ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  สุวรรณสาม   ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี  ตอนที่ 9
 

        จากตอนที่แล้ว สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาผู้ให้กำเนิด และนางกินรีผู้ประดุจนางนมเป็นอย่างดี จนกระทั่งเจริญวัย โตเป็นหนุ่มน้อยมีอายุได้ 16 ปี   
 
        อยู่มาวันหนึ่ง สองฤษีผู้เป็นบิดามารดาได้ไปป่าไปหาผลไม้ ในตอนบ่ายใกล้ค่ำ ขณะที่ทั้งสองกำลังเดินทางกลับ ได้เกิดพายุฝนโหมพัดผืนป่า สายฝนตกลงมาประหนึ่งฟ้ารั่ว    ทั้งสองได้พากันไปยืนหลบฝนอยู่บนจอมปลวกใหญ่ภายใต้ร่มไม้ น้ำฝนปนเหงื่อไคลของฤษีทั้งสองได้ไหลลงสู่ช่องจอมปลวก แล้วไหลเข้าช่องจมูกของอสรพิษร้ายตัวหนึ่งภายในจอมปลวกนั้น กลิ่นเหงื่อไคลของสองฤษีทำให้มันโกรธมาก มันจึงพ่นลมพิษออกมาทางช่องจมูก  ลมพิษนั้นได้ฟุ้งเข้าตาของฤษีทั้งสอง ทำให้ดวงตาทั้งสองของฤษีและฤษิณีบอดสนิท ทุกูลฤษีจึงร้องบอกฤษิณีว่า  ตาของฉันมองไม่เห็นอะไรเลย เธอเป็นอย่างไรบ้าง  แม้ฤษิณีก็ร้องบอกฤษีว่าฉันก็มองไม่เห็นเหมือนกัน ทั้งสองท่านจึงยืนร้องไห้อยู่อย่างน่าสงสารในป่าอันมืดมิดแห่งนั้น

        เหตุที่ฤษีทั้งสองต้องมาตาบอดทั้งสองข้างเช่นนี้ ก็เป็นเพราะวิบากกรรมในอดีตชาติ  ซึ่งได้เคยเป็นหมอรักษาคนไข้ ได้รักษาดวงตาของคนไข้ที่มีสายตาพิการจนหายมองเห็นเป็นปกติ แต่คนไข้กลับเบี้ยวค่ารักษาเพราะเสียดายทรัพย์ เขาจึงโกรธ ได้วางแผนกับภรรยาปรุงยาพิษหยอดตาคนไข้รายนั้นจนเขาตาบอดทั้งสองข้าง

        กล่าวถึงพระโพธิสัตว์สุวรรณสาม เมื่อฝนฟ้าแปรปรวนเช่นนั้น ก็เกิดความกังวล เป็นห่วงบิดามารดาทั้งสอง ได้แต่เฝ้ารอการกลับมาของบิดามารดาของตน คอยมองดูหนทางครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ว่าจะรอนานเพียงใดก็ไม่เห็นวี่แววว่าท่านทั้งสองจะกลับมา

        ครั้นเห็นผิดเวลาไปมาก สุวรรณสามโพธิสัตว์จึงไม่รอช้า รีบออกเดินทางตามหาฤษีทั้งสองโดยมิได้นึกหวาดกลัวในภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

        พระโพธิสัตว์เดินมุ่งสู่เส้นทางที่ฤษีทั้งสองเดินไปสู่ป่า สองเท้าก้าวเดินไป ปากก็พร่ำร้องเรียกหาบิดามารดาไปพร้อมๆกัน จนมาถึงสถานที่ที่ฤษีทั้งสองกำลังยืนหนาวสั่นอยู่

        ฝ่ายทุกูลฤษีและปาริกาฤษิณีเมื่อได้ยินเสียงของบุตรชายก็จำได้ จึงร้องตะโกนขานรับไปด้วยความยินดี

        ครั้นได้ยินเสียงของบิดามารดาแล้วสุวรรณสามพระโพธิสัตว์ดีใจอย่างสุดประมาณรีบวิ่งเข้าไปหาบุพการีทั้งสอง

        แต่มารดาได้ร้องห้ามด้วยความรักบุตรว่า “ลูก.. ลูกจงหยุดก่อน อย่ารีบเข้ามา ตรงนี้มีอันตราย”

        สุวรรณสามพระโพธิสัตว์ จึงร้องถามบิดามารดาว่า “เกิดอะไรขึ้นหรือครับ พ่อกับแม่จึงได้มายืนอยู่อย่างนี้”

        ฤษีทั้งสองจึงได้เล่าให้กับบุตรชายฟังว่า “ลูกรัก เมื่อตอนที่ฝนตก พ่อกับแม่ยืนหลบฝนอยู่บนจอมปลวกนี้  แล้วจู่ๆ ดวงตาของพ่อกับแม่ก็มองไม่เห็นไปเสียอย่างนั้น”

        พระโพธิสัตว์ได้สดับคำบอกเล่าจากบิดามารดาเพียงเท่านี้ ก็รู้ได้ทันทีว่า มีอสรพิษร้ายอาศัยอยู่ในจอมปลวกเป็นแน่ มันคงจะขัดเคืองใจอะไรสักอย่างจึงได้พ่นลมพิษออกมาทำลายดวงตาของท่านทั้งสองเช่นนี้ 

        เมื่อเห็นสภาพอันน่าเวทนาของบิดามารดาแล้ว พระโพธิสัตว์ก็บังเกิดความสงสารเป็นกำลัง ได้คิดหาวิธีที่จะพาท่านทั้งสองออกจากบริเวณนั้นให้ได้  จึงรีบไปหาไม้ที่มีความยาวกะว่าว่าให้พ้นภัยจากพิษร้ายของอสรพิษ แล้วนำมาให้บิดามารดาจับที่ปลาย ส่วนตนจับที่หัวไม้เท้า     แล้วบอกกับท่านทั้งสองว่า  “พ่อกับแม่ จงจับที่ปลายไม้เท้านี้เถิด ลูกจะนำท่านทั้งสองออกจากที่นี้กลับสู่อาศรมของเรา”

        เมื่อกล่าวดังนี้แล้วจึงยื่นปลายไม้ให้บิดาจับที่ปลายไม้ แล้วพระโพธิสัตว์ก็ได้พาบิดามารดาของตนออกมาจากบริเวณจอมปลวกแห่งนั้น

        สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้ขอตรวจดูดวงตาของบิดามารดาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็เห็นว่า บัดนี้ดวงตาของท่านทั้งสองบอดสนิทเสียแล้ว คงไม่สามารถกลับมามองเห็นได้อีก

        เกิดความสงสารขึ้นมาจับใจ ถึงกับร้องไห้  ..แต่ครั้นแล้วก็กลับหัวเราะออกมาทั้งน้ำตาในภายหลัง  

        ฝ่ายฤษีทั้งสองได้ยินเสียงบุตรผิดแปลกไปเช่นนั้นจึงถามว่า “ลูกรัก เหตุใด เจ้าจึงร้องไห้ แล้วกลับหัวเราะเช่นนี้”

        พระโพธิสัตว์ได้ตอบบิดามารดาว่า “ท่านพ่อท่านแม่ ที่ลูกร้องไห้ ก็เพราะเสียใจที่รู้ว่าดวงตาของท่านทั้งสอง ได้บอดเสียในเวลาที่ลูกก็ยังเป็นเด็กอยู่  ...แต่ที่ลูกหัวเราะก็ด้วยดีใจว่า เป็นโอกาสของลูกที่จะได้ปรนนิบัติดูแลพ่อกับแม่ได้เต็มที่ ขอท่านทั้งสอง โปรดวางใจเถิด นับแต่นี้ไป ลูกจะเป็นคนหาเลี้ยง จะคอยดูแลท่านทั้งสองให้ผาสุกเอง” 

        พระโพธิสัตว์ปลอบโยนบิดามารดาของตนจนท่านทั้งสองคลายความกังวลแล้ว จึงค่อยๆประคับประคองพาท่านทั้งสองกลับสู่อาศรมบทได้อย่างปลอดภัย

        สุวรรณสามโพธิสัตว์มีความยินดียิ่งนัก ที่ตนจะได้แทนคุณแด่บุพการีผู้ให้กำเนิด ได้คิดหาวิธีที่จะมิให้บิดามารดาต้องลำบากในเรื่องการดำรงชีวิต จึงนำเอาเชือกมาผูกเป็นราวจับ ผูกโยงไปยังสถานที่ต่างๆภายในอาศรม    ระหว่างที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน โยงไปสู่ที่จงกรม เชื่อมโยงไปยังบรรณศาลา แม้กระทั่งสถานที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ พระโพธิสัตว์ก็นำเชือกมาผูกเป็นราวที่มั่นคง เพื่อให้ฤษีผู้ตาบอดทั้งสองจับราวเพื่อพยุงตัว แล้วเดินไปยังสถานที่ต่างๆได้โดยสะดวกและปลอดภัย 

        เราจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ทั้งดีและร้ายที่เกิดขึ้น บุคคลผู้มีปัญญาย่อมมองเห็นได้ทั้งสองด้าน ทั้งด้านได้และเสีย บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อประสบความยากลำบาก ถ้าจะยอมทุกข์ใจก็เพียงชั่วคราว เพราะรู้ว่า แม้จะร้องไห้จนน้ำตาแห้งก็ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น   แต่จะรีบปรับใจให้คลายหมองเศร้า แล้วมองหาประโยชน์ที่จะได้จากเหตุการณ์นั้น ว่าตนจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น แล้วรีบสั่งสมบุญสร้างบารมีต่อไป

        นี้คืออุปนิสัยของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ที่เราควรดำเนินรอยตาม ดั่งเช่นสุวรรณสามโพธิสัตว์ในบัดนี้ ซึ่งกำลังมองหาวิธีปรนนิบัติท่านทั้งสองให้ได้รับความสะดวกสบาย ส่วนว่าท่านจะทำอย่างไรต่อนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/suwannasam09.html
เมื่อ 21 พฤษภาคม 2567 10:12
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv