คือ หิมวันตประเทศ

        ครั้นเลาะเลียบไปตามเส้นทางนั้น จนกระทั่งมาถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำคงคากับแม่น้ำมิคสัมมตา (มิ-คะ-สัม-มะ-ตา) อันมีจุดกำเนิดมาจากหิมวันตประเทศ เขาทั้งสองจึงบ่ายหน้ามุ่งไปทางมิคสัมมตานที ที่มีน้ำใสไหลเย็น มีทิวป่าสองฝั่งที่สดเขียวให้ความสงบและชุ่มชื่นใจ

        ด้วยเดชแห่งศีลและพรหมจรรย์ของคนทั้งสอง ได้บันดาลให้ภพแห่งท้าวสักกะเกิดอาการเร่าร้อนขึ้น ท้าวสักกะเมื่อทรงใคร่ครวญดู ก็รู้ว่า บัดนี้ผู้มีบุญทั้งสองได้ละบิดามารดา เหล่าญาติมิตรทั้งหลาย บ่ายหน้าสู่หิมวันตประเทศเพื่อออกบวชแล้ว

        พระองค์จึงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา แล้วรับสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตรไปเนรมิตบรรณศาลาและบรรพชิตบริขารเพื่อบุคคลทั้งสอง 

        ฝ่ายวิสสุกรรมเทพบุตรเมื่อได้รับเทวบัญชาจากท้าวสักกะแล้ว จึงมายังโลกมนุษย์ ใช้เทพฤทธิ์บันดาลให้สัตว์ร้ายและนกที่ส่งเสียงร้องน่ากลัวให้ออกจากป่าแห่งนั้นไป   แล้วจึงเนรมิตบรรณศาลา ที่พักกลางวันและที่พักกลางคืน  ทางจงกรม และเครื่องบริขารของบรรพชิต แล้วก็จารึกอักษรไว้พร้อมสรรพว่า “ผู้ใดปรารถนาจะบวช ก็จงถือเอาเครื่องบริขารเหล่านี้บวชเถิด”

        จากนั้นได้เนรมิตหนทางเดินทอดยาวจากแม่น้ำมิคสัมมตา กระทั่งมาถึงบรรณศาลา

        ฝ่ายทุกูละและปาริกา ได้ลัดเลาะไปตามริมฝั่งของแม่น้ำมาเรื่อยๆ จนถึงหนทางที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ ทั้งสองจึงเดินไปตามเส้นทางนั้น

        ในที่สุดก็มาถึงอาศรม มองเห็นอักษรที่จารึกไว้ทั้งสองก็รู้ได้ทันทีว่า ท้าวสักกะเทวราชทรงประทานให้ จึงเข้าไปสำรวจภายในอาศรมบทนั้น  เมื่อได้เห็นบริขารที่จัดวางไว้อย่างดี ทุกูละจึงเปลื้องผ้าสาฎกออก แล้วนุ่งห่มผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดหนังเสือบนบ่า ผูกมณฑลชฎาทรงเพศเป็นฤษี  ส่วนนางปาริกานั้นก็นุ่งห่มบริขารแล้วบวชเป็นฤษิณีเช่นเดียวกัน
 

        นับแต่นั้นมา ฤษีทั้งสองได้บำเพ็ญภาวนาเจริญเมตตาจิต อยู่ภายในอาศรมบทนั้น      ด้วยอานุภาพแห่งกระแสเมตตาจิตอันบริสุทธิ์ ที่แผ่ครอบคลุมพื้นที่ป่าแห่งนั้นอยู่เนืองนิตย์ ได้บันดาลให้เหล่าสรรพสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งที่ดุร้ายและไม่ดุร้าย ให้กลับมีความเมตตาต่อกัน 
 
        แม้เป็นสัตว์ป่าจำพวกที่ดุร้าย กินเนื้อและเลือดของสัตว์อื่นเป็นอาหาร  เมื่อมันไล่กวดสัตว์อื่นเข้ามาในเขตที่กระแสเมตตาแผ่ไปถึง พวกมันก็จะให้อภัยมีไมตรีต่อกัน   อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

        เมื่อยามอรุโณทัยมาเยือน ปาริกาฤษิณีจะรีบลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้พร้อมสรรพ จัดเตรียมเครื่องบริโภคของขบฉัน แล้วจึงเก็บกวาดอาศรม
 
 

         เมื่อทำกิจทั้งปวงเสร็จสิ้น จนได้เวลาฉันแล้วปาริกาฤษิณจะนำผลไม้น้อยใหญ่ที่จัดเตรียมไว้ น้อมเข้าไปถวายทุกูลดาบส ส่วนตนนั้นก็ฉันผลาผลที่จัดเตรียมไว้ต่างหาก 
 
        เมื่อบริโภคอาหารขจัดความหิวกระหายแล้ว ฤษีทั้งสองก็เข้าสู่บรรณศาลาเพื่อเจริญสมณธรรม ยังเวลาให้ล่วงไป ด้วยการนั่งสมาธิเจริญเมตตาจิต  ดาบสทั้งสองได้เสพสุขที่เกิดจากความสงบเสมอมา แต่ชีวิตในป่าของบัณฑิตทั้งสองจะราบรื่นอีกนานแค่ไหนนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/suwannasam06.html
เมื่อ 18 พฤษภาคม 2567 00:45
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv