ทบทวนฝันในฝัน วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ช่วงที่ 2
 
 
 
พิธีจุดโคมวิสาขประทีปเป็นพุทธบูชา ครั้งแรก
ณ ดินแดนพุทธภูมิ
เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
 
 
        นับเป็นครั้งแรกที่ต้องจารึกไว้ ถึงการจัดงานลอยโคมวิสาขประทีปเป็นพุทธบูชา ซึ่งมีเจ้าภาพหลักในการจัดงาน คือ มูลนิธิกัลป์ปานาสาโรช และกลุ่มมหาวิทยาลัยปริกัมมะ ตั้งแต่ทีมงานลูกพระธัมฯจากเมืองไทย ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา เดินทางถึงสนามบินเมืองมุมไบ ทีมงานก็ได้พบกับอุณหภูมิเกือบ 40องศาเซลเซียส ท่ามกลางแดดร้อนจัด แต่ทุกคนก็ไม่ย่อท้อ นั่งรถต่อไปอีกหกชั่วโมง พร้อมทิวทัศน์สองข้างก็โรแมนติกไปด้วยไร่องุ่น ไร่แตงโม ไร่ข้าวโพด สวนกล้วยหอม เมื่อมาถึงพื้นที่จัดงาน คือ มหาวิทยาลัยปริกัมมะ คุณวิกรม พัชพูติ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย หนุ่มไฟแรงที่มีจิตใจสูงส่งพร้อมครอบครัว ได้ช่วยดูแลความเป็นอยู่ของทีมงานอย่างดี
 
        ทุกวัน ทีมงานก็จะได้พบกับความประหลาดใจ และความประทับใจในภูมิปัญญาชาวบ้านแบบอินเดียของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และชาวบ้าน ที่มาช่วยงานกันอย่างไม่กลัวแดดกลัวร้อน เช่น การทำถนนเข้ามหาวิทยาลัยใหม่เพื่อต้อนรับงานนี้ ด้วยการทุบหินจากก้อนใหญ่เป็นก้อนเล็ก แล้วนำมาปูเรียงเคียงกันเป็นถนน ซึ่งวิธีนี้ทำกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล การก่อสร้างก็จะใช้กำลังคนขนหินมาสร้างถนน รถที่มีอยู่ก็ไม่ใช้ ขอใช้ร่างกายตัวเองดีกว่า วิธีการขนนั้นก็มีเทคนิคพิเศษ โดยสาวๆอินเดียจะนำก้อนหินวางบนภาชนะคล้ายกะละมังที่ทำด้วยเหล็ก แล้วขนย้ายด้วยการทูนบนหัว เชื่อว่าการทำแบบเช่นนี้ ช่วยให้เส้นไม่ติด สรีระไม่เสียสมดุล และเดินได้ตัวตรงแบบนางงาม เรียกได้ว่า เป็นการทำถนนแบบ Head made road หรือแปลว่า เศียรสร้างถนน เลยก็ว่าได้ แต่ละวัน จะมีอาสาสมัครกว่าร้อยชีวิตทั้งชาวพุทธและชาวฮินดู ตากแดดตากลมช่วยกันจัดพื้นที่อย่างตั้งอกตั้งใจ ทำให้กิจกรรมวิสาขบูชาครั้งนี้เป็นไฮไลท์ในหัวใจของทุกคนที่นี่ไปแล้ว
 
 
สาวๆอินเดียในชุดส่าหรี ช่วยกันทำถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยปริกัมมะ
แบบ Head made road (เศียรสร้างถนน) 
 
 
ภูมิปัญญาอีกรูปแบบหนึ่งที่ประเทศอินเดีย
ไม่ใช้ตะปู มีแต่เชือกปอสารพัดประโยชน์ ใช้มัดเวที ใช้มัดเสารั้วเป็นแนวเขต เป็นต้น
และวิธีการตัดเชือก ก็ใช้หินทุบกับหินเพื่อใช้เชือกขาด ไม่ต้องใช้กรรไกรหรือมีดตัด
 
 
อาจารย์หลายท่านก็สละเวลามาช่วยกันตัดไม้เสาโคมด้วย
 
 
รวมพลังอาจารย์ผู้ชาย และอาจารย์ผู้หญิงในชุดส่าหรี
แห่งมหาวิทยาลัยปริกัมมะ มาช่วยเตรียมพื้นที่อย่างไม่กลัวแดดร้อนกันเลย
 
 
อาสาสมัครชาวอินเดียช่วยกันทำแนวสนามเตรียมพื้นที่อย่างชำนาญ
 
        แม้ชาวพุทธที่อยู่ต่างหมู่บ้าน พอได้ยินข่าวว่ามีพระสงฆ์มา ก็ขับรถมอเตอร์ไซค์ มาขอพรพระ และถวายกล้วยแด่พระภิกษุ พร้อมกับก้มกราบลงกับพื้นดินอย่างไม่เกรงกลัวชุดขาวที่ใส่มาจะเปื้อนเลย
 
 
ชาวพุทธคู่บุญคู่หนึ่งนั่งรถมอเตอร์ไซค์มาจากอีกหมู่บ้าน
 
 
ศรัทธาของชาวพุทธประเทศอินเดีย
เมื่อทราบข่าวว่ามีพระภิกษุมาจากเมืองไทย
 
        กิจกรรมงานลอยโคมครั้งนี้ ได้รับการประชาสัมพันธ์จากบิดาของคุณวิกรม คือ คุณบาบันเรา พัชพูติ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีสวัสดิการชาวเผ่าของรัฐมหารัชตะ ช่วยระดมอาสาสมัครด้วยตนเอง กระทั่งมีข่าวลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
 
 
การประชาสัมพันธ์ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ประเทศอินเดีย
 
 
รถประชาสัมพันธ์คันน้อยออกลุยพื้นที่ประกาศแจ้งข่าวสว่างทุกวัน
 
       แต่ละวัน พระอาจารย์ก็จะเทศน์สอนให้ธรรมะ สอนเรื่องวัฒนธรรมชาวพุทธ การปัดกวาดเช็ดถู แนะนำการนั่งสมาธิ เพื่อปลูกฝังสัมมาทิฐิ จนกระทั่งนักศึกษาเริ่มจัดรองเท้าได้เป็นระเบียบ เริ่มกราบพระเป็น หยุดพูดเมื่อหลับตาทำสมาธิ และตั้งใจมาช่วยงานเตรียมพื้นที่ แม้จะอยู่ในระหว่างการอ่านหนังสือสอบก็ตาม ทุกคนดีใจที่องค์พระธรรมกายลักษณะมหาบุรุษได้มาถึงดินแดนพุทธภูมิแล้ว
 
 
นักศึกษามหาวิทยาลัยก็ยังมาช่วยงาน แม้จะเป็นช่วงสอบก็ไม่หวั่น
 
 
นักศึกษานั่งแยกชายหญิงโดยอัตโนมัติ และฝึกกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์
 
 
ประชุมอาสาสมัครที่เมืองคาสตี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิสาขบูชา
 
        อาสาสมัครท่านหนึ่ง คือ คุณวิศาล ซากัด เป็นผู้ช่วยด้านชุมชนสัมพันธ์และการเงินของมหาวิทยาลัยปริกัมมะ ได้อุทิศตนขออุปัฏฐากพระทุกวัน ขอมาสวดมนต์นั่งสมาธิกับทีมงาน คุณวิศาลบอกว่า นั่งสมาธิแล้วรู้สึกตัวโล่งโปร่งเบาสบายมาก และมักชอบไต่ถามว่า อะไรคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อะไรคือข้อปฏิบัติของพระภิกษุ สิ่งที่ชาวพุทธควรจะรู้คืออะไร และเมื่อคืนก่อนได้มาขออาราธนาศีล และสนใจอยากมาบวชที่วัดพระธรรมกายอีกด้วย อีกทั้งเมื่อวานนี้ ผู้จัดการหอพักนักศึกษา ได้มาขอนั่งสมาธิด้วย และกล่าวว่า “ไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อนเลยในชีวิต รู้สึกว่าตัวหาย เห็นดวงดาวสว่างที่กลางท้อง มีความสุขมาก”
 
 
คุณวิศาล ซากัด
 
        ถึงแม้ว่าแต่ละวัน ทีมงานจะพบกับอุปสรรคใหม่ๆตลอด ไม่ว่าจะเป็นแดด ลมร้อน พายุฝุ่น ลมฝน แต่ด้วยเบื้องหลังพลังโรตีและแกงกะหรี่ ทำให้ทีมงานสามารถสู้ภัยธรรมชาติทุกรูปแบบได้อย่างสบาย และมีความสุขกับการรับบุญเตรียมงานจุดวิสาขประทีปครั้งแรก ณ ดินแดนพุทธภูมิ อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ด้วยความปีติเบิกบานกันทุกคน
 
 
ทีมงานอาสาสมัครถ่ายรูปร่วมกับพระอาจารย์
 
 
ภาพมุมสูงพื้นที่จัดงาน
 
 
อาทิตย์อัสดงที่ มหาวิทยาลัยปริกัมมะ
สถานที่จัดงานวันวิสาขบูชา ณ เมืองคาสตี้ ประเทศอินเดีย
 
 
ชม Video Scoop พิธีจุดโคมวิสาขประทีปเป็นพุทธบูชา ครั้งแรก ณ ดินแดนพุทธภูมิ
 

มีปัญหาการรับชมวิดีโอ กรุณากดที่นี่ เพื่อใช้เครื่องเล่นแบบเก่า window media player
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/latest_update/20100525_2SPE1.html
เมื่อ 4 พฤษภาคม 2567 17:43
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv