เจาะข่าวเด่น ประเด็นใส ทั่วโลกรวมใจ วันวิสาขบูชา
ตอน...ประทีปธรรม ส่องสว่างบรมพุทโธ

กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง  
 
     ดิฉัน ดวิยาน่า นามสกุล วะยุดี อายุ 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาอัพมาจายา แห่งอินโดนีเซีย คณะจิตวิทยา ปี 3  ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครช่วยงานแปลเป็นล่ามด้านการเทศน์ให้กับพระอาจารย์ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาอินโดนีเซีย ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม ประเทศอินโดนีเซีย วันนี้ขอทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว DNN รายงานข่าวสว่างดังนี้ค่ะ
 
     ปีนี้ ทางวัดพระธรรมกายได้รับโอกาสเดินทางไปร่วมจัดงานวันวิสาขบูชา ณ บรมพุทโธ ซึ่งถือเป็นพุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ โดยมีเจ้าภาพหลักคือ สมาคมพุทธศาสนาอินโดนีเซียหรือวาลูบี้ จากการสนับสนุนของท่านประธานาธิบดี ที่ตั้งใจมาร่วมงานนี้ด้วยตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมอันดับ 1 ของโลก หรือมีประชากรที่เป็นมุสลิมมากที่สุดในโลกแม้ไม่ได้ประกาศว่าเป็นรัฐมุสลิม แต่สนับสนุนการจัดงานวันวิสาขบูชาให้แก่ชาวพุทธที่มีสัดส่วนประมาณ 1 %  อย่างเต็มที่และรัฐบาลประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดแห่งชาตีอีกด้วย
 
     การจัดงานครั้งนี้ เป็นงานประจำปี 2553 (มากกว่าประเทศไทย 1 ปี เพราะอินโดนีเซียเริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเลยแต่ของเมืองไทยนับหลังจากนั้น1ปี) รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดกิจกรรมพิเศษ โดยเชิญประเทศกลุ่มอาเซียนมาแสดงนาฏศิลป์และกำหนดหัวเรื่องชื่อ Trial of civilization (ไทร-อัล ออฟ ซิวิไลซ์เซชั่น) หรือร่องรอยอารยธรรม แต่ละประเทศจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมของตนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นที่น่าสนใจ  ทั้งกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ล้วนประกาศความสำคัญของพุทธศาสนาว่าเป็นรากฐานอารยธรรมของตน แม้แต่อินโดนีเซียก็ยังยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างจริยธรรมในประเทศของตน โดยยังมีการใช้ศัพท์หลายคำที่เป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น อุตระ หมายถึงทิศเหนือ , สวามี หมายถึง สามี , นาม หมายถึงชื่อ เป็นต้น
 
     คณะทำงานได้เห็นอัธยาศัยของชาวอินโดนีเซียว่าให้ความเป็นมิตรต่อชาวพุทธมาก เราแทบจะแยกไม่ออกว่าคนในประเทศนี้ใครนับถือศาสนาไหน เพราะส่วนใหญ่ผู้ชายจะไว้หนวดบางๆ  ผู้หญิงไม่ได้คลุมศรีษะ คณะของเราไปถึงไหนก็จะได้รับรอยยิ้มจากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนถึงกับยกมือไหว้  
 
     งานนี้เริ่มพิธีที่วัดเมินดุด ซึ่งห่างจากบรมพุทธโธ ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งมีตัวแทนพระภิกษุจากทุกนิกายทั่วอินโดนีเซีย 23 รูปมาสวดมนต์ คณะของเราซึ่งเป็นกลุ่มพระนานาชาติ เมื่อไปถึงก็ถูกจัดให้นั่งแถวหน้าสุด  และกลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนทันที ด้วยกิริอาการที่สงบ สีจีวรที่สว่างไสว แปลกตาสำหรับพวกเขา   ช่างภาพหลายสิบคน ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายรูปพระภิกษุอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะสวดมนต์ นั่งสมาธิ แม้ตอนฉันหรือแม้แต่เดินไปเข้าห้องน้ำ ช่างภาพบางคนยังตามไปถ่าย จนพระต้องบอกว่า enough (อีนาฟ) แปลว่า พอแล้ว
 
 
แม้ฝนจะตก  แต่ขบวนพุทธธรรมยังเดินหน้า ท่ามกลางศรัทธามหาชน
 
     จากนั้น เราออกเดินทางจากเมินดุดไปบรมพุทโธ แม้ฝนจะตกหนักตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่หมาย แต่สองข้างทางจะเห็นชาวท้องถิ่นแน่นขนัด คอยชื่นชมขบวนชาวพุทธจากวัดต่างๆ หลายนิกาย ด้วยสายตาที่ชื่นชมศรัทธา 
 
 
พุทธบุตรหลากนิกายแต่รวมใจเข้าด้วยกัน
 
 
ช่างกล้องมุ่งความสนใจมาที่พระภิกษุ
 
     พวกเราจัดพิธีจุดโคมกันที่หลังบรมพุทโธ โดยที่ด้านขวาของบรมพุทโธนั้นจะเป็นปรัมพิธีใหญ่ แสดงพุทธประวัติ ตอนต่างๆของพระพุทธเจ้า  ขณะที่พวกเราเริ่มวางโคม นักข่าวแทนที่จะไปเก็บภาพการแสดง แต่กลับมาจับภาพของเรา จับจองที่ไม่หนีไปไหน จนเวลา 21.30น. สื่อมวลชนก็แห่กันมาร่วมงานกับเรา คอยเก็บภาพอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกใจที่เช้าวันรุ่งขึ้น กว่าครึ่งหนึ่งของหนังสือพิมพ์จะมีภาพของเราลงในหน้าแรก  ภาพแห่งผ้ากาสาวพัตร์ที่เคยโบกสะบัดบนแผ่นดินนี้เมื่อพันกว่าปีก่อนได้กลับคืนมาอีกครั้ง 
 
 
บรรยากาศกลางโคมประทีป
 
 
ประทีปและโคมลอย ณ เบื้องหน้าบุโรพุทโธ
 
 
ร่วมกันเวียนประทักษิณรอบมหาเจดีย์
 
  
หนังสือพิมพ์อินโดนีเซีย  นำภาพโคมลอยมาเสนอเป็นข่าวใหญ่หน้าแรก
 
 
ในวันรุ่งขึ้น ได้รับความสนใจจากชาวอินโดนีเซียอ่านหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวหน้าหนึ่ง
 
      งานนี้ เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากอาสาสมัครท้องถิ่นที่เป็นทั้งชาวพุทธและมุสลิม ได้มีนักศึกษาชมรมพุทธทั่วประเทศเดินทางมาร่วมงาน เมื่อได้ฟังคำเชิญชวนจากพระอาจารย์ว่า help me, help me หรือ I need your help เด็กๆจะเริ่มเข้ามาช่วย  พอผ่านไปสักพัก พระอาจารย์จะเปลี่ยนคำเรียกอาสาสมัครเหล่านี้เป็น My son หรือ My child บรรยากาศการจัดงานจึงอบอุ่นยิ่ง  หลายคนอยู่ช่วยเก็บงานจนเสร็จ  บางคนถึงกับยอมตกรถเพื่อช่วยงานของเราให้เรียบร้อย แล้วยอมเดินกลับที่พักแม้จะมีระยะทางไกลหลายกิโลเมตร  แต่ในใจของเขาย่อมมีความปลื้มปิติกับเหตุการณ์ที่เกิดได้ยากยิ่งบนแผ่นดินของเขา และที่สำคัญที่สุด เขาได้ใช้เรี่ยวแรง สติปัญญา สองมือ และหัวใจ ช่วยเป็นส่วนหนึ่งทำให้ภาพงานนี้สำเร็จลงได้
 
     3 วันในอินโดนีเซีย ทำให้เราเห็นศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานะเป็นพี่ใหญ่ของโลกมุสลิม ซึ่งได้ประกาศให้โลกเห็นว่า ศาสนาและความเชื่อที่แตกต่าง สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ขอเพียงเปิดใจ รับรู้ความดีซึ่งกันและกัน โลกของเราก็จะเกิดสันติภาพและสันติสุขที่แท้จริง
 
 
ดวิยาน่า นามสกุล วะยุดี อายุ 20 ปี  ผู้สื่อข่าว DNN
ศูนย์ปฏิบัติธรรมประเทศอินโดนีเซีย

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/latest_update/ประทีปธรรม ส่องสว่างบรมพุทโธ.html
เมื่อ 7 มิถุนายน 2567 06:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv