กุศลกรรมบถ 10 ประการ
 
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

“อกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ เป็นความไม่สะอาดด้วย เป็นตัวการที่ทำให้ไม่สะอาดด้วย
ดูก่อนจุนทะ ก็เพราะมนุษย์ประกอบอกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ นรกจึงปรากฏ
กำเนิดเดียรัจฉานจึงปรากฏ เปตวิสัยจึงปรากฏ หรือว่าทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงปรากฏมีขึ้น” (จุนทสูตร)
 
กุศลกรรมบถ 10 ประการ

      ภพภูมิต่าง ๆ ที่บังเกิดขึ้นมาในสังสารวัฏ เช่น นิรยภูมิ เปตวิสัย อสุรกาย และภูมิของสัตว์เดียรัจฉาน อบายภูมิเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ที่มีกาย วาจา และใจไม่บริสุทธิ์มีไว้เพื่อลงโทษมนุษย์ที่ประพฤติผิดจากทำนองคลองธรรม เป็นการขังสัตว์เอาไว้ ไม่ให้หลุดจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไปได้ ซึ่งจะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจแสนสาหัสต่างจากคุกหรือกรงขังในโลกมนุษย์มากมายหลายเท่านัก ภพภูมิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในสังสารวัฏนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุคติหรือทุคติภูมิ ต่างเป็นสิ่งที่มารองรับผลแห่งกรรมที่ทำเอาไว้ในสมัยเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอย ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผลในตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรามาดูกันว่า มนุษย์ได้ทำบาปอกุศลหรือประพฤติผิดจากทำนองคลองธรรมอย่างไรบ้างจึงมีอบายภูมิหรือทุคติภูมิบังเกิดขึ้น เพื่อรองรับชีวิตหลังความตายของมนุษย์

      ก่อนพุทธปรินิพพาน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ใกล้เมืองปาวา พระบรมศาสดาตรัสสนทนากับนายจุนทะ ซึ่งกำลังอุปัฏฐากพระองค์ว่า “ดูก่อนจุนทะ ในโลกนี้ ท่านชอบใจความสะอาดของใครหนอ” นายจุนทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟลงอาบน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดไว้และได้ชักชวนสาวกว่า มาเถิดท่านผู้เจริญท่านลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ พึงจับต้องแผ่นดิน ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน พึงจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด ก็ให้จับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด ก็ให้บำเรอไฟ หากไม่บำเรอไฟ ก็ให้ทำการประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ให้ลงอาบน้ำวันละ 3 ครั้ง ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนั้น พระเจ้าข้า”

      พระบรมศาสดาทรงทราบว่า นายจุนทะยังไม่เข้าใจเรื่องความสะอาดทางกาย วาจา และใจ ตามหลักของผู้รู้ ด้วยพระมหากรุณาจึงตรัสสอนว่า “ดูก่อนจุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิพากันบัญญัติความสะอาดเป็นอย่างอื่น ส่วนความสะอาดในวินัยของพระอริยะเป็นอีกอย่างหนึ่ง” แล้วพระพุทธองค์ทรงอธิบายว่า “ตราบใดที่มนุษย์ยังประพฤติผิดทางกาย วาจา และใจประพฤติผิดไปจากกุศลกรรมบถ 10 ประการคือยังยินดีในการฆ่าสัตว์ ลักขโมย ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความโลภคิดอยากได้ของคนอื่น มีจิตพยาบาท และเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรมแม้จะลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ แล้วจับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะบำเรอไฟหรือไม่ได้บำเรอไฟ ก็ยังถือว่าเป็นผู้ไม่สะอาดการประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ก็ไม่ใช่เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือจะลงอาบน้ำวันละ 3 ครั้ง ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้สะอาดอย่างแท้จริง”

      อกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ เป็นของไม่สะอาด อีกทั้งยังเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์ไม่สะอาด การที่โลกมนุษย์ของเราเกิดภาวะวิกฤต มีปัญหาสงคราม หรือดินฟ้าอากาศวิปริตไปจากเดิม ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์ทีประพฤติผิดศีลผิดธรรม เมื่อมีการรบราฆ่าฟันกันทำให้ต้องหลบหลีกลี้ภัยเอาตัวรอด ต้องสะดุ้งหวาดกลัวอยู่เป็นนิจ หาความเย็นกายสบายใจได้ยาก เป็นเหมือนกับการจำลองอบายภูมิย่อม ๆ มาไว้ในโลกมนุษย์ เมื่ออกุศลกรรมบถหนาแน่นมากขึ้น ทุคติภูมิอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะบังเกิดขึ้นตอนนี้
 

ความสะอาดในอริยวินัย

     พระองค์ทรงบัญญัติ ความสะอาดทางกาย ในอริยวินัยว่า ใครก็ตามที่ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ละการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ มิได้ให้ด้วยจิตคิดขโมย ละการประพฤติผิดในกาม ไม่เจ้าชู้ ยินดีในคู่ครองของตัวเองเท่านั้นไม่ประพฤติล่วงละเมิดในบุรุษหรือสตรีที่มีเจ้าของ ผู้ที่ควบคุมกายตัวเองไม่ให้ไปกระทบใครได้อย่างนี้ ชื่อว่ามีกายบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

     ความสะอาดทางวาจา มี 4 อย่าง คือ ละการพูดเท็จ ไม่เป้นผู้กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้ เพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ละคำส่อเสียด คือฟังความข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังความข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น แต่เป็นคนสมานความแตกร้าว ส่งเสริมคนให้พร้อมเพรียงกันและตัวเองก็กล่าวแต่วาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ละคำหยาบ กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ ชวนให้ปฏิบัติตาม เป็นวาจาของชาวเมือง คือ มีความไพเราะ น่าฟัง ไม่หยาบกระด้าง ไม่ทำให้ขุ่นเคืองใจ ละคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง ถ้อยคำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ประกอบด้วยประโยชน์ และพูดถูกกาล นี้เป็นลักษณะของผู้ที่มีความสะอาดทางวาจาอย่างแท้จริง
 

      ส่วน ความสะอาดทางใจ มี 3 อย่างด้วยกัน คือ การที่บุคคลฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดปองร้ายใคร มีความเห็นชอบ ว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การบูชาบุคคลผู้ควรบูชามีผล ผลวิบากของกรรมที่คนทดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้โลกหน้ามีจริงมารดาบิดามีคุณจริง สัตว์ผู้เป็นโอปปาติกะมีจริงสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่น ให้รู้ตามมีอยู่จริงๆ นี้คือ ลักษณะของผู้มีความสะอาดทางใจ

     เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ ถึงแม้จะไม่ได้บำเรอไฟ ไม่ได้อาบน้ำวันละหลายหน ไม่ได้วันทาพระอาทิตย์วันละหลายรอบ ก็ได้ชื่อว่าผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพราะว่ากุศลกรรมบถนี้ เป็นธรรมที่ทำให้มนุษย์มีความสะอาด ผู้บำเพ็ญกุศลกรรมบถครบถ้วน ได้ชื่อว่า เป็น มนุสสเทโว คือ เป็นเหมือนเทวดาในร่างมนุษย์ ชีวิตหลังความตายจึงมีสุคติภูมิที่น่ารื่นรมย์มารองรับบุคคลนั้น บางท่านก็ได้โอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อสร้างบุญบารมีอีกครั้ง จนสามารถหมดกิเลส มีพระนิพพานเป็นที่ไป คือไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีกต่อไป

โลกเปลี่ยนไปเพราะใจมนุษย์แปรปรวน

 
     ท่านสาธุชนทั้งหลาย โลกมนุษย์นี้เป็นชุมทางของการสั่งสมบุญและบาป ส่วนภพภูมิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุคติหรือทุคติ เป็นเพียงผลที่มารองรับการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้นเป็นผลที่เกิดจากความสะอาดและไม่สะอาดทางกาย วาจา ใจ โลกจะฟูขึ้นหรือยุบลง เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง วัฒนะหรือหายนะ ก็เพราะการประพฤติกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ อีกทั้งความสั้นยาวของอายุขัยมนุษย์ก็ยังขึ้นอยู่กับกุศลกรรมบถเป็นตัวแปรสำคัญอีกด้วย ดังนั้น หากต้องการมีอายุขัยยืนยาว ต้องการให้โลกใบนี้ร่มเย็นเป็นสุข และมีสุคติภูมิมารองรับชีวิตของเราในปรโลก ก็ต้องเพิ่มเติมความสะอาดกายวาจา และใจอยู่เสมอ จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นที่ไป
 

ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลายเพราะเหตุที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอสัตว์บางเหล่าในโลกนี้เบื้องหน้า
แต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ (พุทธพจน์)
 
 
***********************************************************************************

สรุป
กุศลกรรมบถ 10 ประการ

ด้วยกาย 3 คือ 1). ไม่ฆ่าสัตว์ 2). ไม่ลักทรัพย์ 3). ไม่ประพฤติผิดในกาม
 
ด้วยวาจา 4 คือ 1). ไม่พูดปด 2). ไม่พูดส่อเสียด 3). ไม่พูดคำหยาบ 4). ไม่พูดเพ้อเจ้อ
 
ด้วยใจ 3 คือ 1). ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น 2). ไม่มีจิตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น 3). ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม

อกุศลกรรมบถ 10 ประการ

อกุศลกรรมบถ 10 คือทางอันนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ ความไม่สบายทั้งปวง

      พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่าคนเราพึงเลี่ยงสิ่งที่จะนำไปสู่หนทางแห่งความชั่ว ความเสื่อมทั้งปวง ซึ่งสามารถจำแนกแยกแยะได้ 3 หมวดใหญ่ และ 10 หมวดย่อย ซึ่งเรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 นั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย

ความชั่วทางกาย 3 ข้อ

     1. ปาณาติบาต หมายถึง การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การเบียดเบียน ห่มเหง รังเกสัตว์
     2. อทินนาทาน หมายถึง การลักทรัพย์ การเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่เต็มใจให้มาเป็นของของตน
     3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การประพฤติผิดทางกาม การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น

ความชั่วทางวาจา 4 ข้อ


     1. มุสาวาท หมายถึง พูดเท็จ พูดโกหกหลอกลวง พูดไม่มีมูลความจริง
     2. ปิสุณวาจา หมายถึง พูดส่อเสียด พูดยุยงให้เขาแตกความสามัคคีกัน
     3. ผรุสวาจา หมายถึง การพูดคำหยาบ มีวาจาไม่สุภาพ
     4. สัมผัปปลาปะ หมายถึง การพูดเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ไม่มีเหตุมีผล

ความชั่วทางใจ 3 ข้อ


     1. อภิชฌา หมายถึง ความละโมบหรือความโลภ มุ่งหมายอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน
     2. พยาบาท หมายถึง การคิดร้าย ปองร้ายต่อผู้อื่น มีความมุ่งมั่นที่จะทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่น
     3. มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ เป็นต้น

     เราจะเห็นได้ว่าบุคคลใดที่เต็มไปด้วย อกุศลกรรมบถ 10 นี้ จะหาความสุขใดๆไม่ได้เลย มีความชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมหมู่มาก ชีวิตจะมีแต่ความตกต่ำ
 
 
บทความอื่นๆ
 
สัปปุริสธรรม 7
ฆราวาสธรรม 4
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/top_of_week/กุศลกรรมบถ-10-ประการ.html
เมื่อ 24 มิถุนายน 2567 05:36
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv